28 ก.ย. เวลา 07:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยควรแทรกแซงค่าเงินบาท

ประเด็นค่าเงินบาทแข็งกำลังเป็น talk of the town ในสังคมไทย เพราะนายกรัฐมนตรีเผลอพูดในลักษณะที่ทำให้คนทั่วไปได้ยินแล้วเข้าใจไปว่านายกฯ บอกว่าค่าเงินบาทแข็งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก
แต่หากมองข้ามประเด็นนั้นไปแล้วหันกลับมาถามว่าบาทควรจะแข็งอย่างรวดเร็วจนเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน คู่แข่ง และคู่ค้า แบบนี้หรือไม่ คำตอบของคนส่วนใหญ่ก็คงจะตอบว่าไม่ควร เพราะการแข็งค่าของเงินบาททำให้รายได้ของผู้ส่งออกและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก หรือแม้แต่ supply chain ของผู้ส่งออกเช่นเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบต่อรายได้โดยตรงตามราคาสินค้าเกษตรเป็นบาทที่ลดลงตามค่าเงิน
ส่วนผู้ส่งออกเอง โดยที่ไม่ต้องรอให้สินค้าขายได้ลดลงเพราะค่าเงินแข็งไปทำให้ราคาสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศแพงขึ้น ทันทีที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น คำสั่งซื้อที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตไม่ว่ากับประเทศไหน หากไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเอาไว้รายได้เป็นเงินบาทและมาร์จินของเค้าจะลดลงทันที และแน่นอนว่าหากลดลงถึงระดับหนึ่ง สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องปรับตัวคือการลดต้นทุน และหากลดต้นทุนจนถึงที่สุดแล้ว ในที่สุดก็จะต้องลดการผลิตซึ่งหมายถึงการลดการจ้างงานในที่สุด
แน่นอนว่าผู้ส่งออกแต่ละรายได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากัน รายที่ได้รับผลกระทบน้อยก็จะรับมือได้แต่รายที่ได้รับผลกระทบมากก็จะเจ็บตัวมาก และส่วนใหญ่ในนั้นคือผู้ประกอบการรายเล็ก
รายได้ของคนจำนวนมากที่ลดลงนี้จะส่งผลเป็นทวีคูณผ่านการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจที่ลดลงและหมุนต่อไปอีกหลายรอบในลักษณะ de-multiplying effect จนทำให้เศรษฐกิจของทั้งประเทศได้รับผลกระทบในวงกว้าง แม้แต่ผู้บริโภคและผู้นำเข้าที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งในช่วงแรก (benefit from price effect) ก็จะได้รับผลกระทบในทางลบในที่สุดจากรายได้ที่ลดลง (disadvantage from income effect)
เมื่อการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วโดยที่ระบบยังไม่ทันปรับตัวส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจมากถึงเพียงนี้ จึงมีคำถามว่าทำไม ธปท. ยังไม่เข้ามาแทรกแซงและปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้
ถ้า ธปท. ตอบว่า เพราะค่าเงินดอลลาร์อ่อน เงินบาทก็ต้องแข็ง ไม่ได้เกิดเพราะเรา คำตอบนี้ ยิ่งทำให้คิดว่า ธปท. ควรเข้าไปแทรกแซงไม่ให้แข็งเร็วอย่างผิดปกติ เพราะการอ่อนลงของดอลลาร์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติแต่เกิดขึ้นจากการ manipulate ของ FED
ถ้า ธปท. ตอบว่า ช่วงนี้ต่างชาตินำเงินเข้ามาซื้อหุ้นซื้อบอนด์กันมาก อันนี้ยิ่งทำให้คิดว่า ธปท. ยิ่งต้องเข้าแทรกแซง เพราะเงินพวกนี้เป็นเงินร้อน มาไว ไปไว มาเพื่อทำกำไรถ้าเห็นช่อง เมื่อได้กำไรแล้วก็จะออกไป ถ้าปล่อยให้เงินร้อนมาทำให้เศรษฐกิจที่แท้จริงเสียหายจะเป็นเรื่องที่ให้อภัยได้ยากจริงๆ
ถ้า ธปท. ตอบว่า เพื่อนบ้านก็แข็งเหมือนกัน เราต้องดูเพื่อนบ้านด้วย คำตอบนี้ก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น มีเพียงอังกฤษและมาเลเซียเท่านั้นที่แข็งกว่าเรา
ที่มา: The Better วันที่ 25 ก.ย. 2567
และถึงแม้สมมุติว่าทุกประเทศแข็งในอัตราใกล้เคียงกัน แต่การที่เราค้าขายเป็นสกุลดอลลาร์เป็นส่วนใหญ่ไม่ว่ากับประเทศไหน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะค้าขายกับใคร เมื่อรายได้ถูกแปลงกลับมาเป็นบาท รายได้เป็นบาทจะลดลงทันที
นอกจากนี้ ในสมัยก่อน ผู้ได้รับผลกระทบทางตรงอาจจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าเป็นหลัก แต่ปัจจุบันผู้ได้รับผลกระทบทางตรงคือประชาชนทั่วไปที่มีเงินออมด้วย เพราะเงินออมจำนวนมากของประชาชนคนไทยในปัจจุบันถูกเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่นหุ้นต่างประเทศ พันธบัตรต่างประเทศ ทอง และสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่ไปลงทุนด้วยตนเองและผ่านกองทุน การแข็งค่าของเงินบาทจึงกระทบโดยตรงกับกำลังซื้อของคนจำนวนมาก
ถ้าเป็นการแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนเกินไป ก็พอจะเข้าใจได้ว่าแบงค์ชาติกังวล เพราะเคยมีประสบการณ์ไม่ดีในการป้องกันค่าเงินบาทจนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศหมดจนต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทและเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่การแทรกแซงเพื่อให้ค่าเงินบาทไม่ให้แข็งไปนั้นตรงกันข้าม เพราะการเข้าแทรกแซงค่าเงินไม่ให้แข็งไปทำโดยการเอาบาทเข้าไปซื้อดอลลาร์มีแต่จะทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
แล้วทำไมแบงค์ชาติไม่ทำ
ถ้าแบงค์ชาติตอบว่า เพราะการเข้าซื้อดอลลาร์จะทำให้ปริมาณเงินบาทในระบบเพิ่มมากขึ้นและไปกดดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินให้ต่ำลงจนไปกระทบกับระดับอัตราดอกเบี้ยที่แบงค์ชาติยังไม่ประกาศลด ทำให้แบงค์ชาติมีต้นทุนในการออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินนี้ออกจากตลาด
ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ ผมก็เห็นด้วยกับคำตอบนี้ แต่ในปัจจุบัน การที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตร ธปท. อยู่มาก ผลตอบแทนที่ได้จากการที่เงินสำรองระหว่างประเทศมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นหากเงินสำรองเพิ่มมากขึ้น
(ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย ปริมาณเงินสำรองที่เพิ่มขึ้น และจากราคาพันธบัตรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการลดอัตราดอกเบี้ยของ FED) ก็สามารถชดเชยต้นทุนการดูดซับสภาพคล่องของ ธปท. ได้หมดแถมยังเหลือส่วนต่างเป็นกำไรให้กับ ธปท. อีกด้วย
ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมจึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า เพราะอะไร ธปท. จึงไม่เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าอย่างรวดเร็วและปล่อยให้เกิดผลกระทบทางลบในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงกับคนจำนวนมาก
หรืออาจเป็นเพราะมีอะไรที่เป็นเหตุผลเฉพาะของ ธปท. ที่ประชาชนธรรมดาอย่างเราอาจจะยังไม่เข้าใจ
โฆษณา