23 ก.ย. เวลา 12:00 • ธุรกิจ

ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างไร ในยุค Slowbalization

🧐 ปรากฏการณ์ ‘Slowbalization’ หรือการชะลอตัวของยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาถกกันหลายต่อหลายครั้ง
เนื่องจากโลกธุรกิจกำลังส่งสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น ความไม่สมดุลทางการค้า ในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา การขาดดุลเป็นผลมาจากปัจจัยการเมืองที่แฝงตัวอยู่ในบริบททางนโยบายเศรษฐกิจ อาทิ การกีดกันทางการค้าที่ทำให้การส่งออกลดลง ประกอบกับรายจ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจากต้นทุนการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ยากไร้ การพยุงสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และยังมีบางส่วนที่ถูกส่งไปช่วยเหลือยูเครนและอิสราเอลในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น
📉 ยกตัวอย่างให้เห็นอีกหนึ่งข้อกังวล คือ สัดส่วนมูลค่าการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศต่อ GDP โลก มีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เพราะการส่งออกและนำเข้าที่ลดลง อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคหายไป เพียงแต่สะท้อนสภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศส่วนใหญ่ว่ามีการใช้จ่ายในสัดส่วนเติบโตขึ้นมากกว่า
✅ คุณ Adam Tooze นักประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้เสนอความเห็นที่ว่า โลกาภิวัตน์จะยังคงอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งด้านการเงิน ความไม่มั่นคงทางการเมือง และภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ สัญญาณเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการปรับตัว เพราะในอดีตนานาประเทศให้น้ำหนักไปที่การแลกเปลี่ยนกันในเชิงปริมาณ แต่ปัจจุบันโลกาภิวัตน์เปลี่ยนมาให้คุณค่ากับความมั่นคงและคุณภาพ
ในการพัฒนาจึงต้องเพิ่ม “นวัตกรรม” เข้าไปสร้างมาตรฐาน เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสร้างเครือข่ายที่พร้อมเปิดรับสินค้าผ่านความร่วมมืออันดีร่วมกัน...แล้วอะไรคือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณา เพื่อข้ามผ่านโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนรูปแบบนี้ได้
🔎 การศึกษาและทำความเข้าใจตลาด
วัฒนธรรม ค่านิยม และความเชื่อของแต่ละประเทศ ล้วนมีรายละเอียดเล็กๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค การวิจัยตลาดจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเชื่อมโยงการค้าระดับสากล โดยการวิจัยตลาด จะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นความต้องการที่แท้จริง ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยในการวิเคราะห์คู่แข่ง เพื่อต่อยอดสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ การพัฒนาจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้
🔀 การพัฒนากลยุทธ์และปรับเปลี่ยนเมื่อแผนเดิมใช้ไม่ได้
แผนธุรกิจถือเป็นแผนที่ช่วยนำทาง ซึ่งต้องถูกพัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานการเข้าใจตลาดรอบด้าน แผนธุรกิจที่ดียังต้องมาควบคู่กับแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการ ทั้งนี้ในการทำธุรกิจบนยุคแห่งความไม่แน่นอน ต้องมีการติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
🤝 การสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ
ในการเปิดตลาดข้ามพรมแดนไปยังต่างประเทศ พลังจากพันธมิตรเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สินค้าและบริการ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วกว่าการเข้าไปเริ่มต้นด้วยตัวเองจากศูนย์ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านชื่อเสียงของคู่ค้าที่มีอยู่ รวมไปถึงช่วยให้การเปิดสำนักงาน การจดทะเบียนธุรกิจ การจ้างงานที่มีประสิทธิภาพดำเนินไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
🪙 การมองหาแหล่งทุนที่ช่วยสนับสนุนการขยายตลาด
การมีอยู่ของโลกาภิวัตน์ทำให้การระดมทุนไร้ข้อจำกัด ผู้ประกอบการและนักลงทุน สามารถทำธุรกรรมการเงินข้ามประเทศ ได้อย่างรวดเร็วและมีความสะดวกขึ้นมาก ทั้งยังสามารถระดมทุนในสกุลเงินจากตลาดเป้าหมาย เพื่อลดความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่การได้มาซึ่งเงินทุนตามที่คาดหวัง ผู้ประกอบการก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นด้วยแผนงานที่ระบุแนวทางและเป้าหมายอย่างชัดเจน มีกลยุทธ์ และแผนการเงินที่สอดคล้องกับการดำเนินงานด้วย
🌍 เป็นที่ประจักษ์ว่า ‘โลกาภิวัตน์’ จะยังคงอยู่ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อรองรับตลาดใหม่จากเครือข่ายระดับโลก NIA ให้ความสำคัญสำหรับโอกาสที่เปิดกว้าง จึงมีการเพิ่มกลไก “Global” ต่อยอดจากแนวคิด Groom Grant Growth เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เติบโตไปตลาดต่างประเทศ ผ่านการบ่มเพาะความรู้ โปรแกรมเร่งรัดการเติบโตของธุรกิจ (Accelerator Program) โดยร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรระดับสากล เปิดโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงการสนับสนุนที่หลากหลายมากขึ้นไปอีกในอนาคต
โฆษณา