29 ก.ย. เวลา 00:00 • หนังสือ

แม่น้ำเป็นแม่น้ำ ภูเขาเป็นภูเขา | The Zen Moment

พุทธประวัติในส่วนของการตรัสรู้มีการพูดถึงลำดับขั้นของการเข้าถึงสภาวะนิพพานว่า ต้องผ่านขั้นปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (การระลึกชาติ) จุตูปปาตญาณ หรือ ทิพยจักขุญาณ (การรู้วาระของคนและสัตว์ที่เกิดมาในโลก) อาสวักขยญาณ (การรู้เหตุสิ้นกิเลสในจิต) การผจญมาร การมองทะลุโลกต่าง ๆ ฯลฯ
เห็นชัดว่าเป็นเรื่องที่มีตำนานผสมเข้าไปด้วย จนยากที่จะสรุปได้ว่า นิพพาน (หรือซาโตริ?) เป็นเรื่องจริงตามคำเล่าหรือเป็นเพียงอุปมาหรือขยายความเกินจริงของ 'ความเข้าใจชั้นสูง' ยกตัวอย่างเช่น การตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อบรรลุนิพพานแล้วกลายเป็นสัพพัญญูนี้ หมายความตรงคำ (คือกลายเป็นผู้รู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในจักรวาล) หรือเป็นเพียงอุปมาว่าเป็นผู้รู้แจ้ง การระลึกชาติหมายความตรงคำ (คือมองเห็นชาติปางก่อนจริง ๆ) หรือเป็นเพียงอุปมาว่าเข้าใจกระบวนการเกิดและดับของจิต เป็นต้น
การคุยเรื่องการบรรลุธรรม โดยเฉพาะนิพพานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนจำนวนมากยึดติดกับสิ่งที่ได้เรียนจากชั่วโมงวิชาศีลธรรมว่า นิพพานเป็นของสูง เป็นของผู้มีบุญบารมีมาหลายชาติ ฯลฯ การแย้งหรือตั้งคำถามในเชิงสงสัยความจริงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิบัติกัน ผลก็คือไม่ค่อยมีใครพูดถึงนิพพานในมุมของวิทยาศาสตร์
2
ออกจะเป็นเรื่องขัดแย้งกันพอสมควรที่หนังสือทางศาสนาจำนวนมากอธิบายรายละเอียดของนิพพานหรือซาโตริได้อย่างละเอียดยิบ แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่า นิพพานหรือซาโตริเป็นประสบการณ์พิเศษที่ไม่สามารถอธิบายได้
ในเมื่อเรายังรู้น้อยมากเกี่ยวกับจิต การคุยกันเรื่องนิพพานหรือซาโตริสำหรับเรา ๆ ก็เช่นคนตาบอดคลำช้าง การอธิบายเรื่องนี้ให้คนที่ไม่รู้ให้เข้าใจได้ ก็เช่นการพยายามอธิบายให้คนที่ไม่เคยชิมรสหวานมาก่อนในชีวิตเข้าใจความรู้สึกของความหวาน เซนจึงเห็นว่าการใช้คำพูดเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะมีแต่ชี้ทางให้เขาลองชิมน้ำตาลเท่านั้นจึงจะรู้รสหวานด้วยตนเอง
โดยสรุปก็คือ จากการศึกษาประวัติอาจารย์เซนทั้งหลาย เราบอกได้เพียงว่า การบรรลุธรรมไม่ว่าจะเป็นนิพพานหรือซาโตริ น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางจิตของผู้บรรลุในทางที่ทำให้ผู้นั้นเข้าใจสิ่งที่เป็นไปในโลก ตื่นจากสิ่งสมมุติต่าง ๆ ก้าวพ้นสามัญสำนึกแห่งทวินิยม ซึ่งสัมพัทธ์กัน เช่น ถูก-ผิด ดี-ชั่ว ฯลฯ
ประวัติอาจารย์เซนทั้งหลายบอกไว้คล้าย ๆ กันว่า หลังจากบรรลุธรรมแล้วก็ล้วนมีวัตรปฏิบัติแบบ 'สูงสุดคืนสู่สามัญ' จะดำเนินชีวิตเยี่ยงคนธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษไปจากเดิม เพราะมองว่าตัวเองไม่มีตัวตน ทุกอย่างคือความว่าง หรือสุญตา กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่เราสร้างขึ้นมาครอบงำตัวเราเอง ผู้รู้แจ้งคือผู้รู้เท่าทันสิ่งที่เป็นไปในโลก
ตัวอย่างที่มักถูกยกมาอธิบายประสบการณ์ซาโตริคือ
ก่อนฝึกเซน แม่น้ำเป็นแม่น้ำ ภูเขาเป็นภูเขา
เมื่อปฏิบัติเซน จะเห็นว่าแม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ ภูเขาไม่ใช่ภูเขา
เมื่อบรรลุธรรม แม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ ภูเขาก็เป็นภูเขา
นั่นคือผู้บรรลุซาโตริยังคงดำเนินชีวิตเยี่ยงคนทั่วไป ไม่ยึดติดสภาวะใด ๆ ไม่รู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าใคร ไม่มีอะไรมาเป็นกรอบอีกต่อไป เข้าใจเรื่องความว่าง และกลมกลืนกับความว่างนั้น นั่นคือใช้ชีวิตสามัญตามปัจจุบันขณะ
จาก มังกรเซน (หนังสือเซนที่ต้องค่อยๆ ละเลียด) และ Mini Zen (เซนฉบับการ์ตูน)
มังกรเซน Shopee คลิก https://shope.ee/2VUCymbmSh?share_channel_code=6
โฆษณา