1 ต.ค. เวลา 10:53 • ธุรกิจ

อธิบายเรื่อง ต้นทุน SG&A คำศัพท์เบสิกธุรกิจ ผ่านเคสร้านอาหารดัง ZEN, After You, MK

SG&A ย่อมาจาก Selling, General, and Administrative Expenses
ชื่อภาษาไทยคือ “ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร”
สำหรับคนทำธุรกิจ ต้นทุนหลัก ๆ ที่จะต้องแยกให้ออก นั้นมีอยู่ 2 ประเภท นั่นคือ
- ต้นทุนขาย หรือ COGS คือค่าใช้จ่าย ที่มีผลต่อสินค้าและบริการโดยตรง
อย่างเช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายวัตถุดิบ หรือค่าแรงพนักงานผลิต
- และต้นทุน SG&A หรือ Selling, General, and Administrative Expenses หรือค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
ทีนี้ เราลองมาเจาะลึก เรื่องต้นทุน SG&A..
ต้นทุน SG&A อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ค่าใช้จ่าย
ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือผลิต สินค้าและบริการโดยตรง
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วต้นทุน SG&A จะแบ่งออกเป็น 2 ขาด้วยกัน คือ
1. ค่าใช้จ่ายในการขาย = ค่าใช้จ่าย ที่จำเป็นต้องจ่ายออกไปเพื่อสร้างยอดขาย
อย่างเช่น
- ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด อาทิ ค่าโฆษณา ค่าจัดทำโปรโมชัน และค่าโปรโมตสินค้า
- ค่าคอมมิชชัน ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้พนักงานขาย ถ้าทำยอดขายได้
- เงินเดือน และสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานขาย
2. ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจ
อย่างเช่น
- เงินเดือน และสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานในออฟฟิศส่วนกลาง
- ค่าวิจัยและพัฒนาสินค้า หรือ R&D
- ค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายและบัญชี
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับสำนักงาน เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ
เรามาดูตัวอย่างต้นทุน SG&A ผ่านเคสธุรกิจร้านอาหาร
-บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN Group
เจ้าของเชนร้านอาหาร ZEN, AKA, On the Table, ตำมั่ว และลาวญวน
โดย ZEN Group ไม่ได้ใช้ระบบครัวกลางในการผลิตและจัดส่งอาหาร แต่จะเน้นซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ จากซัปพลายเออร์เป็นส่วนใหญ่
COGS หรือต้นทุนที่เกี่ยวกับการทำอาหารโดยตรงของ ZEN ก็อย่างเช่น
- ต้นทุนวัตถุดิบอาหาร
- ค่าใช้จ่ายพนักงาน เฉพาะพื้นที่ส่วนครัว
- ค่าเช่าที่ เฉพาะพื้นที่ส่วนครัว
- ค่าน้ำ ค่าไฟ เฉพาะพื้นที่ส่วนครัว
ทีนี้เราลองมาดูต้นทุน SG&A ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ โดยแยกเป็น
ค่าใช้จ่ายในการขาย เช่น
- ค่าใช้จ่ายพนักงานบริการ หรือแคชเชียร์
- ค่าเช่าที่ เฉพาะโซนโต๊ะเก้าอี้นั่ง
- ค่าน้ำ ค่าไฟ เฉพาะโซนโต๊ะเก้าอี้นั่ง
- ค่าคอมมิชชัน ที่ต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มส่งอาหาร อย่าง Grab และ LINE MAN
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เช่น
- เงินเดือนพนักงานในออฟฟิศ เช่น ฝ่าย HR ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี
- ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในออฟฟิศส่วนกลาง
จากตัวอย่าง เราจะสังเกตเห็นได้ว่า
ต้นทุน COGS ที่เป็นค่าใช้จ่ายทางตรง ก็ต้องเกี่ยวกับการผลิตสินค้าโดยตรง
สำหรับ ZEN Group ก็คือต้นทุนเกี่ยวกับการปรุงอาหารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น
ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างพนักงานปรุงอาหาร
ไปจนถึงค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่า เฉพาะในส่วนครัวของร้าน
ส่วนต้นทุน SG&A ก็คือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการขายและบริหาร
แต่ไม่ได้มีผลต่อสินค้าโดยตรง
สำหรับของ ZEN Group ก็เช่น
- ค่าใช้จ่ายพนักงานบริการ หรือ แคชเชียร์ ที่ไม่ได้มีผลต่ออาหารโดยตรง
- ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่าที่ เฉพาะโซนบริการ ที่มีโต๊ะเก้าอี้ให้ลูกค้านั่ง
- ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในออฟฟิศส่วนกลาง
เมื่อเราเห็นภาพของต้นทุนต่าง ๆ คร่าว ๆ แล้ว
ทีนี้เราลองมาดูโครงสร้างต้นทุนจริง ๆ กัน
รายได้ทุก ๆ 100 บาท ของร้านอาหารในเครือ ZEN ในปี 2566
- มีต้นทุน COGS หรือต้นทุนเกี่ยวกับการทำอาหารโดยตรง 57 บาท
คิดเป็นกำไรขั้นต้น 43 บาท
และมีต้นทุน SG&A นั่นก็คือ
- ค่าใช้จ่ายในการขาย หรือการให้บริการลูกค้า 25 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการบริหาร จากออฟฟิศส่วนกลาง 12 บาท
รวมแล้ว ZEN มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หรือ SG&A ทั้งหมด 37 บาท
เมื่อเอากำไรขั้นต้น มาหักกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารแล้ว
ร้านอาหารในเครือ ZEN ก็จะเหลือกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ยและภาษีเงินได้
เท่ากับ 43 บาท - 37 บาท = 6 บาท
ซึ่งก็ต้องบอกว่า การแยกต้นทุน COGS กับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หรือ SG&A นั้น
ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว เหมือนกันทุกบริษัท
ซึ่งการแยกต้นทุนของแต่ละบริษัท ก็จะพิจารณาแตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจ และรูปแบบในการทำธุรกิจ
เราลองมาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ บมจ.อาฟเตอร์ ยู หรือ AU
เจ้าของร้าน After You ร้านขนมหวานชื่อดังของเมืองไทย
แต่ร้าน After You จะแตกต่างจากร้านอาหารในเครือ ZEN
ตรงที่ร้าน After You จะมีครัวกลาง สำหรับผลิตและจัดส่งวัตถุดิบบางอย่างเป็นของตัวเอง
ดังนั้นต้นทุน COGS หรือต้นทุนที่เกี่ยวกับการทำอาหารโดยตรงนั้น
จะประกอบไปด้วยต้นทุนเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบ
เช่น
- ค่าใช้จ่ายพนักงานฝ่ายผลิต
- ค่าใช้จ่ายวัตถุดิบแรกเข้า
- ค่าเสื่อมราคาโรงงานและเครื่องจักร
- ค่าขนส่ง
ส่วนต้นทุน SG&A
ค่าใช้จ่ายในการขาย เช่น
- ค่าใช้จ่ายพนักงานในพื้นที่ร้านค้า
- ค่าเช่าที่ร้านค้า
- ค่าทำการตลาดและโปรโมชัน
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เช่น
- เงินเดือนพนักงานในออฟฟิศ เช่น ฝ่าย HR ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี
- ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในออฟฟิศส่วนกลาง
ซึ่งจะเห็นได้ว่า โมเดลร้านอาหารของ After You ที่มีครัวกลางสำหรับผลิตและจัดส่งวัตถุดิบเป็นของตัวเอง
ดังนั้น After You จะมองค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในสาขา อย่างค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าเช่าที่ทั้งหมด เป็นต้นทุน SG&A
ไม่เหมือนกับร้านอาหารในเครือ ZEN ที่แยกส่วนครัวของร้าน กับส่วนที่ให้บริการลูกค้าอย่างชัดเจน
สุดท้าย ต้องหมายเหตุเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า
แม้ว่าบริษัทของเรา หรือบริษัทของคู่แข่ง จะมีรูปแบบการทำธุรกิจที่เหมือนกันเป๊ะ ๆ
อย่างไรก็ตามแต่ละบริษัท ก็อาจพิจารณาเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย SG&A ที่แตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ ลักษณะของธุรกิจ ความเหมาะสม และนโยบายการบันทึกบัญชีของบริษัท
อย่างเช่นเคสของ ร้านอาหารเครือ MK ที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เหมือน ๆ กับ After You
คือผลิตและจัดส่งวัตถุดิบจากครัวกลางเหมือน ๆ กัน
ซึ่ง MK บันทึกค่าจ้างพนักงานทั้งหมด ทั้งในส่วนของครัวกลาง และในส่วนของร้านอาหาร ให้ไปอยู่ในต้นทุน SG&A
แบบนี้ก็มีเหมือนกัน..
References
- รายงานประจำปี (One Report) ปี 2567 บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป
- คำอธิบายและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 บมจ.อาฟเตอร์ ยู
- คำอธิบายและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป
โฆษณา