บริจาคเลือด ส่วนหนึ่งของโปรแกรมซ้อมวิ่ง

ผมมาบริจาคเลือดที่สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม ครั้งที่ 3 ของปี 2567 เนื่องด้วยตัวเองอยู่ฝั่งธน การเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีภาษีเจริญ
ในแต่ละปีผมจะการบริจาคเลือด 3 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้สร้างเม็ดเลือดใหม่ๆ ที่มีคุณภาพมาหมุนเวียนใช้ อันส่งผลดีต่อการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมการแข่งขันวิ่งมาราธอน
รอบนี้ทำการบริจาค 5 สัปดาห์ก่อนงาน BS42 ในวันที่ 3 พ.ย. ที่จะถึงนี้ หลังบริจาคสัปดาห์แรก ยังซ้อมหนักไม่ได้ heart rate จะขึ้นสูงมาก หายใจหอบ เหนื่อยง่าย มีโอกาสวูบสูง ทำได้เพียง resistance training และจ็อกเบาๆ เท่านั้น ความเข้มข้นของการซ้อมเพียง 40-50%
พอเข้าสัปดาห์ที่สองระบบหายใจเริ่มกลับมา สามารถเพิ่มความเข้มข้นของการซ้อมได้ถึง 60-70%
พอเข้าสัปดาห์ที่ 3 ร่างกายกลับมา 80-90% แล้ว สามารถซ้อมได้ที่ระดับความเข้มข้น 80-90%
เมื่อครบ 4-5 สัปดาห์ร่างกายจะฟิต สดชื่นสุดขีด พร้อมเต็มที่สำหรับการแข่งขัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคน บางคนฟื้นตัวช้าหรือเร็วกว่านี้ โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำหลังการบริจาคเลือด เช่นกินอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก และกินยาเสริมธาตุเหล็ก วันละ 1 เม็ดจนหมด
เม็ดเลือดใหม่ที่ร่างกายผลิตมาในรอบนี้นอกจากจะใช้สำหรับงาน BS42 แล้วยังเตรียมไว้สำหรับงานอื่นๆที่ตามมาคือ ATM 42.195 วันที่ 1 ธ.ค. และ จอมบึง 42.195 ในวันที่ 19 ม.ค. ปี 68
นักวิ่งหลายๆท่านจะกังวลกับการบริจาคเลือดในช่วงเตรียมการแข่งขันเพราะกลัวจะเสีย performance ต่อการฝึกซ้อมและการแข่งขัน
แน่นอนว่าการสูญเสียเลือดทำให้ performance ลดลงแน่นอน เพราะเม็ดเลือดนำสารอาหารและออกซิเจนไปใช้ได้ไม่เต็มที่ในขณะออกแรง
อย่างไรก็ตามมุมมองของผมการบริจาคเลือดอย่างน้อย 5-6 สัปดาห์ก่อนแข่ง แทบไม่มีผลกระทบต่อ performance ในการแข่งขันเลย ทั้งนี้คือสภาพร่างกายของผมเอง
ดังนั้นการบริจาคเลือดในหมู่นักวิ่งสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่นักวิ่งต้องวางแผนการบริจาคเลือดเพื่อไม่ให้กระทบกับการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน
การบริจาคเลือดนอกจากนักวิ่งจะได้เม็ดเลือดใหม่ๆที่ดีต่อร่างกายแล้ว ผลพลอยได้ทางใจโดยการช่วยเหลือต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทำให้จิตใจของเราผ่องใสอีกด้วย
อย่าลืมเพิ่มการบริจาคเลือดเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมซ้อมของนักวิ่งทุกท่านนะครับ
โฆษณา