20 ก.ย. 2024 เวลา 10:30 • ศิลปะ & ออกแบบ

สืบสานอัตลักษณ์ ต่อยอดศิลปะ :

การอนุรักษ์อาคารที่อยู่คู่หาดใหญ่กว่า 6 ทศวรรษของ ธปท.
ในปี 2564 ธปท. ตัดสินใจบูรณะและปรับปรุงอาคารสำนักงานภาคใต้ใหม่อีกครั้ง หลังจากใช้งานมานานถึง 56 ปี โดยเลือกใช้แนวทาง “อนุรักษ์อาคาร” เป็นหลักในการทำงาน ควบคู่ไปกับการวางระบบและโครงสร้างพื้นฐานให้ตอบโจทย์การทำงานในโลกยุคใหม่ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและความคล่องตัว ตอบโจทย์โลก ทั้งในแง่การประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ ตอบโจทย์พันธกิจของสำนักงานภาค โดยมีการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนและสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งได้มีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567
พิธีเปิดอาคารสำนักงานภาคใต้หลังปรับปรุงใหม่ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567
พระสยาม BOT MAGAZINE ขอชวนไปเจาะลึกเบื้องหลังการทำงานบูรณะและปรับปรุงอาคารสำนักงานภาคใต้กับสองผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานตลอด 4 ปี นั่นก็คือ คุณโสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารอาคาร ธปท. ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ และคุณณรงค์รัตน์ แต่งตั้ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารอาคาร ธปท. และเป็นหัวหน้าทีมสถาปนิกที่ดูแลการออกแบบโครงการทั้งหมด
อนุรักษ์อดีต ตอบโจทย์ปัจจุบัน
คุณโสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารอาคาร ธปท. ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ และคุณณรงค์รัตน์ แต่งตั้ง          ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารอาคาร ธปท. และเป็นหัวหน้าทีมสถาปนิกที่ดูแลการออกแบบโครงการ
จริง ๆ พี่เป็นวิศวกรนะ เลยไม่รู้ว่ามีส่วนทำให้พี่ต้องมาดูแลงานนี้หรือเปล่า
คุณโสภีกล่าวอย่างติดตลกเมื่อต้องพูดถึงบทบาท “แม่งาน” ที่ต้องดูแลการบูรณะและปรับปรุงอาคารสำนักงานภาคใต้ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ในช่วงที่มีการปรับปรุง แม้คุณโสภีจะมีประสบการณ์การทำงานด้านอาคารและสถานที่ แต่โครงการบูรณะอาคารสำนักงานภาคใต้ ก็นับว่าเป็น “งานหิน”
1
สำนักงานภาคใต้ ธปท. นับเป็นอาคารเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และได้รับการเชิดชูให้เป็น 1 ใน 47 อาคารเก่าแก่ในประเทศไทยที่สะท้อนสถาปัตยกรรมอันเปี่ยมเสน่ห์ของภาคใต้ แต่หากมองจากสายตาคนยุคก่อตั้งเมื่อ 60 ปีก่อน อาคารแห่งนี้ถือเป็นอาคารที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองสงขลา เพราะเป็นอาคารแห่งแรก ๆ ที่มีการติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศ อาคารสำนักงานภาคใต้จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ของความเก่าแก่และความทันสมัยในเวลาเดียวกัน
ตามแบบที่วางเอาไว้ เราตั้งเป้าอยากให้เป็นการอนุรักษ์อาคารจริง ๆ เพราะจากการพูดคุยกับคนในพื้นที่ ต่างก็มองว่าอาคารแห่งนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า
ทั้งกับสำนักงานภาคใต้ และกับเมืองสงขลา และเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่เพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงอยู่
คุณโสภีกล่าว
อันที่จริง ประเทศไทยมีผู้มีประสบการณ์และองค์ความรู้ในงานอนุรักษ์อาคารอยู่พอสมควร แต่งานส่วนใหญ่เน้นรักษาโครงสร้างและความสวยงามของตัวอาคารเดิมเป็นหลัก โดยโจทย์สำคัญของสถาปนิกในงานอนุรักษ์คือ การหาเทคนิคและวัสดุใหม่ ๆ มาใช้ทดแทนเพื่อให้อาคารยังคงมีความแข็งแรง สวยงาม และใช้งานได้ดีเหมือนเดิม ขณะที่ความยากของงานอนุรักษ์อาคารสมัยใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ การที่ต้องออกแบบงานระบบภายในให้รองรับทั้งการทำงานในโลกยุคใหม่ เทคโนโลยี รวมถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
คุณณรงค์รัตน์เล่าให้ฟังว่า ในช่วงเริ่มต้นของโครงการปรับปรุงอาคารสำนักงานภาคใต้ ได้มีการพิจารณาทางเลือกในการปรับปรุงอาคาร ซึ่งรวมถึงการรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ และการบูรณะอาคารเพื่อใช้งานต่อไป สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าแนวทางที่เหมาะสมคือการบูรณะอาคารให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามสภาพปัจจุบัน คณะผู้ออกแบบได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการบูรณะอาคารและได้ดูงานอาคารอนุรักษ์และงานระบบวิศวกรรมสมัยใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำแนวคิดการบูรณะและปรับปรุงงานระบบมาใช้กับสำนักงานภาคใต้
แม้อาคารสำนักงานแห่งนี้จะเป็นการออกแบบเมื่อ 60 ปีก่อน แต่ก็เป็นอาคารที่น่าทึ่งมาก นอกจากความสวยงามแล้วจะเห็นว่าผู้ออกแบบเดิม (พันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) กลั่นกรองมาเป็นอย่างดี มีการคำนึงถึงทิศทางแดดและลม เพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของภาคใต้ เราเห็นจุดแข็งเหล่านี้ของอาคารก็อยากคงไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องนึกถึงการใช้งานรูปแบบใหม่ และที่สำคัญซึ่งผู้บริหารให้ความสำคัญมาก คือ การใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมและมีเหตุมีผล
คุณณรงค์รัตน์กล่าวเสริม
ในฐานะผู้ดูงานภาพรวมทั้งหมด คุณโสภีมองว่า “ความยากที่แท้จริงคือ เราไม่สามารถแน่ใจได้ 100% ว่าสิ่งที่ออกแบบไว้จะเป็นไปตามที่ต้องการหมดหรือเปล่า ถ้าเป็นงานสร้างใหม่ ข้อกังวลเรื่องนี้จะน้อย แต่เมื่อต้องทำงานอนุรักษ์ก็ต้องระมัดระวังในการทำงานทุกขั้นตอน”
ความพิเศษอีกประการของโครงการนี้คือ กระบวนการออกแบบที่ทำโดยทีมออกแบบของ ธปท. เป็นหลัก จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ภายในองค์กรเยอะมาก
“ความสวยงาม” ที่มี “ฟังก์ชัน”
โดยหลักการสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม การเลือกแนวทางอนุรักษ์อาคารเดิมและปรับปรุงระบบภายในให้ทันสมัยเป็นทางเลือกที่ยากกว่าการทุบทิ้งแล้วสร้างอาคารใหม่ทั้งหลัง กระนั้น ความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ ธปท. ตัดสินใจเลือกแนวทางอนุรักษ์ตั้งแต่ต้น
และเมื่อเลือก “ท่ายาก” ทีมสถาปนิกก็ต้องทำให้ถึงและสุดทาง กระบวนการออกแบบสำนักงานภาคใต้จึงมีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างลงลึก โดยคณะทำงาน ธปท. ทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น เพื่อให้แบบอาคารใหม่สามารถอนุรักษ์คุณค่า ความรู้ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ฝังอยู่กับตัวสถาปัตยกรรมเดิมให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ คณะทำงานยังสำรวจและศึกษาเมืองเก่าในสงขลา เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของสถาปัตยกรรมให้ลึกซึ้งด้วย
คุณณรงค์รัตน์อธิบายว่า แบบสุดท้ายของอาคารสำนักงานภาคใต้ไม่ได้จบที่การอนุรักษ์และบูรณะเพียงอย่างเดียว แต่มีการต่อเติมเพิ่มด้วย ความท้าทายของสถาปนิกคือจะทำอย่างไรให้ส่วนต่อเติมอยู่กับอาคารเก่าได้อย่างลงตัว
“อาคารในส่วนต่อเติมเราออกแบบให้กลมกลืนกับตัวอาคารเลย โดยมีลักษณะเด่นคือ การออกแบบให้มีครีบฟิน ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของภาคใต้ ในขณะเดียวกันก็นำความรู้ในเรื่องการออกแบบสมัยใหม่มาใช้ด้วย เช่น การออกแบบให้แสงธรรมชาติเข้ามาในตัวอาคาร โดยการเลือกใช้กระจกที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้อาคารสว่าง ประหยัดพลังงาน และดูทันสมัย
การตกแต่งภายนอกอาคารในส่วนที่ต่อเติมใหม่ให้มี “ครีบฟิน” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของภาคใต้ เพื่อให้กลมกลืนกับอาคารเดิม
“การประดับตกแต่งในรายละเอียด เราก็ใช้ศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นมาเป็นองค์ประกอบ เช่น ลายฉลุของหนังตะลุงและลายผ้าที่ปรากฏในชุดของมโนราห์ ผ้าที่ใช้ประดับตกแต่งในอาคารก็ผลิตโดยคนในเกาะยอ ซึ่งเราตั้งใจใช้เพื่อสะท้อนให้เห็นแนวคิดเรื่องการกระจายรายได้ผ่านผลิตภัณฑ์ในจังหวัด” คุณณรงค์รัตน์ยกตัวอย่าง
การประดับตกแต่งในอาคารด้วยลายฉลุของหนังตะลุง ประตูลายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้
นอกจากความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว สถาปนิกที่ดีก็ควรออกแบบตึกให้ตอบโจทย์การใช้งานจริงด้วย
คุณโสภีเล่าว่า อาคารสำนักงานแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานรูปแบบใหม่อย่างครบเครื่อง ทั้งการประชุมออฟไลน์หรือออนไลน์ อีกทั้งปัจจุบันสำนักงานภาคใต้มีพนักงานรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในสัดส่วนที่สูงขึ้นและต้องการพื้นที่การทำงานร่วมกันแบบยืดหยุ่น อาคารแห่งนี้ก็มีพื้นที่ co-working space ไว้เพื่อรองรับ
สำหรับการตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ทีมออกแบบได้นำเอาแนวคิด ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบตั้งแต่ต้นภายใต้ระบบใหม่ โดยสำนักงานภาคใต้จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนสำคัญ มีการออกแบบระบบควบคุมการใช้ไฟฟ้าให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
“ภาคใต้มีฝนตกค่อนข้างมาก เราเลยออกแบบให้มีการกักเก็บน้ำฝนที่ตกมาบนหลังคาไว้เป็นน้ำสำรองสำหรับรดต้นไม้ โดยน้ำฝนจะถูกรวบรวมไปที่ถังเก็บน้ำ และมีระบบรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติคอยควบคุมการรดน้ำให้เหมาะสมกับพืชพันธุ์ที่เราปลูก” คุณณรงค์รัตน์เล่าถึงเทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้กับสภาพภูมิอากาศเฉพาะของภาคใต้ได้อย่างลงตัว
สถาปัตยกรรมที่เปิดให้ ธปท. ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าเดิม
แม้ความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์จะเป็นเสน่ห์สำคัญของอาคารสำนักงานภาคใต้ที่เพิ่งบูรณะใหม่ แต่ในฐานะ “อาคารของ ธปท.” ความมุ่งหมายสูงสุดของอาคารแห่งนี้คือ การสนับสนุนการทำงานเชิงนโยบายของ ธปท. ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะการเป็นกลไกที่ทำงานเชื่อมโยง-ใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและคนในพื้นที่
คุณโสภีเล่าว่า ข้อจำกัดของอาคารเดิมคือ การมีพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างน้อยและคับแคบ แต่ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขโดยตรงในอาคารที่ปรับปรุงใหม่ ปัจจุบันสำนักงานภาคใต้มีห้องประชุมและพื้นที่เพียงพอ ทำให้สามารถรองรับหลายหน่วยงานที่เข้ามาพูดคุยพร้อมกันได้
“นอกจากนี้ ตรงหน้าโถงของอาคารเรายังทำ ‘พื้นที่เปิด (open space)’ ไว้ ความตั้งใจคือ อยากให้เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้สามารถใช้พื้นที่ใน ธปท. เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาได้เช่นเดียวกัน” คุณโสภีเล่าถึงการออกแบบเพื่อให้ ธปท. ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น
เมื่อถามผู้อยู่เบื้องหลังทั้งสองคนว่า อะไรคือความคาดหวังสูงสุดที่มีต่ออาคารสำนักงานใหม่หลังนี้ ทั้งสองคนตอบตรงกันว่า อยากให้อาคารนี้ยังถูกใช้งานต่อไปเรื่อย ๆ อย่างยั่งยืน อย่างน้อยก็อีก 50-60 ปี
เสียงตอบรับจากคนใกล้เคียง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา