2 ต.ค. เวลา 11:29 • ประวัติศาสตร์

เหตุใดเหล่าชาติมหาอำนาจจึงอยากได้ “อัฟกานิสถาน”

ดินแดนที่ปัจจุบันคือ “อัฟกานิสถาน” คือดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาซับซ้อนยาวนาน
อัฟกานิสถาน ตั้งอยู่ในแนวของเส้นทางการค้าสำคัญที่เชื่อมยุโรปกับเอเชียเข้าด้วยกัน โดยอัฟกานิสถานเคยถูกรุกรานโดยจักรวรรดิอะคีเมนิดเมื่อ 515 ปีก่อนคริสตกาล ตามมาด้วยการรุกรานจากกองทัพของ “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)” เมื่อ 330 ปีก่อนคริสตกาล รวมทั้งจักรวรรดิมองโกลและจักรวรรดิโมกุล ต่างก็เคยรุกรานดินแดนนี้
3
ตามแนวชายแดนของอัฟกานิสถานเคยเป็นส่วนหนึ่งของ “เกรตเกม (Great Game)” ซึ่งเป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองและการทูตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิรัสเซีย
ในปัจจุบัน อัฟกานิสถานก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการเป็นสนามรบทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และกลุ่มตาลีบัน (Taliban) และยังเป็นแนวหน้าของเกรตเกมในสมัยศตวรรษที่ 21 ระหว่างอินเดีย สหรัฐอเมริกา และจีน
หากพิจารณาจากสภาพที่ตั้ง อัฟกานิสถานนั้นเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และมีพรมแดนติดกับหลายชาติ
1
ทางเหนือติดกับเติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ส่วนทางตะวันตกติดกับอิหร่าน ตะวันออกติดกับปากีสถานและจีน และด้วยความที่อยู่ใกล้กับทั้งรัสเซีย อินเดีย จีน และปากีสถาน ทำให้อัฟกานิสถานเป็นเหมือนทางแยกที่เชื่อมตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน
อัฟกานิสถาน นับเป็นดินแดนที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าที่สำคัญ นั่นก็คือ “เส้นทางสายไหม (Silk Road)” ทำให้เป็นเหมือนเส้นทางขนส่งสำคัญที่เชื่อมตลาดการค้าระหว่างเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และจีน เข้าด้วยกัน
1
เส้นทางสายไหม (Silk Road)
นอกจากนั้น จุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่าง “ช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass)” ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญของอัฟกานิสถาน ทำให้เปอร์เซีย กรีก และจักรวรรดิโมกุล เข้ามารุกรานอินเดียได้ และช่องเขาไคเบอร์ยังเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญอีกหลายศึก
ในช่วงเกรตเกมนั้น สหราชอาณาจักรและรัสเซียได้แผ่อำนาจเข้ามาในอินเดีย เมืองเตอร์เกสถานในคาซัคสถาน และเปอร์เซีย ซึ่งขั้วอำนาจทั้งสองก็ได้ขยายอำนาจเข้ามาใกล้กับเอเชียกลางและเอเชียใต้ ซึ่งการปะทะกันนี้ก็เริ่มขึ้นในปีค.ศ.1830 (พ.ศ.2373) และดำเนินมาตลอดศตวรรษที่ 19
ฝ่ายอังกฤษนั้นเป็นกังวลกับอำนาจของรัสเซียที่แผ่เข้ามายังเอเชียกลาง และอังกฤษก็ต้องการใช้อัฟกานิสถานเป็นรัฐกันชนเพื่อป้องกันอินเดียจากการรุกรานของรัสเซีย
ช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass)
อำนาจของรัสเซียที่แผ่ขยายเข้ามายังอัฟกานิสถานได้นำไปสู่ “สงครามแองโกล-อัฟกันครั้งแรก (First Anglo-Afghan War)“ ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอังกฤษ ก่อนที่สงครามครั้งที่สอง อังกฤษจะได้ชัยชนะและจัดตั้งรัฐบาลของตนเองได้
2
สงครามครั้งที่สามได้ยุติลงในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) โดยมีการลงสนธิสัญญาพักรบ และอังกฤษตกลงที่จะไม่ก้าวก่ายเรื่องการต่างประเทศของอัฟกานิสถาน
ในช่วงสงครามเย็น (ค.ศ.1947-1991) อัฟกานิสถานก็เป็นหนึ่งในสมรภูมิสำคัญระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา โดยสหภาพโซเวียตต้องการจะขยายอำนาจด้วยการสนับสนุน “พรรคประชาธิปไตยประชาชนแห่งอัฟกานิสถาน (People’s Democratic Party of Afghanistan)“ หรือ ”PDPA”
1
สงครามแองโกล-อัฟกันครั้งแรก (First Anglo-Afghan War)
PDPA ขึ้นสู่อำนาจในปีค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) หลังจากล้มล้างรัฐบาล และได้ทำการปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่ โดยการปฏิรูปอัฟกานิสถานให้มีความทันสมัยนี้ ได้รับการต่อต้านจากชาวมุสลิมในอัฟกานิสถานเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามมาด้วยการจลาจล
สหภาพโซเวียตได้ส่งกองทัพเข้าไปยังอัฟกานิสถานในเดือนธันวาคม ค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) เพื่อช่วยให้ PDPA จัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
ทางด้านสหรัฐอเมริกา ก็มองการกระทำของสหภาพโซเวียตว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจตนในแถบตะวันออกกลาง และต้องการจะหยุดยั้งการขยายตัวของคอมมิวนิสต์
รัฐบาลอเมริกันและพันธมิตรอย่างซาอุดิอาระเบีย ได้โต้กลับสหภาพโซเวียตด้วยการสนับสนุนเงินทุนและกองกำลังแก่กลุ่ม “มูจาฮิดีน (Mujahideen)” ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบชาวอัฟกันที่ต่อต้านสหภาพโซเวียต
2
ความช่วยเหลือของรัฐบาลอเมริกันนั้นดำเนินการผ่านปากีสถาน ซึ่งหน่วยสืบราชการลับปากีสถานก็ให้ความร่วมมือด้วยการช่วยฝึกทหารและสนับสนุนอาวุธแก่กลุ่มมูจาฮิดีน
ฝ่ายอเมริกันได้สนับสนุนเงินทุนแก่มูจาฮิดีนเป็นจำนวนนับพันล้านดอลลาร์ และยังมอบขีปนาวุธที่ใช้ในการโจมตีเฮลิคอปเตอร์โซเวียตให้อีกด้วย
กลุ่มมูจาฮิดีนก็เป็นนักรบที่เก่งกล้า มักจะใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร สร้างความเสียหายแก่ฝ่ายโซเวียต
เมื่อสงครามดำเนินมาเรื่อยๆ ฝ่ายสหภาพโซเวียตก็พบว่าฝ่ายตนนั้นสูญเสียกำลังทหารจำนวนมาก อีกทั้งยังถูกประณามในเวทีโลก ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) สหภาพโซเวียตตัดสินใจถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน
หลังจากกองทัพโซเวียตถอนกำลังออกไป กลุ่มต่อต้านก็ยังดำเนินกิจกรรมต่อไป และในต้นยุค 90 (พ.ศ.2533-2542) ก็ได้เกิดกลุ่ม “ตาลีบัน (Taliban)” ซึ่งเป็นขบวนการทางศาสนาและการเมืองของอิสลามิสต์ดิบันดี(Deobandi) และองค์กรทางทหารในอัฟกานิสถาน
เมื่อถึงปีค.ศ.1996 (พ.ศ.2539) กลุ่มตาลีบันก็ได้ยึดครองกรุงคาบูล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน และได้บังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ในอัฟกานิสถาน
ในขณะเดียวกัน กลุ่ม “อัลกออิดะฮ์ (Al-Qaeda)“ ซึ่งเป็นองค์กรข้ามชาติของกลุ่มนักรบอิสลามนิกายซุนนี ก่อตั้งโดย “อุซามะฮ์ บินลาเดน (Osama bin Laden)” ก็ได้เริ่มมีบทบาท
2
อัลกออิดะฮ์ได้ใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานในการวางแผนการก่อการร้าย และหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ในปีค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) กองทัพอเมริกันก็ได้เข้ามาในอัฟกานิสถาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดอัลกออิดะฮ์และตาลีบัน
ถึงแม้จะทลายขบวนการตาลีบันได้ แต่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรก็ต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากในระยะยาว โดยทั้งตาลีบันและอัลกออิดะฮ์ ได้หนีไปปากีสถานและหาทางรวบรวมไพร่พล
1
อุซามะฮ์ บินลาเดน (Osama bin Laden)
อีกสองทศวรรษต่อจากนั้น อัฟกานิสถานก็ยังคงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองระดับโลก โดยในปีค.ศ.2021 (พ.ศ.2564) สหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน และตาลีบันก็กลับคืนสู่อำนาจ แสดงให้เห็นว่าแนวทางการเมืองในดินแดนนี้ยังคงวุ่นวายและยุ่งยากแน่นอน
1
มาถึงเรื่องเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน อัฟกานิสถานถือว่าเป็นดินแดนหนึ่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สามารถเสริมเศรษฐกิจของชาติให้รุ่งเรืองได้ไม่ยาก
ในแผ่นดินอัฟกานิสถานนั้น อุดมไปด้วยโลหะมีค่าและทรัพยากรแร่มากมาย ประเมินมูลค่าไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 32.7 ล้านล้านบาท) หากแต่การจะสกัดแร่เหล่านี้ออกมานั้น เป็นสิ่งที่ค่อนข้างลำบาก
กระทรวงเหมืองแร่และปิโตรเลียมได้ประเมินว่า ในอัฟกานิสถานนั้นมีแร่เหล็กกว่า 2,200 ล้านตัน หินอ่อน 1,300 ล้านตัน และแร่ที่หายากอีกกว่า 1.4 ล้านตัน
แต่การจะทำเหมืองแร่นั้นอาจจะต้องใช้เวลานานและลำบาก และอัฟกานิสถานยังเป็นประเทศผู้ผลิตกัญชาที่ใหญ่เป็นลำดับสองของโลก และเป็นผู้ผลิตหญ้าฝรั่นและขนแคชเมียร์อันดับสามของโลก
2
ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) อัฟกานิสถานผลิตฝิ่นได้ราวๆ 80% ของปริมาณฝิ่นทั่วโลก และเป็นซัพพลายเออร์เฮโรอีนรายหลักของยุโรป
2
แต่ในปีค.ศ.2023 (พ.ศ.2566) มีรายงานว่าปริมาณการปลูกดอกฝิ่นนั้นลดลงกว่า 95% เนื่องจากตาลีบันได้สั่งห้ามการผลิตฝิ่น ทำให้อัฟกานิสถานไม่ใช่ผู้ผลิตฝิ่นรายหลักของโลกอีกต่อไป หากแต่การผลิตยาเสพติดก็ยังคงมีการดำเนินการอยู่ต่อไป
1
จากข้อมูลของทางการอิหร่าน กลุ่มตาลีบันไม่สามารถจะกำจัดการปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่หลายๆ ราย ก็มีตาลีบันหนุนหลังและมีผลประโยชน์ให้กลุ่มตาลีบัน
หากสังเกตจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งเปอร์เซีย กรีก อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ต่างก็เข้ามารุกรานอัฟกานิสถาน แต่ต่างก็มีจุดร่วมหนึ่งที่เหมือนกัน
นั่นก็คือมหาอำนาจแต่ละชาติที่เข้ามา สุดท้ายก็ต้องถอยทัพกลับกันหมด
ด้วยความที่ภูมิประเทศของอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยภูเขาสูงชันและทะเลทราย ทำให้การรุกรานนั้นเป็นไปได้ยาก ภูมิประเทศนั้นเป็นเหมือนปราการธรรมชาติที่ป้องกันศัตรู
บ้านและหมู่บ้านแทบทุกแห่งในอัฟกานิสถานจะมีลักษณะเหมือนกับป้อมปราการเพื่อพร้อมรับการรุกรานจากศัตรูและโจร โครงสร้างสังคมของอัฟกานิสถานก็ยากต่อการที่จะเข้าควบคุม
ประชาชนในอัฟกานิสถานประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ และต่างก็ไม่ได้ภักดีหรือเชื่อฟังรัฐบาลกลาง ทำให้ผู้รุกรานไม่สามารถหากำลังสนับสนุนภายในได้ง่ายๆ
ผู้คนต่างเคร่งศาสนา ศาสนาอิสลามนั้นฝังรากลึกอยู่ภายในประเทศ การที่ตะวันตกจะเข้ามาแผ่อำนาจและชักจูงประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
และนี่ก็คือเรื่องราวของอัฟกานิสถาน ประเทศที่หลายคนอาจจะมองข้ามหากแต่สำคัญอย่างมากมายมหาศาล
โฆษณา