30 ก.ย. เวลา 11:49 • ข่าว

“30 บาทรักษาทุกที่ – รับยาฟรีใกล้บ้าน” ใช้สิทธิ์อย่างไร ? ใช้ที่ไหนได้บ้าง ?

“บัตรทอง” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” คือสิทธิด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศ และเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาได้ง่าย และสะดวกที่สุด “30 บาท รักษาทุกที่” และ “รับยาฟรีใกล้บ้าน” จึงเกิดขึ้น
Thai PBS ขอนำเสนอข้อมูลที่คุณควรรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์สุขภาพที่ช่วยให้คุณเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น กับคำถามที่หลายคนยังคงสงสัย ใครมีสิทธิบัตรทองบ้าง ? ยังต้องพกบัตรทองหรือไม่ ? 30 บาทรักษาทุกที่ ตอนนี้ใช้ที่ไหนได้บ้าง ? บริการรับยาใกล้บ้านสามารถใช้สิทธิได้อย่างไร ?
30 บาทรักษาทุกที่ ใครมีสิทธิ์บ้าง ? ใช้สิทธิ์อย่างไร ?
“30 บาทรักษาทุกที่” คือชื่อโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยสามารถใช้สิทธิบัตรทอง หรือการรักษาฟรีได้ทุกที่ ประชาชนที่มีสิทธิ์การรักษานี้ได้แก่ คนไทยที่ไม่มีสิทธิ์ประกันสุขภาพหลักของประเทศอื่น ๆ เช่น ประกันสังคม ม.33 และ ม.39 รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยให้สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ทั่วประเทศ
ดังนั้น หากคุณไม่ได้ทำงานบริษัท ไม่มีประกันสังคม (ยกเว้นกรณีสมัครเข้าประกันสังคม ม.40 ซึ่งได้รับเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยเท่านั้น จะสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้) ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ คุณจะได้สิทธิบัตรทองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องดำเนินการใด ๆ สามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่นี่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/
การใช้สิทธิบัตรทอง ถึงตอนนี้ไม่ต้องพกบัตรทองอีกต่อไปแล้ว ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวเพื่อยืนยันตัวตนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ หากลืมบัตรประชาชน หรือทำบัตรประชาชนหาย ยังสามารถใช้หลักฐานยืนยันตัวตนอื่นแทนได้ เช่น แอปพลิเคชัน ThaID (บัตรประชาชนดิจิทัล), ใบขับขี่, Passport หรือเอกสารที่มีเลขประจำตัว 13 หลักพร้อมรูปถ่ายที่ยืนยันตัวตนได้ และแจ้งใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ก็สามารถใช้สิทธิได้เช่นกัน
30 บาทรักษาทุกที่ นำร่อง 46 จังหวัด ใช้สิทธิ์ที่ไหนได้บ้าง ?
โครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” ถึงตอนนี้ยังอยู่ในระยะนำร่อง มีการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 46 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสถานพยาบาลที่เข้าร่วมจะยังไม่ครบทุกแห่งในพื้นที่นำร่อง แต่จะเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถานพยาบาลของเอกชนที่เข้าร่วม (ปัจจุบันมีมากกว่า 4,500 แห่ง)
สามารถตรวจสอบโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ได้ที่เว็บไซน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-all-provinces และแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” รวมถึงสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่”
เช็ก 45 จังหวัด 30 บาทรักษาทุกที่
30 บาทรักษาทุกที่ อาการอย่างไร ? เข้าใช้บริการที่สถานพยาบาลประเภทไหน ?
เนื่องจากระบบสาธารณสุขจะมีการแบ่งประเภทสถานบริการสุขภาพตามการทำงาน เช่น ร้านยาสำหรับให้บริการยา คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ทำงานด้านการตรวจห้องแล็ปต่าง ๆ การใช้บริการจึงต้องสำรวจอาการของตัวเองเบื้องต้นเพื่อค้นหาสถานบริการที่ถูกต้อง
การค้นหาสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ตามเว็บไซต์ https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-all-provinces จะแบ่งออกสถานพยาบาลออกเป็น 7 ประเภทด้วยกัน อาการแบบไหนต้องไปสถานบริการสุขภาพประเภทใดมีรายละเอียด ดังนี้
1. ร้านยาคุณภาพ คือประเภทของร้านยาทั่วไป สิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาหากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ (ขยายจากเดิม 16 อาการเมื่อ 3 กันยายน 2567) ได้แล้วดังนี้
1. เวียนศีรษะ 2. ปวดหัว 3. ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4. ปวดฟัน 5. ปวดประจำเดือน 6. ปวดท้อง 7. ท้องเสีย 8. ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 9. ปัสสาวะแสบขัด 10. ตกขาว 11.แผล 12. ผื่นผิวหนัง 13. อาการทางตา 14. อาการทางหู 15. ไข้ ไอ เจ็บคอ
16. ติดเชื้อโควิด 17. น้ำมูก คัดจมูก 18. มีแผลในปาก 19. ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20. แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง 21. อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22. อาการจากพยาธิ 23. อาการจากหิด เหา 24.ฝี หนองที่ผิวหนัง 25. อาการชา/เหน็บชา 26. อาการนอนไม่หลับ 27. เมารถ เมาเรือ 28. เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29. คลื่นไส้ อาเจียน 30. อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31. อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32. เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก
2. คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คือประเภทของคลินิกที่ทำงานด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สำหรับสิทธิบัตรทองรักษาทุกที่ สามารถให้บริการทำแผล ล้างตา ล้างจมูก เปลี่ยนสายยางให้อาหาร ฉีดยาตามแผนการรักษาของแพทย์ มีการกำเนินให้สามารถตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 กลุ่มอาการ ได้แก่
1. ไข้ตัวร้อน 2. ไข้และมีผื่นหรือจุด 3. ไข้จับสั่น 4. ไอ 5. ปวดศีรษะ 6. ปวดเมื่อย 7. ปวดหลัง 8. ปวดเอว 9. ปวดท้อง 10. ท้องผูก 11. ท้องเดิน 12. คลื่นไส้อาเจียน 13. การอักเสบต่าง ๆ
14. โลหิตจาง 15. ดีซ่าน 16. โรคขาดสารอาหาร 17. อาหารเป็นพิษ 18. โรคพยาธิลำไส้ 19. โรคบิด 20. โรคไข้หวัด 21.โรคหัด 22.โรคสุกใส 23.โรคคางทูม 24.โรคไอกรน 25.โรคผิวหนังเหน็บชา 26.ปวดฟัน 27.เหงือกอักเสบ 28.เจ็บตา 29.เจ็บหู 30.โรคติดต่อตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 31.ภาวะแท้งคุกคามหรือหลังแท้งแล้ว 32.การให้ภูมิคุ้มกันแก่โรคแก่บุคคลทั่วไป หญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด ทารกและเด็ก
3. คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คือห้องแล็บสำหรับให้บริการตรวจผลแล็ปต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การให้บริการตรวจแล็บ 22 รายการฟรี โดยต้องมีใบสั่งจากแพทย์ มีบริการที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์จะได้แก่ การตรวจการตั้งครรภ์ และการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 50 – 70 ปีเท่านั้น
4. คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คือคลินิกที่ใช้บริการทำกายภาพบำบัดนั่นเอง โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองกับบริการฟื้นฟูผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองได้รับบาดเจ็บ กระดูกสะโพกหัก ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ จะได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
5. คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คือคลินิกทำฟัน สามารถใช้บริการเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก 5 รายการ ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟูลออไรด์ สามารถใช้บริการได้ปีละ 3 ครั้ง (หากยังต้องการการรักษาสามารถใช้สิทธิ์ได้ที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ์ https://www.nhso.go.th/news/4448
6. คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คือคลินิกรักษาโรคทั่วไป ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือก็คือการรักษาที่คนไข้เข้ามาใช้บริการได้ไม่ต้องนอนพัก ส่วนใหญ่มักเป็นอาการป่วยที่ไม่รุนแรงนัก ทั้งนี้ คลินิกเวชกรรมส่วนใหญ่ยังเปิดในช่วงนอกเวลาราชการ คือเวลา 17.00 – 21.00 น. เหมาะสำหรับกลุ่มคนทำงาน
7. คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คือคลินิกที่ใช้บริการแพทย์แผนไทยนั่นเอง มีบริการนวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา ผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับบริการจะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคและมีความจำเป็นต้องรับบริการแพทย์แผนไทยเพื่อการรักษา ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพฤกษ์โรคอัมพาต และโรคสันนิบาตต้องที่ต้องได้รับกรฟื้นฟูสรรถภาพ และดูแลสุขภาพแม่หลังคลอดเพื่อให้ได้รับการฟื้นฟูร่างกายภายใน 3 เดือน
รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ใช้สิทธิ์อย่างไร ? ป่วยอาการเล็กน้อยรับยาที่ร้านเลยได้หรือไม่ ?
การรอคิวที่สถานพยาบาลถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนไข้หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ที่ต้องการรักษาโรคเรื้อรัง หลายครั้งที่ไปหาหมอเพียงเพื่อรับยาเท่านั้น ผู้ที่ใช้สิทธิ์บัตรทองรักษาพยาบาลสามารถเลือก “รับยาที่ร้านยา” หรือ “รับยาใกล้บ้าน” ถือเป็นตัวช่วยให้คนไข้สามารถเข้าถึงยาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดความแออันในโรงพยาบาลได้
คนไข้สามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ขอรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน โดยจะต้องเป็นร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมได้ที่เว็บไซต์ของสปสช. https://www.nhso.go.th/page/List_of_retail_pharmacies นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ที่ติดอยู่ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการเช่นกัน
จากนั้นในขั้นตอนเมื่อไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน จะใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตนกับเภสัชกรที่ร้านยา เพื่อตรวจใบสั่งยาและจ่ายยาตามใบสั่งจากแพทย์ หรือสามารถเลือกรับยาทางไปรษณีย์และ Health rider (ครอบคลุม 32 จังหวัดเท่านั้น) ได้ โดยจะมีการติดต่อจากเภสัชกรโรงพยาบาลเพื่อยืนยันความถูกต้องและอธิบายการใช้ยา
นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้บริการร้านยาทั่วไปสำหรับผู้ที่มีอาการป่วยเล็กน้อย 32 อาการตามที่กล่าวมาข้างต้น (1. เวียนศีรษะ 2. ปวดหัว 3. ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4. ปวดฟัน 5. ปวดประจำเดือน 6. ปวดท้อง 7. ท้องเสีย 8. ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 9. ปัสสาวะแสบขัด 10. ตกขาว 11.แผล 12. ผื่นผิวหนัง
13. อาการทางตา 14. อาการทางหู 15. ไข้ ไอ เจ็บคอ 16. ติดเชื้อโควิด 17. น้ำมูก คัดจมูก 18. มีแผลในปาก 19. ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20. แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง 21. อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22. อาการจากพยาธิ 23. อาการจากหิด เหา 24.ฝี หนองที่ผิวหนัง 25. อาการชา/เหน็บชา 26. อาการนอนไม่หลับ 27. เมารถ เมาเรือ 28. เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29. คลื่นไส้ อาเจียน 30. อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31. อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32. เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก)
สติ๊กเกอร์ "ร้านยาคุณภาพของฉัน" ดูได้ว่าร้านยาไหนเข้าร่วมโครงการบ้าง
30 บาทรักษาทุกโรค สู่เป้าหมาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ได้ดำเนินการเป็นโครงการนำร่องครอบคลุบพื้นที่แล้ว 46 จังหวัด มีการกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะขยายโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2567 นี้ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 เปิดบริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
โฆษณา