19 ก.ย. 2024 เวลา 04:43 • ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์โมร็อกโก (History of Morocco) – สรุปเข้าใจง่าย

“โมร็อกโก” (Morocco) ประเทศที่คนไทยส่วนใหญ่อาจรู้จักผ่านกีฬาฟุตบอล เพราะมีนักฟุตบอลชื่อดังในยุคนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัชราฟ ฮาคิมี, ฮาคิม ซิเย็ค, โซฟียาน อัมราบัต, หรือยาสซีน บูนู ที่สามารถสร้างผลงานให้ทีมชาติโมร็อกโกจบอันดับ 4 ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์
หากประเทศแห่งนี้ไม่ได้โดดเด่นแค่ด้านฟุตบอลเท่านั้น แต่ดินแดนที่มีสมญานามว่า “มัฆริบ” (ตะวันตก) แห่งนี้ ยังมีประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของอำนาจอิสลามที่เคยรุกคืบไปถึงยุโรป และมีสถาปัตยกรรมแบบมัวร์ (Moorish Archtitechture) ซึ่งผสมผสานวัฒนธรรมแบบอิสลาม เบอร์เบอร์ และยุโรป จนมีเอกลักษณ์โดดเด่น ในวันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของโมร็อกโก (History of Morocco) ฉบับเข้าใจง่ายกันครับ
1. โมร็อกโกตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของแอฟริกาเหนือ เป็นที่ตั้งของช่องแคบยิบรอลตาร์ ทางออกจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งสามารถใช้พื้นที่เป็นเมืองทางการค้าเพื่อรับเรือสินค้าและกองคาราวานจากแอฟริกาและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงทำให้ดินแดนแห่งนี้มีร่องรอยทางการค้ามาตั้งแต่โบราณ
โดยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการขุดค้นทางโบราณคดี ที่ได้แสดงให้เห็นว่า ในโมร็อกโกมีมนุษย์อาศัยเมื่อ 400,000 ปีก่อน
ภูมิศาสตร์ของโมร็อกโก
2. “ชาวเบอร์เบอร์” (Berber) หรือ ชาวอมาซิก (Amazigh) เป็นบรรพบุรุษของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ เมื่อราว 4,000 ปีก่อน ค.ศ. โดยพวกเขามีวิถีชีวิตแบบเร่ร่อนและตั้งถิ่นฐานทั่วแอฟริกาเหนือ ซึ่งชาวเบอร์เบอร์ได้มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง…
ชาวเบอร์เบอร์
3. จนกระทั่งเมื่อ 800 ปีก่อน ค.ศ. “ชาวฟินีเซีย” ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในแถบเลบานอนและมีชื่อเสียงเรื่องการค้าขายทางทะเล ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งโมร็อกโก และตั้งเมืองท่าเพื่อเก็บเกลือและแร่ตามแนวชายฝั่ง
เมืองของชาวฟินิเซียชื่อ “คาร์เธจ” ได้เรืองอำนาจและขยายอิทธิพลบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันตกตามสไตล์จักรวรรดิทางทะเล ชนเผ่าเบอร์เบอร์ในพื้นที่จึงยอมอยู่ภายใต้อำนาจของคาร์เธจ
นครคาร์เธจ
4. แต่เมื่อคาร์เธจอ่อนแอลงจากการพ่ายแพ้ในสงครามพิวนิคครั้งที่ 1 ชาวเบอร์เบอร์ก็ได้ก่อตั้ง “อาณาจักรมอริเตเนีย” เมื่อ 225 ปี ก่อน ค.ศ. (อย่าสับสนกับประเทศมอริเตเนียที่ตั้งในแอฟริกาตะวันตกนะครับ คนละที่กัน แต่ได้รับอิทธิพลเรื่องชื่อกันมา เพราะพื้นที่อยู่ใกล้กันและมีบรรพบุรุษเป็นชาวเบอร์เบอร์ร่วมกัน) โดยอาณาจักรมอริเตเนรียมีวัฒนธรรรมแบบผสม ระหว่างเบอร์เบอร์-คาร์เธจ-โรมัน
อาณาจักรมอริเตเนีย
5. แต่ต่อมาอาณาจักรมอริเตเนียก็ได้ถูกโรมันเข้ามาปกครองในฐานะรัฐบริวารของโรมัน แล้วกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมัน พื้นที่โมร็อกโกถูกโรมันปกครองมาราวๆ 3-4 ร้อยปี แล้วก็ถูกทางชาวแวนดัล เผ่าเยอรมานิกเผ่าหนึ่งได้เข้ามายึดครองแทนจักรวรรดิโรมัน แต่ไม่นาน จักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ทำสงครามขับไล่และปกครองโมร็อกโกแทนชาวแวนดัล หากพื้นที่ส่วนใหญ่ของโมร็อกโกในปัจจุบัน ยังอยู่ใต้อำนาจของชาวเบอร์เบอร์
จังหวัดมอริเตเนีย ติงกิตานา จังหวัดหนึ่งของโรมัน
6. จุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์โมร็อกโกมาถึงราวกลางศตวรรษที่ 7 เมื่อราชวงศ์อุมัยยะห์ได้นำกองทัพอาหรับมุสลิมแผ่อำนาจเข้ามาในแอฟริกาเหนือ พร้อมกับนำศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับเข้ามายังพื้นที่โมร็อกโก ชาวเบอร์เบอร์จึงได้เข้ารับศาสนาอิสลาม แต่ยังคงรักษาธรรมเนียม ประเพณีของตนไว้ โดยยอมจ่ายภาษีและบรรณาการให้กับรัฐบาลมุสลิม
กองทัพอาหรับมุสลิม
โมร็อกโกถูกปกครองในฐานะจังหวัดหนึ่งของ “อัลมัฆริบ” หรือแอฟริกาเหนือที่มุสลิมยึดได้ อัลมัฆริบนี้มีศูนย์กลางที่ “ไครวน” ในตูนิเซีย (อัลมัฆริบในภาษาอาหรับแปลว่า "ตะวันตก" ซึ่งต่อมาเพี้ยนไปเป็นคำว่า “มาเกร็บ” (Mahgreb) และยังคงเป็นชื่อทางการในภาษาอาหรับของโมร็อกโก)
ราชวงศ์อุมัยยะห์
7. ต่อมาในปี 711 ชาวเบอร์เบอร์และชาวมุสลิมภายใต้อำนาจของราชวงศ์อุมัยยะห์ได้ร่วมมือกันทำสงครามบุกโจมตีราชอาณาจักรวิซิกอธ อาณาจักรของชาวคริสต์ แล้วทำการยึดครองพื้นที่คาบสมุทรไอบีเรีย คือ สเปนและโปรตุเกสในปัจจุบัน และก่อตั้งรัฐที่เรียกว่า “อัล-อันดาลุส”
อัล-อันดาลุส
โดยชาวยุโรปนิยมเรียกชาวมุสลิมจากพื้นที่โมร็อกโกว่า “มัวร์” เป็นคำแผลงย่อจากคำว่า “มอริเตเนีย” ซึ่งเป็นดินแดนที่ชาวมุสลิมเหล่านี้อาศัยอยู่บนพื้นที่
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คำว่า “มัวร์” กลายเป็นชื่อที่ชาวคริสต์ในยุโรปใช้เรียกมุสลิมในแอฟริกาเหนือและคาบสมุทรไอบีเรีย ระหว่างศตวรรษที่ 11 -17 และกลายเป็นชื่อเรียกเหมารวมชาวมุสลิมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ชาวมัวร์
8. แต่ต่อมา ชาวเบอร์เบอร์ในพื้นที่โมร็อกโกก็ได้ก่อกบฏและต่อต้านผู้ปกครองชาวมุสลิมที่ปกครองอย่างโหดร้าย จนทำให้ราชวงศ์อับบาซียะห์ไม่สามารถกลับมาปกครองพื้นที่โมร็อกโกได้ ชาวเบอร์เบอร์ในโมร็อกโกจึงหลุดพ้นจากการควบคุมของราชวงศ์อิสลาม และแตกออกเป็นรัฐเบอร์เบอร์อิสระขนาดเล็กที่ต่อสู้กันเอง คือ เบิร์กฮวาตา ,ซิจิลมาซา, และเนกอร์
จนกระทั่งในปี 789 อิดริส (Idriss) ลื่อ (ลูกของเหลน) ของนบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม ได้ทำสงครามยึดครองพื้นที่โมร็อกโกได้เป็นอันมากและสถาปนาราชวงศ์อิดริสซิด (Idrisid) แต่ราชวงศ์อิดริสซิดก็ไม่ได้ปกครองพื้นที่โมร็อกโกทั้งหมด เพราะยังคงมีอาณาจักรของชาวเบอร์เบอร์อยู่ จนกระทั่งราชวงศ์อัลโมราวิดทำสงครามรวมดินแดนโมร็อกโกให้เป็นหนึ่งเดียวเมื่อปี 1060
แผนที่ราชวงศ์อิดริสซิด และอาณาจักรของชาวเบอร์เบอร์
9. ราชวงศ์อัลโมราวิดนี้เริ่มต้นจากอับดุลเลาะห์ อิบนุ ยาซีน นักเทววิทยาอิสลามที่ใช้คำสอนของศาสนาอิสลามรวบรวมชาวเบอร์เบอร์ทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา บริเวณพื้นที่ประเทศมอริเตเนียและเวิสเทิร์นซาฮาราในปัจจุบันให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งตรงกับชื่อของราชวงศ์ที่มีความหมายว่า “การผูกเข้าด้วยกัน”
1
ราชวงศ์อัลโมราวิด
ราชวงศ์อัลโมราวิดสามารถขยายอำนาจไปถึงสเปน โดยมีศูนย์กลางในที่เมืองกอร์โดบา บริเวณตอนใต้ของสเปนในปัจจุบัน และมีบทบาทสำคัญในการหยุดยั้งการรุกรานของอาณาจักรคริสเตียนได้ชั่วคราว ซึ่งทำให้ดินแดนแอฟริกาเหนือและสเปนของอิสลามที่เคยแตกแยกกันรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้
เมืองกอร์โดบา
10. ช่วงเวลาการปกครองของราชวงศ์อัลโมราวิด แม้ไม่ยาวนานนัก ทว่าในช่วงราชวงศ์นี้ อารยธรรมอาหรับได้เริ่มค่อยๆ กลืนวัฒนธรรมและศาสนาของคนท้องถิ่น จนทำให้ประชากรส่วนใหญ่กลายเป็นมุสลิม อีกทั้งในยุคนี้ ยังได้มีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ, สถาปัตยกรรม, การศึกษา, ศาสนา, อักษรศาสตร์ ที่ปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรม, ลวดลายกระเบื้องโมเสค, ลายผ้า ภาพเขียน, การประดิษฐ์, เครื่องปั้นดินเผา, เครื่องโลหะ, รวมถึงงานประพันธ์ต่างๆ
ต้นฉบับอัลกุรอานที่มีภาพประกอบเป็นอักษรคูฟิกและมาเกรบีในสมัยอัลโมราวิด
11. สิ่งที่โดดเด่นในยุคนี้เลย คือ สถาปัตยกรรมร่วมระหว่างดินแดนมัฆริบกับอัลอันดาลุสซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นลวดลายจำเพาะที่มีความงดงามและเอกลักษณ์โดดเด่น แตกต่างไปจากสถาปัตยกรรมอาหรับและเปอร์เซีย ถูกเรียกโดยรวมว่า “สถาปัตยกรรมมัวร์” (Moorish Artitechture)
สถาปัตยกรรมมัวร์มีจุดโดดเด่นอย่างชัดเจน คือ สิ่งก่อสร้างมักมีขนาดสูงใหญ่ ซึ่งตกทอดมาจากยุคโบราณที่ผู้ปกครองต้องการใช้ขนาดของเมืองในการข่มขวัญศัตรู, อาคารมัสยิดสไตล์มัวร์มักมีหอคอยมินาเรต หรือหออะซาน เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมและเรียงเป็นสองชั้น, ประตูและภายในอาคารนิยมทำเป็นซุ้มประตูโค้งทรงเกือกม้า (Horseshoe arch)
“สถาปัตยกรรมมัวร์” (Moorish Artitechture)
ซึ่งปรับเปลี่ยนจากโครงสร้างโดมหรือหัวหอมของเปอร์เซีย บางแห่งอาจมีปลายแหลมหรือการตกแต่งลวดลายที่ชดช้อยสวยงามดูอลังการ นอกจากนี้ มัสยิดสไตล์โมร็อกโกมักเน้นสีเขียวและขาว ต่างจากแบบเปอร์เซียที่นิยมใช้สีฟ้า
12. หลังจากช่วงรุ่งเรืองชั่วครู่ อำนาจของราชวงศ์อัลโมราวิดในอัลอันดาลุสก็เสื่อมถอยลง จากการก่อกบฏโดยราชวงศ์อัลโมฮัดที่ขึ้นมามีอำนาจใหม่ในโมร็อกโก เปิดโอกาสให้อาณาจักรคริสเตียนทำสงครามทวงคืนดินแดนสเปน จึงทำให้ราชวงศ์อัลโมราวิดสูญเสียดินแดนไปมาก และต้องล่มสลายลงในปี 1147 ด้วยน้ำมือของราชวงศ์อัลโมฮัด
ราชวงศ์อัลโมฮัด
ราชวงศ์อัลโมฮัดสืบทอดความรุ่งเรืองต่อจากราชวงศ์อัลโมราวิด โดยพวกเขายังคงปกครองโมร็อกโกและสเปนต่อไป… ซึ่งราชวงศ์นี้ก่อตั้งโดยอิบนู ตูมาร์ต นักวิชาการอิสลามซึ่งมีหลักคำสอน “อัลโมฮัด” ที่หมายถึง ผู้ที่ประกาศตนว่าเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า
ทหารของราชวงศ์อัลโมฮัด
13. หากราชวงศ์อัลโมฮัดจัดการกับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในดินแดนของตนอย่างรุนแรง ทำให้ชาวคริสต์และชาวยิวในพื้นที่อพยพขึ้นไปหาอาณาจักรคริสต์ทางตอนเหนือ จึงทำให้เหล่าอาณาจักรคริสต์เตียนในคาบสมุทรไอบีเรียมีความชอบธรรมและได้พันธมิตรเพิ่มมากขึ้นในการทำสงครามเรกองกิสตา (Reconquista) หรือการพิชิตดินแดนคืนของชาวคริสเตียนในการนำดินแดนบริเวณคาบสมุทรไอบีเรียกลับคืนมาจากชาวมัวร์
สงครามเรกองกิสตา (Reconquista)
ในที่สุดราชวงศ์อัลโมฮัดจึงทำสงครามพ่ายแพ้ชาวคริสต์และล่าถอยกลับไปยังโมร็อกโกเมื่อปี 1212 และถูกบั่นทอนอำนาจโดยกลุ่มอำนาจอื่นๆ
14. หลังจากนั้น โมร็อกโกก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์มารินิด ซึ่งถือเป็นยุคที่สถาปัตยกรรมโมร็อกโกเจริญรุ่งเรืองสูงสุด โดยยุคนี้มีนักเดินทางคนสำคัญ คือ อิบน์ บัตตูตา (Ibn Battuta) ซึ่งมีฉายาว่า “มาร์โก โปโล แห่งโมร็อกโก” ผู้ได้ออกเดินทางและบันทึกการเดินทางอันน่ามหัศจรรย์เอาไว้มากมาย
อิบน์ บัตตูตา (Ibn Battuta) อ้างอิงภาพ : Les Grands voyages et les grands voyageurs. Découverte de la Terre. Paris: J. Hetzel
15. หลังจากนั้น ราชวงศ์มารินิดก็ล่มสลายลงในปี 1465 ซึ่งทำให้โมร็อกโกเกิดวิกฤติทางการเมือง เพราะ โมร็อกโกเกิดสงครามกลางเมือง และแตกเป็นหลายรัฐ เปิดโอกาสให้ชาติตะวันตกอย่างโปรตุเกส, สเปน, และอังกฤษเข้ามารุกรานและปกครองพื้นที่เมืองท่า อีกทั้งจักรวรรดิออตโตมันยังเข้ามาแทรกแซงการเมืองของโมร็อกโก
สมรภูมิสามกษัตริย์
16. จนกระทั่งในปี 1666 ราชวงศ์อะลาวี ซึ่งอ้างว่าสืบเชื้อสายจากนบีมูฮัมหมัด สามารถทำสงครามรวบรวมโมร็อกโกให้เป็นหนึ่งเดียวได้อีกครั้ง และกลายเป็นราชวงศ์ที่ปกครองโมร็อกโกจนถึงปัจจุบัน โดยราชวงศ์อะลาวีใช้ธงสีแดงล้วนเป็นธงชาติของโมร็อกโกมาตั้งแต่แรกและใช้อย่างยาวนานจนถึงปี 1915
17. รัชกาลของสุลต่านอิสมาอิล อิบน์ ชารีฟ สุลต่านองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์อะลาวี ระหว่างปี 1672- 1727 โมร็อกโกในยุคนี้ถือเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ไม่ว่าจะการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชสำนัก, การสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถทำสงครามพิชิตดินแดนต่างๆ จนทำให้พระองค์มีสมญานามว่า "ราชานักรบ" ,และพระองค์ยังได้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติมหาอำนาจโดยเฉพาะกับสเปน, อังกฤษ, และฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงทำให้พระองค์ถือเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการนับถือเป็นอย่างมาก
สุลต่านอิสมาอิล อิบน์ ชารีฟ
18. ในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาติตะวันตกในยุโรปได้เข้ามามีอิทธิพลในโมร็อกโก โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ได้ยึดครองแอลจีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านของโมร็อกโกเมื่อปี 1830 ซึ่งโมร็อกโกได้พยายามส่งกองทัพไปช่วยเหลือแอลจีเรียแต่ก็พ่ายแพ้กลับมา และยังทำสงครามแพ้ฝรั่งเศสอีกครั้งในปี 1844 ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในโมร็อกโก ตามมาด้วยความปราชัยในสงครามสเปน-โมร็อกโก ในปี 1860 ซึ่งทำให้ประเทศมีหนี้มหาศาล แต่ยังคงรักษาเอกราชไว้ได้
19. สิ่งเหล่านี้เร่งรัดให้สุลต่านโมร็อกโกพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยโมร็อกโกถือเป็นรัฐแรกๆ ที่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งได้รับเอกราช อีกทั้งโมร็อกโกยังมีการปฏิรูปกองทัพและการบริหารราชการแผ่นดินให้ทันสมัยเพื่อรวมศูนย์อำนาจการปกครองจากชาวเบอร์เบอร์และเบดูอิน เป็นการป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลและแทรกแซงโมร็อกโกได้
20. แต่จนแล้วจนรอด ฝรั่งเศสและสเปนก็สามารถยุติความขัดแย้งเรื่องสิทธิเหนือดินแดนโมร็อคโคได้ในปี 1912 ผ่านสนธิสัญญาเฟส (Treaty of Fes) โดยตกลงให้โมร็อกโกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ซึ่งได้ปกครองพื้นที่โมร็อคโคส่วนใหญ่ ส่วนสเปนปกครองดินแดนบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยตำแหน่งสุลต่านโมร็อกโกยังคงมีอยู่เช่นเดิม เพียงแต่อำนาจที่แท้จริงขึ้นอยู่กับสองชาตินี้
สเปนได้ยกให้เมืองเตตวน (Tetouan) เป็นเมืองหลวงของเขตการปกครองสเปนในโมร็อคโค ส่วนฝรั่งเศสได้ยกให้เมืองราบัต (Rabat) เป็นเมืองหลวง และพัฒนาเมืองคาซาบลังกา (Casablanca) ให้เป็นเมืองท่าที่ทันสมัย โดยมีเมืองแทนเจียร์ เมืองท่าสำคัญเป็นดินแดนสากลไม่ขึ้นกับใคร
เมืองคาซาบลังกา (Casablanca)
21. ต่อมาในปี 1915 โมร็อกโกได้ประกาศใช้ธงชาติโมร็อกโกแบบใหม่จากที่แต่เดิมเป็นธงสีแดงล้วน ให้ใช้เป็นธงสีแดงที่มีรูปดาวห้าแฉกสีเขียวอยู่ตรงกลาง ซึ่งดาวสีเขียวหมายถึง หลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม และราชวงศ์อะลาวี ซึ่งอ้างว่าสืบเชื้อสายจากนบีมูฮัมหมัด ส่วนสีแดงหมายถึง เลือดของบรรพบุรุษและความสามัคคี
ธงชาติโมร็อกโก
ขณะที่โมร็อกโกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศสและสเปน ธงผืนนี้ถูกใช้เฉพาะในบนบกเท่านั้น และห้ามใช้ในท้องทะเล โดยหลังจากโมร็อกโกได้รับเอกราชในปี 1955 ธงผืนนี้ก็ยังคงถูกใช้เป็นธงชาติของโมร็อกโก
22. แน่นอนว่าชาวโมร็อคโคไม่ได้ต้องการให้ชาวสเปนและฝรั่งเศสเข้ามาหาประโยชน์จากผืนแผ่นดินของตน จึงเกิดการต่อต้านสเปนและฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคม
วีรบุรุษในการประท้วงต่อต้านครั้งสำคัญ คือ อับเดล คาริม หัวหน้าของชนเผ่าเบอร์เบอร์ในแคว้นริฟ ที่สามารถเอาชนะกองทัพทหารสเปนจำนวน 20,000 คน ในปี 1921 จนกระทั่งต้องพ่ายแพ้ต่อกองกำลังทหารผสมของสเปนและฝรั่งเศสในปี 1926
อับเดล คาริม หัวหน้าของชนเผ่าเบอร์เบอร์ในแคว้นริฟ
หากวีรกรรมของอับเดล คาริม สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาของโมร็อคโก ที่ภายหลังออกมาเรียกร้องเสรีภาพและเอกราชของโมร็อคโคจากฝรั่งเศสและสเปน
23. ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1937 เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มชาตินิยมโมร็อกโกชื่อว่า พรรคอิสติกลัล (Istiqualal - แปลว่า เอกราช) มีบทบาทสำคัญคือการเรียกร้องเอกราช และขยายการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
พรรคอิสติกลัล
จากแต่เดิมในปี 1947 พรรคมีจำนวนสมาชิกเพียงหนึ่งหมื่นคน แต่ในปี 1951 พรรคกลับมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งแสนคน โดยการเคลื่อนไหวของพรรคอิสติกลัลมีสุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 (Mohammed V) คอยสนับสนุนอยู่ ซึ่งทำให้พระองค์ถูกฝรั่งเศสกักบริเวณอยู่ระยะหนึ่งและเนรเทศไปยังเกาะมาดากัสการ์เป็นเวลา 2 ปี
สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ขณะประทับอยู่ที่มาดากัสการ์
24. ต่อมาในปี 1955 ฝรั่งเศสและสเปนตัดสินใจถอนตัวออกมาจากโมร็อกโก จึงทำให้โมร็อกโกได้รับเอกราชในปี 1956 และได้ดินแดนคืนจากสเปน ยกเว้นเมืองเซวตาและเมืองเมลิยาที่ตั้งอยู่บนทวีปแอฟริกาซึ่งยังคงเป็นของสเปน
25. สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ทรงเปลี่ยนพระอิสริรยศเป็นกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 5 (King Mohammed V) ตามสถาบันกษัตริย์โลกตะวันตก และกษัตริย์แห่งจอร์แดนและซาอุดิอาระเบียในตะวันออกกลาง
กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 5
พระองค์ทรงดำเนินการสร้างรัฐบาลสมัยใหม่ภายใต้การปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกษัตริย์ยังคงมีบทบาททางการเมืองในการชี้นำบ้านเมืองในฐานะประมุขและผู้นำศาสนาของโมร็อกโก (บางครั้งก็ขึ้นมาปกครองประเทศโดยตรง)
โดยพระองค์ทรงดำเนินการอย่างระมัดระวัง และตั้งใจป้องกันให้อิสติกลัลไม่สามารถรวมอำนาจและจัดตั้งรัฐพรรคเดียวได้ จนพระองค์ทรงสถาปนาระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (ที่กษัตริย์ยังมีอำนาจทางการเมืองที่สูงมาก) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1957 และเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่า "ราชอาณาจักรโมร็อกโก"
ราชอาณาจักรโมร็อกโก
26. ในปี 1962 กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 5 เสด็จสวรรคต กษัตริย์ฮัสซันที่ 2 (Hassan II) พระโอรสของกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ โดนพระองค์ทรงเป็นผู้เผด็จการพระองค์หนึ่งในโลกอาหรับ และถูกกล่าวหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการการใช้ความรุนแรงกับประชาชน, ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และนักกิจกรรมทางการเมืองง จนทำให้รัชสมัยของพระองค์ถูกขนานนามว่า “ยุคสมัยแห่งลูกตะกั่ว”
กษัตริย์ฮัสซันที่ 2 (Hassan II)
อย่างไรก็ดี พระองค์ก็ทรงถูกยกย่องว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาคโลกอาหรับ และทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อชาวโมร็อกโกไว้มากมาย อย่างการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของโมร็อกโกดีขึ้น
รวมไปถึงการดำเนินนโยบาย “โมร็อกกาไนเซชัน” (Morrocanization) ซึ่งเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของรัฐ, ที่ดินทำการเกษตร, และธุรกิจจากต่างชาติมากกว่าร้อยละ 50 ให้กลายมาเป็นของชาวโมร็อกโกชนชั้นสูง ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมที่ชาวโมร็อกโกเป็นเจ้าของเติบโตเพิ่มขึ้นมากขึ้นเป็น 50 เปอร์เซนต์ อย่างไรก็ดี ความมั่งคั่งไปกระจุกอยู่ที่ตระกูลที่ร่ำรวยในประเทศเท่านั้น
27. นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการอ้างสิทธิ์ดินแดนเวสเทิร์นซาฮาราในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศโมร็อกโก นำไปสู่ข้อพิพาทกับชาวซาห์ราวี ชนพื้นเมืองเดิมในดินแดนแห่งนี้
โดยในช่วงต้นปี 1976 สเปนได้ยกการบริหารเวสเทิร์นซาฮาราให้กับโมร็อกโก โมร็อกโกก็ได้เข้ายึดครองพื้นที่สองในสามส่วนทางเหนือ อย่างไรก็ตาม แนวหน้าโปลิซาริโอ ขบวนการเอกราชของชาวซาห์ราวีได้ประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาฮาราวี (SADR) และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่แอลจีเรีย เพื่อต่อต้านการปกครองของโมร็อกโก ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
สาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาฮาราวี (SADR)
28. เมื่อกษัตริย์ฮัสซันที่ 2 เสด็จสวรรคต กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 (Mohammed VI) พระโอรสของกษัตริย์ฮัสซันที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 1999 และยังคงปกครองโมร็อกโกในระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญสไตล์โมร็อกโก
กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 (Mohammed VI)
29. ซึ่งอำนาจที่กษัตริย์โมร็อกโกมีอย่างล้นเหลือเช่นนี้ จึงทำให้ในช่วงอาหรับสปริงที่โลกอาหรับลุกเป็นไฟเพื่อโค่นล้มเผด็จการ ประชาชนชาวโมร็อกโกได้ลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองเพื่อลดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ จนได้รัฐธรมมนูญฉบับใหม่ในปี 2011 ซึ่งกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา
อาหรับสปริง
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปดังกล่าวยังคงรักษาอำนาจที่มีอยู่ของกษัตริย์ไว้เกือบทั้งหมด โดยพระมหากษัตริย์สามารถยุบสภา, ปกครองประเทศโดยพระราชกฤษฎีกา, และสามารถปลดหรือแต่งตั้งสมาชิกคณะรัฐมนตรีได้ รวมไปถึงการมีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยสไตล์โมร็อกโกในสายตาของสากลโลกถูกมองว่าเป็น “ระบบการปกครองแบบผสม” (Hybrid Reigm) จากการเลือกตั้งผู้แทนจากเสียงประชาชน แต่อำนาจของกษัตริย์ยังคงมีอยู่อย่างเต็มที่ และยังคงมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์
รัฐสภาโมร็อกโก
30. ในปัจจุบัน โมร็อกโกยังคงมีปัญหาเรื่องดินแดนเซวตากับเมลียาที่ยังคงเป็นของสเปน เพราะทางโมร็อกโกรู้สึกไม่โอเคกับพื้นที่ของตัวเอง (เมื่อหลายร้อยปีก่อน) ถูกครอบครองโดยอดีตประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างสเปน ขณะที่ทางสเปนก็มองว่ามีความชอบธรรมในการครอบครองและดูแล
31. อีกทั้งโมร็อกโกประสบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะเสรีภาพของสื่อและประชาชน ซึ่งได้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและสื่อ
ตัวอย่างการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโมร็อกโก คือ กรณีของนายโอมาร์ ราดี และนายซูไลมานี ไรส์ซูนี นักข่าวโมร็อกโกสองคนที่ถูกคุมขังและถูกกล่าวหาในข้อหาอาชญากรรมทางเพศอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นข้อหาทั่วไปที่รัฐบาลใช้ในการทำลายชื่อเสียงของผู้ที่เปิดเผยข้อมูลการคอร์รัปชั่นของทางการ
นายโอมาร์ ราดี (ขวา) และนายซูไลมานี ไรส์ซูนี (ซ้าย) นักข่าวโมร็อกโก
32. นอกจากนี้ โมร็อกโกยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้าจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้ประเทศที่เน้นพึ่งพิงการท่องเที่ยวแห่งนี้มีอัตราการว่างงานที่สูง โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว, เงินเฟ้อและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น, และการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างเขตเมืองและชนบท ทำให้ชาวโมร็อกโกจำนวนหนึ่งอพยพไปทำงานที่ประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยเป้าหมายแรกๆ ที่ชาวโมร็อกโกอพยพ คือ เมืองเซวตาและเมลียาของสเปน ส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป
33. โมร็อกโกจึงมีความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยการพัฒนาการท่องเที่ยวและจัดงานระดับโลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาในโมร็อกโก
ซึ่งความน่าสนใจอย่างหนึ่งของโมร็อกโก คือ ความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลและความทะเยอทะยานในการยื่นเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งโมร็อกโกพยายามยื่นไปถึง 6 ครั้ง และพึ่งประสบความสำเร็จในการยื่นเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030 ร่วมกับสเปนและโปรตุเกส
ทีมชาติโมร็อกโก (อ้างอิงภาพ : CNN)
เรียกได้ว่า ประเทศแห่งนี้นิยมกีฬาฟุตบอลมากๆ เลยล่ะครับ…แต่มันจะช่วยโมร็อกโกได้มากแค่ไหน ต้องให้เรื่องของเวลาเป็นสิ่งพิสูจน์
34. จบลงไปแล้วครับประวัติศาสตร์โมร็อกโกแบบสรุปเข้าใจง่าย หวังว่าท่านผู้อ่านจะชื่นชอบบทความนี้กันนะครับ …และอันนี้เป็นช่วงขายของ! ตอนนี้เรามี “ทัวร์โมร็อกโก” โดยเราจะพาท่านไปสัมผัสประสบการณ์สุดคุ้มค่าและประทับใจที่ “โมร็อกโก” ประเทศแห่งแดนดินถิ่นตะวันตก…
ซึ่งเราตั้งใจจัดทำเพื่อพาท่านไปรู้จักและผจญภัยในโมร็อกโก เพื่อรับประสบการณ์ที่แตกต่าง และสัมผัสบรรยากาศแบบใหม่ที่อาจไม่เคยลิ้มลอง หากท่านใดสนใจขอโปรแกรม สามารถติดต่อได้ทาง inbox หรือแอด LINE OA ได้ที่ @thewildchronicles (พิมพ์ @ ด้านหน้า) และพิมพ์ว่า “สนใจทัวร์โมร็อกโก” ได้เลยนะครับ
.
🎈 บริษัท The Wild Chronicles ใบอนุญาตประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ 11/10382 🎈
#TWCHistory #TWCMorocco #TWC_Rama #Morocco #โมร็อกโก
โฆษณา