24 ก.ย. 2024 เวลา 04:32 • ประวัติศาสตร์

เรืรองเล่าผ่านกาลเวลา #263-2

ตอน : "เก้าห้อง" เรื่องจริง กับ ข้อเท็จจริง
ยายเคยเล่าทั้งหมดแต่จำไม่ได้ว่าเป็นมาอย่างไร แต่จะบอกกล่าวในสิ่งที่จำได้
เก้าห้อง เป็นชุมชน ในยุคสมัยนั้นบ้านเรือนสร้างกันเป็นแบบที่มีลักษณะที่ ติดกัน ห่างกัน ตามพื้นที่ดินที่ตนเองมี การเข้ามารวมกันเป็นชุมชน ลักษณะของบ้านที่สร้างจึงไม่ได้ติดกันเป็นแพหรือรูปตัวแอล อย่างที่เขาสรุปกัน แต่มีบ้างที่สร้างกันเป็นหย่อมๆเล็กๆที่ติดกัน
ดังนั้นเก้าห้องคือความหมายที่จะสื่อถึง กลุ่มหรือหย่อมของบ้านเรือนในชุมชนละแวกนั้นที่สร้างขึ้นจนดูหนาตา และโดดเด่นขึ้นมาใหม่ต่อจาก ความเจริญที่อยู่ตรงฝั่งนครใน
คำว่ากลุ่มหรือหย่อมที่พี่สาวได้บอกเล่ายังมีคำอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังต่อไปว่า บ้านเรือนกลุ่มเก้าห้องนี้ไม่ได้เรียงรายติดกัน และในรายละเอียดในช่วงยุคสมัยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้สอยบ้านและพื้นที่
บ้านเก้าห้องหลังที่๑และ๒
ฝั่งซ้ายปลายถนนหนองจิก (บ้านเลขที่ ๑และ๓)ตรงข้ามกับศาลเจ้าซำเล่งเตียน (ศาลกวนอู)
ปัจจุบันเป็นบ้านพักอาศัยสร้างใหม่ (ของร้านเกียดฟั่ง)
บ้านเก้าห้องหลังที่๓
ฝั่งขวาปลายถนนหนองจิก (บ้านเลขที่ ๒)ตรงข้ามกับศาลเจ้า ซำเล่งเตียน (ศาลกวนอู)
ปัจจุบันเป็นพื้นที่ว่างอันเนื่องจากการพังทลายลงของตัวอาคาร เมื่อตอนสงขลาประสบภัยจากพายุ
บ้านเก้าห้องหลังที่ ๔-๕
ฝั่งขวาของถนนหนองจิก (บ้านเลขที่๔และบ้านเลขที่๖) ปัจจุบันใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบกิจการค้าขายก๊วยเตี๋ยว ของน้าแป้ดและน้าลั่น
บ้านเก้าห้องหลังที่ ๖-๗
ฝั่งขวาของถนนหนองจิก (บ้านเลขที่ ๑๔และ๑๖) ของสกุลโคนันทน์ที่ปัจจุบันใช้ทำเป็นคาเฟ่ อะเมซอน
บ้านหลังที่ ๘
ฝั่งซ้ายของถนนหนองจิก (บ้านเลขที่๑๙) เป็นบ้านของฉีเอี่ยม ร้านพืชผลเดิม ปัจจุบันปล่อยเช่าทำเป็นร้านเสริมสวย
บ้านหลังที่ ๙
บ้านหลังนี้อยู่บนถนนนางงามในปัจจุบัน และเป็นร้านไอสครีมกับพื้นที่ว่างจรดร้านอินทรา(บ้านพี่หลี)
 
หลายคนอาจมีความรู้สึกนึกคิดไปว่เก้าห้องคงมีลักษณะเดียวกันกับ กลุ่มอาคารแปดห้องบริเวณใกล้โรงกลั่นสุราเดิม (กรมสรรพสามิตสงขลาในปัจจุบัน) ที่มีลักษณะการปลูกสร้างเป็นห้องแถวเรียงรายต่อกันนับจำนวนได้แปดห้องแถวติดๆกัน เรียกย่านนั้นว่า "แปดห้อง" ทำให้ความรู้สึกนั้นแผ่ความคิดมาว่า "เก้าห้อง"คือมีบ้านเก้าหลังเรียงชิดติดกันเป็นแถว
ร้นไอสครีมและพื้นที่ว่าง
ส่วนกลุ่มบ้านฝั่งตรงข้ามตามที่พี่สาวในวัยหกสิบสี่เล่าเพิ่มว่าที่ยายได้อาศัยอยู่ เป็นกลุ่มบ้านที่สร้างขึ้นในกาลหลัง โดยบ้านจำนวน๔หลังที่สร้างขึ้นก่อน บวก๒หลังที่เป็นบ้านของยาย เราจึงเห็นบ้านที่มีลักษณะทรงเดิมที่มีลักษณะเป็นสองชุดอาคาร บนถนนหนองจิกฝั่งขวาที่เข้ามาแทรกตัวอยู่กับชุมชนบ้านเก้าห้อง เก้าหลังเดิม เพื่อช่วยเสริมให้ย่านนั้นมีการขยายตัวเป็นแหล่งชุมชนที่มากขึ้น และกลายเป็นแหล่งตลาดของกิน ของใช้จวบจนถึงปัจจุบันนี้
ดังนั้นหากมองสภาพโดยรวมของหย่อมกลุ่มอาคารบ้านเรือนในชุมชนเก้าห้อง บ้านเก้าหลัง จะมีกลุ่มบ้านที่อยู่ชิดติดกันเป็นตัวแอลจำนวน๔หลัง คือกลุ่มบ้านบนถนนางงามที่มีลักษณะหน้ากว้างสั้นและยาว จำนวน๑หลัง บ้านบนถนนหนองจิกฝั่งขวา๑หลัง(บ้านเลขที่๒) และบ้านอีกสองหลัง(บ้านเลขที่๔และ๖)
ส่วนบ้านที่เหลือจะเรียงรายกันไปแบบเว้นวรรค คือ บ้านเลขที่๑๔และ๑๖(ฝั่งขวา) จำนวน๒หลัง
บ้านเลขที่๑และ๓(ฝั่งซ้าย)จำนวน๒หลัง และ บ้านเลขที่๑๙(ฝั่งซ้าย)จำนวน๑หลัง
หมายเหตุ :
๑.ผู้เขียนมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกชื่อถนนทางด้านถนนนครนอกฝั่งกำแพงเมืองเป็นหัวถนน เพราะการย้ายข้ามทะเลสาบฝั่งแหลมสนมาตั้งเมืองใหม่ จากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก การเดินทางข้ามทะเลสาบจากท่ากวางสู่ริมทะเลสาบของอีกฝั่ง มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางและการตัดถนนที่เริ่มจากฝั่งตะวันตก(ถนนนคร)ขยายไปหาฝั่งตะวันออก(รามวิถี) ผู้เขียนจึงมักเขียนบทความที่อ้างอิงจากความเป็นจริง ไม่ได้ยึดตามการวางผังบ้านเลขที่ตามเทศบาลที่ได้กำหนดขึ้นในภายหลัง
๒. การนับห้อง วิธีการนับจะให้ขนาดพท.ความกว้างคูณกับความยาว ในที่นี้คือ พื้นที่ ๑๖๐๐ ตารางเมตร คือ ๑ไร่ และพท.๑ไร่ แบ่งเป็นบ้านได้๑๖ห้อง พื้นที่๑ห้องจึงมีพื้นที่๑๐๐ตารางเมตร ส่วนการวางพื้นที่จัดสรรให้ดูง่ายสุดการแบ่งจะใช้หลักการ กว้าง๕เมตรคูณยาว๒๐เมตร เป็นมาตรฐานในการแบ่ง ดังนั้นพื้นที่ในแต่ละหลังอาจจะมีความหย่อนหรือตึงกันไปตามสภาพเนื้อที่แต่ต้องไม่น้อยไปกว่า๑๐๐ตารางเมตรตามหลักการทั่วไป
๓.บ้านเก้าห้องบนถนนนางงามจึงมีลักษณะดูสั้นโดยใช้ด้านยาวในส่วนของสี่เหลี่ยมผืนผ้าในการเข้าออกผิดกับบ้านบนถนนหนองจิกที่ยังคงมาตรฐานในด้านกว้างเป็นทางเข้าออก
๔.บ้านในรูปคือบ้านเลขที่๒ถนนหนองจิกที่หากมองรายละเอียดบ้านจะมีพื้นที่ด้านข้างตรงหัวมุมเพิ่มออกมาแต่ระยะของความลึกของบ้านหรือตัวอาคารจะมีลักษณะสั้นกว่าบ้านเลขที่๔และ๖
๕.ทุกเนื้อหาเป็นเพียงบันทึกคำบอกเล่าและสังเคราะห์ข้อมูลกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในยุค รวมถึงผู้คนในย่านถนนหนองจิกได้บอกเล่าเพื่อการเก็บบันทึก
แม้นว่าเก้าห้องจะเป็นชุมชนเก่าแก่โบราณ นานจนกระทั่งไม่มีผู้คนที่ได้จดจำหรือใส่ใจในรายละเอียด สภาพและวิถีในห้วงเวลานั้น มีเพียงชุดความคิดที่ได้สรุปไปแล้วว่านั่นคือความจริง แต่ในส่วนของข้อเท็จจริงตามคำบอกเล่ามันคงมีนัยยะสำคัญไม่น้อย แม้นมันจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดในชุดข้อมูลหลักได้แต่..
อย่างน้อยบรรพบุรุษฝั่งแม่ (นางบี้ โกสันลัง) ที่เสียชีวิตลงในวัย๘๘ปี ในราวปี ๒๕๓๐ ที่เป็นผู้ที่อาศัยถนนเส้นหนองจิกในการทำมาค้าขายขนมจาก ขนมม้า ขนมจู้จุน มะขามแก้วและกวนท๊อฟฟี่ขาย มามากกว่าครึ่งทศวรรษ โดยได้ทำจากบ้านเลขที่๙ถนนหนองจิกจนเสร็จแล้วนำมาขายตรงแถวข้างร้านโจ๊กเก้าห้อง (ในปัจจุบัน) ยายได้ทิ้งเรื่องเล่าตรงจุดนี้ไว้ให้ได้ทราบว่าเก้าห้องมันเป็นกลุ่มอาคารที่ไม่ได้เรียงต่อกัน เพื่อใช้ในการเป็นข้อมูลที่ตั้งอันเป็นที่มาของ "เก้าห้อง" "เก้าหลัง" ในเมืองเก่าสงขลา
เฉกเช่นเดียวกับชื่อถนนนางงามที่ ความจริงกับข้อเท็จจริง เป็นไปในลักษณะเดียวกับชุมชนเก้าห้อง ที่เป็นการบอกเล่าที่ยังไม่สอดคล้องกัน
อะโตย อัมโบย มะ
๒๓กันยายน๒๕๖๗
โฆษณา