รองเท้านารีเหลืองตรัง กล้วยไม้ที่สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จังหวัดพัทลุง

รองเท้านารีเหลืองตรัง Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein กล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จ.พัทลุง ความสูงจากระดับน้ำทะเล 0 - 150 เมตร เป็นกล้วยไม้ขึ้นบนดินหรือบนหินปูน
ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 14 เซนติเมตร แผ่นใบผิวใบด้านบนมีจุดสีเขียวอ่อน ด้านล่างมีจุดสีม่วงกระจาย ขอบช่วงล่างมีขนครุย
ช่อดอกมี 1–2 ดอก ก้านช่อยาว 4–8 เซนติเมตร ใบประดับสีม่วง รูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีขาวหรืออมเหลือง มีจุดสีม่วงกระจาย ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้าง ยาว 2.5–4.6 เซนติเมตร ปลายกลีบมนหรือกลม กลีบคู่ข้างรูปไข่ ยาว 2–4.5 เซนติเมตร ปลายกลีบมน
กลีบดอกรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3.5–6 เซนติเมตร ขอบกลีบเป็นคลื่น ถุงกลีบปากยาว 2.5–4.2 เซนติเมตร แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรี ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ปลายจักตื้น ๆ 1–3 จัก มีขนสั้นนุ่ม รังไข่รวมก้านดอกยาวประมาณ 4 เซนติเมตร
เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงไม่เกิน 100 เมตร มีความผันแปรสูง บางครั้งแยกเป็น var. ang-thong (Fowlie) Braem หรือรองเท้านารีอ่างทอง ดอกเล็กกว่าแต่ก้านดอกยาวกว่า และ var. leucochilum (Rolfe) Hallier หรือรองเท้านารีเหลืองพังงา ดอกใหญ่ กลีบปากสีขาวไม่มีจุดสีม่วง ออกดอก ตลอดทั้งปี
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
#ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ #สุราษฎร์ธานี #รองเท้านารีเหลืองตรัง #กรมอุทยานแห่งชาติ #กล้วยไม้
โฆษณา