26 ก.ย. เวลา 03:55 • สิ่งแวดล้อม

อธิบายเรื่อง Water Footprint ผลิตรถยนต์ 1 คัน ใช้น้ำเฉลี่ย 80,000 ลิตร

ตัวอย่างค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้น้ำจืดในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจำนวน 1 ชิ้น ของทั้งโลก
- เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้าย 1 ตัว ใช้ปริมาณน้ำ 2,720 ลิตร
- กางเกงยีน 1 ตัว ใช้ปริมาณน้ำ 10,850 ลิตร
- สมาร์ตโฟน 1 เครื่อง ใช้ปริมาณน้ำ 12,760 ลิตร
- รถยนต์ 1 คัน ใช้ปริมาณน้ำ 52,000-83,000 ลิตร
3
จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยยปริมาณการใช้น้ำในการผลิตสินค้าเหล่านี้สูงมาก ๆ เช่น รถยนต์ 1 คัน ใช้ปริมาณน้ำสูงได้ถึงระดับ 80,000 ลิตร
และเรื่องนี้จะเกี่ยวกับคำว่า Water Footprint
แล้ว Water Footprint คืออะไร ? และมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้แบบเข้าใจง่าย ๆ
3
น้ำ คือทรัพยากรอย่างหนึ่งที่สำคัญต่อมนุษย์มาก เพราะมนุษย์จำเป็นต้องใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภค
แต่รู้หรือไม่ว่า ปริมาณน้ำทั้งหมดบนผิวโลกกว่า 97.5% เป็นน้ำเค็ม ส่วนอีก 2.5% คือน้ำจืด
2
และน้ำจืดกว่า 70% อยู่ในรูปของน้ำแข็งซึ่งอยู่บริเวณขั้วโลก อีก 30% อยู่ในรูปของเหลว
และน้ำจืดในรูปของเหลวนั้นกว่า 99% เป็นน้ำใต้ดิน อีก 1% คือน้ำบนผิวดินตามแม่น้ำลำคลอง
2
จะเห็นได้ว่า น้ำจืดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีมีจำนวนจำกัดเป็นอย่างมาก
คำว่า Water Footprint หรือรอยเท้าน้ำ คือ ปริมาณน้ำจืดทั้งสะอาดและปนเปื้อน
ที่ใช้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมตลอดห่วงโซ่ของการผลิตสินค้าและบริการของธุรกิจ
หรือก็คือ ปริมาณน้ำจืดทั้งหมดที่ธุรกิจหนึ่ง ๆ ใช้ไประหว่างกิจกรรมการผลิตสินค้าหรือบริการ
ตัวอย่างเช่น การปลูกพืชผลทางการเกษตร การผลิตรถยนต์ การผลิตชิปประมวลผล
โดย Water Footprint แบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ
1. รอยเท้าน้ำสีเขียว (Green Water Footprint)
คือ ปริมาณน้ำจากหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) ซึ่งอยู่ในรูปของความชื้นในชั้นดิน หรือปริมาณน้ำที่พืชได้ใช้ไป ไม่ว่าจะเป็นจากการที่ระบบรากของพืชดูดซึมน้ำ จากการคายน้ำของพืช และจากการสังเคราะห์ด้วยแสง
ซึ่งรอยเท้าน้ำสีเขียวนี้มักถูกนำไปใช้ในธุรกิจทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น การปลูกข้าวและธัญพืช
การทำสวน การทำไร่ และการทำปศุสัตว์
2. รอยเท้าน้ำสีน้ำเงิน (Blue Water FootPrint)
คือ ปริมาณน้ำที่อยู่บนผิวดินและใต้ดิน เช่น น้ำในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง อ่างเก็บน้ำ และน้ำบาดาล
ซึ่งมักถูกนำไปใช้ในการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ และการผลิตสินค้าของธุรกิจต่าง ๆ
3. รอยเท้าน้ำสีเทา (Grey Water Footprint)
คือ ปริมาณน้ำที่ใช้ไปในการบำบัดน้ำเสียให้กลับมาเป็นน้ำที่ดีมีคุณภาพตามมาตรฐานอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งรวมทั้งน้ำเสียที่มาจากครัวเรือน อุตสาหกรรม และน้ำเสียจากการชะล้างหน้าดิน
เนื่องจาก Water Footprint สามารถนำไปใช้วัดปริมาณการใช้น้ำจืดได้ในหลายบริบท
ซึ่งอาจจะเป็นปริมาณการใช้น้ำต่อ 1 หน่วยน้ำหนัก, 1 หน่วยพื้นที่ หรือ 1 หน่วยผลิตภัณฑ์ก็ได้
ดังนั้นหน่วยที่ใช้ในการวัด Water Footprint จึงแตกต่างกันไปตามบริบทที่นำไปใช้ เช่น
ลิตรต่อกิโลกรัม, ลูกบาศก์เมตรต่อตัน, ลูกบาศก์เมตรต่อคน
ตัวอย่างค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้น้ำจืดในการผลิตสินค้าทางการเกษตรจำนวน 1 กิโลกรัม ของทั้งโลก
- แอปเปิล 1 กิโลกรัม ใช้ปริมาณน้ำ 822 ลิตร
- เนย 1 กิโลกรัม ใช้ปริมาณน้ำ 5,553 ลิตร
- เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ใช้ปริมาณน้ำ 15,415 ลิตร
- ช็อกโกแลต 1 กิโลกรัม ใช้ปริมาณน้ำ 17,196 ลิตร
ตัวอย่างค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้น้ำจืดในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจำนวน 1 ชิ้น ของทั้งโลก
- เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้าย 1 ตัว ใช้ปริมาณน้ำ 2,720 ลิตร
- กางเกงยีน 1 ตัว ใช้ปริมาณน้ำ 10,850 ลิตร
- สมาร์ตโฟน 1 เครื่อง ใช้ปริมาณน้ำ 12,760 ลิตร
- รถยนต์ 1 คัน ใช้ปริมาณน้ำ 52,000-83,000 ลิตร
จะเห็นได้ว่าการผลิตสินค้าขึ้นมาแต่ละอย่าง ใช้ปริมาณน้ำจืดในขั้นตอนการผลิตจำนวนมหาศาล
การมองเห็นภาพรวมของปริมาณน้ำที่ใช้ไปในกระบวนการผลิตสินค้า
ผ่าน Water Footprint จึงมีความสำคัญ
เพราะทรัพยากรน้ำจืดมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งสวนทางกับความต้องการน้ำจืดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
จากการเติบโตของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก
2
ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก
ทำให้วัฏจักรของน้ำและฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
ฤดูฝนมีระยะเวลาสั้นลง แต่ฤดูแล้งกลับมีระยะเวลานานขึ้น
ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงทางน้ำของแต่ละประเทศ
Water Footprint จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
1
โดยทำให้เรารู้ว่า การบริหารจัดการน้ำในขั้นตอนการผลิตสินค้าแต่ละอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งโลก
ตัวอย่างบริษัทในไทยที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เช่น
1. บางจาก (Bangchak)
โรงกลั่นน้ำมันบางจาก มีหน่วยงานผลิตน้ำรีไซเคิล โดยการนำน้ำประปาที่ผ่านกระบวนการผลิต
ภายในโรงกลั่นแล้ว กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ถึง 60% ของน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตก่อนหน้า
ซึ่งคิดเป็นน้ำจืดปริมาณประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (1 ลูกบาศก์เมตร เท่ากับ 1,000 ลิตร)
ซึ่งส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันบางจาก เป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน Water Footprint จากสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2. PTT Global Chemical (PTTGC)
มีโครงการหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น
- การนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
- โครงการจัดหาแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติมจากแหล่งน้ำปัจจุบัน
- โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ช่วยลดการดึงน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
มาใช้ได้ถึง 2.76 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
- โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ด้วยเทคโนโลยี Wastewater Reverse Osmosis
(WWRO) ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำลงถึง 2.69 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
โดยในปี 2565 PTTGC มีผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้
- ปริมาณการดึงน้ำจืดมาใช้ 59.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 0.1
- ปริมาณการใช้น้ำ 56.6 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 1.4
ทั้งหมดนี้ก็คือ แนวคิดเกี่ยวกับ Water Footprint ดัชนีชี้วัดว่าธุรกิจใช้น้ำจืดผลิตสินค้าไปปริมาณมากเท่าไร
ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อแนวคิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในธุรกิจต่าง ๆ
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ จากเอกสาร Water Footprint
ของภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พบว่าค่าเฉลี่ยของ Water Footprint ของโลก มีค่าเท่ากับ 1,243 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี
โดยประเทศที่มีค่า Water Footprint ต่อประชากร 1 คน สูงสุด คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีค่าเท่ากับ 2,485 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี
ขณะที่ประเทศไทยมีค่า Water Footprint เท่ากับ 2,223 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี ติดเป็นอันดับ 3 ของโลก
เป็นรองเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอิตาลีเท่านั้น
โดยพบว่าการใช้น้ำของไทยกว่าร้อยละ 90 มาจากการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
ซึ่งสาเหตุที่ค่า Water Footprint ของไทยมีค่าสูงติดอันดับโลก ส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั่นเอง…
References
- เอกสาร Water Footprint นวัตกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึกคนให้รู้คุณค่าทรัพยากรน้ำ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วราวุธ วุฒิวณิชย์
- รายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการ ประจำปี 2565 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
โฆษณา