28 ก.ย. 2024 เวลา 13:03 • ธุรกิจ

เมื่อ "โชคดี" ไม่ใช่แค่ "โชคช่วย": บทเรียนจาก Tofusan ที่คุณไม่ควรพลาด | นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า

ในโลกธุรกิจที่แข่งขันสูง เราอาจได้ยินคนที่ประสบความสำเร็จ พูดคำว่า "โชคดี" อยู่บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งอาจแสดงถึงความ Humble (ถ่อมตัว) แต่จริงๆ แล้วคนที่ทำธุรกิจจะรู้ว่า “ความโชคดี” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้
แต่อะไรกันแน่ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่หลายคนเรียกว่า "โชคดี"? คำตอบอาจซ่อนอยู่ในเรื่องราวของแบรนด์ไทยที่เริ่มต้นจาก “ศูนย์” จนเติบโตอย่างน่าทึ่งท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 จนกลายเป็นผู้นำตลาดน้ำเต้าหู้ (พาสเจอร์ไรส์) ยอดขายมากกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี
=========================
ผมได้มีโอกาสเข้าโครงการดีๆของ #TEDfund และได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยาย พร้อมเยี่ยมชมโรงงาน Tofusan
โดยมีคุณนาม สุรนาม ผู้ก่อตั้ง Tofusan (แบรนด์น้ำเต้าหู้ที่หลายๆคน น่าจะเป็นแฟนคลับ มองหาสินค้าได้ง่ายๆ ใน 7-11) ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี มาบรรยายให้ข้อมูล พร้อมถามตอบแบบเชิงลึก และพาเดินดูสายการผลิต (ที่ผมต้องบอกว่า เป็นสายการผลิต ที่สะอาด และน่าทึ่งมากๆ หลายๆ เครื่องจักร ทางคุณนาม และทีมงาน ออกแบบและปรับปรุงเอง ให้ตอบโจทย์วิทยาศาสตร์อาหาร)
การบรรยายครั้งนี้ไม่เพียงแต่เล่าถึงเส้นทางความสำเร็จ แต่ยังเผยให้เห็นถึงแง่มุมที่น่าสนใจของคำว่า "โชคดี" ที่หลายคนอาจมองข้าม….
1️⃣ ธุรกิจที่ ไม่ได้เริ่มที่น้ำเต้าหู้
คุณนาม เรียนจบวิศวฯ อุตสาหการ แต่ได้ทุนไปเรียนต่อการบริหารจัดการเทคโนโลยีที่ออสเตรเลีย ระหว่างเรียนก็ทำงานหาเงิน จนมีเงินเก็บก้อนหนึ่ง โดยคุณนามเล่าว่า จุดแข็งของคุณนามก็คือ ขับรถส่งอาหารได้เร็วกว่าคนอื่นเลยได้ทิปเยอะ และเงินทุนที่เก็บมาจากออสเตรเลียนั่นเอง เป็นส่วนที่เอามาเปิดธุรกิจ Tofusan!
ก่อนหน้าที่จะทำ Tofusan คุณนามทำธุรกิจหลากหลาย ทั้งร่วมธุรกิจกับเพื่อน ทำ “บ๊วยคืนชีพ” (หลายๆ คนน่าจะจำได้ ช่วงนึงฮิตมาก) พอทำได้ 2 ปี ก็เลยตัดสินใจ แยกออกมาทำธุรกิจ ส่วนตัว เริ่มจากทำสนามฟุตบอล พร้อมๆ กับเริ่มทำ Tofusan พอทำไปสักพัก สนามฟุตบอลเจ๊ง แต่ Tofusan ไปต่อได้ ก็้ลยเอาเงินไปทำธุรกิจเพิ่ม ทั้งชาไทย (ผู้มาก่อนกาล - ก่อนชา Karun จะดัง) และยังเคยทำข้าวเหนียวมะม่วงด้วย!! สุดท้าย เจ๊งเหมือนกัน เลยมาเน้น Tofusan อย่างเดียว
คุณนาม เริ่มต้นธุรกิจ Tofusan ปี 2016 ลงทุนเองไปรวมๆ 5-6 แสนบาท และคนสองคน ทำยอดขายหลักล้านได้ แล้วก็ค่อยๆ ขยายทีม สร้างโรงงาน มาจนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่า Tofusan ไม่ได้ประสบการณ์ทำธุรกิจครั้งแรก
จะเรียกว่า “โชคดี” ที่ Tofusan ประสบความสำเร็จ และสินค้าอยู่ในตลาดเพื่อสุขภาพ ที่กำลังเติบโต ก็ได้
2️⃣ เรียนรู้จากความผิดพลาด
ความสำเร็จของ Tofusan ไม่ได้มาอย่างราบรื่น คุณนามเล่าถึงบทเรียนสำคัญจากความผิดพลาดในอดีต ไว้หลายข้อ
ข้อหนึ่งที่เป็นบทเรียนราคาแพงมากๆ ก็คือ การที่ Tofusan พยายามเข้าสู่ตลาดนม ”UHT” เพื่อขอเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งจากเจ้าตลาดนมถั่วเหลือง UHT ทั้ง 2 เจ้า โดยจัดหนักจัดเต็ม จ้างดาราดัง ทุ่มงบการตลาด ไปกว่า 40-50 ล้านบาท มุมหนึ่งก็คิดว่าน่าจะพอแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้บ้าง
แต่ปัญหาก็คือ ช่องทางขายนม UHT ส่วนใหญ่ยังเป็นทาง Traditional Trade หรือร้านโชว์ห่วย ค้าปลีกแบบดั้งเดิม ซึ่งการที่จะเอาสินค้าใหม่อย่าง Tofusan ไปขาย ก็จะกระทบความสัมพันธ์ ของร้านค้ากับเจ้าตลาดเดิม (คิดภาพขายเหล้าพ่วงเบียร์)
แถมการขายผ่าน Traditional Trade ยังเป็นการขายฝาก stock สินค้าจม ขายไม่ออก สุดท้าย คุณนามก็ต้องยอมถอย กลับมา focus สินค้ากลุ่ม พาสเจอร์ไรซ์ และช่องทางจัดจำหน่ายตาม 7-11 เหมือนเดิม
เมื่อการผลิตน้ำเต้าหู้แบบ UHT ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง Tofusan ไม่ได้ท้อแท้ แต่กลับนำบทเรียนนี้มาปรับปรุงและโฟกัสกับสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด ขยายผลิตภัณฑ์ ขยายไปสู่กลุ่มนมวัวโปรตีนสูง “Sunshine Dairy” เพิ่มเติมจนตอนนี้
3️⃣ การปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยการวิเคราะห์ และทดลองทำ
Tofusan เริ่มต้นจากน้ำเต้าหู้ สูตร น้ำตาลน้อย (3.8%) เทียบคู่แข่งที่มีน้ำตาลสูง 8% ซึ่งคุณนามเล่าว่า พอสูตรน้ำตาล 3.8% ประสบความสำเร็จ ทาง Tofusan ก็ลองทำสูตรน้ำตาล 8% ไปแข่งเหมือนกัน แต่ไม่ work สุดท้าย เลยออกสูตร น้ำตาล 2% (ขวดสีฟ้าๆ) ไปจนถึง น้ำตาล 0% เลยทีเดียว แล้วก็ได้ทดลองต่อยอด ออกรสชาติต่างๆ ปรับสูตร ลองผิด ลองถูก จนได้ผลิตภัณฑ์ ที่ถูกปาก และโดนใจผู้บริโภค
นอกจากเรื่อง Product Innovation คุณนามก็ยังให้ความสำคัญกับ การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ซึ่งวิธีการก็ไม่ได้ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องจ้าง นักเขียนโปรแกรมมือฉมัง เพียงแต่จ้างน้องที่พอทำ IT ได้ มาเขียนสูตรดึงข้อมูลเข้า Power BI วิเคราะห์ยอดขาย สินค้าคงเหลือ ทุกที่ ทุกสาขา กันเป็นรายวัน ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำ และลดความสูญเสียลงได้
4️⃣ การเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส
ในช่วงวิกฤต โควิด-19 ที่หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง Tofusan ก็วิกฤต ไม่แพ้ธุรกิจอื่น คุณนามตัดสินใจ ลดเงินเดือนผู้บริหารลง และประกาศให้ทีมงาน ช่วยกันลด loss (ความสูญเสีย) ในกระบวนการผลิตลงให้ได้
ซึ่งก่อนหน้าโควิด-19 สายการผลิต มี loss สูงถึง 8% พอได้ความร่วมแรงร่วมใจเพื่อความอยู่รอด ลด loss ลงไปเหลือเพียง 2.5% และยังยืนระยะได้ถึงทุกวันนี้ ประกอบกับสินค้าใหม่ที่ออกมาช่วงนั้น ช่วงทำให้ Tofusan อยู่รอด และเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้
5️⃣ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง
สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ การที่ Tofusan ให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่ช่วงแรกๆ
โดยคุณนาม เล่าว่าทาง Tofusan ใช้หลักคิดง่ายๆ ก็คือคำว่า “care” หรือ ความเอาใจใส่ ทั้งใส่ใจใน เกษตรกร ใส่ใจในผู้บริโภค และใส่ใจในทีมงาน
ใช้คำว่า “care” เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการทำงาน เชื่อหรือไม่ว่า ทุกวันนี้ Tofusan ไม่ได้มีการตั้งเป้า KPIs ให้กับพนักงาน แม้กระทั่ง Sales ก็ไม่ได้มีเป้ายอดขาย…
แต่คุณนามใช้หลักการ ”care” คือ Sales ทุกคน ต้องเอาใจใส่ในงาน มอนิเตอร์ ว่าแต่ละร้านค้า เติมสินค้า Tofusan ทันหรือไม่ หากมีของหมด shelf ทาง Sales จะรีบบอกคุณนาม ว่าขอรีบไปเคลียร์ปัญหาก่อน…
จะเรียกว่า “โชคดี” ที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งก็ว่าได้
💡 บทสรุป: เมื่อ "โชคดี" คือผลลัพธ์ของการเตรียมพร้อม
เรื่องราวของ Tofusan สอนให้เราเห็นว่า "โชคดี" ในโลกธุรกิจนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นผลจากการเตรียมพร้อม การวางแผน และความพยายามอย่างไม่ลดละ คุณนามอาจกล่าวถึง "โชคดี" หลายครั้ง
ในทางตรงกันข้าม “โชคช่วย” คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่ได้มาจากการวางแผนหรือการเตรียมตัว เช่น การถูกรางวัลล็อตเตอรี่
แต่เมื่อพิจารณาจากการดำเนินธุรกิจของคุณนาม เราจะเห็นว่านั่นไม่ใช่เพียงแค่โชคช่วย แต่เป็นผลจากการทำงานหนัก การเรียนรู้ และการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง
บทเรียนสำคัญที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้:
หนึ่ง การเตรียมพร้อมอยู่เสมอ: ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ Tofusan แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
สอง การคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้าน: การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการตัดสินใจทางธุรกิจ ช่วยให้ Tofusan สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
สาม ความกล้าที่จะเผชิญกับความท้าทาย: แม้จะเจอกับอุปสรรคหรือความผิดพลาด Tofusan ก็ไม่ย่อท้อ แต่กลับนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาต่อไป
สี่ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง: การให้ความสำคัญกับทีมงานและวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่เริ่มต้น เป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน
เรื่องราวของ Tofusan ไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจ แต่ยังเป็นบทเรียนสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม หากเรามีความมุ่งมั่น พร้อมเรียนรู้ และกล้าที่จะเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าคุณจะกำลังเริ่มต้นธุรกิจ หรือกำลังมองหาแนวทางในการพัฒนาธุรกิจที่มีอยู่ บทเรียนจาก Tofusan สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์
ท้ายที่สุด การสร้างความสำเร็จในโลกธุรกิจอาจไม่ใช่เรื่องของ "โชค" เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผสมผสานระหว่างวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น และความสามารถในการปรับตัว
เรื่องราวของ Tofusan เป็นตัวอย่างที่ดีของความ "โชคดี" ที่ไม่ใช่แค่ "โชคช่วย"…
โฆษณา