24 ก.ย. เวลา 07:57 • ประวัติศาสตร์
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ประวัติศาสตร์ QR Code ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากกระดานโกะ

หนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลกคือ QR Code ครับ ใครจะไปคิดว่าตารางสี่เหลี่ยมจตุรัสที่หน้าตาดูเนิร์ด ๆ นี้จะกลายเป็นเรื่องสามัญที่คนทั้งโลกใช้ไปได้ วันนี้เราจะมาพูดถึง QR Code กันว่า วินาทีที่เราสแกน QR Code มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง! แล้วเราจะอ่าน QR Code เองโดยไม่ใช้มือถือได้ไหม
QR code หรือ Quick Respone Code นั้นเกิดเมื่อปี 1994 นับถึงปัจจุบันก็ 30 ปีแล้วนะครับ โดยวัตถุประสงค์เริ่มแรกก็แค่ต้องการ Barcode แบบใหม่ที่เก็บข้อมูลได้มากกว่าเดิม และสามารถอ่านได้รวดเร็วพอสำหรับการแทร็กชิ้นส่วนรถยนต์ต่าง ๆ ที่บริษัท Denso ผลิตออกมา สรุปง่ายๆ คือ QR Code เกิดมาจากระบบบริหารสต็อกอะไหล่รถญี่ปุ่นนั่นเอง
ซึ่งหัวหน้าทีมพัฒนาที่ Denso คือ มาซาชิโร ฮาระ บอกว่าดีไซน์ของ QR Code นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากกระดานโกะ ทำให้จาก Barcode ปกติที่สามารถบันทึกข้อมูลได้มิติเดียวคือแนวนอน เก็บข้อมูลได้น้อยราว ๆ 20 ตัวอักษรเท่านั้น กลายเป็น QR Code ที่บันทึกข้อมูลในแบบ 2 มิติ เก็บข้อมูลได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน
ซึ่งปัจจุบัน QR Code ใช้งานได้สารพัดแบบ เช่น
1.เก็บข้อมูล Wi-Fi สแกนแล้วต่อเน็ตได้เลย
2.ข้อมูลการล็อกอิน เช่นสแกน QR Code แล้วล็อกอินไลน์
3.สแกนหน้าสั่งอาหาร
4.ตั๋วคอนเสิร์ต
5.แน่นอน PromptPay จ่ายเงิน
QR code มาตรฐานนั้นมีย่อยถึง 40 Version ซึ่งไล่ตั้งแต่ตารางเล็กที่เก็บข้อมูลได้น้อย ไปจนถึงตารางถี่หยิบที่เก็บข้อมูลได้มากขึ้น โดย QR Code Version 1 ที่เป็นตารางขนาด 21 x 21 จุด เก็บข้อมูลเฉพาะตัวเลขได้ 41 ตัว ไล่ไปเรื่อย ๆ จนถึง Version 40 ที่เป็นตารางละเอียดยิบขนาด 177 x 177 จุด เก็บข้อมูลเฉพาะตัวเลขได้ 7,089 ตัว
ความละเอียดของการออกแบบ QR Code คือมีโหมดเก็บข้อมูลถึง 4 โหมด ตั้งแต่เก็บตัวเลขอย่างเดียว, Alphanumeric คือเก็บอักษรอังกฤษตัวใหญ่และตัวเลข, เก็บตัวอักษรอังกฤษ-ละตินครบตาม ISO 8859-1 และโหมดสุดท้ายเพราะ QR Code เกิดในญี่ปุ่นคือเก็บทั้งตัวคันจิและคานะ
โดย QR code Version 40 ที่เก็บข้อมูลได้สูงสุด เก็บเฉพาะตัวเลขได้ 7,089 ตัว ถ้าเป็น Alphanumeric ได้ 4,296 ตัว แล้วถ้าเก็บครบ ISO 8859-1 จะเก็บได้ 2,953 ตัว ส่วนถ้าเก็บตัวอักษรญี่ปุ่นจะได้สูงสุด 1,817 ตัว
เพราะฉะนั้น QR Code ที่ดี ก็ต้องพิจารณาข้อมูลที่เก็บ แล้วเลือกรูปแบบการเก็บข้อมูลที่เหมาะสม เลือก Version ที่พอดีกับข้อมูลที่จะเก็บ เช่นเก็บชื่อเว็บ ใช้โหมดการเก็บแบบ Alphanumeric ก็พอ ก็จะได้ QR Code ที่อ่านง่ายครับ ถ้าเราไปมัวใช้แต่ QR Code Version 40 เพราะอยากเก็บข้อมูลเยอะ มันจะได้ตารางที่ละเอียดมาก จนกล้องอ่านยากเพราะมันละเอียดเกินไป
นอกจากนี้ QR Code ยังมีอีกหลายแบบที่ Denso กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้ในรูปแบบต่าง ๆ
1.Micro QR Code - QR ขนาดเล็ก สำหรับพื้นที่เล็ก ๆ ที่แปะอันใหญ่ไม่ได้ โดยมีสี่เหลี่ยมตรวจจับทิศทางแค่อันเดียว เก็บตัวเลขได้สูงสุด 35 ตัว
2.rMQR Code - QR ขนาดเล็ก แต่ใช้พื้นที่ได้ยาวกว่า Micro QR Code ทำให้เก็บข้อมูลได้มากกว่า
3.SQRC - QR เข้ารหัส
4.Frame QR - QR ในรูปแบบกรอบ ใส่ภาพเข้าไปตรงกลางได้
ซึ่งจริง ๆ Denso ก็ถือสิทธิบัตรของ QR Code อยู่ แต่ต่อมาก็เปิดให้โลกนำไปใช้ได้โดยไม่คิดค่าใช้สิทธิ์ในส่วนที่เป็นมาตรฐานกลาง ทำให้ QR Code กระจายไปทั่วโลกแบบนี้ แต่ถ้าต้องการใช้ QR แบบพิเศษ ก็ต้องติดต่อ Denso อยู่นะ
ขอสรุปความว้าวของ QR Code ให้ฟัง เผื่อใครใช้มันทุกวันจนเป็นเรื่องปกติแล้วไม่เข้าใจว่ามันว้าวยังไงคือ
1.มันนำข้อมูลคอมพิวเตอร์มาวางในโลกจริง ให้ทุกอุปกรณ์ที่มีกล้องอ่านได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ
2.มันดีไซน์ให้ผิดพลาดน้อย ตั้งแต่การใช้สีตัดกันให้อ่านง่าย รวมถึงกล่องสี่เหลี่ยมมาร์ก 3 จุดทำให้รับรู้ทิศทางการวางโค้ดได้ทันที
3.มันดีไซน์ให้ใช้งานได้แม้อ่าน QR ได้ไม่ครบ ผมลองฉีก QR Code ออกไปสัก 1/4 มันก็ยังอ่านได้ เพราะมีอัลกอริทึม Reed–Solomon error correction มาตั้งแต่ต้น ซึ่งคุณสมบัตินี้ ทำให้เราสามารถสร้าง QR Code ที่มีลวดลาย รูปภาพลงไปได้ด้วย
4.ส่วนข้อมูลจะหายไปได้แค่ไหนนั้นก็กำหนดได้ โดยปรับได้ 4 ระดับ เริ่มต้นจาก Low ข้อมูลหายได้ 7% ไปถึง High ข้อมูลหายได้ 30% แต่แน่นอนว่าเลือกระดับกู้ข้อมูลได้สูง ข้อมูลที่จะเก็บใน QR ลดลง
ซึ่ง Microsoft ก็เคยคิดจะแข่งกับ QR Code โดยออก Microsoft Tags ออกมา ด้วยสีสันและการออกแบบที่สะดุดตากว่า แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่า QR จนเลิกให้บริการไปตั้งแต่ปี 2015
#BTbeartai #QRCode
โฆษณา