29 ก.ย. 2024 เวลา 06:50 • นิยาย เรื่องสั้น

สามก๊ก: คุยกันก่อน

ผู้เขียน: อวยชัย โชติจรัสวาณิช
หากชอบบทความนี้ ช่วยกด Like กด Follow และ กด Share และหากต้องการให้เขียนเรื่องไหน สามารถบอกได้ทางคอมเมนท์หรืออินบ๊อกซ์ ขอบคุณมากครับ
1. การอ้างอิงเรื่อง
สามก๊กเป็นนิยายจีนที่มีการแปลออกมาเป็นหลายภาษา เมื่อแปลออกมาแล้วก็จะมีบ้างที่ความหมายมีการเปลี่ยนไป ยังไม่นับว่าแต่ละภาษามีผู้แปลหลายคนแล้วแต่ละคนก็จะมีสไตล์การเขียนและการแปลที่แตกต่างออกไป ในกรณีนี้ผู้เขียนขออ้างอิงสามก๊กที่ถูกแปลโดยเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งน่าจะเป็นการแปลสามก๊กฉบับแรกของไทย ถึงแม้ในภายหลังจะพบว่ามีการแปลผิดหรือเข้าใจผิดในบางจุด ก็จะขออ้างอิงตามนิยายนี้ต่อไป
2. ชื่อตัวละคร
เนื่องจากเป็นนิยายจีน ตัวอักษรหนึ่งตัวจะออกเสียงแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาค ในประเทศไทยเนื่องจากมีคนจีนอพยพที่ไม่ได้ใช้จีนกลางเป็นหลัก ชื่อตัวละครในนิยายจึงใช้การออกเสียงแบบฮกเกี้ยนหรือแต้จิ๋วเป็นหลักดังเช่นที่เจ้าพระยาพระคลัง(หน)ใช้ แต่เนื่องด้วยรัฐบาลจีนพยายามเน้นการใช้ภาษาจีนกลาง ด้วยเหตุนี้ท้ายบทความจะมีการไล่รายชื่อตัวละครหรือกลุ่มตัวละครในบทความพร้อมระบุภาษาจีนกลางไทย จีนกลางอังกฤษ (Pinyin) และ ตัวอักษรจีนแบบง่าย (Simplified Chinese) และแบบดั้งเดิม (Traditional Chinese)
3. แนวทางการเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่องสามก๊กมีหลายแบบ เล่าตรงตามนิยาย เล่าแบบสอดใส่ความคิดเห็น เล่าแล้วสกัดคุณประโยชน์จากเรื่องราวที่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เล่าพร้อมเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์จริง เป็นต้น แนวทางการเล่าของผมจะเน้นเล่าตรงตัวตามนิยายเลย อาจใส่ลูกเล่นตามสไตล์ผมลงไปบ้าง แต่จะไม่มีการใส่ความคิดเห็นหรือสอดแทรกอะไรนอกจากนิยาย
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของสามก๊กคือจำนวนตัวละครที่มากมาย แล้วบางครั้งไม่รู้ว่าตัวละครตัวไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ ตัวไหนควรจำ ตัวไหนไม่ควรจำ ผมพยายามแก้ปัญหานี้โดยทำการเล่าเป็นตอน แต่ละตอนจะหยิบตัวละครหรือกลุ่มตัวละครมาเป็นตัวเอก และถ้าตัวละครใดเป็นตัวละครที่มีผลกระทบกับตัวเอกของตอนก็จะมีการระบุชื่อ แต่ในทางตรงกันข้ามหากมีบทบาทกับตัวเอกไม่มากนักก็จะไม่ขอกล่าวถึง เพื่อลดความซับซ้อนของเรื่องราวลง
4. สำหรับคนที่อ่านสามก๊กในครั้งแรก
สามก๊กเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริง เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 169 จนถึงปี 280 มีการบันทึกประวัติศาสตร์จริงในม้วนจดหมายเหตุสามก๊ก แต่สิ่งที่เราได้อ่านกันเป็นการเอาจดหมายเหตุสามก๊กมาแต่งเป็นนิยายโดยล่อกวนตง (หลัว กว้านจง | Luó Guànzhōng | 罗贯中 | 羅貫中) ในระหว่างปี ค.ศ. 1330 ถึง ปี 1400
มีการนำเอาม้วนจดหมายเหตุสามก๊กมาเปรียบเทียบกับนวนิยายสามก๊ก พบว่านวนิยายสามก๊กมีเนื้อความตามม้วนจดหมายเหตุสามก๊กประมาณ 70 เปอร์เซนต์ แต่งเอง 30 เปอร์เซนต์โดยประมาณ ฉะนั้นสามก๊กที่ได้อ่านกันจึงมีความสำคัญในแง่วรรณกรรมไม่ใช่ประวัติศาสตร์ อย่าได้เอาสิ่งที่อ่านนี้ไปอ้างอิงกับประวัติศาสตร์จริง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา