26 ก.ย. เวลา 13:36 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] Is there anything on the Moon? - LUSS >>> อะไรอยู่บนดวงจันทร์?

-ถ้าหากใครติดตาม T-Pop อย่างใกล้ชิด ส่องยันเครดิตเพลง ไปจนถึงคลิป behind the scene คุณคงจะได้เห็นชื่อโปรดิวซ์เซอร์นามว่า BenLuss (ศิรสิทธิ์ ตั้งบุญดวงจิตต์) Lyrics by PunLuss (นลพรรณ อัมพุช) มีส่วนร่วมในหลายๆเพลง และรูปถ่ายศิลปินใน session ห้องอัดมักจะมีสองคนนี้ร่วมเฟรมด้วยเสมอ ในระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา พวกเขาทำงานเบื้องหลังก็เยอะ อีกทั้งทยอยปล่อยซิงเกิ้ลในแบบที่พยายามค้นหาตัวตนอยู่เรื่อยมา
-จากอีพีชุดแรก One For The Road เมื่อปี 2019 พวกเขาเคยสัมภาษณ์เผยความรู้สึกว่า สไตล์ของพวกเขาในช่วงนั้นยังไม่ลงตัวมากนัก จนกระทั่งการมาของซิงเกิ้ลสร้างปรากฏการณ์ #247 #หยอกหยอก พวกเขาเริ่มค้นพบถึงลายเซ็นต์ความ “ขี้เล่นและง้องแง้ง” ของตัวเอง จนเราได้เห็นมุมเด็กน้อยที่เป็น Gen Z ขึ้นเรื่อยๆ
-ด้วยประสบการณ์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังก็ได้ถึงเวลาเสียทีที่จะได้รับรู้ความเป็น Luss แบบ Full Scape เสียทีในอัลบั้มเต็มชุดแรก Is there anything on the Moon? ซึ่งพวกเขาซุ่มอยู่ 2 ปีเพื่อสิ่งนี้ แต่จะสมการรอคอย เติมเต็มความคาดหวังหรือไม่? นั่นอาจได้คำตอบที่น่าจะแตกต่างออกไป
-ถ้าคุณเป็นน้องๆหนูๆ Gen Z Alpha ที่เกิดมาพร้อมกับ culture การละเล่น TikTok อินกับการทำ challenge เป็นชีวิตจิตใจ ชอบเสพคลิปการ์ตูนอานิเมะที่ถูกตัดออกมาจากเรื่องเต็ม เชื่อเลยว่าน้องๆต้องรู้สึกฟิน เพราะฟังก์ชั่นเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ออกแบบมาเพื่อ TikToker ให้ลุกขึ้นมาร่าเริง ใส่ฟิลเตอร์แต่งคอสเพลย์อย่างฉ่ำๆ อีกทั้งยังเป็นป็อปลูกกวาดที่เก็บทันทุกเทรนด์ของกระแสป็อปฝั่งเอเชีย เพราะพวกเขาแทบจะยำรวมมิตรโลกของ K-Pop และ J-Pop มาให้เราได้เปิดหูเปิดตาเลยทีเดียว
-ในขณะที่กลุ่ม Gen X ถึง Y ที่โตมากับ T-Pop ที่มี lyric คำไทยพอเข้าทำนองและรูปปากโดยที่คำอังกฤษไม่หร็อมแหร็มมากนัก หรือแม้กระทั่งการจดจำคุณปั้นในฐานะอดีตนักร้องนำวงอินดี้ Jelly Rocket การเข้ามาติดตามคุณปั้นจนถึงอัลบั้มนี้อาจมีงงงวย ไถฟีดเพื่ออัพเดทเทรนด์เพลงเป็นอันตกใจว่า สไตล์เพลงคนรุ่นใหม่ฉีกไปถึงไหนต่อไหนแล้ว เมื่อเจอชุดคำไทยคำอังกฤษคำแบบสาวอินเตอร์ mumble ในบางเวลา ฟังแล้วบ่นอิหยังวะ จนต้องบอกว่า “พี่ไม่เก็ทว่ะน้อง”
ซึ่งผมได้คุยกับลูกเพจรุ่นพี่คนนึงที่ติดตามตั้งแต่ Jelly Rocket และได้ฟังยุคที่ LUSS ปล่อยเพลงเป็นซิงเกิ้ลแบบประปราย เมื่อได้ฟัง ถึงขั้นส่ายหน้าด้วยความรู้สึกที่ผมได้บรรยายไว้ข้างต้นเลยครับ
-ถึงแม้ว่าผมคือคน Gen Y ที่ค่อนข้างเปิดกว้างกับเทรนด์ป็อปและฮิปฮอปในยุคปัจจุบัน ไทยคำอังกฤษคำ ภาษาวิบัติ mumble ก็มาเถอะ รับได้หมด แต่ผมยังรู้สึกก้ำกึ่ง ตรงจริตบ้างไม่ตรงจริตบ้างปะปนกัน มันก็จะมีเพลงจำพวก catchy แล้วเก็ท และเพลงจำพวก ear worm ที่ไม่ได้ทำงานกับผมในเชิงที่ “ผมควรจะรู้สึกยังไงกับเพลงนี้ดี ?”
-โดยเฉพาะเพลง #ไข่พะโล้ (Kaipalo) อารมณ์เพลงการละเล่นไทยที่อัพเกรดด้วย PC Music ยิ่งเป็นเพลง Pao Ying Chub! หนักเลยครับผม mumble จนตามไม่ทัน ไม่เว้นแม้แต่ท่อนของ TangBadVoice เข้าใจว่าต้องการสื่อการเป่ายิ้งชุบในวงเหล้า ใครแพ้ต้องยกดื่ม ความเมาเลยเถิดจนพูดจาไม่รู้เรื่อง เกริ่นสตอรี่ปวดฉี่แบบงงๆ แล้วไหนจะเลยเถิดสั่งดริ้งค์และอาหารจนบิลเรียกกับยาวเป็นหางว่าว ฟังเพลงอย่างเดียวไม่น่าจะรู้เรื่อง ต้องไปดูเอ็มวีครับ จะได้สนุกกับความเบียวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
-การจัดเรียงแทร็คที่ช่วงแรกๆแอบงงชอบกล แปลกใจตั้งแต่เอา #ไข่พะโล้ มาเปิดหลัง interlude ที่เกริ่นด้วยเตรียมปล่อยหุ่นยนต์กัมดั้มสีชมพูไปท่องดวงจันทร์ด้วยความสงสัยใคร่รู้ตามชื่ออัลบั้ม แล้วอยู่ดีๆก็ “กำแล้วก็แบ แล้วก็กำกำแบ” เล่นเกมส์ไข่พะโล้กันเนิ่นๆเลย แล้วการต่อด้วย #หมอนข้าง เพลงป็อปฟีลกู๊ดที่ผมชื่นชอบตอนตัดเป็นซิงเกิ้ลในช่วงแรกๆ พอเอามาอยู่ต้นม้วนปุ๊บ ผมกลับมองว่า เป็นการตัดเบรคที่ไวเกินไปจริงๆ
-ถ้าคิดจะไม่ตัด #ไข่พะโล้ ออกจากอัลบั้ม ก็ควรต่อด้วย Lonely (Extrovert?) และ #เพื่อนคนโปรด (Crush) น่าจะคงความ upbeat ได้ต่อเนื่องกว่า ยังดีที่เพลง Lonely ทำงานได้ดีมากกับอัลบั้มนี้มากกว่าซิงเกิ้ลเดี่ยวเสียอีก ส่วน เพื่อนคนโปรด เก็ทง่ายด้วยตัวของมันอยู่แล้ว lyrics ที่ไปได้ดีกับซินธ์ป็อปสุดใจฟู #เตลิด (sucker) ต่อให้จะง้องแง้งคิขุอาโนเนะ แต่ผมก็เก็ทในความคล้องจองที่ลงล็อค ฟังไปจิ้มแก้มไปโดยไม่รู้ตัว ใช้คำว่าน่าร๊ากกกกได้อย่างตะโกน
-howyoulie. ที่ได้ HYE จากวง Paper Planes มาฟีท อคลูสติคกลิ่นอายญี่ปุ่นอุทิศอุทัยที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆและลูกเพจรุ่นพี่ที่ผมได้ไปสำรวจความเห็นคนนั้นก็เก็ทกับเพลงนี้มากที่สุด ด้วยความไหลลื่นและชัดถ้อยชัดคำ radio friendly เป็นที่สุด แทบไม่ได้ใส่พลังงานความพังก์ร็อคตามแขกรับเชิญแต่อย่างใด วัยรุ่นไม่มูฟออนคงถูกใจเพลงนี้
#เจ้ากระต่ายน้อย (Tale of the bunny) centerpiece ประจำอัลบั้มนี้ ดีใจที่ได้ฟังเพลงป็อปที่มี storytelling เป็นเรื่องเป็นราวในยุคสมัยนี้ ครั้งล่าสุดที่ได้ยิน T-Pop แบบนี้ย้อนไปนานเลยก็คือเพลง #เจ้าหญิงคนต่อไป ของ Blissonic เห็นหลายเพจเอาเพลงนี้ไปเปรียบเทียบในเชิง nostalgia ซึ่งก็จริงครับ
เพียงแต่ #เจ้ากระต่ายน้อย high concept กว่า จบเรื่องราวได้คลี่คลายกว่ามากๆ แถมยังสอดรับกับเทรนด์ป็อปฝั่งเอเชียที่ชอบ switch beat ไปสู่พาร์ทแร็ปเคร่งขรึมอีกด้วย ส่วนเนื้อหาก็พูดถึงความทะเยอทะยานอยากจะออกจากคอมฟอร์ทโซนอันเป็นความอัดอั้นของ Gen Y-Z เอ็มวีก็ตอกย้ำความทะเยอทะยานด้วยคอสตูม visual effect และการสวมวิญญาณเต้นสไตล์เกิร์ลกรุ๊ปของปั้นที่จัดเต็มกว่าครั้งไหนๆ
-สำหรับสามเพลงที่ไม่ได้ถูกตัดเป็นซิงเกิ้ล เริ่มจาก GACHAPON ใครว่าเพลงนี้เด็กๆใสๆ ผมไม่คิดเช่นนั้นเลยครับ เปรียบเปรยของเล่นได้สองแง่สองง่ามพอสมควร เป็นการออดอ้อนขอร้องให้เล่นให้จับอย่างทะนุถนอมหน่อยก็คงจะดี (แล้วแต่จะคิด) ได้น้องแป้ง GALCHANIE (แกลชานี) นักร้องสาวอาร์แอนด์บีสายฝอจากค่าย YUPP มาร่วมแจมที่เติมเต็ม sex appeal ให้ไปไกลกว่าความเป็นเด็กแบ๊วๆไปเลย
-Ticket to the Moon เพลงสากลภาษาอังกฤษ 100% ที่สอดรับกับไตเติ้ลของการเตรียม launch อีกรอบสู่ดินแดนอันไกลโพ้นของจริง zero gravity แสดงให้เห็นว่า มูฟออนได้แล้ว ตัวจึงลอยเบา จังหวะจะโคนชวนสุดแช่มชื่นระลึกถึงเพลง K-Pop ของเหล่าออนนี่ Taeyeon IU เทือกๆนั้นเลย ใครที่อาจติดขัดความไทยปนอังกฤษในเพลงที่แล้วมา เพลงนี้อาจทำงานให้คุณได้อย่างไม่สะดุดแน่นอน
-bluebutterfly เข้าตำราเพลงปิดท้ายอัลบั้มด้วยสูตรบัลลาดป็อปส่งความคิดถึง หวนรำลึกถึงวันวานเก่าๆ การข้ามผ่านประสบการณ์จนถึงเวลาต้องเติบโต เป็นอันเข้าใจได้ว่า พวกเขาถึงที่หมายบนดวงจันทร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องห่วง พวกเขาสบายดีและคอมพลีทมากพอแล้ว ขอแค่อย่าลืมกันก็พอ
-ความรู้สึกก้ำกึ่งตรง/ไม่ตรงจริตบ้าง สุดแท้แต่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาอยู่ดีที่เลือกจะนำเสนอป็อปสุดบ๊องแบ๊ว และไม่ผิดที่จะเบียวนะครับ ฟังก์ชั่นของอัลบั้มนี้แทบอยากให้คุณปล่อยจอย 100% อยู่แล้ว แต่นั่นก็อาจยังไม่ fit in สำหรับทุกคนมากนัก โดยเฉพาะตัวผมเองที่อินกับอัลบั้มนี้ได้ไม่เต็มที่มากนัก
-การสอดแทรกสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นสิ่งที่ทั้งคู่ชอบเป็นทุนเดิม ทั้งการเสพการ์ตูนอานิเมะ ชอบแต่งคอสเพลย์ การละเล่นสไตล์เด็กน้อย การติดตามเทรนด์กระแสเพลงป็อปยุค Gen Z K-Pop และ J-Pop ผมแทบจะห่างไกลจากสิ่งต่างๆเหล่านี้มากพอสมควร
-เหมือนเพื่อนที่พรรณนาถึงความคลั่งไคล้อานิเมะให้ผมฟัง ซึ่งผมไม่ได้อ่านการ์ตูน ดูอานิเมะเป็นงานอดิเรกแล้ว ไม่ได้ฟัง K-Pop บ่อย นั่นเป็นปัญหาที่ทำให้ผมจูนกับอัลบั้มนี้ไม่ค่อยติดมากเท่าไหร่นัก ซึ่งต่างจากยุคที่พวกเขาปล่อยซิงเกิ้ลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมยังจูนติดกับเพลงเหล่านั้นอยู่เลย เมื่อเจอชุดเพลงเด็กไปจนถึงวัยรุ่นฮาราจูกุเป็นอันต้องไม่อินเป็นธรรมดา
-อย่างไรก็ดี พวกเขาได้ฝากลายเซ็นต์ที่ชัดเจนพอให้คนบนโลกแหงนมองไปแต่ไกลก็รู้ว่า หุ่นยนต์สีชมพูจะไม่ใช่ของใครอื่นนอกจากกันดั้มของพวกเขา ส่วนจะไปปักธงถึงแดนไกลได้หรือไม่? พวกเขาได้เริ่มถูกเชื้อเชิญจากเทศกาลดนตรีในต่างแดนได้เป็นการเบื้องต้นแล้ว viral ได้อีกหรือไม่ก็แล้วแต่แรงสนับสนุนและความสนุกในการทำ challenge แล้วล่ะครับ
ทิ้งไว้ซึ่งลายเซ็นต์ และ generation gap อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Give 6.5/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา