23 ก.ย. เวลา 16:49 • ข่าวรอบโลก

In Search of Kazakhstan: The Land that Disappeared "การค้นหาคาซัคสถาน: ดินแดนที่เลือนหาย"

“สาธารณรัฐคาซัคสถาน” (The Republic of Kazakhstan) เป็นประเทศที่มีความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์และมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ใน "เอเชียกลาง" แต่มักถูกบดบังและมองข้ามในเวทีโลก คาซัคสถานตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1920 และได้รับเอกราชหลังจากสหภาพโซเวียตล้มสลายในปี 1991 และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางในการค้นหาตัวตนและนิยามตัวเองใหม่
หนังสือ "In Search of Kazakhstan: The Land that Disappeared" ของคริสโตเฟอร์ ร็อบบินส์ (Christopher Robbins, 2009) นำเสนอการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับการฝ่าฟันความยากลำบากและความสำเร็จของคาซัคสถานในยุคหลังโซเวียต บทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นสำคัญในหนังสือ เช่น การเลือนหายไปทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของคาซัคสถานในยุคหลังโซเวียต (Post-Soviet) ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคมการเมือง และความเข้มแข็งของชาวคาซัค
ร็อบบินส์ เริ่มต้นการสำรวจคาซัคสถานโดยเจาะลึกถึงประวัติศาสตร์อันซับซ้อน ซึ่งถูกกำหนดโดยการครอบงำจากจักรวรรดิต่าง ๆ มาหลายศตวรรษ คำว่า "เลือนหายไป - Disappeared" ในชื่อหนังสือ หมายถึงการที่คาซัคสถาน แม้จะเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก แต่กลับถูกมองข้ามบนเวทีโลกอยู่บ่อยครั้ง ประวัติศาสตร์ชนเผ่าเร่ร่อนกับที่ราบทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ กอปรกับประชากรเบาบางเมื่อเทียบกับสัดส่วนของพื้นที่ ได้ทำให้คาซัคสถานไม่ค่อยเป็นที่สนใจในระดับนานาชาติเท่าไรนัก
ดินแดนเติร์กิสถาน สาธารณรัฐคาซัคสถาน
ร็อบบินส์ ระบุว่าการที่คาซัคสถานถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย และสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา ได้ทำลายอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไปมาก (Kazakh หมายถึง อิสระ หรือ ไท) ส่งผลให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะที่เหมือนถูกลืมหรือ "สูญหาย”
ยุคสหภาพโซเวียตเป็นหัวใจสำคัญของการเล่าเรื่องของร็อบบินส์ โดยเฉพาะผลกระทบที่มีผลต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของคาซัคสถานภายใต้การปกครองของโซเวียต คาซัคสถานถูกใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่นโยบายของโซเวียตพยายามจะปราบปรามวิถีชีวิตแบบเร่ร่อนของชาวคาซัค การบังคับรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจ (collectivization) ในยุคของสตาลิน (Joseph Vissarionovich Stalin)
จากสาเหตุข้างต้นได้นำไปสู่การขาดแคลนอาหารอย่างหนักในช่วงทศวรรษที่ 1930 ผู้คนล้มตาย ซึ่งดังกล่าวทำให้ประชากรลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ การใช้คาซัคสถานเป็นพื้นที่ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค “เซมีปาลาตินสค์” (Semipalatinsk) ยังทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้แก่ประชากรท้องถิ่น เป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่ว่าคาซัคสถานได้ "หายไป" ภายใต้การปกครองของโซเวียต
พื้นที่ทดลองนิวเคลียร์ “เซมีปาลาตินสค์” (Semipalatinsk)
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่สำหรับคาซัคสถาน ร็อบบินส์บันทึกความท้าทายที่ประเทศใหม่ต้องเผชิญในการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง คาซัคสถานได้รับมรดกทางประชากรที่หลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมและภาษาจากรัสเซีย รวมถึงเศรษฐกิจที่ยังคงพึ่งพาอุตสาหกรรมยุคโซเวียตอย่างมาก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนแรก นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) คาซัคสถานได้ก้าวไปสู่การสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของชาติในขณะที่ยังคงพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ร็อบบินส์เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ในการกำหนดทิศทางของประเทศ ภายใต้การนำของนาซาร์บาเยฟ เขาสามารถทำให้ประเทศมีเสถียรภาพและนำพาประเทศผ่านช่วงเวลาหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม ร็อบบินส์ยังชี้ให้เห็นถึงลักษณะของระบอบเผด็จการของนาซาร์บาเยฟ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมืองและการจำกัดเสรีภาพพลเมือง
ความสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพและการส่งเสริมประชาธิปไตยยังคงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในคาซัคสถาน ซึ่งร็อบบินส์สามารถถ่ายทอดถึงความซับซ้อนของประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจน
1
หนึ่งในประเด็นที่โดดเด่นที่สุดในหนังสือของร็อบบินส์ คือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากนโยบายของโซเวียต ความหายนะของทะเลอารัล (Aral sea) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ทะเลอารัลเคยเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก แต่ได้เหือดแห้งและหดหายไปอย่างมากเนื่องจากโครงการชลประทานของโซเวียตเพื่อเพิ่มการผลิตฝ้ายในอุซเบกิสถานซึ่งติดต่อกับคาซัคสถาน
ทะเลอารัลกลายเป็นทะเลทราย
ร็อบบินส์บรรยายภาพภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมที่ทำให้หมู่บ้านชาวประมงและเรือต้องถูกทิ้งร้าง ทะเลสาบกลายเป็นทะเลทราย และพายุฝุ่นจากพื้นทะเลที่แห้งแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชากรในพื้นที่
ถึงแม้จะเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ แต่คาซัคสถานได้พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่ประเทศมีทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซ และแร่ธาตุมากมาย ร็อบบินส์ชี้ให้เห็นว่าประเทศคาซัคสถานได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสนับสนุนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาอุตสาหกรรมการขุดเจาะทรัพยากรนี้ทำให้เศรษฐกิจของคาซัคสถานเปราะบางต่อความผันผวนของตลาดโลก คำถามเกี่ยวกับการกระจายเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง
ร็อบบินส์เน้นย้ำถึงความเข้มแข็งของชาวคาซัคในการเผชิญหน้ากับความยากลำบาก แม้จะเผชิญกับการครอบงำจากภายนอกและความพยายามที่จะลบเลือนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่ชาวคาซัคยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบเร่ร่อนของตนไว้ ร็อบบินส์บรรยายถึงทุ่งหญ้าของคาซัคสถานที่ยังคงรักษาประเพณีเก่าแก่อย่างการล่าสัตว์ด้วยเหยี่ยวและการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน
การล่าสัตว์ด้วยเหยี่ยว
ในขณะเดียวกัน คาซัคสถานก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งในขณะที่พยายามพัฒนาความทันสมัย ร็อบบินส์ให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองหลวงใหม่ “กรุงอัสตานา” เป็นสัญลักษณ์ของความทะเยอทะยานของคาซัคสถานในการมุ่งสู่อนาคต กรุงอัสตานาที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เป็นผลงานทางสถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของคาซัคสถานในการสร้างภาพลักษณ์ของความก้าวหน้าและความทันสมัยในเวทีโลก
กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน
อย่างไรก็ตาม ร็อบบินส์ยังชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมชาติของเมืองที่ทันสมัยนี้ ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะขาดความเชื่อมโยงกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมของประเทศ
หนังสือ "In Search of Kazakhstan: The Land that Disappeared" ของคริสโตเฟอร์ ร็อบบินส์ นำเสนอการสำรวจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับประเทศคาซัคสถานซึ่งอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่อนาคต หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของคาซัคสถานกับมรดกที่ตกทอดจากการแสวงหาประโยชน์ในยุคโซเวียต ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และการปกครองแบบเผด็จการทางการเมือง
จังหวัดเติร์กิสถาน ประเทศคาซัคสถาน
ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ในยุคหลังโซเวียต การเดินทางของคาซัคสถานจากดินแดนที่ "หายไป" ภายใต้การปกครองของโซเวียตมาสู่การเป็นประเทศสมัยใหม่ในเวทีโลก เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเข้มแข็งของประชาชนและผู้นำของประเทศ
แม้จะยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะในเรื่องของเสรีภาพทางการเมืองและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่อนาคตของคาซัคสถานยังเต็มไปด้วยความหวัง หนังสือของร็อบบินส์เป็นเครื่องเตือนใจว่า แม้คาซัคสถานจะถูกมองข้ามไปมากในประวัติศาสตร์ แต่คาซัคสถานเป็นประเทศที่สมควรได้รับความสนใจและความเคารพ ในขณะที่ประเทศยังคงสร้างที่ยืนของตัวเองในโลกต่อไป
โฆษณา