5 ต.ค. เวลา 02:03 • ธุรกิจ

‘ทุนจีน’ ไปทุกที่ทั่วโลก แต่ชอบไทย เพราะอยู่สบายสุด ย้ายสำมะโนครัว-ซื้อคอนโดฯ ยาวๆ

ไม่ได้มาแค่ไทย “พี่จีน” ไปทั่วโลก แต่อยู่ไทยสบายที่สุด! กะเทาะเปลือกเหตุผล “ทุนจีน” เลือกไทย ผู้เชี่ยวชาญชี้ แดนมังกรอยากลงทุน “อินโดนีเซีย” มากสุดในอาเซียน แต่ประเทศไทยเป็นมิตร-สบายสุด หลายคนย้ายสำมะโนครัว จูงลูกสมัครนานาชาติ-ซื้อคอนโดมิเนียมอื้อ
100 ปีที่แล้ว คลื่นคนจีนรุ่นแรกตัดสินใจโล้สำเภาขึ้นบกมายังประเทศไทย หวังลบลี้จากภัยสงครามและความแร้นแค้นที่ยากจะลืมตาอ้าปากได้ ด้วยดีเอ็นเอเลือดนักสู้ ขยัน อดทน หนักเบาไม่เคยเกี่ยง ทั้งยังมีหัวการค้าสูง ทำให้อาณาจักรคนไทยเชื้อสายจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว
1
ย้อนกลับไปตอนนั้น “ไทย” ไม่ใช่หมุดหมายเพียงแห่งเดียวของชาวจีน แต่ยังมีประเทศรอบข้างแถบทะเลตอนใต้ อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียด้วย แต่เพราะรายละเอียดทางวัฒนธรรม และความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ “ไทย” และ “เวียดนาม” จึงได้รับความนิยมมากที่สุด
100 ปีให้หลัง ตรงกับช่วงเวลาที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับวิกฤติแพร่ระบาดใหญ่ แม้ขณะนั้นทุกประเทศต้องตั้งรับภายใต้สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่ใช่บริบทเดียวกันกับประเทศจีนที่เต็มไปด้วยแรงกดดันมหาศาล
2
“บุญชัย ลิ่มอติบูลย์” ผู้ก่อร่วมตั้ง Pundai และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจกับจีนที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี กางประวัติศาสตร์การมาถึงของ “ทุนจีนในไทย” ภายในงาน “Restaurant Technology Expo 2024” โดยระบุว่า หลังโควิด-19 สิ้นสุดลง “ชูไห่” กลายเป็นคติที่คนจีนยึดถือ โดยมีความหมายว่า “ออกทะเล” หมายถึง การออกทะเลเพื่อนหนีการแข่งขันอันดุเดือด และไปหาโอกาสเติบโตที่อื่นแทน
เขาเล่าว่า สัก 10 ปีที่แล้ว เคยชักชวนเพื่อนชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า ประเทศไทยมีขนาดเล็ก จีนยังมีโอกาสโตต่อได้อีก หากเทียบเคียงกันแล้ว ประเทศไทยมีขนาดเท่ากับ 1 มณฑลของจีนเท่านั้น ทว่า ปัจจุบันกลับตาลปัตรหมดแล้ว เพราะจีนไม่สามารถโตไปมากกว่านี้ ที่เราได้ยินกันว่า เศรษฐกิจจีนแย่ บุญชัยยืนยันว่า เป็นไปตามนั้นจริงๆ
สำหรับจีน “ไทย” เป็นประเทศรองๆ ที่สนใจรุกทำตลาด เบอร์ต้นที่ต้องการเจาะไข่แดงมากที่สุด คือ “สหรัฐ” ด้วยเหตุผลจากตัวเลขทางประชากรศาสตร์ และกำลังซื้อที่สูงกว่า ส่วนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่น่าจับตามองสำหรับจีน คือ “อินโดนีเซีย” ด้วยเหตุผลเรื่องจำนวนประชากรเช่นกัน รวมถึง “เวียดนาม” ก็ด้วย
1
ส่วนไทยแม้จะไม่ได้โดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง แต่ความแตกต่างกับประเทศรอบข้าง คือระบบนิเวศที่เป็นมิตร-เอื้อกับการทำธุรกิจของจีน มาอยู่แล้วค่อนข้างสบายที่สุดหากเทียบกับประเทศอื่น หลายคนย้ายสำมะโนครัวมาตั้งรกรากที่ไทย ไปจนถึงซื้อคอนโดมิเนียม ย้ายลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ สอดคล้องกับตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า สัดส่วนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติเติบโตอย่างต่อเนื่อง พบว่า ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้บริหารต่างชาติในไทย ที่มีการเติบโตโดยเฉลี่ยราวๆ 0.6% ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
1
ที่ผ่านมา กระแสทุนจีนในไทยมักถูกมองในภาพลบเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเน้นการผลิตแบบ “Economy of scale” มีการทุ่มตลาดจนทำให้ท้องถิ่นปรับตัวได้ยาก เรื่องนี้ “บุญชัย” ให้ความเห็นไว้ว่า ก่อนจะมีทุนจีน ประเทศไทยก็มีทุนอื่นๆ เข้ามาก่อนแล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้มาด้วยท่าทีกระโตกกระตากเท่านี้ อย่างเมื่อ 20 ปีก่อน “ทุนญี่ปุ่น” เข้ามาบุกไทยหนักมาก มีทั้งสินค้าที่มองเห็น และสินค้าที่มองไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่น “AEON” ที่มีผลประกอบการหมื่นล้านไปจนถึงแสนล้านก็เป็นทุนญี่ปุ่นเช่นกัน
แต่การทำงานแบบ “คนจีน” คือการบุกเร็ว บุกแรง ใช้เวลาไม่มากแต่ทุ่มทรัพยากรเต็มกำลัง อาทิ แพลตฟอร์ม “Temu” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน เปิดตัวมาได้เพียง 16 เดือน แต่กระจายไปแล้วเกือบๆ 70 ประเทศทั่วโลก หรือการเข้ามาของร้านอาหารจีนที่เต็มไปด้วยการสะกดคำแปลกๆ ถูกบ้างผิดบ้าง ก็เกิดจากวิธีคิดที่ต้องรีบบุก-ชิงตลาดก่อน ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับคนจีน เพราะแม้จะดูแปลกตา แต่บุญชัยระบุว่า ก็ยังมีคนอุดหนุนร้านจีนเหล่านี้อยู่ดี
“จริงๆ ยุคที่ญี่ปุ่นมาเยอะๆ เขาก็ผ่านยุคนี้มาเหมือนกัน เพราะญี่ปุ่นเล็กเกินไป เขาต้องการการเติบโตจึงขยายมาที่ไทย โดยเฉพาะธุรกิจการเงินในเมืองไทยมีญี่ปุ่นเป็นเบื้องหลังเยอะมาก ธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งนั้น อย่างที่เรารู้สึกว่า จีนดูกระโตกกระตาก เพราะว่าเรามองเห็น ยังมีอีกหลายอย่างที่เรามองไม่เห็น อย่าง “P&G” หรือ “Uniliver” ก็ไม่ใช่ของไทย แต่ทำไมเราไม่รู้สึกว่า เป็นทุนยุโรป ทุนอเมริกามา”
2
โฆษณา