Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
2 ต.ค. 2024 เวลา 08:32 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางของ “แกงกะหรี่” อาหารที่ชาวญี่ปุ่นหลงรัก
“แกงกะหรี่” คืออาหารที่คนรักอาหารญี่ปุ่นน่าจะต้องรู้จักและเคยทดลองชิม
ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ชื่นชอบในรสชาติของแกงกะหรี่ญี่ปุ่น และต้องสั่งแทบทุกครั้งเวลาไปร้านอาหารญี่ปุ่น และเชื่อว่าคงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบแกงกะหรี่เช่นกัน
1
ความนิยมในแกงกะหรี่นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่กระจายไปทั่วโลก ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ก็มีร้านข้าวแกงกะหรี่โดยเฉพาะ
1
แกงกะหรี่ญี่ปุ่น
ที่ญี่ปุ่นนั้น ในปีค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) จากผลการสำรวจ พบว่าชาวญี่ปุ่นจำนวน 10,000 คนยกให้แกงกะหรี่เป็นอาหารประจำชาติของญี่ปุ่น และคนอีกจำนวนไม่น้อยบอกว่าตนนั้นกินแกงกะหรี่เดือนละหลายครั้ง
2
และเส้นทางของแกงกะหรี่นี้ก็มีความน่าสนใจ มีเรื่องราวให้เล่า
จากเรื่องเล่านั้น แกงกะหรี่ได้ถูกนำเข้ามาสู่ญี่ปุ่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยผู้ที่นำเข้ามาก็คือทหารเรือชาวอังกฤษที่เรือล่ม และได้รับการช่วยเหลือจากเรือประมงของญี่ปุ่น
ทหารเรือนายนั้นได้พกผงแกงมาด้วยส่วนหนึ่ง จึงสอนวิธีการทำสตูว์ให้แก่ชาวญี่ปุ่นโดยใช้ผงแกง
1
อีกหนึ่งเรื่องเล่าก็คือ ต้นกำเนิดแกงกะหรี่นั้น มีความเกี่ยวพันกับวิถีการกินของชาวญี่ปุ่นในสมัยเมจิ โดย “จักรพรรดิเมจิ (Emperor Meiji)” ได้ขึ้นปกครองประเทศในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.1868 (พ.ศ.2411) และเป็นช่วงเวลาที่อำนาจเริ่มกลับคืนสู่ราชสำนัก
ในยุคเมจินี้เอง ผู้คนเริ่มเปลี่ยนวิถีการกิน โดยที่ผ่านมานั้น การบริโภคเนื้อสัตว์ในญี่ปุ่นนั้นมีไม่บ่อยนัก และการฆ่าสัตว์ก็เป็นสิ่งต้องห้าม
แต่ในปีค.ศ.1872 (พ.ศ.2415) ก็มีรายงานว่าองค์จักรพรรดิได้เสวยเนื้อวัว ทำให้มุมมองต่อการทานเนื้อสัตว์ของประชาชนนั้นเปลี่ยนไป โดยคำขวัญของรัฐบาลเมจิก็คือ
4
จักรพรรดิเมจิ (Emperor Meiji)
“ทำให้ประเทศชาติอุดมสมบูรณ์ ทำให้กองทัพเข็มแข็ง“
1
ดังนั้นการสร้างเสริมพละกำลังด้วยอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็น
แต่จะหาเสบียงที่เหมาะสมแก่กองทัพได้ที่ไหนล่ะ?
คำตอบก็คือ “แกงกะหรี่”
อันที่จริง มีการเสิร์ฟแกงกะหรี่ในร้านอาหารญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปีค.ศ.1877 (พ.ศ.2420) แล้ว หากแต่แกงกะหรี่ก็มาได้รับความนิยมจริงๆ จากการเป็นอาหารสำหรับทหาร เนื่องจากสามารถทำทีเดียวหม้อใหญ่ๆ ได้ สะดวกรวดเร็ว
กองทัพเรือญี่ปุ่นก็ใช้แกงกะหรี่เป็นเสบียงกองทัพ โดยก่อนหน้ายุคเมจินั้น เสบียงของทหารเรือแต่ละนายก็คือซุปมิโสะ ข้าว และผักดอง
ด้วยความที่ขาดแคลนเนื้อสัตว์ ทำให้ทหารเรือจำนวนมากเป็นโรคเหน็บชา
1
กองทัพเรืออังกฤษนั้นเสิร์ฟแกงกะหรี่คู่กับขนมปัง ซึ่งพ่อครัวชาวญี่ปุ่นก็ทำตาม หากแต่มีการพลิกแพลง มีการทำให้ซอสนั้นมีความหนาขึ้น และเสิร์ฟมาพร้อมกับข้าว
มีการตีพิมพ์สูตรการทำแกงกะหรี่ลงหนังสือในญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละสูตรก็ต่างกันออกไป แต่ที่เหมือนกันคือยังขาดมันฝรั่งและแคร์รอท
“วิลเลียม เอส. คลาร์ก (William S. Clark)” นักเคมีชาวอเมริกัน ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำมันฝรั่งและแคร์รอทเข้ามาในแกงกะหรี่ญี่ปุ่น โดยในปีค.ศ.1876 (พ.ศ.2419) รัฐบาลญี่ปุ่นได้จ้างคลาร์กให้มาช่วยก่อตั้ง “วิทยาลัยการเกษตรซัปโปโร (Sapporo Agricultural College)”
เหล่านักศึกษาต่างชื่นชอบสไตล์การเรียนการสอนของคลาร์ก และหนึ่งในผลงานของคลาร์ก ก็คือการบุกเบิกการปลูกมันฝรั่งบนพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อทดแทนปริมาณข้าวที่ขาดแคลน และคลาร์กยังแนะนำให้ใส่มันฝรั่งและแคร์รอทลงไปในแกงกะหรี่เพื่อให้ดูน่ากินมากยิ่งขึ้น
2
แน่นอนว่าคำแนะนำของคลาร์กนั้นได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง
วิลเลียม เอส. คลาร์ก (William S. Clark)
ความนิยมในแกงกะหรี่ที่ญี่ปุ่นนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อแกงกะหรี่สไตล์อังกฤษได้รับความนิยม ก็ต้องพบเจอกับคู่แข่ง
นั่นคือ “แกงกะหรี่อินเดีย”
“รัช เบฮารี โบส (Rash Behari Bose)“ คือชาวอินเดียที่เกิดในปีค.ศ.1886 (พ.ศ.2429) ที่แคว้นแบงกอล โดยในช่วงวัยรุ่น โบสได้หนีออกจากบ้านเพื่อไปสมัครเข้าร่วมกับกองทัพอินเดีย
หากแต่ในเวลาน้้น อินเดียตกอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษ จึงมีการจำกัดเชื้อชาติของผู้ที่จะสมัครเป็นทหาร
ชาวเบงกอลนั้นถูกตัดออก ไม่ให้มีคุณสมบัติเข้าร่วมกับกองทัพเนื่องจากถูกมองว่าไม่แข็งแรงพอ ซึ่งทางการอังกฤษก็ได้ทำการเยาะเย้ยถากถางโบส สร้างความเจ็บแค้นแก่โบสเป็นอย่างมาก
23 ธันวาคม ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) โบสได้ไปยังเดลีเพื่อชมขบวนพาเหรดของ “ชาร์ลส์ ฮาร์ดิง (Charles Hardinge)” ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย
โบสได้แอบนำระเบิดที่ตนเองทำขึ้นเองเข้ามาด้วย และโยนใส่ช้างตัวที่ฮาร์ดิงนั่ง ทำให้ฮาร์ดิงได้รับบาดเจ็บและคนรับใช้ของฮาร์ดิงเสียชีวิต
1
ชาร์ลส์ ฮาร์ดิง (Charles Hardinge)
โบสสามารถหลบหนีการจับกุมไปได้และไม่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย โดยโบสนั้นได้เข้าร่วมกับกลุ่มขบวนการที่ต้องการปลดปล่อยอินเดียจากอำนาจของอังกฤษ และได้มีส่วนร่วมในขบวนการปฏิวัติต่อต้านอังกฤษ
ต่อมา ทางการอังกฤษได้ออกไล่ล่าหัวหน้าขบวนการและกวาดล้างอย่างหนัก ทำให้โบสต้องปลอมแปลงเอกสารยืนยันตัวตนและหนีไปญี่ปุ่นในปีค.ศ.1915 (พ.ศ.2458)
แต่ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1 และญี่ปุ่นก็เป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ทำให้มีการดำเนินการจะส่งตัวโบสกลับไปยังอินเดียเพื่อให้อังกฤษลงโทษ
แต่นับเป็นโชคดีของโบส เนื่องจากชาวญี่ปุ่นจำนวนมากนั้นก็ไม่เห็นด้วยกับการที่อังกฤษยึดครองอินเดีย และต้องการเห็นอินเดียได้รับอิสรภาพ ทำให้นักการเมืองชื่อดังอย่าง “มิทสึรุ โทยามะ (Mitsuru Toyama)” และสองสามีภรรยาผู้ร่ำรวยอย่าง “ไอโซ โซมะ (Aizo Soma)” และ ”คตสึโกะ โซมะ (Kotsuko Soma)” ให้การช่วยเหลือโบส
ไอโซ โซมะ (Aizo Soma)
สองสามีภรรยาโซมะได้ให้โบสหลบซ่อนตัวอยู่ในร้านขนมปัง “นาคามุรายะ (Nakamuraya)” ซึ่งเป็นกิจการของทั้งคู่ และในเวลานี้เอง โบสก็ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับ ”โทชิโกะ โซมะ (Toshiko Soma)” บุตรสาวของสองสามีภรรยาโซมะ
ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) โบสได้แต่งงานกับโทชิโกะ และมีบุตรสาวด้วยกันสองคน
ในช่วงที่ซ่อนตัวจากอังกฤษ โบสก็ได้แนะนำให้เหล่าสมาชิกตระกูลโซมะได้รู้จักกับแกงกะหรี่ไก่อินเดีย ซึ่งเหล่าสมาชิกตระกูลโซมะต่างประทับใจในรสชาติที่แตกต่างจากแกงกะหรี่ญี่ปุ่นทั่วๆ ไป
โบสและโทชิโกะ
แต่แล้วในปีค.ศ.1925 (พ.ศ.2468) ความโศกเศร้าก็ได้มาเยือนโบสและทุกคน เนื่องจากโทชิโกะได้ป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิต
2
เพื่อให้ลืมความเศร้า โบสได้ปรึกษากับพ่อตา เสนอให้พ่อตาเปิดคาเฟ่ ทำให้ในปีค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) “นาคามุรายะ คาเฟ่ (Nakamuraya Cafe)” ก็ได้เปิดตัวในย่านชินจูกุ กรุงโตเกียว และเสิร์ฟซิกเนเจอร์ดิชอย่าง “แกงกะกรี่ไก่อินเดีย”
สำหรับโบส แกงไก่ของตนนั้นไม่ได้เป็นแค่อาหารที่นำออกขายให้ลูกค้า แต่ยังเป็นเหมือนไอค่อนทางวัฒนธรรมที่โจมตีอังกฤษ โดยมีบันทึกว่าแกงไก่ของโบสนั้นคือส่วนหนึ่งของแผนการต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมอังกฤษ
2
โบสต้องการที่จะนำแกงกะหรี่กลับคืนมาจากอังกฤษ โดยแม้กระทั่งปัจจุบัน สโลแกนของแกงกะหรี่สไตล์อินเดียของร้านนาคามุรายะก็คือ “รสชาติของความรักและการปฏิวัติ”
แกงกะหรี่อินเดียของโบสนั้นจะมีราคาสูงกว่าแกงกะหรี่ของอังกฤษ เนื่องจากโบสเลือกใช้แต่ส่วนผสมจากอินเดีย ไม่ใช้ผงแกงจากยุโรป ซึ่งก็ปรากฎว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ผู้คนชื่นชอบแกงกะหรี่อินเดียนี้มากกว่าของอังกฤษ
1
และด้วยความที่แกงกะหรี่อินเดียของนาคามุรายะนี้ขายดีมาก ทำให้นาคามุรายะเป็นบริษัทอาหารรายแรกๆ ในญี่ปุ่นที่สามารถจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในปีค.ศ.1939 (พ.ศ.2482)
1
แต่ถึงแม้ญี่ปุ่นจะหลงรักและยอมรับแกงกะหรี่แล้ว ก็ยังคงเหลือปัญหาสำคัญ
นั่นคือเครื่องเทศที่ใช้ในแกงกะหรี่นั้นต้องเป็นเครื่องเทศนำเข้า มีราคาแพง ทำให้แกงกะหรี่ก็มีราคาสูง เป็นอาหารที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้
ทำยังไงจึงจะให้ชาวญี่ปุ่นทั่วๆ ไปเข้าถึงแกงกะหรี่ได้?
ญี่ปุ่นเริ่มผลิตผงแกงกะหรี่ของตนเองตั้งแต่สมัยไทโช (ค.ศ.1912-1926) โดย “มิเนจิโร ยามาซากิ (Minejiro Yamazaki)” ผู้ก่อตั้งบริษัท ”S&B Foods” ได้เริ่มผลิตผงแกงกะหรี่สำเร็จรูปออกจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อปีค.ศ.1923 (พ.ศ.2466) ทำให้ผู้คนเริ่มทำแกงกะหรี่กินเองได้อย่างง่ายๆ
มิเนจิโร ยามาซากิ (Minejiro Yamazaki)
หลังจากนั้น ก็มีการพัฒนาแกงกะหรี่มาเรื่อยๆ ทำให้แกงกะหรี่กลายเป็นอาหารที่เข้าถึงทุกครัวเรือนญี่ปุ่น และเป็นอาหารที่อยู่คู่ญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ก็มีการประยุกต์แกงกะหรี่ให้เข้ากับอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราเมนแกงกะหรี่ แกงกะหรี่ไก่ทอด ขนมปังแกงกะหรี่ หรือแกงกะหรี่หมูทอด เป็นต้น
นี่ก็เป็นเรื่องราวการเดินทางของแกงกะหรี่ อาหารที่ชาวญี่ปุ่นหลงรักและยกให้เกือบจะเป็นอาหารประจำชาติ
แล้วคุณล่ะครับ? ชอบแกงกะหรี่ญี่ปุ่นหรือไม่?
References:
https://medium.com/new-east/how-japan-fell-in-love-with-curry-f09b842f9774
https://metropolisjapan.com/the-origins-of-japanese-curry/
https://group.bishamon-ten.com/the-history-of-japanese-curry/
https://www.bigfridgeboy.com/jp/content/26335/the-journey-of-japanese-curry-history-evolution-and-health-benefits
ประวัติศาสตร์
56 บันทึก
66
1
54
56
66
1
54
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย