24 ก.ย. 2024 เวลา 15:00 • ธุรกิจ

เปิดเมกะโปรเจ็กต์ลุยลงทุนสนามบินทั่วไทย วางงบเฉียด 7 แสนล้าน

เมกะโปรเจ็กต์ลงทุนสนามบินทั่วไทยเฉียด 7 แสนล้านบาท AOT ดันสุวรรณภูมิเต็มพื้นที่ ยกเลิกสร้าง SAT-2 สร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ รับเพิ่ม 70 ล้านคน ผุดรันเวย์ 4 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน UTA ลงทุนต้นปีหน้า ทย.สร้างสนามบินใหม่ 6 แห่ง บางกอกแอร์ ขยายสนามบินสมุย-ตราด
เมกะโปรเจ็กต์การลงทุนขยายศักยภาพสนามบินของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5 -10 ปีนี้ มีมูลค่าการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 693,110 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนขยายสนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT ลงทุนกว่า 343,000 ล้านบาท การลงทุนสนามบินใหม่ อย่าง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่เป็นโครงการ PPP ระหว่างรัฐ-UTA มูลค่าการลงทุน 320,000 ล้านบาท
กรมท่าอากาศยาน จ่อผุด 6 สนามบินใหม่
การสร้างสนามบินใหม่ 6 แห่ง ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 21,6000 ล้านบาท ได้แก่ สนามบินมุกดาหาร สนามบินบึงกาฬ สนามบินพัทลุง สนามบินสารสินธุ์ สนามบินสตูล สนามบินพะเยา และการขยายสนามบินสมุย ของบางกอกแอร์เวย์ส ที่สนามบินสมุยจะเพิ่มอาคารผู้โดยสารเป็น 11 อาคาร และสนามบินตราด ที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม และขยายระยะทางวิ่ง (Runway) เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ มูลค่าการลงทุน 2,300 ล้านบาท
1
AOT ขยายสนามบินรับเพิ่ม 250 ล้านคน
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าทอท.มีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 250 ล้านคนต่อปีขึ้นไป เนื่องจากในแต่ละสนามบินมีอัตลักษณ์หรือว่ามีความดึงดูดในเรื่องของการเดินทางที่แตกต่างกัน
ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ มีเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทการเพื่อรองรับ 150 ล้านคนต่อปี เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สอดคล้องและรองรับการเดินทางในอนาคต และเป็นศูนย์กลางการบิน คาดว่าจะศึกษาภาพรวมจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2568
ขยายสนามบินสุวรรณภูมิเต็มพื้นที่
ทอท.มีแผนพัฒนา “สนามบินสุวรรณภูมิ” เต็มพื้นที่ ต่อเนื่องจากการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่ยังเหลือในส่วนของการเปิดให้บริการรันเวย์ 3 ที่จะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
สำหรับการลงทุนใหม่ในการขยายสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร คาดจะเปิดประมูลในเดือน ธ.ค. 2567
โครงการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion) จะรอการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเสร็จก่อน จากนั้นจะมีการออกแบบรายละเอียด เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทที่ทบทวนใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 8 เดือน
ทอท.ทุ่ม 1.2 แสนล้าน สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้
ส่วนโครงการที่มีนัยสำคัญคือ การสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ( ปี 2568-2573) ที่จะมีขนาดใหญ่กว่าอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ในปัจจุบัน เป็นการเพิ่มการเดินทางเข้าท่าอากาศยาน ด้านทิศใต้ จากถนนบางนา-ตราด และจะมีการต่อเชื่อมทางพิเศษบางนา-ชลบุรี เข้าสู่อาคารด้วยเพื่อความสะดวก โดยจะประกอบไปด้วย 9 กลุ่มงานหลัก ได้แก่
  • 1.
    งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้
  • 2.
    งานก่อสร้างอาคารคลังสินค้า
  • 3.
    งานก่อสร้างศูนย์ขนส่งด้านทิศใต้
  • 4.
    งานขยายระบบสาธารณูปโภคด้านทิศใต้
  • 5.
    งานก่อสร้างระบบถนนทางเข้า-ออกด้านทิศใต้
  • 6.
    อาคารและลานจอดรถยนต์ ไม่น้อยกว่า 3,000 คัน
  • 7.
    ทางวิ่งเส้นที่ 4
  • 8.
    งานขยายลานจอดอากาศยาน
  • 9.
    งานต่อขยายอุโมงค์เพื่อรองรับระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) และระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ
ทั้งนี้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้คาดว่าจะออกแบบก่อสร้างได้ในปี 2568-2569 และจัดหาผู้ก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีครึ่ง แล้วเสร็จเปิดให้บริการปลายปี 2574 รองรับผู้โดยสาร 70 ล้านคนต่อปี ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมที่เคยวางแผนไว้
เนื่องจากล่าสุดทอท.จะยกเลิกโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ( SAT-2) โดยปรับพื้นที่ตรงนี้มาทำเป็น Air to Air cargo แทน เพื่อนำไปทุ่มกับการลงทุนในเซ้าท์เทอร์มินัลให้ใหญ่ขึ้น รองรับความต้องการในการเดินทางในทุกรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศ และเส้นทางบินในประเทศ รวมไปถึงรองรับการเดินทางเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินของสายการบินในกลุ่มพันธมิตรการบินต่างๆ ซึ่งในการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังนี้ก็จะมีการหารือร่วมกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ อาทิสตาร์อัลไลแอนซ์ , วันเวิลด์
ส่วนทางวิ่งเส้นที่ 4 (รันเวย์ 4) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของสนามบิน จะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 10 เดือน คาดเปิดประมูลในต้นปี 2570 ใกล้เคียงกับอาคารผู้โดยสารด้านใต้ โดยประมาณการณ์วงเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีงานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน คาดเปิดประมูลก่อสร้างได้ในต้นปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2573
ทุ่ม 3.6 หมื่นล้านบาท ขยายสนามบินดอนเมือง
การลงทุนขยายสนามบินดอนเมือง วงเงินงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) มีพื้นที่ให้บริการกว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ 22 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ให้บริการกว่า 210,800 ตารางเมตร
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573 นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร เพื่อก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) รวมถึงกิจกรรมด้านการบินทั่วไป (General Aviation: GA) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบินด้วย
นอกจากนี้ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 177,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572 และจะมีการสร้างซีเพลน เทอร์มินัล หรือสนามบินน้ำ สำหรับรองรับเครื่องบินซีเพลนที่เดินทางต่อจากสนามบินภูเก็ตไปยังเกาะแก่งต่างๆด้วย
ขณะที่การพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ซึ่งจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 95,000 ตารางเมตร รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 66,600 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 20 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569
ในส่วนของการก่อสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอันดามัน (สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2) และท่าอากาศยานล้านนา (สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี
โดยสนามบินอันดามัน จะใช้พื้นที่ 7,300 ไร่ จะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 44 หลุมจอด โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในตำบลโคกกลอย จังหวัดพังงา
สำหรับสนามบินล้านนา จะอยู่บนพื้นที่ 8,050 ไร่ ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 38 หลุมจอดรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 32,000 ตัน โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
ในด้านการเข้าบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ เมื่อสามารถเข้าบริหารได้แล้ว ทอท.มีแผนจะพัฒนาทั้ง 3 สนามบินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
สนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออกเริ่มก่อสร้างต้นปีหน้า
สำหรับบิ๊กโปรเจคต์การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า ภายในปีนี้จะเริ่มก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) ที่กองทัพเรือ (ทร.) รับผิดชอบได้ เนื่องจากได้สรุปผลการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาแล้ว คือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
โดยอยู่ระหว่างประสานการใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ AIIB และในต้นปี 2568 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานได้เช่นกัน
โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี บนพื้นที่รวม 6,500 ไร่ ประกอบไปด้วย 3 โครงการ คือ 1. Airport Terminal พื้นที่ 1,482 ไร่ 2. Air Cargo & Logistics พื้นที่ 348 ไร่ 3. Airport City พื้นที่ 1,058 ไร่ มูลค่าลงทุนรวม 320,000 ล้านบาท คาดเฟสแรกลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท (ส่วนของสนามบินประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่วน Airport City ลงทุนประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาท)
ในพื้นที่ Airport City ประกอบด้วย กิจกรรม ศูนย์การค้าระดับโลก MICE, Indoor Arena, โรงแรม, สนามแข่งรถ, ร้านอาหาร, Medical Tourism Hub รูปแบบเมืองการบิน สนามบินแข่งขันฟอร์มูลาวัน โดยการพัฒนาในโครงการนี้จะแบ่งเป็น 6 เฟส แฟสแรกรองรับที่ 12 ล้านคน โดยเปิดให้บริการปี 2571 เฟส 2 จะรองรับเป็น 20 ล้านคน เฟส 3 รองรับเป็น 30 ล้านคน เฟส 4 รองรับเป็น 42 ล้านคน เฟส 5 รองรับเป็น 51 ล้านคน เฟส 6 รองรับ เป็น 60 ล้านคน
โฆษณา