27 ก.ย. เวลา 10:06 • สุขภาพ
โรงพยาบาลศิริราช

เปิดภารกิจลัดฟ้าสู่ "ภูฏาน" หมอศิริราชช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมผู้ป่วยด้อยโอกาส

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ รพ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้แถลงข่าว "ศิริราชมอบความรักให้แก่มนุษยชาติ Love for Humanity by Siriraj @Kingdom of Bhutan ก้าวตามรอยพระบรมศาสดาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสและถ่ายทอดวิชาการด้านการแพทย์ ณ ประเทศภูฏาน
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ระบุว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและภูฏาน อีกทั้งถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
"ภารกิจดังกล่าวสอดคล้องกับบทบาทของศิริราชที่มุ่งสร้างนวัตกรรมช่วยส่งเสริมด้านสาธารณสุขให้ทันสมัย พัฒนาการให้บริการประชาชนเต็มความสามารถ ไม่เลือกปฏิบัติแม้จะเชื้อชาติใด ศาสนาใดก็ตาม" ศ.นพ.อภิชาติกล่าว
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล
สำหรับภารกิจการผ่าตัดเปลี่ยนข้อในต่างประเทศ นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยเมื่อปี 2566 ศิริราชได้เคยลัดฟ้าไปทำหัตถการเปลี่ยนข้อเทียมให้แก่ผู้ป่วยชาวเนปาล พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์การรักษาสู่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ รพ.สิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล จำนวน 33 ราย ให้สามารถกลับมาเดินได้
ส่วนปี 2567 นี้ได้มีการสร้างปาฏิหาริย์ครั้งใหม่ ผ่านโครงการก้าวตามรอยพระบรมศาสดาที่ประเทศภูฏาน โดย ศ.นพ.อภิชาติระบุถึงการมาปฏิบัติภารกิจที่ภูฏานว่า เนื่องจากภูฏานเป็นประเทศขนาดเล็กที่ยังไม่มีการพัฒนาทางการแพทย์เท่าที่ควร การเดินทางครั้งนี้จะมี
"ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช" หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหัวหน้าทีม พร้อมด้วยทีมแพทย์ผ่าตัด 14 คน วิสัญญีแพทย์ 4 คน ทีมพยาบาล กายภาพบำบัด 20 คน ทีมสนับสนุนรวมทั้งหมดกว่า 79 คน โดยตั้งเป้าผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพิ่มขึ้นเป็น 60 ราย 72 ข้อ ด้วยนวัตกรรมที่ทัดเทียมมาตรฐานระดับสากล ในวันที่ 21-26 พ.ย. 2567 ณ Jigme Dorji Wangchuck National Referral Hospital
ส่วนค่าใช้จ่ายในภารกิจได้รับการสนับสนุนจากการบริจาคของประชาชน ซึ่งจากภารกิจครั้งที่เนปาลตั้งเป้าไว้ 7 ล้านบาท แต่ได้เข้ามามากกว่า 10 ล้านบาท ทำให้มีเงินเหลือนำมาสานต่อในครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้ยังเปิดรับการบริจาคอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนโครงการนี้
พระราชวชิรธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า ภูฏานเป้นประเทศภูเขา คนต้องใช้กำลังเข่า ทำให้มีผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมจำนวนมาก และมีผู้ยากไร้ทุนทรัพย์จำนวนมาก ถ้าไม่ได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือ บุคคลต่างๆ เหล่านี้จะไม่มีโอกาสใช้ชีวิตคืนมาอย่างสมบูรณ์ เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม โครงการนี้จึงน่ายกย่องเชิดชู ที่นำวิชาความรู้ความสามารถเทคนิคต่างๆ ไปสอนชี้นำให้วงการแพทย์ประเทศภูฏานจะได้ยืนบนลำแข้งตนเองได้
พระราชวชิรธรรมาจารย์
ด้าน พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เจ้าคณะภาค 6-7 ธรรมยุต กล่าวว่า โครงการนี้เราแทบยกทั้งแผนกออร์โธปิดิกส์ ศิริราชไป ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะทำเรื่องที่ดีๆ แต่ก็ต้องเผชิญข้อกังขาว่า เรากำลังมาทดลองยา หรือใช้คนไข้เป็นหนูทดลองหรือไม่ แต่เราไปด้วยความบริสุทธิ์ การยกองคาพยพไปทำงานในที่ไม่คุ้นเคยทั้งภาษาแลวัฒนธรรมไม่ง่ายเลย จากก้าวแรกที่เนปาลเราทำได้แล้ว เรากำลังทำก้าวที่สองที่ภูฏาน
พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์
ส่วนการเตรียมความพร้อมไปดำเนินการที่ภูฏานมีความยากมากน้อยเพียงใด ศ.นพ.กีรติกล่าวว่า การดำเนินงานครั้งนี้เมื่อเทียบกับคราวที่ไปเนปาล ถือว่ามีความใหญ่ขึ้น ง่ายขึ้น เพราะมีแพทย์ภูฏานเป็นลูกศิษย์ศิริราชอยู่ 3 คนที่พร้อมสนับสนุนทุกอย่าง แต่ที่ยากและเป็นประเด็นคือ ความด้อยโอกาสของประชาชน เคสจะซับซ้อนและยาก และเราผ่าตัดถึง 72 ข้อมากกว่าครั้งก่อนเท่าตัว อีกทั้งยังมีเรื่องของภาษา
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช
"ทั้งหมดเป็นความท้าทายว่าจะบริการจัดการให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดอย่างไร รวมถึงถ่ายทอดการทำงานลักษณะนี้ให้ทีมแพทย์ภูฏานนำไปสืบต่อในประเทศตนอย่างไร ขณะที่เครื่องมือที่นำไปมีมากกว่าคราวก่อนเท่าตัว แต่จำนวนคนน้อยลงเล็กน้อย เพราะพยายามลีนให้ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่" ศ.นพ.กีรติกล่าว
ศ.นพ.กีรติกล่าวว่า เราเตรียมความพร้อมมานานกว่า 8 เดือน พร้อมที่จะไปดูแลผู้ป่วย ซึ่งการผ่าตัดข้อเข่าแลข้อสะโพกเทียมนี้ เราจะผ่าตัดยาวนานมากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้เวลา 3 วันเต็ม ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น รวมผู้ป่วย 60 คน ให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และถ่ายทอดวิชาการความรู้ทุกด้าน แลกเปลี่ยนกับแพทย์ชาวภูฏานทั้งประเทศ ซึ่งมีแพทย์ออร์โธปิดิกส์ 26 คน อีกทั้งวางแผนการศึกษาต่อเนื่องแพทย์ที่ขาดแคลน พยาบาล กายภาพบำบัด ก็จะเข้ามาเรียนด้วยเช่นกัน
ด้าน นพ.ชัยวัฒน์ อาชวกุลเทพ อาจารย์แพทย์ประจำแผนกออร์โธปิดิก ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กล่าวว่า ความยากของโครงการคือ ตั้งแต่เดินทางไป ในการเตรียมเอกสารเข้าประเทศ เราพยายามทำอย่างเต็มที่ เรามีประสบการณ์จากเนปาลคิดว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากที่ไปปฏิบัติภารกิจที่เนปาลมาก่อน คิดว่าทุกคนมีความภูมิใจ ตนภูมิใจ 3 เรื่อง คือ
นพ.ชัยวัฒน์ อาชวกุลเทพ
1.ภูมิใจที่ก้าวตามรอยพระบรมศาสดา และตามรอยคำสอนสมเด็จพระราชบิดา โดยมีความรู้จากศิริราชและนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนไทย เนปาล และภูฏาน และไปถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
2.ภูมิใจในความเป็นคนไทย เราเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นใบเบิกทางแรกเลย เพราะตอนไปราวน์วอร์ดคนไข้ก่อนผ่าตัดที่เนปาล เราคุยไม่รู้เรื่อง พยายามคุยภาษาอังกฤษ แต่เขาพูดภาษาเนปาล มีเจ้าคุณอนิลมานช่วยประสาน เราใช้ภาษามือแล้วอาศัยรอยยิ้ม เราภูมิใจความเป็นรอยยิ้ม และหยิบยื่นไมตรีจิตให้เขาเปิดใจกว้างมากขึ้น
3.ภูมิใจเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง ความเชื่อของผมคือการให้ไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ ผมเป็นผู้รับมาตลอดความรู้ น้ำใจ แต่การให้ครั้งนี้มาตั้งแตจ่หลวงพ่อให้ความเมตตา รับน้ำใจจากผู้มีจิตศรัทธาให้เงินบริจาคให้มีโครงการนี้ได้ และไม่สิ้นสุดแค่นี้ แต่ความร่วมมือของทีมงานทุกคน
โฆษณา