20 ก.ย. เวลา 02:23 • สิ่งแวดล้อม

ศาสตร์ของพระราชา แนวทางการอนุรักษ์ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และดิน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงเน้นย้ำความเชื่อมโยงของระบบนิเวศที่ประกอบด้วย ดิน น้ำ ต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
พระองค์ทรงเสนอแนวทางการอนุรักษ์ป่าไม้หลายประการที่เน้นการสร้างความร่วมมือและจิตสำนึกให้ประชาชนมีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ มากกว่าการใช้อำนาจบังคับ โดยพระองค์ตรัสว่า
“...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”
หลักการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ
1) การปลูกป่าต้นน้ำลำธาร การฟื้นฟูป่าตามธรรมชาติโดยการปลูกต้นไม้ที่มีอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่
2) การปลูกป่าในที่สูง การใช้ต้นไม้ที่มีเมล็ดปลูกบนยอดเขา เมื่อออกเมล็ดจะลอยลงมาและเติบโตในพื้นที่ต่ำ
3) การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกต้นไม้เพื่อใช้เป็นไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง และไม้ใช้สอย รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ
4) การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ป่าเจริญเติบโตเองตามธรรมชาติหากไม่ถูกรบกวน
5) ป่าเปียก การสร้างแนวป้องกันไฟป่าด้วยความชุ่มชื้น
6) การสร้างภูเขาป่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม
7) การปลูกป่าทดแทน การฟื้นฟูป่าร่วมกับการพัฒนาอาชีพของชาวเขา
8) ฝายกั้นน้ำ การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นด้วยวิธีการง่าย ๆ
9) การปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้นยาวนานให้กับพื้นที่
10) หญ้าแฝก การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
11) การอนุรักษ์ป่าชายเลน การป้องกันและขยายพันธุ์ป่าชายเลน โดยเฉพาะต้นโกงกาง
12) โครงการแกล้งดิน การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวเพื่อฟื้นฟูดินให้เพาะปลูกได้
13) ห่มดิน การเลี้ยงดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์
14) ป่าพรุ การฟื้นฟูป่าพรุเพื่อการเพาะปลูก
ศาสตร์ของพระราชาเหล่านี้เป็นมรดกที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ให้กับประชาชนไทย เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
เรียบเรียงจากหนังสือ "ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" และ "จอมปราชญ์แห่งการพัฒนา: รักษ์ป่า รักษาสิ่งแวดล้อม"
โฆษณา