30 ก.ย. เวลา 10:29 • ปรัชญา

Viel of Ignorance ถ้าเราไม่รู้เลยว่าเราจะเกิดมาเป็นใคร เราจะทำนโยบายที่ยุติธรรมได้มากขึ้นหรือเปล่า?

ในช่วงนี้มีโพสท์จากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่แสดงความไม่พอใจกับการแจกเงินดิจิทัลกับคนกลุ่มที่โพสท์เหล่านี้นิยามว่า 'คนไม่เสียภาษี' ซึ่งพอเห็นแล้วเราก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่าเรากำลังคิดเรื่องนี้ในมุมที่เราเป็น 'คนเสียภาษี' อยู่นี่น่า
แล้วอย่างนี้ความคิดของเรามันจะเป็นกลางและยุติธรรมได้จริง ๆ เหรอ?
ลองจินตนาการดูนะว่า ถ้าก่อนที่เราจะเกิดมาในโลกนี้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะเป็นใคร – จะรวยหรือจน จะเกิดมาในครอบครัวแบบไหน จะมีเพศอะไร หรือจะมีเชื้อชาติอะไร ฟังดูเป็นสถานการณ์ที่น่าคิดใช่ไหม?
สิ่งเหล่านี้คือแนวคิดที่ John Rawls นักปรัชญาการเมืองชื่อดังเสนอขึ้นมาในทฤษฎีความยุติธรรมของเขา ที่เรียกว่า "Veil of Ignorance" หรือ “ม่านแห่งความไม่รู้” ซึ่ง Rawls เขาก็ชวนเราคิดว่า ถ้าเราต้องออกแบบสังคมที่เราจะอยู่ แต่เราไม่รู้เลยว่าเราจะเป็นใครในสังคมนั้น เราคิดว่ากฎเกณฑ์แบบไหนที่เราจะเลือกสร้างขึ้นมา?
แน่นอนว่า ถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะเกิดมาเป็นคนรวยหรือคนจน เป็นคนสุขภาพดีหรือพิการ เราก็น่าจะอยากสร้างสังคมที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนใช่ไหม? เพราะเราอาจจะเป็นใครก็ได้ในสังคมนั้น การคิดแบบนี้บังคับให้เรามองข้ามความลำเอียงที่เราอาจมี ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าเราจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบในสถานะใดสถานะหนึ่ง
ลองนึกตามนะ ถ้าสมมุติว่าเราต้องเลือกกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษา เราจะออกแบบระบบที่ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาดี ๆ เท่าเทียมกันไหม? เพราะเราอาจจะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนก็ได้ ถ้าเราคิดในมุมที่เรายากจนเราก็อาจจะรีดเลือดรีดเนื้อคนที่มีฐานะมากเกินไปจนเป็นการละเมิดวย แต่หากเราคิดในมุมคนรวยเราก็อาจจะหงุดหงิดว่าทำไมเราต้องจ่ายเงินให้พวกนี้ด้วยล่ะ?
หรือถ้าพูดถึงระบบสุขภาพ เราคงอยากให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีใช่ไหม? เพราะเราอาจจะเป็นคนที่ป่วยแต่ไม่มีเงินก็ได้ แต่ถ้าเราดันคิดในมุมของคนสุขภาพดีหรือคนมีเงิน โอกาสที่เราจะเห็นประโยชน์ในนโยบายสุขภาพก็น้อยลงไปอีก
การใช้ Veil of Ignorance เป็นวิธีที่ Rawls เสนอให้เรามองหา "ความยุติธรรม" ที่เป็นกลางที่สุด เป็นการออกแบบสังคมโดยไม่ให้ความได้เปรียบของใครมากำหนดความเป็นธรรม นั่นคือ ความเป็นธรรมแบบที่คนทุกคนยอมรับได้โดยไม่รู้ว่าตัวเองจะอยู่ตรงไหนในระบบ
แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ คิดอย่างไรกับแนวคิดนี้? ถ้าต้องออกแบบกฎเกณฑ์หรือกฎหมายในสังคมภายใต้ Veil of Ignorance เพื่อน ๆ จะเลือกออกแบบกฎแบบไหน? คิดว่าเราสามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ในการออกแบบนโยบายสาธารณะในปัจจุบันได้ไหม? ปัญหาในปัจจุบันบางอย่างจะโดนแก้ได้ง่าย ๆ เลยหรือเปล่า?

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา