22 ก.ย. เวลา 03:43 • ธุรกิจ

สรุปเรื่อง 7 Wastes ไอเดียลีนธุรกิจ ลดต้นทุนไม่จำเป็น เพิ่มอัตรากำไร จากเคสร้านน้ำปั่น

-7 Wastes คือ 7 ความสูญเปล่าจากการดำเนินธุรกิจ ที่ทำให้เสียเงิน เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งการลดสิ่งเหล่านี้ ในมุมธุรกิจเรียกว่าการ ลีน (Lean) คือทำให้อะไรที่ไม่จำเป็น มันเบาบางลง
1
โดยแนวคิด 7 Wastes ประกอบด้วย
- การผลิตมากเกินไป (Overproduction)
- ขั้นตอนในการผลิตซ้ำซ้อน (Overprocessing)
- สินค้าคงคลังมากเกินไป (Inventory)
- ขนส่งเกินความจำเป็น (Transportation)
- มีการเคลื่อนไหวมากเกินไป (Motion)
- มีการรอคอยมากเกินไป (Waiting)
- มีของเสียจากการผลิต (Defect)
3
ทั้ง 7 อย่างนี้ เป็นความสูญเปล่าที่ควรกำจัด เพื่อให้ธุรกิจลีน (Lean) คือมีต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้น้อย ๆ และเพิ่มอัตรากำไรให้กับธุรกิจได้
1
ซึ่ง BrandCase ขอยกตัวอย่าง วิธีกำจัดความสูญเสียทั้ง 7 อย่าง
ผ่านเคสร้านน้ำผลไม้ปั่น ที่มีคนต่อคิวเยอะ ๆ
โดยเริ่มจาก
1. ลดการผลิตมากเกินไป (Overproduction)
1
คือลดการผลิตสินค้า ที่ลูกค้าไม่ต้องการ หรือไม่ได้สั่ง
ซึ่งจะทำให้สูญเสียต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน และเวลาไปโดยไม่จำเป็น
1
วิธีลดการผลิตที่มากเกินไป ก็คือต้องผลิตสินค้าในจำนวนที่พอดีกับความต้องการของลูกค้า
1
อย่างในเคสร้านน้ำผลไม้ปั่น ก็เช่น
- การทำเมนูน้ำปั่นตามที่ลูกค้าสั่งทีละออร์เดอร์
1
- การสต๊อกวัตถุดิบที่ต้องทำรอไว้ อย่างแม่นยำ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำลำไย กล้วย หรือมะละกอที่ปอกแล้ว
โดยอาศัยการเก็บข้อมูลยอดออร์เดอร์ของลูกค้าในแต่ละวัน ว่าเมนูไหนขายดี จะขายได้วันละกี่แก้ว
เพื่อให้เราสามารถเตรียมวัตถุดิบรอไว้ได้อย่างแม่นยำ
2. ลดขั้นตอนการผลิตที่ซ้ำซ้อน (Overprocessing)
คือลดขั้นตอนใด ๆ ก็ตาม ที่ไม่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการ
อย่างในเคสร้านน้ำผลไม้ปั่น ก็คือ
- การตกแต่งแก้วที่ใช้เวลานานเกินไป
- การใส่วัตถุดิบบางอย่าง ที่อาจไม่เพิ่มมูลค่าให้กับน้ำผลไม้ปั่นอย่างที่เราคิด
- การขานเลขคิวของลูกค้าทุกครั้งเมื่อทำสินค้าเสร็จ ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องไว้บอกคิวลูกค้าอยู่แล้ว
3. ลดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (Motion)
ซึ่งเกิดจากการออกแบบขั้นตอนการทำงานที่ไม่ดี อาจทำให้พนักงานเสียเวลา
อย่างในเคสร้านน้ำผลไม้ปั่น ก็คือ
- การหาเครื่องมือเครื่องใช้ ให้พนักงานสามารถทำงานได้ง่าย ๆ สะดวกสบาย
อย่าง ชุดมีดสไลซ์ผลไม้ เครื่องคั้น และเครื่องปั่นน้ำผลไม้
2
- การออกแบบเครื่องมือ ที่เข้ากับสรีระพนักงาน
เพื่อไม่ให้พนักงานเกิดความเมื่อยล้า จากการทำงานหลาย ๆ ครั้ง
1
เช่น เครื่องปั่นน้ำผลไม้ต้องไม่อยู่สูงจากพนักงานมากเกินไป
หรือซิงก์ล้างผลไม้ ต้องออกแบบให้สามารถใช้เท้าเหยียบและล้างผลไม้ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องใช้มือไปเปิดวาล์วด้วยตนเอง
- การออกแบบโฟลว์การทำงานของพนักงาน ให้เดินหรือเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
1
4. ลดเวลารอคอย (Waiting)
คือ ลดการรอคอยของลูกค้า พนักงาน หรือเครื่องจักรที่ทำงานก่อนหน้า
อย่างในเคสร้านน้ำผลไม้ปั่น ก็เช่น
 
- พยายามบาลานซ์ หรือกระจายหน้าที่การทำงานของพนักงาน ให้มีภาระงานเท่า ๆ กัน เพื่อที่พนักงาน จะได้ไม่ต้องรองาน จากคนก่อนหน้า
1
อย่างเช่น คนที่ปั่นน้ำผลไม้ จะใช้เวลานานกว่าคนที่ปิดฝาแก้วพร้อมเสิร์ฟให้ลูกค้า ก็อาจจะบาลานซ์ ให้มีคนทำหน้าที่ปั่นน้ำผลไม้สัก 2-3 คน เพื่อช่วยปั่นน้ำผลไม้ส่งให้คนที่ปิดฝาแก้ว ใส่ถุง พร้อมเสิร์ฟ
ซึ่งการทำแบบนี้ จะทำให้พนักงานไม่ต้องรอกันเอง และเสียเวลาลูกค้า
- วัตถุดิบควรเตรียมรอไว้ให้พร้อม จะได้ไม่ต้องเสียเวลารอเตรียมวัตถุดิบใหม่
5. ลดการขนส่งเกินความจำเป็น (Transportation)
โดยวางแผนการขนส่ง และเลือกเส้นทางขนส่งให้สั้น และประหยัดเวลามากที่สุด
1
อย่างในเคสร้านน้ำผลไม้ปั่น ก็เช่น
- วางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบ จากร้านค้าส่งเพียงที่เดียว หรือน้อยร้านที่สุด เพื่อให้ประหยัดเวลาและต้นทุนค่าเดินทาง
- ซื้อวัตถุดิบต่อครั้ง ทีละมาก ๆ เพื่อให้ประหยัดต้นทุนค่าขนส่งในแต่ละรอบ
- การออกแบบเส้นทางการขนย้ายวัตถุดิบภายในร้าน ให้ดูง่ายและสะดวกต่อการจัดเก็บ
6. ลดสินค้าคงคลัง (Inventory)
คือ ลดการสต๊อกสินค้าที่มากเกินความจำเป็น ทำให้สูญเสียพื้นที่ในการจัดเก็บ
และทำให้ต้นทุนจมไปกับสินค้าคงคลัง
อย่างในเคสร้านน้ำผลไม้ปั่น ก็เช่น
- ต้องสต๊อกวัตถุดิบอย่างผลไม้ ให้พอดีกับออร์เดอร์ของลูกค้า
ซึ่งในการสต๊อกวัตถุดิบ เราจะต้องพิจารณาจาก Shelf life หรืออายุของวัตถุดิบด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากทำน้ำปั่น อย่าง “สมูททีกล้วยหอม”
แล้วเราต้องใช้วัตถุดิบที่เป็นของสด อย่างกล้วยหอม 1 ลูก (หรือประมาณ 150 กรัม) ต่อ 1 แก้ว
สมมติเราคาดการณ์ได้ว่า เมนูนี้จะขายได้ 100 แก้วต่อวัน
และเราก็พอจะประมาณการได้ว่า ในแต่ละวัน จะต้องใช้กล้วยหอมทั้งหมด 150 กรัม x 100 แก้ว = 15,000 กรัม
ก็เท่ากับว่าใน 1 วัน เราจะต้องสต๊อกกล้วยหอมให้ได้ 15 กิโลกรัม นั่นเอง
และสมมติว่ากล้วยหอมที่เราต้องการ เป็นกล้วยสุกและสดใหม่ ถ้าแช่ในตู้เย็นแล้วจะมี Shelf life ที่คงความสดใหม่ได้ 4 วัน
ก็เท่ากับว่า ปริมาณของกล้วยสุกที่จะต้องสั่งมา เท่ากับ 15 กิโลกรัม x 4 วัน = 60 กิโลกรัม
ซึ่งเราก็พอจะคำนวณคร่าว ๆ ได้ว่า
เราจะต้องสั่งซื้อกล้วยหอมมาทั้งหมด 60 กิโลกรัม ในทุก ๆ 4 วัน ถึงจะพอดี ไม่น้อยไป ไม่มากไป
ตรงนี้เราจะได้เรื่อง Economies of Scale หรือการสั่งซื้อมาทีละมาก ๆ เพื่อให้ประหยัดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยได้ด้วย
7. ลดของเสีย (Defect)
Defect คือ ของที่ไม่มีคุณภาพในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งเกิดจากการควบคุมคุณภาพที่ไม่ดีพอ
อย่างในเคสร้านน้ำผลไม้ปั่น Defect ก็เช่น
- น้ำผลไม้ปั่น ที่ไม่มีความสดใหม่
- พนักงานทำน้ำผลไม้ปั่นผิดเมนู หรือผิดสเปกที่ลูกค้าต้องการ
เช่น ลูกค้าสั่งหวาน 25% แต่กลับได้หวาน 75% แทน
ซึ่งหลาย ๆ ร้าน ถ้าเจอลูกค้าบ่น หรือ Complain แบบนี้ เราก็อาจจำเป็นต้องทำน้ำผลไม้ปั่นแก้วใหม่มาแทน
จะเห็นได้ว่าการเกิด Defect นอกจากจะทำให้เสียต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ผลิต และเวลาที่คนงานผลิตงานชิ้นนั้น ไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว
ถ้าสินค้าที่มี Defect ถูกส่งไปถึงมือของลูกค้า และเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน
ก็อาจจะทำให้ภาพจำของแบรนด์ที่มีต่อลูกค้านั้นแย่ลงไปด้วย
สำหรับการลดของเสีย หรือ Defect
เราสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการนำหลักคิด 4M มาใช้
1
โดยมีขั้นตอนคือ
- Man แบ่งหน้าที่การทำงานของพนักงานให้ดี ตามความถนัดของแต่ละคน
- Machine อุปกรณ์ หรือเครื่องทำน้ำผลไม้ จะต้องเสถียร และสามารถใช้งานได้ดี
- Material วัตถุดิบ จะต้องมาจากที่เดียวกัน คุณภาพเหมือนกันเสมอต้นเสมอปลาย
และมีความสดใหม่อยู่ตลอดเวลา
- Method คือ SOP หรือ มาตรฐานกระบวนการทำงาน ที่ใช้สำหรับเทรนพนักงาน ถึงวิธีการทำน้ำผลไม้ปั่นให้อร่อย และมีคุณภาพที่ดีสม่ำเสมอ
สรุปก็คือ เครื่องมือ 7 Wastes ที่ใช้สำหรับทำให้ธุรกิจลีน ทำให้สินค้ามีคุณภาพ การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ
สามารถลดต้นทุนที่สูญเสียไป และเพิ่มอัตรากำไรได้ด้วย
ซึ่งนอกจากธุรกิจทั่วไปแล้ว 7 Wastes ยังถูกนำไปใช้บ่อย ๆ ในโรงงานผลิตสินค้า
ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิตรถยนต์ TOYOTA
ไปจนถึงโรงงานผลิตอาหาร อย่างเช่น เถ้าแก่น้อย และ ซีพีแรม
เพื่อให้เกิด Lean Manufacturing และเกิด Economies of scale ในระหว่างกระบวนการผลิตด้วย
โฆษณา