24 ก.ย. เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์

• ‘เดโมแครต vs รีพับลิกัน’ ย้อนดูประวัติศาสตร์ ทำไมการเมืองอเมริกามีอยู่แค่สองพรรค?

เดโมแครตกับรีพับลิกัน คือสองพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการเมืองของสหรัฐฯ แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ก็มีแค่สองพรรคนี้เท่านั้นที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกันตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 หรือเป็นเวลาเกือบ 200 ปีมาแล้ว
แล้วอะไรกันที่ทำให้การเมืองของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะผูกขาดแค่สองพรรคเท่านั้น ประวัติศาสตร์และระบบการเลือกตั้งของพวกเขา อาจจะเป็นคำตอบของข้อสงสัยนี้
3
เพียงไม่นานหลังการก่อตั้งประเทศ ระบบสองพรรคการเมืองก็เริ่มปรากฏในสหรัฐฯ โดยบรรดาผู้ก่อตั้งประเทศหลายคนไม่ไว้ใจในการมีอยู่ของกลุ่มการเมือง อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) เคยเรียกพรรคการเมืองว่าเป็น ‘โรคที่ร้ายแรงที่สุด’ (The Most Fatal Disease) แม้แต่จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ยังเคยกล่าวในพิธีอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1796 ว่า กลุ่มการเมืองต่าง ๆ จะนำไปสู่ระบอบเผด็จการที่น่ากลัว
2
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่วอชิงตันเป็นประธานาธิบดี ชนชั้นนำทางการเมืองของสหรัฐฯ ก็ได้แตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือพรรคสหพันธรัฐนิยมหรือ Federalist ที่นำโดยอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน และกลุ่ม Anti-Federalist หรือพรรคเดโมแครต-รีพับลิกัน (Democratic-Republicans) นำโดยโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)
4
การเกิดขึ้นของพรรค Federalist และ Democratic-Republicans มาจากความขัดแย้ง
ทั้งในเรื่องที่ว่า รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ควรมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน และท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่ออังกฤษและฝรั่งเศสควรจะเป็นอย่างไร
1
อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1800 ที่เจฟเฟอร์สันจากพรรค Democratic-Republicans เอาชนะประธานาธิบดี จอห์น อดัมส์ (John Adams) จากพรรค Federalist ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พรรค Federalist เสื่อมความนิยมจนหายไปจากการเมืองสหรัฐฯ ในท้ายที่สุด
ต่อมาในช่วงระหว่างปี 1817-1825 ในยุคของประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (James Monroe) ถูกขนานนามว่าเป็น ยุคแห่งความรู้สึกดีหรือ ‘Era of Good Feelings’ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเมืองสหรัฐฯ ในตอนนั้น ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะพรรค Democratic-Republicans กุมอำนาจเพียงพรรคเดียว
1
แต่ด้วยอิทธิพลที่มากเกินไปและความแตกต่างทางความคิด นำไปความแตกแยกภายในพรรค Democratic-Republicans ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1824 ที่เป็นการชิงชัยระหว่างจอห์น ควินซี อดัมส์ (John Quincy Adams) แอนดรูว์ แจ็คสัน (Andrew Jackson) รวมถึงผู้สมัครอีกสองคน โดยที่ทั้งหมดล้วนมาจากพรรค Democratic-Republicans แต่มาจากคนละกลุ่มกัน
1
ท้ายที่สุดหลังการเลือกตั้งที่จอห์น ควินซี อดัมส์ ได้รับชัยชนะ พรรค Democratic-Republicans ก็แตกออกเป็นสองพรรค กลุ่มที่สนับสนุนประธานาธิบดีอดัมส์กลายเป็นพรรครีพับลิกันแห่งชาติ (National Republican) ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนแจ็คสัน กลายเป็นพรรคเดโมแครต (Democratic) ที่ก่อตั้งในปี 1828
ต่อมาแอนดรูว์ แจ็คสัน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีท้้งในปี 1828 และ 1832 ทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากพรรคเดโมแครต ส่วนฝ่ายตรงข้ามทั้งพรรค National Republican อดีตสมาชิกของพรรค Federalist รวมถึงกลุ่มอื่น ๆ ที่ต่อต้านแจ็คสัน ก็ได้รวมตัวกันเป็นพรรคใหม่ในชื่อพรรควิก (Whig Party)
2
การต่อสู้ระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรควิกดำเนินมาจนถึงทศวรรษ 1850 ผลสุดท้ายเดโมแครตก็เป็นฝ่ายชนะ ขณะเดียวกันในปี 1854 ก็ได้เกิดพรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งโดยนักกิจกรรมที่รณรงค์เรียกร้องการเลิกทาส พรรคที่ว่านี้ก็คือพรรครีพับลิกัน (Republican) และอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1860 ก็เป็นประธานาธิบดีคนแรกจากพรรครีพับลิกัน ที่สำคัญแกนนำหลายคนของพรรครีพับลิกันในตอนนั้นรวมถึงตัวลินคอล์นเอง ก็เป็นอดีตสมาชิกของพรรควิก
จากทั้งหมดเราจะเห็นว่า การเมืองของอเมริกาเป็นระบบที่สองพรรคการเมืองต่อสู้กันมาโดยตลอด เริ่มต้นตั้งแต่ Democratic-Republican ปะทะ Federalist ยุคต่อมา Democratic ปะทะ Whig และระหว่าง Democratic กับ Republican ที่เริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษ 1850 จนถึงปัจจุบัน
1
ที่น่าสนใจก็คือ ในยุคแรก ๆ พรรคเดโมแครตจะมีแนวคิดแบบฝ่ายขวาที่มีความชาตินิยมอเมริกัน ฐานเสียงส่วนใหญ่ก็คือชาวอเมริกันผิวขาวที่เป็นอนุรักษนิยม ส่วนพรรครีพับลิกันก็เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่เป็นกลุ่มหัวก้าวหน้า มีฐานเสียงเป็นคนรากหญ้า เกษตรกร รวมถึงชาวอเมริกันผิวดำ แต่ปรากฏการณ์ Switch Platform ในศตวรรษที่ 20 ก็ทำให้ทั้งสองพรรคค่อย ๆ สลับขั้วทางการเมือง
2
อีกปัจจัยที่ทำให้การเมืองของอเมริกามีอยู่แค่สองพรรคที่แข่งขันกัน ก็มาจากระบบการเลือกตั้งแบบ ‘Winner Takes All‘ หรือผู้ชนะกินรวบ เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ไม่ใช่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกคณะผู้เลือกตั้งหรือ Electoral College เพื่อทำหน้าที่โหวตเลือกประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง
ในแต่ละรัฐของสหรัฐฯ จะมีจำนวนของ Elector ที่แตกต่างกัน โดยพรรคการเมืองไหนที่ได้รับคะแนนป๊อปปูล่าโหวตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ก็จะได้คณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดในรัฐนั้นไปเลย
การเลือกตั้งแบบ Winner Takes All ทำให้พรรคเล็ก ๆ แทบจะไม่มีโอกาสชนะได้เลย ก็เพราะคะแนนป๊อปปูล่าโหวตที่แต่ละพรรคได้ จะไม่ได้ถูกใช้คำนวณเก้าอี้ในสภา ดังนั้นจะมีแค่พรรคที่ได้ป๊อปปูล่าโหวตอันดับหนึ่งเท่านั้นที่จะได้ผลประโยชน์ จากการเหมาคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดของรัฐนั้น ๆ แตกต่างจากการเลือกตั้งของไทยที่เป็นแบบผสม ที่แม้ว่าพรรคเล็กอาจจะไม่ได้ชนะแบบแบ่งเขตเลย แต่คะแนนป๊อปปูล่าโหวตจะถูกคำนวณเป็นจำนวนเก้าอี้ในสภาด้วย
อ้างอิง
• HISTORY. Why Does the US Have a Two‑Party System?. https://www.history.com/news/two-party-system-american-politics
• Brandthink. รัฐประหาร ‘ครั้งแรก-ครั้งเดียว’ ในสหรัฐฯ ไม่พอใจที่คนดำมีสิทธิเท่าคนขาว แถมยังจัดม็อบขู่ไม่ให้คนไปเลือกตั้ง. https://www.facebook.com/share/p/LPdhXYnVVWgFxynk/?mibextid=oFDknk
• The Briefer. รู้จักระบบเลือกตั้งสหรัฐฯ ทําไมมีเพียงแค่ 2 พรรค. https://m.youtube.com/watch?v=8xkrWrSriDM
#HistofunDeluxe
โฆษณา