Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Unicorn Tech Integration
•
ติดตาม
17 ต.ค. เวลา 11:41 • ไลฟ์สไตล์
5 สัญญาณ บัญชีโซเชียล “ปลอม” แฝงมิจฉาชีพ
ทุกวันนี้ภัยจากอาชญากรรมออนไลน์มีมากขึ้น หลายคนต้องเจอโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ต่ำกว่าวันละ 3 สาย บางคนนั่งไล่ลบ SMS ที่ส่งลิงก์แปลก ๆ พร้อมข้อความชวนตกใจจนนิ้วแทบจะล็อก บางคนหวาดระแวงไปหมดเวลาที่ต้องกดลิงก์อะไรสักอย่างเพื่อเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมันกลายเป็นความหลอนไปแล้วว่าลิงก์ไหนกดได้ ลิงก์ไหนห้ามกด บางคนจึงตกเป็นเหยื่ออย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำ ทั้งที่ระวังตัวเป็นอย่างดี
รูปแบบของบัญชีสื่อสังคมออนไลน ที่ต้องระวัง และเอะใจไม่ก่อนเสมอหากมีบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ 5 รูปแบบนี้เพิ่มเพื่อนเรามา เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพนั่นเอง
1. แอ็กเคานต์ประเภท “หนุ่มหล่อสาวสวย”
แอ็กเคานต์ที่ใช้ภาพโพรไฟล์เป็นชายหนุ่มหญิงสาวหน้าตาดี อาจมีการโชว์เรือนร่างด้วย หากไล่ดูสิ่งที่โพสต์ย้อนหลังก็อาจเจอโพสต์เชิงตัดพ้อเรื่องไม่สมหวังในความรักสักที หรือโพสต์ในเชิงว่ากำลังตามหารักแท้ อยากมีใครสักคนที่จริงใจ
จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังหากมีแอ็กเคานต์ประเภทนี้เพิ่มเพื่อนมาโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน โดยมีความพยายามจะสานสัมพันธ์เชิงชู้สาว เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าภาพโพรไฟล์นั่นเป็นรูปบุคคลนั้นจริง ๆ หรือไปขโมยรูปคนอื่นมาแอบอ้าง หากเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะนำไปสู่การหลอกลวงว่ารักแล้วเอาให้โอนเงิน หรือหลอกให้ส่งภาพลามกให้ แล้วนำมาใช้แบล็กเมล์กับเหยื่อต่อไป หรือนำไปปล่อยสร้างความเสียหาย
2. แอ็กเคานต์ประเภท “อวดร่ำอวดรวย”
แอ็กเคานต์ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีกลิ่นตุ ๆ ที่หลายคนดูออกตั้งแต่แรกแล้วเป็นพวกแอ็กเคานต์หลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง แชร์ลูกโซ่ ออมทอง หรือขายตรงเพ้อฝัน
หรือชักชวนอย่างแนบเนียนให้เล่นการพนันออนไลน์ โดยสร้างโพรไฟล์ในบัญชีโซเชียลมีเดียให้ตนเองดูเป็นคนที่ร่ำรวย คนที่ประสบความสำเร็จ แต่ก่อนจะมีวันนี้ชีวิตเคยเป็นคนล้มเหลวมาก่อน เคยทำนั่นทำนี่แล้วเจ๊งจนหมดตัว ไม่มีที่ซุกหัวนอน แต่ทุกอย่างพลิกตาลปัตรเมื่อพยายามใช้เงินที่มีอยู่น้อยนิดมาลงทุนในสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วกลายเป็นว่าผลลัพธ์มันปัง มันดีมันปังจนต้องส่งต่อความรวยให้คนอื่น
แม้หลายคนจะมองออกว่าแอ็กเคานต์ที่มักจะมีโพสต์ในทำนองที่ว่าได้เงินมาจากการลงทุน หรือทำธุรกิจบางอย่างที่ได้ผลตอบแทนสูง ๆ ทั้งที่เริ่มลงทุนได้ด้วยเงินหลักสิบบาท จะเป็นแอ็กเคานต์หลอกลวงชวนลงทุน หรือ Hybrid Scam เพราะถ้ามันรวยจริง คนเราไม่มาบอกต่อเคล็ดลับความรวยกันง่าย ๆ แบบนี้หรอก เก็บเงียบเพื่อรวยคนเดียวดีกว่า
แต่คนประเภทที่หวังจะพลิกชีวิตตัวเองให้ได้แบบโฆษณากล่าวอ้าง อยากรวยเร็ว อยากรวยทางลัดมันก็มีไม่น้อย จนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในที่สุด มักมีความเสียหายหลักล้านเลยทีเดียว เพราะลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนก็สูงอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าลงทุนเพิ่มก็จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นไปอีก จึงไปหากู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพิ่ม
3. แอ็กเคานต์ประเภท “ต่างชาติวัยเกษียณ”
หลายคนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่สร้างโพรไฟล์ว่าตัวเองเป็นชาวต่างชาติวัยเกษียณตามหามิตรแท้หรือรักแท้ เพื่อที่จะขอมีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิตที่เหลือเวลาอยู่ไม่มาก ก็เพราะค่านิยมและรสนิยมส่วนตัว เช่น การเลือกคบแต่คนต่างชาติเพราะมีสเปกเป็นคนต่างชาติ การเลือกคบแต่คนที่มีอายุมากกว่าเป็นผู้ใหญ่กว่า แต่พอเป็นคนต่างชาติด้วยโปรไฟล์ก็ยิ่งน่าสนใจ
ถ้าเจอคนดีก็ดีไป ความรักในรูปแบบนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่ถ้าเจอมิจฉาชีพก็เสียหายหลายแสน บางทีเสียไปเป็นแสนแขนไม่ได้จับก็มี เพราะคนที่คุยอยู่ด้วยนั้นอาจไม่มีตัวตนอยู่จริง ๆ อาจเป็นโปรไฟล์แอบอ้าง หรือเป็นมิจฉาชีพคนไทยด้วยกันเองที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ คุยไปคุยมาก็อ้างว่าตั้งใจจะย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ประเทศไทยและจะส่งทรัพย์สินนั่นนี่มาให้ แล้วค่อย ๆ พยายามขอนั่นขอนี่ หลอกให้เหยื่อรักและเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้ จากนั้นก็หายไปเลย
4. แอ็กเคานต์ประเภท “หน่วยงานรัฐ (ปลอม) รับช่วยเหลือ”
ในช่วงที่มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก ๆ เราจะเห็นแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียประเภทที่อ้างตัวว่าเป็นหน่วยงานรัฐรับช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มีอยู่เกลื่อนโซเชียลมีเดีย เพราะมีการซื้อโฆษณาเพิ่มการมองเห็น
แอบอ้างเสนองานเพื่อหวังสร้างรายได้ให้คนตกงาน แต่เมื่อเหยื่อหลวมตัวกดเข้าไป ก็อาจเป็นลิงก์ปลอมที่ฝังมัลแวร์ลงอุปกรณ์ของเรา เป็นแบบฟอร์มหลอกถามข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ โดยอ้างว่าเป็นใบสมัครงาน หรือบอกว่าจะจองงานนั้นงานนี้ไว้ให้ แต่ต้องจ่ายเงินค่าจองงานเอาไว้ก่อน เพื่อให้เหยื่อโอนเงินไป
นี่เป็นแอ็กเคานต์ที่หากินกับความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง หลอกให้ความหวังบนความสิ้นหวังของคน แอบอ้างรับช่วยเหลือคนที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพแล้วหลอกซ้ำ ด้วยการลงโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ อ้างเป็นหน่วยงานของรัฐ หลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน โดยอ้างว่าเป็นขั้นตอนในการติดตามเงินคืน หรือค่าใช้จ่ายในการติดตามคดี หรือหลอกว่ามีงานให้ทำจะได้มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ก็หลอกให้เหยื่อโอนเงินที่มีอยู่เพียงน้อยนิดไปก่อน สุดท้ายก็ไม่ได้ทั้งงาน ไม่ได้ทั้งเงิน
5. แอ็กเคานต์ประเภท “แอ็กหลุม แอ็กปลอม”
จริงๆ แล้ว แอ็กเคานต์ 4 ประเภทที่เอ่ยถึงก่อนหน้านี้ ก็อาจเข้าข่ายเป็นแอ็กฯ หลุม แอ็กฯ ปลอม เหมือนกันหมด เพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่าสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวง บางทีเราอาจจะเห็นว่ามีคนเพิ่มเพื่อนมา แต่พอลองเข้าไปสืบดูโพสต์เก่าๆ ก็พบว่าเป็นแอ็กฯ ที่แชร์แต่ข่าว ร้านอร่อยๆ ที่เที่ยวสวยๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่เคยมีโพสต์บ่นๆ แบบแอ็กเคานต์ปกติของคนทั่วๆ ไป
ไม่มีรูปภาพที่บ่งบอกได้ว่าเป็นคนที่เรารู้จักหรือเปล่า ชื่อแอ็กฯ ก็แปลกๆ แล้วที่สำคัญก็คือ ไม่รู้ว่าจะเพิ่มเราเป็นเพื่อนทำไม เพราะเท่าที่ดูไม่น่าจะรู้จักกัน
ข่าวรอบโลก
ความรู้รอบตัว
ไลฟ์สไตล์
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย