23 ก.ย. เวลา 13:29 • สุขภาพ

เรื่องราวประทับใจ: การเรียนรู้

บรรยากาศแห่งความไว้วางใจ
และความเป็นมิตร
เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ
ที่เกื้อหนุนกระบวนการเรียนรู้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผมได้เข้าร่วมการอบรมในหัวข้อ
‘Multicultural International Brainspotting Phase 1’
เรียกสั้น ๆ ว่า Brainspotting (BSP)
ซึ่งเป็นจิตบำบัดที่มีฐานของการดำรงสติ
ผ่านการเชื่อมโยงกับสมองและร่างกาย
(Brain and Body Based Therapy)
เหตุที่ผมตัดสินใจเรียน Brainspotting คือ
ต้องการขยายขอบเขตของการทำงาน
ในพื้นที่ซึ่งการบำบัดด้วยการพูดคุย (Talk Therapy) มีข้อจำกัดครับ
หากท่านผู้อ่านเคยได้ยินคำว่า “บาดแผลทางใจ หรือ ปมค้างใจ”
Brainspotting ก็จะทำงานกับพื้นที่ส่วนนี้เลยครับ
(ส่วนสิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมในประเด็นของปมค้างใจ
ผมจะเขียนลงในบทความชุด ‘ข้อคิดจากชีวิต’ ในเร็ว ๆ นี้ครับ)
นอกจากการเยียวยารักษาแล้ว
จิตบำบัดสกุลนี้ยังสามารถพัฒนาพื้นที่ของศักยภาพได้ด้วย
พอได้รู้ข้อมูลเหล่านี้และไปศึกษาเพิ่มเติม
ตัวผมที่ทำงานด้านการเยียวยารักษาและการพัฒนาศักยภาพอยู่แล้ว
จึงตัดสินใจเลยว่า ต้องเรียนอันนี้แหละ !!!
บทความนี้ผมขอแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วนครับ
ส่วนที่ 1: ความรู้ที่ได้จากการเรียน
ส่วนที่ 2: ประสบการณ์ที่ประทับใจในระหว่างการเรียน
ทีแรกผมตั้งใจว่าพอเสร็จการอบรมแล้วจะเขียนเลย
ซึ่งก็ไม่ได้เขียนอย่างที่ตั้งใจไว้เพราะหมดแรงครับ 😆
[ส่วนที่ 1: ความรู้ที่ได้จากการเรียน]
หากพูดถึงการทำงานของ Brainspotting
สามารถเริ่มต้นจากประโยคนี้ครับ
“การมองไปยังจุดใดจุดหนึ่ง เป็นการดึงข้อมูลจากสมอง”
สังเกตไหมครับว่า
ตอนที่ตัวเรากำลังนึกถึงบางสิ่ง/กำลังคิดถึงอะไรบางอย่าง
สายตาของเรามักจะมองไปยังจุดใดจุดหนึ่งโดยไม่รู้ตัว
(นี่เรียกว่า การเหม่อมอง)
ปรากฏการณ์ที่ดูเรียบง่ายธรรมดาเช่นนี้
แท้จริงแล้วเป็นการทำงานสอดประสานกันของ
จิตใจ ดวงตา สมอง และร่างกาย
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ”
จึงสอดคล้องกับการทำงานของจิตบำบัดสกุลนี้เป็นอย่างยิ่งครับ
ประโยคเด็ดในการทำงานที่ผมประทับใจ คือ
“สิ่งใดอยู่ในจิตใจ สิ่งนั้นอยู่ในสมองและร่างกาย”
หมายความว่า เหตุการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา
เมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นมาแล้ว (ไม่ว่าเกิดขึ้นผ่านช่องทางใดก็ตาม)
จะเชื่อมโยงกับจิตใจ สมอง และร่างกายอยู่เสมอ
การทำงานอย่างสอดประสานกันเช่นนี้
ถือเป็นการเรียบเรียงประสบการณ์ชีวิต
ซึ่งนำไปสู่การประมวลผล การจัดหมวดหมู่ และการสร้างทางเลือกให้กับชีวิต
เพื่อใช้ในการปรับตัวให้อยู่รอดปลอดภัย
รวมทั้งสร้างความสมดุลให้กับชีวิตจิตใจ
แต่ถ้ามีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจอย่างรุนแรง
ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นประสบการณ์ฝังใจขึ้นได้ครับ
ทำนองว่า
“เหตุการณ์จบไปแล้ว แต่สมองและร่างกายยังคงถูกขังอยู่ในช่วงเวลานั้น”
ผลกระทบที่ตามมาก็คือ
เมื่อใดก็ตามที่เรานึกถึงประสบการณ์ฝังใจ
หรือพบเจอเหตุการณ์ที่คล้ายกับความฝังใจดังกล่าว
‘จิตใจ สมอง ร่างกาย’ จึงมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ความท่วมท้นได้ง่าย
การถูกขังเช่นนี้ได้สร้างประสบการณ์ที่ค้างคาขึ้นมา
ซึ่งรอคอยการดูแล การประมวลผล และการจัดหมวดหมู่ให้เข้าที่เข้าทาง
Brainspotting ทำงานอย่างไร ?
จิตบำบัดสกุลนี้ ใช้ความสามารถในการค้นหาของสมองและร่างกาย
“ผ่านการค้นหาตำแหน่งของสายตา ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ในสมองที่ถูกกระตุ้น”
เพื่อคลี่คลายประสบการณ์ที่ยังไม่ได้รับการประมวลผล
และประสบการณ์ที่ยังไม่ได้รับการจัดหมวดหมู่
(ซึ่งก็คือ บาดแผลทางใจ หรือ ปมค้างใจ นั่นเองครับ)
โดยนักวิชาชีพจะชวนผู้รับบริการให้เชื่อมโยงกับร่างกายตนเอง
เพื่อรับรู้ปฏิกิริยาทางร่างกายเมื่อพูดถึงสิ่งที่รบกวนใจ
จากนั้นจึงช่วยให้ผู้รับบริการได้ระบุตำแหน่งของสายตา
ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งที่รบกวนใจ หรือ ประเด็นปัญหา
เมื่อระบุตำแหน่งของสายตาแล้ว นักวิชาชีพจะเปิดพื้นที่ให้ผู้รับบริการ
ได้ใช้ความใส่ใจเชื่อมโยงกับตำแหน่งของสายตานั้น
เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยารักษา
ความน่าทึ่งของกระบวนการดังกล่าว
ช่วยให้เราได้ค้นพบทรัพยากรอันล้ำค่า
ซึ่งอยู่กับตัวเรามาตลอด นั่นคือ
“พลังในการเยียวยารักษาตนเองของสมองและร่างกาย”
ซึ่งช่วยคลี่คลายสิ่งที่เป็นปมค้างใจ และฟื้นฟูการทำงานของจิตใจ
ดังนั้น เป้าหมายของการเยียวยารักษา และการพัฒนาศักยภาพ
ของ Brainspotting คือ
เพื่อเปลี่ยนจากสิ่งที่ดูแลไม่ได้ ให้เป็นสิ่งที่ดูแลได้
เพื่อเปลี่ยนจากสิ่งที่ท่วมท้น ให้เป็นสิ่งที่ทนทานได้
ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ชีวิต
กลับมาอยู่ในภาวะของความสมดุลครับ
[ส่วนที่ 2: ประสบการณ์ที่ประทับใจในระหว่างการเรียน]
นอกจากการเรียนรู้ในส่วนของเนื้อหาแล้ว
ผู้เข้าร่วมการอบรมยังได้รับชมการสาธิตวิธีใช้ Brainspotting
และมีโอกาสได้ฝึกฝนกันด้วย
เนื่องจากการอบรมในครั้งนี้
มีนักวิชาชีพจากหลากหลายประเทศมาเข้าร่วม
ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้ได้เรียนรู้
สิ่งที่ผมประทับใจอยู่ตรงนี้เลยครับ
เพราะถึงแม้เราจะมาจากพื้นที่ซึ่งต่างกัน
แต่เราล้วนมีความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่เหมือนกัน
สำหรับผมแล้ว
นี่คือจุดร่วมที่งดงามของมนุษย์ครับ
ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันอย่างไร
จุดร่วมนี้ยังคงเป็นแก่นแท้ที่เชื่อมโยงเราเข้าด้วยกัน
เราอาจใช้คนละภาษา เราอาจอยู่กันคนละขอบเขตเวลา
แต่เมื่อเรามาอยู่ร่วมกัน และเรียนรู้ด้วยกัน
โอกาสนี้ทำให้เราได้พัฒนาทักษะของ
“การเป็นพื้นที่แห่งความไว้วางใจ”
ได้เป็นสักขีพยานร่วมรับรู้สุขทุกข์ของเพื่อนมนุษย์
ได้เป็นกัลยาณมิตรที่เดินเคียงข้างกันในวันที่มืดมน
รวมทั้งได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่เกื้อหนุนชีวิตจิตใจให้กันและกัน
ผมรู้สึกว่าการเข้าร่วมงานอบรมในครั้งนี้
เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องครับ
ตอนแรกแอบลังเลอยู่เพราะต้องตื่นเช้าเพื่อมาเรียน
(ผมไม่ใช่คนที่ถนัดการตื่นแต่เช้ามืด 🤣)
แต่ก็นั่นล่ะครับผมยอมแลกความสบายเพื่อการเรียนรู้ 5555
บางครั้งชีวิตคนเราก็มักจะมีจังหวะแบบนี้ผ่านเข้ามาเหมือนกันนะครับ
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรากำลังหาทางเติบโตและไปให้ไกลกว่าเดิม
ขณะนั้นอาจมีความท้าทายบางอย่างเข้ามา
ซึ่งมักต้องแลกกับความสบายหรือทรัพยากรบางอย่าง
การศึกษาความท้าทายนั้นและออกแบบทางเลือกที่คุ้มค่า
ถือเป็นการออกแบบเส้นทางชีวิตอย่างหนึ่งครับ ^^
โฆษณา