23 ก.ย. 2024 เวลา 13:22 • ประวัติศาสตร์

เรื่องเล่าผ่านกาลเวลา #263-1

ตอน : "เก้าห้อง" เรื่องจริง กับ ข้อเท็จจริง
Cr.ภาพจากพี่สมชัย ไวว่อง
หยุดพักไปวันนึง หลังจากสตั้นท์ไปกับข้อมูล "โกดังข้าว" บนถนนนครนอก ว่าไปแล้วเรื่องจริงกับข้อเท็จจริงในความรู้สึก แม้นว่าทั้งเรื่องจริงและข้อเท็จจริงดูแล้วมันจริงทั้งคู่ แล้วทำไมต้อง มีคำแยกใช้ถึงสองคำ
ไหนๆจะใช้ความรู้สึกแล้ว ไงก็คงใช้มันต่อไปในการขยายความ เรื่องจริงกับข้อเท็จจริงกันเสียหน่อย
เรื่องจริง คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ประมาณว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางฝั่งนี้ ก็ยังคงขึ้นตามฝั่งนี้ไปตลอด มิสามารถไปขึ้นอีกฝั่ง หรือฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้ แต่จะจริงแท้หริอไม่ก็ไม่สามารถบอกได้ต้องใช้เหตุผลและคำอธิบายมาสนับสนุน
ส่วนข้อเท็จจริง คือ คำอธิบายหรือเหตุผลเกี่ยวกับความจริงนั้น เป็นข้อมูลที่สนับสนุนความคิดเพื่อนำไปสู่ความเป็นจริง ด้วยการบันทึกเรื่องราวของข้อจริงและข้อไม่จริงเพื่อนำไปสู่ความจริง
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว วันนี้อยากจะเล่าเรื่องราว กรณีของ
"เก้าห้อง ชุมชนจีนโบราณ"
ที่นักวิชาการท้องถิ่นหลายคนได้ลงความเห็นว่า เป็นกลุ่มบ้านเรือนรูปตัวแอลที่ตั้งวางเรียงรายเริ่มต้นตรงฝั่งตรงข้ามเยื้องร้านเกียดฟั่งไปสิ้นสุดตรงร้านคาเฟ่อะเมซอน ของสกุลโคนันทน์
สรุปใจความประมาณหนึ่งได้ว่า มันคือ "ความจริง" แต่ด้วยนิยามแห่งความจริง ที่มาที่ไปบนความจริงต้องใช้อรรถาธิบายในข้อเท็จจริง เข้ามาร่วม
วันนี้เลยอยากนำเสนอในมุมของข้อเท็จจริงเข้ามาพูดคุยบ้างในมุมของคำบอกเล่า "ชุมชนเก้าห้อง"
มีคนสนใจและให้ความสนใจในเรื่องที่มาที่ไปของชุมชนที่ตั้งของเก้าห้อง ที่อยากทราบลักษณะฐานที่ตั้งที่แท้จริง จนนำไปสู่ชุดข้อมูลที่ใช้กันในปัจจุบันว่าเป็น อาคารปลูกสร้างรูปตัวแอลตั้งเรียงกันจากถนนนางงามลงถนนหนองจิก จำนวน๙หลัง
คงต้องออกตัวไว้ก่อนว่า เรื่องจริงความจริง ข้อเท็จจริงที่นำขึ้นเสนอ ไม่ได้มีหมุดหมายเพื่อการให้คนอ่านเชื่อแต่มีหมุดหมายให้ได้เป็นเชื้อในการสืบค้นกันต่อ
หากมองย้อนไป ลูกหลานในย่านนั้นคงมีไม่น้อยที่มีถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมเคยถามคนรุ่นเก่ากว่าว่าทำไมจึงเรียกว่า"เก้าห้อง" แต่ด้วยวัยและเวลาที่ล่วงเลยทำให้ข้อมูลที่รับฟังมาเริ่มหายไป
จากบทกลอนที่เคยเขียนไว้ในการบรรยายย่านเก้าห้อง (บ้านเก้าหลัง)
ถนนนางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อ ๙กุมภาพันธ์๒๕๖๗
สภาพบ้านเลขที่๒ถนนหนองจิก เป็นบ้านหนึ่งในชุมชนเก้าห้อง
๑.บ้านตึกแถว เก้าห้อง เหลือเพียงชื่อ
คำร่ำลือ ในที่มา เป็นไฉน
นามเก้าห้อง บ้านเก้าหลัง ฉันเข้าใจ
เกิดสมัย เก้าห้อง นั้นเฟื่องฟู
สร้างตึกแถว ต่อเป็นแอล ในแนวลึก
สร้างเป็นตึก ถือปูน ยืนเคียงคู่
ศิลปะ จีนโบราณ งามน่าดู
ไม่เลิศหรู เว่อร์วัง อลังการ
เป็นชุมชน น้อยใหญ่ ในย่านนี้
เห็นคงมี เก้าห้องไว้ ใช้เรียกขาน
คู่โรงพระ หลักเมือง มาช้านาน
ด้วยหลักฐาน นามถิ่น ที่สร้างเรือน
แต่ยังดี ที่มีคน อนุรักษ์
คนรู้จัก ได้แลเห็น เป็นเสมือน
คู่นามถิ่น มิจางหาย คนลืมเลือน
เอาไว้เตือน คนรุ่นหลัง ได้มาชม
๒.แต่ไม่ครบ บ้านเก้าหลัง ยังภาพช่วย
ยังคงด้วย สืบสาน กาลเหมาะสม
ได้ถ่ายทอด ถิ่นเก้าห้อง น่ามองชม
มีชมรม ขับเคลื่อน มิเลื่อนลอย
ส่วนตัวเป็น เด็กเมืองเก่า ในย่านนี้
วันดีดี เห็นผ่าน การใช้สอย
มีตลาด ร้านรวง ผู้คนคอย
ต่างใช้สอย จับจ่ายกัน สนั่นเมือง
การพังทลายของอาคารบ้านเรือนจากพายุลม
เมื่อสองวันก่อน ได้มีโอกาสคุยกับพี่สาว ลูกของป้าหลานของยาย ที่มีฐานที่ตั้งดั้งเดิมตั้งแต่เก่าก่อน ณ.บ้านเลขที่๙บนถนนหนองจิก พี่แกได้เล่าให้ฟังว่าที่มาที่ไปของการเรียก"เก้าห้อง" จากยายที่มีอาชีพขาย ขนมจาก ขนมม้า ขนมจู้จุนมะขามแก้วและกวนท๊อฟฟี่ขาย ว่าเคยถามยาย
ยายเคยเล่าทั้งหมดแต่จำไม่ได้ว่าเป็นมาอย่างไร แต่จะบอกกล่าวในสิ่งที่จำได้
เก้าห้อง เป็นชุมชน ในยุคสมัยนั้นบ้านเรือนสร้างกันเป็นแบบที่มีลักษณะที่ ติดกัน ห่างกัน ตามพื้นที่ดินที่ตนเองมี การเข้ามารวมกันเป็นชุมชน ลักษณะของบ้านที่สร้างจึงไม่ได้ติดกันเป็นแพหรือรูปตัวแอล อย่างที่เขาสรุปกัน แต่มีบ้างที่สร้างกันเป็นหย่อมๆเล็กๆที่ติดกัน
ดังนั้นเก้าห้องคือความหมายที่จะสื่อถึง กลุ่มหรือหย่อมของบ้านเรือนในชุมชนละแวกนั้นที่สร้างขึ้นจนดูหนาตา และโดดเด่นขึ้นมาใหม่ต่อจาก ความเจริญที่อยู่ตรงฝั่งนครใน
อะโตย อัมโบย มะ
๒๒กันยายน๒๕๖๗
โฆษณา