Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียนไว้ให้เธอ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
2 ต.ค. 2024 เวลา 07:31 • ความคิดเห็น
หกไอเท่มลับสำหรับอัพเลเวลชีวิต (6 secret items to up level your life)
ใครที่เคยเล่นเกมส์อยู่บ้างก็คงพอจะคุ้นเคยกับการพัฒนาตัวละครในเกมส์ให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ ( up level ) ด้วยการทำ quest เพื่อเก็บ items ต่างๆ เพื่อให้มีพลังหรือความสามารถพิเศษมากขึ้น หลายคนถึงกับอดหลับอดนอน ล้มเหลวแล้วก็ลองใหม่จนกว่าจะผ่านด่าน ใช้เวลาเล่นจนลืมวันลืมคืน นึกได้อีกทีหนึ่งก็เก่งขึ้นไปโขอยู่
ไอเท่มในเกมส์เดี๋ยวนี้นั้นถ้ามีสตางค์ก็อาจจะมีทางลัดคือไปซื้อมาก็ได้ แต่สำหรับคนไม่มีสตางค์ การที่ต้องลองแล้วลองอีก เรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ให้ซ้ำเดิมนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการ up level ในเกมส์ให้เก่งขึ้น
ในชีวิตจริงก็อาจจะไม่ต่างจากเกมส์เท่าไหร่นัก การ up level ตัวเองให้เก่งขึ้นแกร่งขึ้นเพื่อให้มีโอกาสสำเร็จกับเขาบ้างนั้น อาจจะพอมีทางลัดเหมือนอุปกรณ์เสริมที่ใช้สตางค์เช่นพ่อรวย หรือได้เรียนโรงเรียนอินเตอร์
แม้กระนั้นก็ตาม ความแข็งแกร่งและเก่งขึ้นของแต่ละบุคคลก็ต้องหาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่ดี จากประสบการณ์ผมที่เป็นคนปานกลางมาแต่ไหนแต่ไร ตัวเองจะเก่งขึ้น หรือรู้อะไรมากขึ้นนั้น มักจะต้องผ่านอะไรที่หฤโหดเสมอ และยิ่งผ่านประสบการณ์โหดๆมากเท่าไหร่ ความรู้ ความเข้าใจและทักษะที่ได้รับก็ดูเหมือนจะมากขึ้นเท่านั้น แถมประสบการณ์ที่ทำให้เรียนรู้นั้นมักจะซ่อน (secret) อยู่ในคำที่ดูเหมือนไม่ดีและทุกคนพยายามหลีกเลี่ยง แต่พอเจอทีไรก็มักจะได้ up level ทุกที
6 ไอเท่มลับที่เจอทีไรจะมีค่าพลังสูงขึ้น ไม่ว่าจะเจอด้วยตัวเองหรือเวลาฟังคนเก่งๆที่ประสบความสำเร็จมาเล่า ก็มักจะหนีไม่พ้นหกประสบการณ์ที่ได้ยินครั้งแรกก็พยายามหนีกันทั้งสิ้น
ลองมารู้จักหกไอเท่มที่ไม่อยากเก็บก็ต้องเก็บเหล่านี้กันดูนะครับ
ล้มเหลว
ไม่มีใครในโลกที่อยากจะล้มเหลว แต่ดูเหมือนคนเก่งๆหรือประสบความสำเร็จทั้งหลายก็จะต้องมีความล้มเหลวเป็นบทเรียนที่ทำให้เก่งขึ้นทั้งนั้น แม้กระทั่งสตีฟ จอบส์ ผู้ยิ่งใหญ่ ก่อนทำ mcintosh ก็ทำคอมพิวเตอร์ lisa ล้มเหลว ก่อนทำ iphone ก็ล้มเหลวกับ Rokr แม้แต่ก่อนที่จะกลับมาเปลี่ยนโลก
สตีฟก็ถูกไล่ออกจาก apple และไปเริ่มต้นใหม่ด้วยความล้มเหลวอันเจ็บปวดมาก่อนทั้งสิ้น ถึงจะเรียนรู้อย่างลึกซึ้งที่จะทำใหม่ได้ดีกว่าเดิม
ผมเองก็เรียนรู้จากความล้มเหลวมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จากความล้มเหลวในการดูแลตัวเองจนอ้วนและเข้า CCU ทำให้เข้าใจและมีวินัยในการออกกำลังมากขึ้น จากความล้มเหลวในการทำแบรนด์ djuice จนเจ๊งไปเกือบร้อยล้านก็ทำให้เข้าใจเรื่องแบรนด์มากพอที่จะพอได้มีโอกาสครั้งที่สองก็จะไม่ทำผิดพลาดเหมือนเดิมอีก
ความล้มเหลวคือบทเรียนที่มีค่าเสมอ เหมือนที่เอดิสันกล่าวไว้ตอนประดิษฐ์หลอดไฟว่าเขาไม่ได้ล้มเหลวหมื่นครั้งแต่เขาได้เรียนรู้วิธีที่ใช้ไม่ได้หมื่นครั้งต่างหาก
ผิดพลาด
คนที่ไม่ทำอะไรผิดก็คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย… มีใครบางคนเคยกล่าวไว้เพื่อเตือนสติให้เราลองกล้าทำอะไรผิดหรือแป้กบ้าง คุณอุดม แต้พานิช ก่อนที่จะเดี่ยวไมโครโฟนทุกครั้งก็จะเดินสายไปตามต่างจังหวัด โรงเรียน บ้านพักคนชรา ชุมชนเล็กๆ เพื่อที่จะไปลองเดี่ยวและ “แป้ก” ให้มากเข้าไว้ เพื่อที่จะเอาความแป้กนั้นมาปรับปรุงแก้ไขจนเดี่ยวกลมกล่อมเวลาขึ้นเวทีจริง
คุณอุดมเคยบอกไว้ว่า การแป้กคือวัคซีนคุ้มกันที่ดีสำหรับตัวเรา ความผิดพลาดจะทำให้เราเรียนรู้และปรับปรุงให้ดีขึ้นเสมอในครั้งต่อไป
ผมเป็นคนที่กลัวการพูดในที่สาธารณะมาตลอดจนอายุสามสิบกว่า ด้วยหน้าที่การงานทำให้จำเป็นต้องออกไปพูด ไปแถลงข่าวบ้าง รับงานบรรยายบ้าง ในช่วงแรกๆ กว่าจะเริ่มพอพูดได้นั้นต้องเจอความผิดพลาดไม่รู้กี่เรื่อง ตั้งแต่บางทีสไลด์ก็เปิดไม่ติด ปวดท้องก่อนพูด ขาสั่น มี panic disorder พูดไปแล้วซักพักมีลืมว่าจะพูดอะไร พูดติดๆ ขัดๆ คนฟังนั่งหลับ ฯลฯ เจออุปสรรคต่างๆ นานา พอพลาดทีก็กลับมาทบทวนตัวเองที
ผมน่าจะออกไปพูดหลายร้อยครั้งกว่าจะค่อยๆ เริ่มมั่นใจ เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาดโดยแท้
ตัวอย่างเรื่องนี้ที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องที่ผมเจอบ่อยๆคือสไลด์เปิดไม่ติด แต่เราไปยืนหน้าห้อง คนฟังนั่งกันเต็มรอฟังแล้ว ครั้งแรกผมทำอะไรไม่ถูกเลยเพราะไม่ได้เตรียมใจว่าจะเจอปัญหา เหงื่อแตก ลนลานไปหมด พอกลับมาทบทวนก็คิดว่าน่าจะเล่าอะไรบางอย่างช่วงที่ช่างพยายามซ่อมเครื่องอยู่ เจอครั้งที่สองก็ถ่วงเวลาได้ซักหนึ่งนาที เจอครั้งที่สิบ ผมสามารถพูดถ่วงเวลาได้เป็นสิบนาที…
เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ up level การถ่วงเวลาได้ชัดเจนที่สุด
โง่เขลา
ทำไมคุณสตีฟ จอบส์ คนเดิมถึงพร่ำบอกนักเรียนที่สแตนฟอร์ดโดนเน้นเป็นประโยคสุดท้ายว่าให้ “stay hungry stay foolish” ? เพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วขนาดนี้ ความที่รู้ว่าตัวเอง “ไม่รู้” นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการเอาตัวรอดในยุคที่ทักษะที่สำคัญที่สุดของคนเราก็คือความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่
การที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้นั้น การยอมรับว่าตัวเอง “โง่เขลา” เป็นความกล้าหาญที่ทุกคนพึงมี พอยอมรับว่าตัวเองโง่ ไม่รู้ เทน้ำออกจากแก้ว เอาอีโก้ออกจนเกือบหมด ก็จะสามารถรับรู้สิ่งใหม่ๆ ได้โดยง่าย
จะพูดภาษาอังกฤษให้เก่งทำอย่างไรสำหรับคนภาษาไม่ดี อย่างแรกถ้าเราได้ไปต่างประเทศ ไปอยู่ในดงฝรั่ง ไม่มีคนไทยอยู่เลย เราก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าภาษาเรานั้นห่วยมาก การที่จะเอาตัวรอดในสิ่งแวดล้อมแบบนั้นก็จะต้องทำตัวเป็นคนโง่ภาษา ออกไปพูดผิดๆถูกๆ ลองสำเนียงประหลาดๆ จนกว่าฝรั่งจะเข้าใจทีละคำ ทีละประโยค เราจะตื่นตัวตลอดเวลาด้วยความสำนึกว่าตัวเองโง่ภาษา จะสังเกตคนพูดในทีวี พยายามดัดสำเนียงฝรั่ง คนที่ทำแบบนี้ได้ ไม่นานก็จะพูดภาษาอังกฤษได้ …
ก็เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องการใช้ความโง่ up level ตัวเองเช่นกัน
แพ้
ผมเป็นคนที่แพ้มากกว่าชนะตั้งแต่ไหนแต่ไร เล่นกีฬาตอนเด็กๆก็รองโหล่ประจำ เข้ามหาวิทยาลัยเมืองนอกก็เข้าไม่ได้จนต้องไปหางานทำอยู่หนึ่งปี กลับมาสมัครงานร้อยบริษัทก็ได้สองบริษัท ก็จะเห็นข้อดีของการไปแข่งแล้วแพ้ก็คือการได้เห็นมาตรฐานที่สูงกว่าที่เราเป็น รู้ว่าต้องพยายามแก้ไขตรงไหนจึงจะได้มา เหมือนนักกีฬาที่ไปแพ้ที่โอลิมปิคก็จะรู้ว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ ต้องกลับมาศึกษา ต้องซ้อมมาตรฐานโอลิมปิค รู้สถิติ รู้จุดอ่อนที่จะแก้ไขได้ชัดเจนกว่ามาก
1
ทีมฟุตบอลญี่ปุ่นสมัยเมื่อสามสิบปีก่อนสูสีกับทีมชาติไทยมาตลอด แต่การวางแผนอย่างเป็นระบบ ทำให้ทีมชาติญี่ปุ่นกลายเป็นทีมระดับโลก ทิ้งห่างไทยพอสมควร หัวใจสำคัญประการหนึ่งก็คือทีมชาติญี่ปุ่นพยายามไปเตะกับทีมระดับโลกตั้งแต่ตัวเองยังห่วยอยู่ แล้วก็แพ้ยับ จงใจที่จะไปแพ้ แล้วเอาความพ่ายแพ้นั้นมาค่อยๆ แก้ไขจุดอ่อน สร้างทีม generation ใหม่โดยมีทีมระดับโลกอยู่ในใจ
จากเดิมแพ้หกลูก ก็ค่อยๆ เหลือห้า สี่ สาม สอง เดี๋ยวนี้อยู่ในระดับที่แพ้บ้างชนะบ้าง ถ้าทีมญี่ปุ่นมัวแต่กลัวแพ้ อุ่นเครื่องแต่กับทีมเล็กๆ แนวภูฐาน ศรีลังกา ถล่มกันสี่ห้าลูก ก็ไม่มีทางไปถึงไหน ความพ่ายแพ้ถึงเป็นเรื่องดีในการที่ทำให้เราตระหนักรู้ถึงความห่างของมาตรฐาน ต้องคิดใหม่ทำให้เพื่อแก้ไขให้ตัวเองเก่งขึ้น ก็เป็นพลังผลักในการ up level อีกทางหนึ่ง
ด้อย
ตอนที่ดีแทคตกต่ำถึงขีดสุดเมื่อประมาณปี 2002 จากที่เคยเป็นที่สองอย่างยิ่งใหญ่ต้องมาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป เจอคู่แข่งรายทั้งรายใหญ่และรายใหม่รุกไล่จนแทบไม่มีที่ยืน เงินทุนก็น้อยกว่าคู่แข่ง เครือข่ายก็ด้อยกว่า ดูไม่น่าจะสู้อะไรได้ ลองทำ SWOT ก็ไม่มี S แม้แต่ข้อเดียว บริษัทจมอยู่ในความมืดมนอยู่หลายเดือนกว่าจะยอมรับว่าเรา “ด้อย” กว่าคู่แข่งในทุกด้าน
พอยอมรับได้แล้วว่าด้อยกว่า ความคิดเรื่องมวยรอง หรือ underdog ก็เริ่มก่อตัวขึ้น มวยรองที่จะไปสู้ตรงๆ กับยักษ์ใหญ่ด้วยวิธีการเดียวกันหรือวิธีการที่เคยทำมานั้นไม่มีทางชนะอย่างแน่นอน การคิดแบบแหวกแนว ไม่เหมือน แตกต่างจึงเป็นแนวทางที่ชัดเจน เหมือนเวียดกงที่รบกับสหรัฐที่ใหญ่กว่าไม่รู้กี่ร้อยเท่าด้วยวิธีคิด “ เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม “ ใช้แนวกลยุทธ์กองโจรจนเอาชนะสหรัฐได้
ความด้อยในตอนนั้นเมื่อเรายอมรับตัวเองได้ เลิกโทษชะตาฟ้าดิน สามารถผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะพยายามแตกต่างอย่างสุดขั้ว ทำงานหนัก ไปในที่ที่คู่แข่งไม่ไกลเพราะด้วยความสำนึกว่าปะทะตรงๆ ไม่ได้ ทำให้ดีแทครอดจากหายนะจนกลายเป็นเบอร์สองได้อย่างภาคภูมิในเวลาไม่นานต่อมา ความด้อยอย่างเดียวกันนี้ ทำให้เด็กต่างจังหวัดหลายคนฮึดสู้ มีความมานะพยายาม อดทนไม่กลัวความลำบาก ต้องการเรียนรู้เพื่อหลุดพ้นจากความต่ำต้อย จนประสบความสำเร็จให้เห็นมานักต่อนักเช่นกัน
ไม่คาดฝัน
ผมเคยเขียนเรื่อง “ชีส…หาย!!” ในเพจ ชีสที่แทนความสุข สะดวกสบาย หน้าที่การงานที่ดี เงินทอง รายได้ ครอบครัว ฯลฯ แล้ววันดีคืนดีชีสนั้นก็หายไปอย่างไม่คาดฝัน บางคนก็ทำใจไม่ได้ คิดโกรธแค้น รอชีสเดิมให้กลับมา บางคนคิดได้กับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รวบรวมพลังออกเดินทางหาชีสก้อนใหม่จนกลายเป็นทักษะที่สำคัญในการเอาตัวรอดในยุคที่ชีสหายกันง่ายๆ ได้อย่างปัจจุบัน
ตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ก็คือการที่เจอกระบวนการ disruption ในอุตสาหกรรมต่างๆ หลายคนเอาตัวไม่รอดจากคลื่นการเปลี่ยนแปลงแต่ก็มีบางท่านรู้ตัวเร็ว ปรับตัวและกลายเป็นผู้เล่นที่เก่งขึ้นมาก ละทิ้งชีสเดิมแล้วหาชีสใหม่จนเจอ
ลองนึกถึงภาพของคุณสุทธิชัย หยุ่น ที่ปรับตัวกับคลื่น media disruption ช่อง ONE ที่เพื่อนๆ วงการทีวีขาดทุนกันมหาศาลแต่ช่อง ONE เลิกพึ่ง rating แล้วสามารถทำกำไรจากทางอื่นจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่กว่าเดิมอีกมาก หรือ J.I.B computer ที่คนเริ่มซื้อของตามห้างน้อยลงก็หันมาพัฒนาช่องทางออนไลน์แต่เนิ่นๆ ทดลองเรียนรู้จนกลายเป็นอันดับสามในวงการอี คอมเมิร์ซไทย
เหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอและกับทุกคน ทั้งเรื่องงานหรือเรื่องชีวิต เหตุการณ์แบบนี้หลายๆครั้งพาเอา comfort zone ที่เราเคยมีออกไป คนที่ทำใจได้และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวมองหาโอกาสใหม่ๆ ได้ นอกจากจะได้โอกาสใหม่แล้ว ก็เป็นการ up level ทักษะของตัวเองเวลาเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบนี้ทุกครั้ง
ที่น่าสนใจคือ ในชีวิตจริง การที่เจอความล้มเหลว ผิดพลาด โง่เขลา แพ้ ด้อย ไม่คาดฝัน นั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนพยายามจะหลีกเลี่ยง พอเจอแล้วก็มักจะคิดว่าตัวเองซวย โชคร้าย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคร่ำครวญ
แต่เวลาเราเล่นเกมส์ การที่เราแพ้ สู้ไม่ได้ ทำผิด เจออะไรที่ไม่คาดคิด เรากลับสนุกกับการเริ่มต้นใหม่ ตื่นเต้นกับการที่จะได้ลองด่านนั้นหรือเจอคู่แข่งคนนั้นอีก พยายามหาทางพัฒนาตัวเอง พยายามจะ up level อย่างไม่ท้อถอย จนกลายเป็นคนเก่งในเกมส์นั้นในที่สุด…
เราจะเอาทัศนคติในการเล่นเกมส์มาปรับใช้กับชีวิตจริงได้อย่างไร…
น่าคิดอยู่ไม่น้อยนะครับ
8 บันทึก
19
11
8
19
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย