26 ก.ย. เวลา 13:58 • ธุรกิจ

สรุป 10 อินไซต์ล่าสุดจาก Grab ประเทศไทย ฟีเชอร์ Group Oder กระแสดี เพราะคนไม่ชอบหารเท่า

ไม่นานมานี้ Grab ได้จัดงานแถลงข่าว เล่าถึงทิศทางที่แพลตฟอร์มจะไปต่อในอนาคต
โดยเฉพาะเรื่องของการเอาเทคโนโลยีและ AI เข้ามาพัฒนาบริการต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม
ให้ดีขึ้น พร้อมทั้งมีการเผยอินไซต์ที่น่าสนใจจากผู้ใช้ Grabในประเทศไทยด้วย
MarketThink ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาให้ เป็นข้อ ๆ
1. ฟีเชอร์ Group Oder สั่งอาหารพร้อมกันได้หลายคนในออร์เดอร์เดียว ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
โดย Grab เผยว่าคนไทย 93% ที่ใช้ Grab สั่งอาหาร เคยสั่งอาหารให้ครอบครัวและคนใกล้ตัวมาแล้ว แต่การสั่งแบบนี้กลับทำให้มี Pain point หลายอย่างเกิดขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ “การคิดเงินที่ยุ่งยาก” เพราะมีการสั่งหลายออร์เดอร์จากหลายคนพร้อมกัน
บางคนสั่งพิเศษ บางคนเพิ่มไข่ดาว ทำให้การคิดเงินลำบาก
หลายคนเลยแก้ปัญหานี้ด้วยการ “หารเท่า” ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบระบบนี้ เพราะบางคนกินน้อยแต่ต้องจ่ายเท่าคนกินเยอะ ซึ่งจะดูไม่แฟร์
ทำให้ระบบ Group Oder ที่ให้ผู้ใช้สามารถกดสั่งของใครของมัน แล้วเลือกได้ว่าจะหารเท่า หรือแยกกันจ่ายของใครของมัน เลยได้รับความนิยมมาก ๆ นั่นเอง
2. ฟีเชอร์ Group Oder ทำให้ Basket Size หรือมูลค่าเฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อ 1 ครั้ง บนแพลตฟอร์ม Grab ใหญ่ขึ้น
โดยตอนนี้มีสถิติว่าออร์เดอร์ที่มีมูลค่ามากที่สุดต่อการสั่ง Grab 1 ครั้ง มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท (ออร์เดอร์นี้ต้องใช้คนขับหลายคนในการส่ง)
3. ข้อมูลจาก Grab บอกว่า คนขับ GrabFood โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีรายได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 2-3 เท่า ส่วนคนขับ GrabCar จะมีรายได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 7-8 เท่า
4. ตอนนี้ Grab กำลังหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของคนขับให้ทำรอบได้มากขี้น มีรายได้มากขึ้นโดยไม่ต้องขึ้นราคาจนกระทบผู้บริโภค
เช่น ที่ผ่านมาก็มีระบบ “ออร์เดอร์พ่วง” ที่ให้คนขับสามารถรับงานซ้อนกันได้ เหมือนมีรายได้ 2 ต่อจากการวิ่งแค่ครั้งเดียว
5. หนึ่งในระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคนขับที่ Grab บอกว่าเวิร์กคือ ระบบจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time Allocation)
โดยระบบนี้จะอาศัยเทคโนโลยี Machine Learning (ML) และ Predictive Analytics มาประเมินเวลาการเตรียมอาหารของร้านค้าแต่ละร้าน ก่อนจะส่งงานให้คนขับเข้ามารับอาหาร
ทำให้คนขับไม่ต้องเสียเวลามานั่งรอร้านอาหารทำออร์เดอร์
โดย Grab บอกว่าตั้งแต่ใช้ระบบนี้มาตอนช่วงกลางปีที่แล้วพบว่า ช่วยลดเวลาในการรออาหารได้มากถึง 50%
6. Grab มีข้อมูลว่าหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เสียเวลามากในแต่ละออร์เดอร์ คือการที่คนสั่งไม่สะดวกออกมารับอาหาร
Grab เลยคิดค้น Food Lockers หรือตู้เก็บอาหารให้คนขับสามารถทิ้งอาหารไว้ได้เลย โดยไม่ต้องให้คนลงมารับ
โดย Grab บอกว่าตู้นี้สามารถเก็บรักษาคุณภาพของอาหารได้นานถึง 4 ชั่วโมง
และมีติดตั้งตามอาคารสำนักงานชั้นนำ 4 แห่ง คือ The ParQ, FYI Center, The 9th Towers
และ centralwOrld Offices และมีแผนจะขยายไปยังที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร
7. อีกปัญหาที่ทำให้ออร์เดอร์ช้าคือคนขับเดินหลงในห้าง ทำให้ Grab พัฒนาฟีเชอร์ใหม่ Indoor Map โดยการร่วมมือกับศูนย์การค้าต่าง ๆ มาทำแผนที่ในห้าง
ซึ่งช่วยให้คนขับหาร้านอาหารในห้างหรือศูนย์การค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่ง Grab บอกว่าช่วยคนขับลดเวลาในการหาร้านอาหารได้มากถึง 20%
8. ปัจจุบัน Grab มีให้บริการใน 8 ประเทศ 700 เมือง แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีบริการ
“GrabDriveYourCar” บริการเรียกคนขับ จากพฤติกรรมคนไทยที่ชอบสังสรรค์จนขับรถกลับไม่ไหว..
9. Grab บอกว่า 2 ใน 10 ของร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม ไม่มีรูปภาพอาหารดี ๆ สวย ๆ ใช้
Grab เลยพัฒนา AI สำหรับสร้างรูปภาพอาหารตามคำบอกมาให้ร้านอาหารใช้ด้วย
10. หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า Grab มีการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชันด้วย
โดยเน้นให้ผู้ประกอบการเอาไปต่อยอดธุรกิจ
มีวงเงินมากสุดถึง 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ไม่เกิน 1% ต่อเดือน ซึ่ง Grab บอกว่าที่ผ่านมามีหนี้เสียค่อนข้างน้อย ประมาณ 2.35%
โฆษณา