29 ก.ย. 2024 เวลา 09:32 • ท่องเที่ยว

เรือไฟฟ้า พาท่องคลองภาษีเจริญ .. One leisure day along the canal in Bangkok.

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า … กรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความเจริญขึ้นอย่างเต็มที่ ... ความงดงามของประสาทราชวัง วัดวาอาราม ถนนคูคลองต่าง ๆ ล้วนแสดงถึงความสามารถอันเยี่ยมยอดของช่างศิลปกรรมไทยแขนงต่างๆ เป็นอย่างดี
พระบรมมหาราชวังอันประกอบด้วย ปราสาทราชมณเฑียรยอดแหลมเสียดฟ้าปิดทองประดับกระจกเป็นประกายระยับเมื่อต้องแสงตะวัน ล้อมด้วยกำแพงและป้อมปราการสีขาว เป็นศูนย์กลางและจุดยอดของกรุงรัตนโกสินทร์
... ถัดออกมาคือแนว 3 ชั้นของคลองคูเมือง ซึ่งขุดขึ้นแต่ครั้งกรุงธนบุรีเป็นชั้นที่หนึ่ง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสนทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นชั้นที่สอง
.. โดยมีกำแพงและป้อมรายรอบทั้งด้านริมแม่น้ำและลำคลอง กับครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เป็นชั้นที่สาม
.. ซึ่งมีแต่เพียงป้อมรายเรียงเป็นระยะ จากนั้นจึงเป็นลำคลองและถนนที่ตัดพุ่งออกไปในทิศต่างๆ ประดุจรัศมี ท่ามกลางความเขียวชอุ่มของพืชพรรณไม่ไร่นาและเรือกสวน ที่โอบอยู่ด้านตะวันตกนั้นคือลำน้ำอันกว้างใหญ่ของแม่น้ำเจ้าพระยา
กรุงรัตนโกสินทร์ในวันนั้น .. จึงเปรียบประดุจอัญมณีที่มนุษย์ได้รังสรรค์ขึ้นอย่างมีศิลป และจัดวางไว้ในสภาพแวดล้อมอันงดงามของธรรมชาติ สมดังที่นายนิจ หิญชีระนันทน์ ได้กล่าวเปรียบไว้ว่า นี้คือ “หัวแหวนแห่งรัตนโกสินทร์”
กว่าหนึ่งร้อยห้าสิบปีผ่านไป .. ในวันที่ฟ้าสวย อากาศร้อนแต่แจ่มใส ของปี 2567 .. ก๊วน สว. วัยเก๋าที่ชื่นชอบในการท่องเที่ยวเหมือนๆกัน รวมพลกันได้ 10 คน นัดกันไปลงเรือไฟฟ้า การเที่ยวอินเทรนด์ที่ไม่สร้างมลภาวะ ด้วยการล่องเรือไปตามความยาว 28 กิโลเมตรของคลองภาษีเจริญ
.. คลองภาษีเจริญ เริ่มต้นที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และคลองบางขุนศรีมาบรรจบกัน ไปเชื่อมแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาครล
เราไปเที่ยว .. เพื่อชมวิถีชีวิต เรียนรู้รากเหง้าประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น และขึ้นฝั่งทานอาหารอร่อยๆตามจุดที่เราผ่าน
ภาษีเจริญในทุกวันนี้ .. ยังคงรุดหน้าไปสู่สังคมเมืองมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เชื่อมต่อหัวลำโพงถึงบางแคได้ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นทำเลทองแหล่งใหม่
.. การเดินทางมาลงเรือที่ ท่าเรือบางหว้า อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล่องเรือนั้นก็แสนง่าย และสะดวกสบาย เพราะสามารถใช้บริการของรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT มาลงที่สถานี้บางหว้า แล้วเดินมาที่ท่าเรือได้อย่างง่ายดาย ไม่มีหลงทางแน่นอง
เรือไฟฟ้า แล่นออกจากท่าเรือบางหว้า อย่างราบรื่น แล่นเอื่อยๆเรียบราบด้วยความสงบปราศจากคลื่นที่เกิดจากการเร่งความเร็วของเรือหลากชนิดเช่นที่เกิดในคลองแห่งอื่นที่เป็นศูนย์กลาง มีความป๊อบปูล่าและชื่นชอบของนักท่องเที่ยว .. และไม่มีเรือโดยสารอื่นๆแล่นมาให้เห็นในสายตา (จริงๆค่ะ)
.. จะมี ก็แค่เรือเก็บขยะของทางเขต ที่จะมาเก็นขยะเหมือนรถขยะที่บ้านฉัน
.. เรืออีกประเภทหนึ่งที่เห็น คือ เรือตักขยะ .. รูสึกดีมากๆ
เรือแล่นมาแค่อึดใจเดียวเราก็ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือ วัดอ่างแก้ว เพื่อรับประทานอาหารเช้า
.. ใครๆก็เชียร์และแนะนำว่าที่ต้องไม่พลาด คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวหมูสับต้มยำ ป๋อง วัดอ่างแก้ว ริมคลองภาษีเจริญ
ก๋วยเตี๋ยวต้มยำร้านลับ ราคาดึมาก .. ธรรมดา 35 บาท พิเศษ 40 บาท เป็นราคาที่หาได้ยากในกรุงเทพ .. บะหมี่ มีทั้งบะหมี่เส้นกลม บะหมี่หยก บะหมี่เป๊าะ
ทางร้านใส่หมูสับลอย หมูสับแผ่น หมูชิ้น ตับ หมูสับแผ่นคือดี ให้ค่อนข้างเยอะ แบบไม่หวงเครื่อง การกรุวให้ความสำคัญกับความสะอาด น้ำซุปหวานน้ำต้มกระดูก.. รสชาติอร่อยมว๊ากกก ..
นอกจากก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ .. ยังมีเมนูอื่นๆอีก เช่น ลูกชิ้นหมูปิ้งเนื้อเน้นๆ น้ำจิ้มเด็ด เผ็ดกลมกล่อม ..บรรยากาศดีมาก นั่งริมคลอง ชมวิว รับลม
เราแวะไปไหว้พระภายในโบสถ์ แล้วลงเรือชมวิวทิวทัศน์ของคลองต่อ (จะเขียนบทความถึงวัดสวยแห่งนี้ในภายหลังอีกครั้งค่ะ) ..
1
วันนค้ ถือว่าอากาศดี ไม่ร้อนมาก และยังสามารถสูดหายใจได้ลึกๆแบบไม่ต้องกังวลมลภาวะ .. ทำให้การเดินทางรื่นรมย์
ทิวทัศน์สวน บ้านเรือนผู้คนในพื้นที่ผ่านเข้ามาในสายตา .. ดูสงบ สวยงาม
.. อาจจะเพราะไม่มีเรือหางยาว ไม่มีคลื่น ไม่มีเสึยงแผดร้องออกมาจากลำโพงเรือท่องเที่ยว .. คงมีแต่พรานปลา ที่นั่งจดจ่อใจเป็นสมาธิ กับเบ็ดที่เกี่ยวร้อยเหยื่อล่อเอาไว้ให้ปลาฮุบ
ในห้วงหนึ่งของความคิดคำนึง .. คลองภาษีเจริญ .. ที่มาของชื่อนี้มาจากไหน? เอา “ภาษี” อะไรมาเจริญ?
ในปี พศ. 2398 เมื่อสยามลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับสหราชอาณาจักร .. การค้าขายระหว่างสยามกับประเทศต่างๆมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะ น้ำตาลและอ้อย ซึ่งมีแหล่งเพาะปลูกอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีนกลายเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ชาวต่างชาติต้องการมาก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแหล่งท่าเรือเข้าด้วยกัน
… เพื่อเปิดเส้นทางใหม่ที่สะดวกต่อการขนส่งอ้อยและน้ำตาลจากแหล่งผลิตใหญ่ที่นครชัยศรีมายังกรุงเทพฯ และเพื่อให้ง่ายต่อการลำเลียงส่งออก
ในปี พ.ศ. 2410 ปีก่อนสุดท้ายแห่งรัชสมัยของพระองค์ .. รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) เจ้าภาษีฝิ่นและเจ้าของโรงจักรหีบอ้อย เป็นแม่กองขุดคลองความกว้าง 7 วา ความลึก 5 ศอก
… โดยเริ่มจากคลองบางกอกใหญ่ที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่แล้ว ออกไปทางแม่น้ำท่าจีน ณ ตำบลดอนไก่ดี ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน
ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ดังนี้
“…เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2410 โปรดฯ ให้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม) เจ้าภาษีฝิ่น เปนแม่กลองขุดคลอง กว้าง 7 วา ลึก 5 ศอก (ตั้ง) แต่คลองบางกอกใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ริมวัดปากน้ำออกไปเมืองนครไชยศรี ที่ตำบลดอนไก่ดี เปนระยะทาง 620 เส้น หักเงินภาษีฝิ่นพระราชทานเปนค่าจ้างขุดคลอง 112,000 บาท พระราชทานนามว่า คลองภาษีเจริญ…”
นอกจากใช้เงิน “ภาษีฝิ่น” ที่ปกติจะต้องส่งให้พระคลังเป็นค่าจ้างขุดแล้ว พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ยังมีการเรี่ยไรเพิ่มเติม และกราบบังคมทูลขอ
1. เก็บเงินจากเรือแพที่เดินเข้าออก
2. ตั้งโรงหวยที่เมืองนครไชยศรี และเมืองสมุทรสาคร 3 ปี” ในกรณีที่เงินส่วนแรกไม่เพียงพอ
รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ดำเนินการขุดได้
.. คลองภาษีเจริญ จึงเกิดจากค่าจ้างแรงงานเป็น “ภาษีฝิ่น” อากรเรือแพ และรายได้จากโรงหวยเมืองนครไชยศรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานบรมราชานุญาตให้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ดำเนินการขุดได้ โดยให้หักเงินภาษี ในส่วนที่จะต้องส่งเข้าคลัง เป็นค่าจ้างขุดคลอง
ทั้งนี้ ยังพบประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ปี พ.ศ.2429 เรื่อง คลองภาษีเจริญตื้นเขิน มีข้อความดังนี้
…ด้วยคลองภาษีเจริญเปนคลองที่ได้ต่อติดกับลำน้ำเมืองนครไชยศรี เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดเปิดให้ราษฎรเดินไปมาค้าขายในทางนั้น ราษฎรก็ได้บรรทุกสินค้าตามหัวเมืองในลำน้ำเมืองนครไชยศรีไปมาค้าขาย ตลอดถึงลำน้ำเจ้าพระยาง่ายสะดวกขึ้น เปนการเจริญยิ่งกว่าแต่ก่อน แต่คลองภาษีเจริญนี้ เปนคลองน้ำชน มักจะเกิดมูลดินขึ้นตื้นเร็ว
… บัดนี้ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่าราษฎรได้ความลำบากเพราะคลองตื้นเสียไปอีกเปนที่ขัดขวาง ในที่จะไปมาค้าขายต้องจ้างกระบือชักลากจึ่งไปมาได้ เปนเหตุให้พ่อค้าท้อถอยในการที่จะทำมาหากินเพราะได้ถูกความยากลำบาก มีพระราชประสงค์จะให้การค้าขายในพระราชอาณาเขตรมีความเจริญขึ้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานตรวจตำบลคลองที่ตื้นแลเบิกพระราชทรัพย์ จัดจ้างจีนขุดลอกคลองในตำบลที่ตื้นเสียไป…
อีกทั้ง มีพระราชดำริว่า เมื่อได้จัดการซ่อมเสร็จแล้ว ถ้าทิ้งไว้ ไม่มีการรักษา ก็จะกลับตื้นเขินไปเหมือนครั้งก่อนๆ อีก จึงโปรดเกล้าฯให้กระทรวงเกษตราธิการออกข้อบังคับในการดูแลรักษาคลองภาษีเจริญ ซึ่งมีหลายข้อที่น่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
…ให้ยกเว้นที่ริมคลองภาษีเจริญไว้เปนถนนหลวง สำหรับเปนทางโยง ฝั่งละ 6 ศอก ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดปลูกสร้างสิ่งใดลงในเขตร์ถนนหลวง เว้นไว้แต่จะทำสะพานท่าน้ำที่ไม่มีหลังคาแลไม่ยื่นพ้นตลิ่งออกมาเกิน 3 ศอก…ให้มาขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานรักษาคลองก่อน
…บรรดาเรือที่จะเดินในคลองภาษีเจริญนี้ ให้เดินทางฝั่งขวามือของตนทุกเมื่อ…ห้ามมิให้จอดเรือกลางคลองแลจอดขวางลำ แลห้ามมิให้เรือใหญ่ที่มีขนาดปากกว้างตั้งแต่ ๕ ศอกขึ้นไปจอดซ้อนลำกัน ถ้าผู้ใดทำผิดต่อข้อนี้ ให้ปรับผู้นั้นเปนเงินเกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับแลจำด้วย…
ดังนั้น การเดินเรือในคลองภาษีเจริญ จึงต้องเสียค่าธรรมเนียม สำหรับเรือกลไฟขนาดใหญ่ วาละ 32 อัฐ (เท่ากับ 1 บาท) เรือใช้สอยหรือเรือบรรทุกขนาดตั้งแต่ 3 วาขึ้นไป (6 เมตร) วาละ 12 อัฐ เรือขนาดย่อม ยาวต่ำกว่า 3 วา ลำละ 8 อัฐ ต่อมาเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติรักษาคลอง ยังเริ่มทดลองใช้ที่คลองภาษีเจริญ เป็นแห่งแรก
รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามคลองนี้ว่า ‘ภาษีเจริญ’ ให้คล้องจองกับคลองดำเนินสะดวกที่เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นก่อน สมัยหนึ่งคนสยามก็เรียกคลองคู่นี้ว่า ‘ภาษีเจริญ-ดำเนินสะดวก’ เป็นคำคล้องติดปากไปโดยปริยาย
คลองภาษีเจริญที่พาดผ่านหนองแขมได้นำพาผู้คนจำนวนมากมาตั้งบ้านเรือนตามแนวคลอง ตามมาด้วยตลาด โรงเรียน โรงสี สถานีอนามัย ครบสรรพทุกความต้องการของชุมชน
การเกิดคลองภาษีเจริญ .. นัยว่า เป็นผลสืบเนื่องจากข้อกำหนดในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ทำให้การค้าขายส่งออกต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการในต่างประเทศคือ น้ำตาล โดยมีแหล่งรับซื้ออยู่ที่สิงคโปร์ บอมเบย์ และอังกฤษ
ไทยมีแหล่งปลูกอ้อย และผลิตน้ำตาลสำคัญ คือบริเวณตะวันตกของพระนคร โดยเฉพาะริมแม่น้ำนครชัยศรี ที่มีจำนวนโรงงานน้ำตาลมากถึง 23 แห่ง การลำเลียงน้ำตาลจากแหล่งผลิตมายังท่าเรือในกรุงเทพฯ ต้องอาศัยคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา .. ซึ่งนำมาสู่การขุดคลองในครั้งนี้
นอกจากนี้ คนสำคัญผู้ผลักดันโครงการดังกล่าวอย่าง “พระภาษีสมบัติบริบูรณ์” ยังเป็นเจ้าของกิจการโรงจักรหีบอ้อยที่บ้านดอนไก่ดี (ดอนกะฎี) ริมแม่น้ำนครชัยศรี แขวงเมืองสมุทรสาคร … โดยเหตุผลหลัก ๆ ที่นำกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 4 ขอให้มีการขุดคลองขึ้นนั้น ก็เพื่อให้การขนส่งน้ำตาลมายังกรุงเทพฯ สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
การเกิดขึ้นของ “คลองภาษีเจริญ” ยังส่งผลให้พื้นที่ทางตะวันตกของพระนครเจริญก้าวหน้ามากขึ้น พระภาษีสมบัติบริบูรณ์จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์” ในเวลาต่อมา
เรือของเราแล่นมาเรื่อยๆ .. ความเจริญหลังจากการก่อกำเนิดของ คลองภาษีเจริญ ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาตั้งรกรากมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากชาวจีนที่จากดั้งเดิมมารับจ้างขุดคลอง
ชาวจีนเกล่านค้ .. ต่อมาได้ซื้อที่ดินริมคลองเป็นแปลงๆ แต่ละแปลงคั่นด้วย “ลำประโดง” ซี่งเป็นคลองเล็กๆขุดคดเคี้ยวเลี้ยวลัดเข้าไปยังพื้นที่เกษตรกรรมหรือเป็นเส้นทางลัดไปยังพื้นที่ใกล้เคียง
พื้นที่แถบนี้แต่เดิมนอกจากตะเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังหนาแน่นไปด้วยพื้นที่สวน และท้องนา ตลอดริมฝั่งคลองดารดาษไปด้วยสวนผักสวนผลไม้ประเภทต่างๆเช่นส้มเขียวหวาน ส้มโอ หมาก มะพร้าวฯลฯ
.. ต่อมา ได้พัฒนาการเกิดตลาดท้องน้ำขนาดใหญ่ขึ้นคือตลาดน้ำบางแคหรือตลาดน้ำหน้าวัดนิมมานรดีเป็นจุดนัดพบของพ่อค้าแม่ค้าชาวสวน เพื่อมาแลกเปลี่ยนพืชผลต่างๆ หรือซื้อขายสินค้าจากเรือที่มาจากต่างถิ่นพ่วงต่อกันมาจากคลองดำเนินสะดวกเข้ามาตามคลองภาษีเจริญ
.. เรือจากแม่กลองและท่าจีนมีพวกกะปิน้ำปลาปูเค็มปลาเค็มมาขายพ่อค้าแม่ค้าจากอยุธยานครสวรรค์สุพรรณบุรีล่องเรือลงมาหาซื้อพวกมะพร้าวหมากไปขายต่อยังพื้นที่ตน .. เดี๋ยวนี้ภาพเหล่าเลือนหายไปมากแล้ว
เมื่อเราแล่นพ้นเขตกรุงเทพฯ เข้าสู่พื้นที่ สมุทรสาคร .. น้ำที่ใสๆ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสัคล้ำขึ้น และมีภาพของโรงงานต่างๆปรากฏขึ้นตามสองฟากฟั่งคลอง
สองฝั่งคลองมีภาพชีวิตของผู้คนผ่านเข้ามาในสายตา
“ยายยยย .. ไม่ขึ้นฝั่งเหรอ?” .. เด็กๆที่กระโดดและเล่นน้ำตะโกนถาม
“เด็กๆพวกนี้จะกระโดดน้ำโชว์อ่ะครับ” .. นายท้ายเรือของเราอธิบาย
เรามาแวะทานข้าวกลางวันที่ ตลาดน้ำหนองพะอง .. ที่นี่อยู่ในพื้นที่ของวัด มีตลาดสินค้าเกษตรกรรมเล็กๆ และน้าจอาหารย่อยๆไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วยค่ะ
ขากลับ .. เรือพาเรามาแวะที่ “สถานีตำรวจหนองแขม (หลังเก่า) ”.. สน.ไม้หลังสุดท้ายใน กทม.
จะเขียนบทความเล่าเรื่อง โรงพัก แห่งนี้อีกครั้งค่ะ
วัดม่วง .. วัดสวย วัดดังย่านฝั่งธน พระอุโบสถหลังใหม่งดงามมากด้วยอาคารสถาปัตยกรรมทรงไทย จตุรมุข
.. กระเบื้องประดับวิจิตรมาก
ภายในพระอุโบสถ … ประดิษฐานพนะพุทธรูปทองคำ เป็นพระประธาน .. การประดับตกแต่งภายในประกอยด้วยภาพเขียนที่มีนัยยะของคำสอนทางศาสนา
เราแวะดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ ชื่นใจ และนั่งพักเบาๆ ที่ Grandma”s Garden .. Pastries ขนมและของว่างรสชาติอร่อย เครื่องดื่มเย็นชื่นใจ ช่วยคลายความรุ่มร้อนของอากาศจากภายนอกได้เป็นอย่างดี
ที่นี่ มีมุมสวยๆชิคๆ ให้ถ่ายรูป อัพเดทสเตตัส อยู่หลายมุม
.. อาหารเบาๆ ดูจากเมนูก็หน้าตาดีทีเดียว รสชาติคงอร่อย .. แต่เรายังอิ่ม เลยต้องโน้ต และหมายตาไว้ว่า จะต้องหาเวลากลับมาชิม และแช๊ะๆๆๆ กันอีกครั้ง
โฆษณา