25 ก.ย. เวลา 02:28 • ไลฟ์สไตล์

หมอชีวกโกมารภัจจ์

ก่อนไปดูภาพปิดทอง เรามาอ่านประวัติกันก่อนค่ะ
ฝากกดติดตาม เพจเฟสบุ๊ค ชีวิตนี้ต้องมี 1000 วัด ด้วยนะคะ (ในนั้นจะลงเป็นหลักค่ะ)
สนใจเรียน ลงรักปิดทองทึบแบบนำไปบูรณะพระพุทธรูปที่บ้าน ทักมานะคะ 0816199197
หมอชีวกโกมารภัจจ์ - ถ้าศึกษาพุทธประวัติมาระดับหนึ่ง เราอาจจะสงสัยว่า ในพุทธกาล จัดว่า เป็นช่วงที่การแพทย์ ยังไม่เจริญก้าวหน้า หรือ สะดวกสบายเฉกเช่นปัจจุบัน แล้วก็ให้สงสัยว่า เวลาสงฆ์ หรือ พระพุทธเจ้า ประชวร หรือ ไม่สบาย จะมีการรักษา อย่างไร เพราะในบางตอนของพุทธประวัติ พระพุทธเจ้า เคยประทาน บทสวดคาถา สำหรับทำน้ำมนต์ ให้พระสงฆ์ได้ฉันท์ เวลาป่วยไข้
พอไปศึกษา ก็พบชื่อหนึ่ง คือ หมอชีวกโกมารภ้จจ์ ที่รักษาพระพุทธเจ้า และเอื้อเฟื้อต่อคณะสงฆ์ในสมัยนั้นด้วย วันนี้ เพจฯจะขอนำท่านมาพบกับ ประวัติของ หมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอที่รักษาพระพุทธเจ้า และ คณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาลครับ
ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์
หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อว่า สาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ แต่พอดีเมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง
ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชิวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวิต = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)
ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอก อาจารย์บอกว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย
ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์ เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค
ต่อมาไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
หมอชีวกได้รักษาโรคร้ายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ
ภายหลัง หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด
นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล
อ่านมาถึงตอนนี้ เราจะพอเห็นความสำคัญ ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ กันครับ โดยปกติ ในโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง ก็นิยมทำรูปเคารพท่าน เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ของผู้ป่วย และ คนทำงานในโรงพยาบาลครับ
โฆษณา