Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted reader
•
ติดตาม
1 ต.ค. เวลา 02:29 • ประวัติศาสตร์
🌥️“กระดาษวาชิ : วิถีญี่ปุ่นกับความใส่ใจในสิ่งเล็กๆ”🇯🇵
🌿ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อาจเชื่อมโยงได้กับแนวคิดหนึ่งของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า “โคดาวาริ (kodawari)” เราอาจไม่สามารถแปลความหมายไปสู่ภาษาอื่นได้อย่างตรงตัว ในภาษาอังกฤษมักแทนด้วยคำว่า “Commitment” (คำมั่น) หรือ “Insistence” (คำยืนยัน) ซึ่งคำเหล่านี้ก็ยังคงไม่สามารถจับใจความที่แท้จริงของแนวคิดที่บ่มเพาะจากบริบททางสังคมญี่ปุ่นอันเฉพาะตัวแห่งนี้
⭐โคดาวาริ หมายถึง “มาตรฐานส่วนตัวที่บุคคลหนึ่งทุ่มเทอุทิศตนให้ โดยยึดถือในวิถีทางในชีวิตอย่างมั่นคงแน่วแน่” โดยส่วนใหญ่จะให้ความหมายไปในเชิงการมีคุณภาพ ความเป็นมืออาชีพที่คนๆหนึ่งยึดถือปฏิบัติ สิ่งนี้คือแก่นสำคัญส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ “อิคิไก” ที่เราคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้วเช่นกัน หากแต่จำเป็นต้องข้ามเรื่องนี้ไปก่อน เพราะนี่ไม่ใช่ประเด็นหลักของบทความนี้ กลับมาเข้าเรื่อง “กระดาษวาชิ” กันต่อ
จากข้อมูลปัจจุบัน กระดาษซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ถูกขุดค้นพบและพิสูจน์หลักฐานได้คือ “แผนที่” ถูกค้นพบในเขตมณฑลกานซู่ ประเทศจีน เมื่อประมาณ 150 ปี ก่อนคริสตกาล (150 BC) หรือเกือบ 2,200 ปีผ่านมาแล้ว แผนที่ดังกล่าวผลิตจากพืชและกระบวนการผลิตนั้นก็แพร่กระจายไปทั่วโลกในท้ายที่สุด
“กระดาษ” เผยแพร่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกโดยพระเกาหลี ช่วงปี ค.ศ.610 (แน่นอนว่าผ่านจากจีนมาอีกต่อหนึ่ง) ผ่านพระคัมภีร์ทางศาสนา และกระดาษถูกใช้งานอย่างเป็นทางการในอีก 100 ปีต่อมา (ค.ศ.710) สำหรับผลิต “ทะเบียนครอบครัว” ซึ่งสิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นกระดาษอันเก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
การผลิตกระดาษในญี่ปุ่นนั้นสัมพันธ์กับวัสดุหรือวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างแน่นแฟ้น ทุกขั้นตอนล้วนผูกแขวนโยงใยไว้กับความอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ กระบวนการผลิต “กระดาษวาชิ (Washi paper)” ในดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ณ ช่วงยุคสมัยเอโดะ (Edo period : 1603-1868) ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการใช้กระดาษวาชิแฝงเร้นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวเอโดะอย่างยากนักที่จะแยกขาดออกจากกัน
🟢ความหลากหลายของกระดาษวาชินั้นมาจากวัตถุดิบที่นำมาใช้และวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน หากกล่าวถึงการผลิตสมุดหรือหนังสือญี่ปุ่นก็จะมีกระดาษวาชิที่นิยมนำมาใช้งานอยู่ 5 ประเภทด้วยกัน
🔹 生紙(きがみ)kigami : คิกามิ คือ กระดาษดิบๆ สีขาว ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง
🔹 熟紙(じゅくし)jukushi : จูคุชิ คือ กระดาษสำเร็จรูป ใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ (ผลิตจาก คิกามิ)
🔹 塋紙(えいし)eishi : เอชิ คือ กระดาษขัดเงา ที่นำ จูคุชิ มาขัดถูให้เรียบด้วยของแข็ง
🔹 打ち紙 (うちがみ) uchigami อุชิกามิ คือ จูคุชิ ใช้ค้อนไม้ทุบให้แบน
🔹 継ぎ紙 (つぎがみ) tsugigami สึกิกามิ คือ การนำกระดาษหลายชนิดมาเชื่อมต่อกันเป็นแผ่นเดียว
🟢การแบ่งประเภทกระดาษวาชิตามวัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิต 4 ประเภท
🔸 麻紙(まし)mashi : มาชิ หรือ ป่าน วัสดุหลักสำหรับการผลิตกระดาษในญี่ปุ่น
🔸 楮紙(ちょし・こうぞがみ)choshi / cozogami : โชชิ หรือ มัลเบอร์รี่ (กระดาษสา)
🔸 雁皮紙(がんぴし)gampishi : กัมปิชิ หรือ ต้นกัมปิ
🔸 三椏紙(みつまたがみ)mitsumatagami : มิสึมาตะกามิ เคยถูกใช้สำหรับผลิตธนบัตรญี่ปุ่นในอดีต
🟢ขั้นตอนการผลิตกระดาษวาชิในประเทศญี่ปุ่นมักเริ่มต้นขึ้นในฤดูหนาว มีกระบวนการแตกต่างกันออกไปตามแหล่งผลิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น หากแต่โดยพื้นฐานแล้วแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนอย่างหยาบๆ
🔘 จากต้นไม้สู่เส้นใย : นึ่งไม้ด้วยน้ำเดือด (มัลเบอร์รี่จะนิยมมากที่สุด) ลอกเปลือกไม้ ทำความสะอาด ต้มในน้ำเดือด ตำด้วยครกหินให้เปลือกไม้เปลี่ยนสภาพจนกลายเป็นเส้นใย
🔘 แช่เส้นใยไม้ในน้ำสะอาดเพื่อให้เกิดพันธะไฮโดรเจน (HYDROGEN BOND)
🔘 ใช้อุปกรณ์เพื่อแยกเส้นใยไม้กับน้ำ ความหนาของกระดาษนั้นขึ้นอยู่กับการเกลี่ยเยื่อไม้ในส่วนนี้
🔘 ขจัดความชื้น ทำให้แห้ง
ยุคสมัยเอโดะในประเทศญี่ปุ่น อาจเป็นช่วงเวลาซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษวาชิรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสมุด หนังสือ งานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ประตูบานเลื่อน อีกทั้งหากเป็นกระดาษวาชิประเภทที่มีกระบวนการผลิตอันซับซ้อนก็ยังมีความเชื่อมโยงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงเวลานั้น กระดาษวาชิที่สวยงาม ปราณีต แปลกตาและหายาก กลับกลายเป็นของสะสมหรูหราเพื่อประดับบารมีของชนชั้นสูงกลุ่มเล็กๆในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยซ้ำไป
เวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ร้านผลิตกระดาษวาชิในประเทศญี่ปุ่นหลายแห่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยเอโดะ และมีอายุอานามยืนยาวมากกว่า 200-300 ปี หากแต่เบื้องหลังของการดำรง ณ ปัจจุบันก็คือการเข้ามาสนับสนุนโดยภาครัฐ เทศบาล หรือผู้คนในชุมชนท้องถิ่น เหตุเพราะพวกเขาต้องการอนุรักษ์คุณค่าและความหมายของเรื่องราวอันแสนพิเศษเหล่านี้เอาไว้ตลอดกาล ถึงแม้ว่าในเชิงธุรกิจ ณ ปัจจุบัน หลายอย่างจะเสื่อมถอยลงตามวันเวลาที่ผ่านไปก็ตาม
🎈“ความใส่ใจในสิ่งเล็กๆ” เป็นเครื่องหมายของความเยาว์วัย มีจิตใจที่เปิดกว้าง อยากรู้อยากเห็น คุณสามารถค้นพบความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างความอยากรู้อยากเห็นกับอิคิไก ความเยาว์วัย จิตใจที่เบิกบาน ความมุ่งมุ่นและความหลงใหลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอิคิไก “มันไม่สำคัญเลยว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร”
🖊️อ้างอิง
📎The Art of Washi Paper in Japanese Rare Books : Keio University, Japan
ประวัติศาสตร์
ญี่ปุ่น
ศิลปะ
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย