30 ก.ย. เวลา 13:00 • หนังสือ

เปิดชีวิตสู่วิธีคิดแบบ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ จากหนังสือ “The Snowball”

เวลา วินัย และโฟกัส สามองค์ประกอบสำคัญสู่ความมั่งคั่ง
💰 ในปี 1999 ราคาหุ้นเทคโนโลยีที่ถูกเรียกว่า "เศรษฐกิจใหม่" กำลังพุ่งขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนที่ดูเหมือนจะร่ำรวยกันอย่างมหาศาลในชั่วข้ามคืน
1
ขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งที่ ‘เลือกจะไม่ทำอะไรกับมัน’ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ข้องแวะ และนั่งมองดูอยู่ข้างสนาม ถึงขั้นถูกเรียกว่า ‘ไดโนเสาร์’ ที่ตามโลกไม่ทันเลยด้วยซ้ำ 🦖
📕 บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) เคยกล่าวว่า
“ในระยะสั้นตลาดหุ้นเป็นเครื่องโหวต ในระยะยาวตลาดหุ้นเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก”
นั่นคือสิ่งนักลงทุนที่ถูกเรียกว่าไดโนเสาร์อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เชื่อเช่นเดียวกัน อลิซ ชโรเดอร์ (Alice Schroeder) เล่าถึงเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังสือ “The Snowball: Warren Buffett and the Business of Life” (แปลไทย : เปิดปมชีวิตสู่วิธีคิดแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์)
บัฟเฟตต์พูดถึงเรื่องนี้ในการประชุมเล็กๆ ที่เขาจัดขึ้นในช่วงนั้นว่าราคาของหุ้นและตลาดที่ร้อนแรงนั้นไม่สัมพันธ์กับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
2
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ทำให้คนโลภอยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มันไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นที่พวกเขากำลังซื้อเลย และผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาอาจไม่แตกต่างจากช่วงปี 1964 ถึง 1981 ที่ตลาดหุ้นแทบไม่เติบโตเลยก็ได้
1
🎯 เหตุผลที่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีไม่ใช่เพราะเขาไม่สนใจ แต่สิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือ "วงความรู้ความเชี่ยวชาญ" (Circle of Competence) ของเขา แต่หลายคนในที่ประชุมและในสื่อคิดว่าเขากำลังพลาดโอกาสครั้งใหญ่ไปแล้ว
1
แต่สุดท้ายอย่างที่ทราบกันดี "ปราชญ์แห่งโอมาฮา" ก็พูดถูก (บางคนอาจจะเรียกว่า ‘พ่อมดแห่งโอมาฮา’) ไม่กี่เดือนต่อมาตลาดหุ้นก็ดิ่งลงอย่างรุนแรง ทำให้มูลค่าของหุ้นเทคโนโลยีหายไปเกือบทั้งกระดาน ต้องใช้เวลาอีกกว่าทศวรรษครึ่งก่อนที่พวกมันจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
1
ในขณะที่บริษัท Berkshire Hathaway ของบัฟเฟตต์กลับพุ่งทะยานด้วยการลงทุนในบริษัทที่มีมูลค่าอย่างแท้จริง
ชโรเดอร์บอกว่าบัฟเฟตต์เปรียบ Berkshire Hathaway เป็นเหมือน "โบสถ์ซิสทีน" (Sistine Chapel) ของเขา ไม่ใช่แค่ในเชิงของงานศิลปะ แต่เป็น “การนำเสนอความเชื่อ” ของเขาด้วย สำหรับ ชาร์ลี มังเกอร์ (Chalie Munger) หุ้นส่วนธุรกิจและเพื่อนรักของเขาที่เพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2023 บอกว่าบริษัทนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่เป็นวิธีที่บัฟเฟตต์สอนว่าโลกทำงานยังไง
1
ชโรเดอร์มีโอกาสได้รู้จักกับบัฟเฟตต์ขณะเป็นนักวิเคราะห์ประกันภัยที่ดูแล Berkshire Hathaway หนังสือ “The Snowball” เล่มนี้เป็นชีวประวัติของบัฟเฟตต์เล่มนี้มีความยาวประมาณ 900 หน้า (แปลไทยแบ่งเป็นสองเล่ม) ไม่ใช่แค่การบันทึกเหตุการณ์ แต่ลงลึกถึงแนวคิด การใช้ชีวิต และความสัมพันธ์ของบัฟเฟตต์กับภรรยา ลูกๆ และเพื่อนๆ หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเขียน 5 ปี และรายละเอียดเยอะมากๆ เดี๋ยววันนี้จะมาคุยถึงบางส่วนของหนังสือกันครับ (ใครสนใจหรืออยากรู้เกี่ยวกับบัฟเฟตต์ นี่เป็นอีกเล่มที่ไม่ควรพลาดเลย)
🧠 [[ #จุดเริ่มต้น ]]
เกิดในปี 1930 ที่โอมาฮา รัฐเนบราสกา บัฟเฟตต์หลงใหลในตัวเลขและการเงินตั้งแต่เด็ก หนังสือเล่มโปรดของเขาคือ "One Thousand Ways to Make $1,000" และตั้งเป้าที่จะเกษียณเป็นเศรษฐีตอนอายุ 35 ปี
ในช่วงมัธยมที่วอชิงตัน ดี.ซี. (ครอบครัวย้ายมาที่นี่ขณะพ่อของเขา ‘ฮาวเวิร์ด บัฟเฟตต์’ ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) บัฟเฟตต์ก็เริ่มต้นเป็นนักธุรกิจแล้ว ส่งหนังสือพิมพ์ ขายลูกกอล์ฟ และมีธุรกิจจัดการตู้พินบอล
งานปกติของฮาวเวิร์ดคือนายหน้าซื้อขายหุ้น และไม่เคยห้ามลูกชายที่จะทดลองเล่นหุ้นตั้งแต่เด็ก ความผิดพลาดในช่วงแรกสอนให้บัฟเฟตต์ไม่กังวลมากเกินไปกับราคาที่จ่ายไปสำหรับหุ้นที่ซื้อ สิ่งสำคัญคืออย่าด่วนขายเร็วจนเกินไปเพื่อกำไรเพียงเล็กน้อย
1
📚 เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น บัฟเฟตต์มุ่งมั่นอ่านชีวประวัตินักอุตสาหกรรมและนักการเงินอย่างหนัก นอกจากนั้นยังอ่าน "How to Win Friends and Influence People" ของ เดล คาร์เนกี้ ที่ทำให้เขาตื่นเต้นมากเพราะมันมอบกฎที่นำไปสู่การประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่รวมถึงโลกและผู้คน ซึ่งกฎสำคัญที่สุดคือ "อย่าวิพากษ์วิจารณ์ ประณาม หรือบ่น" เพราะความภาคภูมิใจของคนนั้นเปราะบางและบอบช้ำง่าย การวิจารณ์จะถูกโต้กลับมาทันที และมันฉลาดกว่าที่จะทำให้คนทำสิ่งต่างๆ ด้วยการชมเชยหรือชื่นชมพวกเขา
บัฟเฟตต์ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นคนปากคมแต่ไม่มั่นใจ ได้ทดลองใช้วิธีของคาร์เนกี้และพบว่าได้ผล ชโรเดอร์บอกว่าบัฟเฟตต์ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี เป็นกันเอง และกลายเป็นคุณปู่ใจดีอย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้เพราะหนังสือเล่มนี้นั่นเอง
1
เมื่อปีการศึกษาชั้นมัธยมของบัฟเฟตต์ใกล้จบ เขาไปเจอหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ "The Intelligent Investor" (1949) ของเบนจามิน เกรแฮม ซึ่งมอบมุมมองใหม่ในการลงทุนมากกว่าแค่การเก็งกำไรหุ้น หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาตกตะลึงเหมือนกับหนังสือของคาร์เนกี้ เพราะมันให้ระบบทางคณิตศาสตร์ที่มีเหตุผลในการประเมินหลักทรัพย์ในอนาคต ไม่ใช่แค่การดูราคาหุ้นที่ผันผวนอยู่ทุกๆ วัน
📈 [[ #GEICO ]]
หลังจบปริญญาตรีด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย บัฟเฟตต์สมัครเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ด แต่ถูกปฏิเสธ ซึ่งเขาเคยบอกว่าการถูกปฏิเสธครั้งนั้นคือเรื่องที่โชคดีที่สุดเลย เพราะหลังจากนั้นเขาจึงได้มีโอกาสไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่ง เบนจามิน เกรแฮมสอนวิชาการเงินอยู่ที่นั่น
สิ่งที่บัฟเฟตต์ได้จากเกรแฮมคือความเข้าใจในจิตวิทยาการลงทุน ว่าระหว่างมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นกับมูลค่าที่ตลาดให้กับหุ้นมีช่องว่างทางจิตใจที่มาจากปัจจัยพื้นฐาน (เช่น กำไร กระแสเงินสด ฯลฯ) เขายังเรียนรู้เกี่ยวกับ "อัตราส่วนความปลอดภัย" ซึ่งมาจากการซื้อสิ่งต่างๆ ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจริงมาก และไม่ซื้อโดยใช้หนี้สิน
บัฟเฟตต์เริ่มจมดิ่งในการศึกษาบริษัทที่ดูเหมือนมีมูลค่าต่ำกว่าที่ควร และมุ่งเน้นไปที่บริษัทหนึ่งเป็นพิเศษคือ GEICO หรือ Government Employees Insurance Company
1
🚃 เช้าวันเสาร์ในเดือนมกราคมปี 1951 บัฟเฟตต์นั่งรถไฟจากนิวยอร์กไปวอชิงตัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท GEICO เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทนี้ โชคดีที่วันนั้นแม้จะเป็นวันเสาร์ แต่ ลอรีเมอร์ เดวิดสัน (Lorimer Davidson) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท (ที่ต่อมาได้กลายเป็นซีอีโอ) ของ GEICO เข้ามาทำงานพอดี
หลังจากรู้ว่าบัฟเฟตต์เป็นลูกศิษย์ของเกรแฮม เดวิดสันตกลงนั่งคุยกับเขาและอธิบายถึงธุรกิจประกันที่ GEICO ทำเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง
“ไม่มีใครได้รับการอบรมที่ดีกว่านี้ในระยะเวลาครึ่งวันเกี่ยวกับการทำงานของอุตสาหกรรมประกันภัย ในปัจจัยที่ทำให้บริษัทหนึ่งประสบความสำเร็จเหนือกว่าบริษัทอื่น ๆ อีกแล้ว” บัฟเฟตต์กล่าว
1
บัฟเฟตต์ทึ่งกับรูปแบบการทำธุรกิจประกันของ GEICO เป็นอย่างมาก (ซึ่งทำการตลาดโดยตรงไปยังลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ แทนที่จะผ่านนายหน้าประกันภัย) มากจนถึงขั้นว่าเขากลับไปโอมาฮาในปีนั้น เขา "มุ่งความสนใจไปที่ GEICO เกือบทั้งหมด"
เขาเขียนคอลัมน์สั้นๆ เกี่ยวกับบริษัทนี้ให้กับสิ่งพิมพ์ทางการเงินชั้นนำในสมัยนั้น และเริ่มซื้อหุ้น GEICO ให้กับตัวเองรวมแล้วประมาณ 10,282 เหรียญ ก่อนที่จะขายทั้งหมดในปีถัดไปด้วยกำไรประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
💰 ที่จริงแล้วเขาบอกว่าน่าจะถือไว้นานกว่านี้ เพราะหลังจากนั้น 20 ปี มันจะมีมูลค่ามากถึง 1.3 ล้านเหรียญเลย แต่สำหรับทุกคนที่ติดตามบัฟเฟตต์ จะทราบดีว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของเขากับ GEICO เท่านั้น
หลังจากที่บัฟเฟตต์ได้ซื้อเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ช่วงปี 1960 และจากนั้นก็ได้ซื้อหุ้น GEICO เพิ่มเติม จนในที่สุดก็ได้ซื้อกิจการทั้งหมดในปี 1995
ปีที่แล้ว 2023 GEICO สร้างรายได้มากถึง 39,000 ล้านเหรียญ และเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจประกันที่เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ลงทุนอยู่
🌱 [[ #เติบโต ]]
บัฟเฟตต์มองโลกในแง่ดีมากเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจในอเมริกา ต่อมาได้รับอิทธิพลจากหุ้นส่วนอย่าง ชาร์ลี มังเกอร์ในการมองหาบริษัท "ยอดเยี่ยม" เขาเริ่มเปลี่ยนจากหาหุ้นก้นบุหรี่ (หุ้นของบริษัทที่มีมูลค่าต่ำมาก มีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนระยะสั้นที่ดี แต่ไม่มีศักยภาพการเติบโตระยะยาว) แล้วไปลงทุนในบริษัทที่มีมูลค่าที่จับต้องไม่ได้มหาศาลในแง่ของชื่อแบรนด์ ค่าความนิยม และความน่าเชื่อถือแทน
🧮 ตัวอย่างเช่นการเริ่มซื้อหุ้น American Express กว่า 5.3 ล้านดอลลาร์ในปี 1964 และซื้อเพิ่มอีก13 ล้านดอลลาร์ในปี 1966 บัฟเฟตต์บอกกับหุ้นส่วนของเขาว่า ในขณะที่กองทุนอื่นๆ มุ่งเน้นการ "กระจายความเสี่ยง" ของการถือครอง เขามั่นใจมากในการลงทุนในที่คัดเลือกมาแล้ว บางช่วงเวลาอาจจะมีหุ้นตัวใดตัวหนึ่งที่ถือมากกว่า 40% ของพอร์ตทั้งหมดด้วย
ประเด็นของบัฟเฟตต์คือ ใครๆ ก็สามารถหาข้อสรุปที่มีกำไรเกี่ยวกับว่าบริษัทควรค่าแก่การซื้อหรือไม่ โดยอิงจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และตัวเลขในงบการเงิน ความจริงที่ยากกว่าคือการประเมินคุณภาพ นั่นคือที่ที่เขาเชื่อว่า "เงินก้อนใหญ่จะเกิดขึ้น" นี่คือสิ่งที่ต่อมาดึงดูดเขาให้ลงทุนใน Coca-Cola ด้วยแบรนด์ที่ยอดเยี่ยม General Re บริษัทประกันภัยต่อที่มีความซื่อสัตย์ในธุรกิจที่ไม่ค่อยดีนัก และล่าสุดคือ Apple (แม้จะขายออกมาบางส่วนแล้วก็ตาม)
🦉[[ #แนวทางการลงทุน ]]
แม้ว่าในทศวรรษ 1960 บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Xerox และ Polaroid จะได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนทั่วไป แต่บัฟเฟตต์ยืนกรานว่าเขาจะไม่เข้าไปในธุรกิจที่เขาไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และเขาจะไม่ลงทุนในอะไรก็ตาม "ที่ปัญหาใหญ่ของมนุษย์ดูเหมือนจะมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างมาก"
สิ่งที่เขาหมายถึงก็คือว่าเขาชอบบริษัทที่บริหารงานดีโดยคนที่มั่นคง และมักอยู่ในธุรกิจที่เรียบง่ายหรือแม้กระทั่งน่าเบื่อ เช่น สี อิฐ ประกันภัย หรือลูกอม
🏝️ ชโรเดอร์ เล่าถึงแนวคิดหนึ่งในการเลือกหุ้นของบัฟเฟตต์ที่เรียกว่า “Desert Island Challenge” หรือ "ความท้าทายเกาะร้าง" โดยการตั้งคำถามทางความคิดว่า: "ถ้าคุณติดอยู่บนเกาะร้างเป็นเวลาสิบปีและสามารถซื้อหุ้นได้เพียงตัวเดียว คุณจะซื้ออะไร?"
“เคล็ดลับ" คือการหาบริษัทที่มีแฟรนไชส์ที่แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากแรงกัดกร่อนของการแข่งขันและเวลา ธุรกิจเช่นนั้นจะต้องมี "คูป้องกัน" (Moat) ล้อมรอบซึ่งบริษัทอื่นๆ จะฝ่าฟันเข้าไปได้ยาก
1
บทเรียนอีกเรื่องหนึ่งที่บัฟเฟตต์เรียนรู้คือ "เวลาคือมิตรของธุรกิจที่ยอดเยี่ยม แต่เป็นศัตรูของธุรกิจที่ธรรมดา" รวมถึงแนวคิดอันยอดเยี่ยมจาก ชาร์ลี มังเกอร์ คู่หูที่บอกว่า "การซื้อบริษัทที่ยอดเยี่ยมในราคาที่ยุติธรรมดีกว่าการซื้อบริษัทที่ธรรมดาในราคาที่ยอดเยี่ยมมาก" ตัวอย่างเช่น เขาต้องจ่ายราคาเต็มสำหรับ See's Candy ร้านขายลูกอมในแคลิฟอร์เนีย แต่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้นเพราะความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อแบรนด์และศักยภาพในการเติบโตในอนาคต 🍬
🧘 [[ #เวลา_วินัย_และโฟกัส ]]
แม้ปกติในเวลาส่วนตัวบัฟเฟตต์จะขี้อายและไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง แต่ในฐานะนักลงทุน บัฟเฟตต์มีความมั่นใจสูงสุดในการตัดสินใจของเขาเสมอ
ตลอดหลายทศวรรษของชีวิตการลงทุน บัฟเฟตต์คือหลักฐานพิสูจน์ว่าสมมติฐานตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis - EMH) นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก ซึ่งเป็นแนวคิดคือไม่มีใครสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว หลายคนที่สนับสนุนทฤษฎีมองว่าบัฟเฟตต์นั้นแค่โชคดี
สำหรับผู้สนับสนุน EMH ราคาของหุ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรเป็น เพราะมันได้รวมข้อมูลทั้งหมดที่เป็นไปได้เอาไว้ในนั้นแล้ว ดังนั้นจึงไร้ประโยชน์ที่จะพยายามค้นหามูลค่าที่ซ่อนอยู่
🕰️ แต่สไตล์การลงทุนของบัฟเฟตต์เป็นเรื่องของการเดิมพันระยะยาวกับบริษัท เวลาทำให้ความผันผวนมีความสำคัญน้อยมาก สำหรับบัฟเฟตต์การเดิมพันในการเคลื่อนไหวระยะสั้นเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่การลงทุนเลย
ชโรเดอร์เขียนว่า บัฟเฟตต์ "ไม่เคยหยุดคิดเกี่ยวกับธุรกิจ: อะไรทำให้ธุรกิจดี อะไรทำให้ธุรกิจแย่ พวกมันแข่งขันกันอย่างไร อะไรทำให้ลูกค้าภักดีต่อกัน" มังเกอร์อธิบายว่าหุ้นส่วนของเขาเป็น "เครื่องจักรแห่งการเรียนรู้" ความปรารถนาที่จะส่งต่อความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับโลกนำไปสู่การใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมงในการเขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นประจำปีทุกปี
อีกอย่างหนึ่งที่บัฟเฟตต์แชร์คือการห้อมล้มตัวเองด้วยคนที่จะทำให้เขาเป็นตัวเองที่ดีขึ้นกว่าเดิม
"ผมได้เรียนรู้ว่าการคบหาสมาคมกับคนที่เก่งกว่าเรานั้นคุ้มค่า เพราะคุณจะค่อยๆ ลอยสูงขึ้นเล็กน้อย และถ้าคุณคบหากับคนที่ประพฤติตัวแย่กว่าคุณ ในไม่ช้าคุณก็จะเริ่มไถลลงเสาไปเรื่อยๆ มันก็เป็นแบบนั้นแหละ" บัฟเฟตต์กล่าว
ยกตัวอย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) ก็ได้ แม้จะมีความแตกต่างด้านอายุหลายทศวรรษ แต่บัฟเฟตต์ก็ซึมซับความรู้ของเกตส์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และความสามารถทางธุรกิจของเขาด้วย ครั้งแรกที่พวกเขาพบกัน ที่บ้านพักตากอากาศบนเกาะของเพื่อน พ่อของเกตส์ถามคำถามระหว่างอาหารค่ำว่า "คนรู้สึกว่าปัจจัยใดสำคัญที่สุดในการไปถึงจุดที่พวกเขาไปถึงในชีวิต?"
🎯 บัฟเฟตต์ตอบว่า "การโฟกัส” "และบิลก็พูดเหมือนกัน" บัฟเฟตต์เล่า
ในปี 2017 ตอนที่ชโรเดอร์กำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ บัฟเฟตต์มีมูลค่าทางทรัพย์สินประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้ปี 2024 มูลค่าทางทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้นเป็น 142,000 ล้านเหรียญแล้ว
3
นี่คือพลังของดอกเบี้ยทบต้น เป็น” ก้อนหิมะ" (The Snowball) แห่งความมั่งคั่งของเขาที่เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัวภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี
🔍 สำหรับนักลงทุนทั่วไป บัฟเฟตต์แนะนำว่า "หุ้นเป็นสิ่งที่ควรเป็นเจ้าของในระยะยาว ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นและหุ้นจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย" ทางที่ดีที่สุดคือนำเงินของคุณไปลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำมากซึ่งติดตามตลาดหุ้นทั้งหมดและเก็บเกี่ยวผลกำไรรวม
มีครั้งหนึ่งในปี 2007 เขาเดิมพัน 1 ล้านดอลลาร์ (เงินรางวัลจะบริจาคเพื่อการกุศล) กับผู้เชี่ยวชาญกองทุนเฮดจ์ฟันด์ว่าเงินที่ลงทุนในกองทุนดัชนี S&P 500 จะทำผลงานได้ดีกว่าเงินจำนวนเดียวกันที่ลงทุนในกองทุนรวมของเฮดจ์ฟันด์ แม้จะมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่ามาก
1
ผลปรากฏว่าบัฟเฟตต์ในปี 2017 ก็ชนะการเดิมพันอย่างง่ายดาย เงิน 1 ล้านดอลลาร์ของเขาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในขณะที่การลงทุนในเฮดจ์ฟันด์เพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ดอลลาร์เท่านั้น
บัฟเฟตต์แชร์เรื่องนี้ว่าบ่อยครั้งผลตอบแทนที่ดีที่สุดมาจากการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วไปที่มีค่าธรรมเนียมต่ำมาก การโลภเห็นผลตอบแทนที่สูงขึ้นมักจบลงด้วยน้ำตา มันเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะเชื่อในความจริงที่ว่าโดยทั่วไปแล้วประเทศจะมีผลผลิตมากขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
1
[โน๊ตไว้นิดหนึ่งตรงนี้ว่าการจะซื้อกองทุนดัชนีนั้นก็ต้องดูด้วยว่าซื้อของที่ตลาดไหน เพราะไม่ได้หมายความว่าคำแนะนำนี้ของบัฟเฟตต์จะสามารถใช้ได้กับทุกตลาด]
1
✍️ รายละเอียดเล็กน้อยของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ : อลิซ ชโรเดอร์ เกิดในปี 1956 ชโรเดอร์มีปริญญาด้านการเงินและ MBA จากคณะธุรกิจแมคคอมบ์ส มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน หลังจากได้คุณสมบัตินักบัญชี เธอทำงานให้กับคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีการเงิน
ในช่วงกลางทศวรรษ 2000 เธอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่ธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ และย้ายไปโอมาฮาเพื่อวิจัยและเขียน The Snowball หนังสือได้รับเงินล่วงหน้า 7 ล้านดอลลาร์และเป็นหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ ชโรเดอร์เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ Bloomberg News และเป็นกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารของ Bank of America Merrill Lynch ด้วย
อย่าพลาดโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณให้ดีขึ้น!
เตรียมพบกับ Make Rich Expo มหกรรมการลงทุนแห่งชาติ ที่จะพาคุณก้าวเข้าสู่โลกของการลงทุนที่ทันสมัยและเข้าใจง่ายกว่าที่เคย! ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หัดลงทุน หรือผู้ที่มีประสบการณ์ เรามีทุกสิ่งที่คุณต้องการเพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคต
เข้าร่วมงานฟรี!!
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้แล้ววันนี้ ที่ https://bit.ly/4dSTfcK
แล้วพบกันวันที่ 2 - 3 November 2024 เวลา 10.00 - 19.00 น. ณ Paragon Hall ชั้น 5 ศูนย์การค้า Siam Paragon
#aomMONEY #MakeRichExpo #WorkLifeFestival2024 #WarrenBuffett #CharlieMunger #BenjaminGraham #TheSnowBall #Book #หนังสือการเงิน
โฆษณา