คุณภาพข่าวการเมืองเรื่องนโยบายของรัฐ “คนแค่รู้ หรือ ตรวจสอบได้” สื่อนำเสนออย่างไร?

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ นักวิชาการจากกลุ่ม Thai Media Lab เปิดข้อเสนอต่อ “การรายงานข่าวการเมืองที่มีคุณภาพทางวิชาชีพสื่อและสร้างประโยชน์ต่อสังคม” จากการศึกษาวิเคราะห์การรายงานข่าวข้าว 10 ปี ของ 13 ช่องทีวีดิจิทัล และ 13 สำนักข่าวออนไลน์ จำนวน 1,576 ข่าว
พบว่าสำนักข่าวกำหนดข่าวสาร เปิดพื้นที่ความคิดเห็น เพื่อจุดประเด็นตั้งคำถาม พยายามอธิบาย แต่ยังมีสัดส่วนหลักเป็นเพียงการรายงานตามสถานการณ์ที่แหล่งข่าวให้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติม แหล่งข่าวที่ใช้ในการรายงานข่าวมาจาก “รัฐบาล” เป็นหลัก และมีการเปิดพื้นที่ความเห็นต่างเพื่อตั้งข้อสงสัย ได้ดี แต่การอธิบาย-เจาะลึก-ตรวจสอบยังน้อย ทั้งนี้ในภาพรวมข่าวที่นำเสนอมีคุณภาพในมิติของประโยชน์ในการช่วยเกาะติดสถานการณ์มากที่สุด
รองลงมา คือ ได้ตรวจสอบการทำงานการเมือง ตามมาด้วยข่าวทำให้ผู้รับสารรับข้อมูลอย่างมีเหตุผลและเข้าใจเหตุการณ์ได้
ข่าวข้าว 10 ปี เป็นประเด็นข่าวขึ้นมาอีกครั้งเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวประเด็นนี้พร้อมเชิญนักข่าวลงพื้นที่โกดังเก็บข้าวเพื่อพิสูจน์ว่าข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าวมีคุณภาพเพื่อการบริโภคได้ และพร้อมประมูลข้าวส่วนนี้ประมาณ 15,000 ตัน ให้กับเอกชน
ข่าวนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ทั้งในมิติคุณภาพของข้าว มิติความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์การเป็นผู้นำของการส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทย ตลอดจนมิติทางการเมืองต่างๆ ที่ผูกพันกัน
ข่าวข้าว 10 ปี จึงเป็นประเด็นที่สื่อควรมีการตั้งคำถามและตรวจสอบอย่างรอบด้าน และนำเสนอข้อมูลที่ทำให้สังคมช่วยกันตรวจสอบและเข้าใจบริบทของสถานการณ์ข้าว 10 ปีในปัจจุบันเชื่อมโยงบริบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ จึงมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อเห็นแนวทางการกำหนดวาระข่าวสารและรูปแบบการนำเสนอข่าวการเมืองจากรูปธรรมการนำเสนอข่าวข้าว 10 ปีของสื่อมวลชนที่เป็นหน่วยการศึกษา
ช่วงเวลาที่ศึกษา
เก็บหน่วยการศึกษาระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 – 20 มิถุนายน 2567 ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญ คือ
6 พฤษภาคม ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ ข้าว สารในสต็อกของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำ
17 มิถุนายน ยื่นซองเสนอราคา ซึ่งจะได้รับทราบรายละเอียดของผู้ที่ยื่นซองและประมูลชนะ
20 มิถุนายน 2567 ในกรณีที่มีเหตุการณ์ต่อเนื่อง และ การมีการพัฒนาประเด็นข่าวต่อยอดจากจุดของเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง
หน่วยการศึกษา
เก็บรวบรวมข่าวที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้าว 10 ปี โดยใช้คำว่า “ข้าว 10 ปี” ในการสืบค้นบนสื่อออนไลน์และดึงข้อมูลข่าวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับข้าว 10 ปีตามวันที่กำหนดในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา จากแพลตฟอร์มของสื่อและสำนักข่าวที่เป็นหน่วยการศึกษา ได้แก่ เว็บไซต์ของสำนักข่าว และสื่อสังคมของสำนักข่าว ได้แก่ Facebook, Twitter, TikTok เพราะเป็นสื่อสังคม 3 ช่องทางหลักที่ผู้รับสารรับข้อมูลข่าวสารได้ข่าวที่เป็นหน่วยเพื่อการศึกษาวิเคราะห์จำนวน 1576 ชิ้น จาก
● สื่อโทรทัศน์ (เก็บข่าวที่นำเสนอมาลงผ่านช่องทางออนไลน์) จำนวน 13 ช่อง โดยเลือกจากช่องทีวีดิจิทัลที่มีการนำเสนอข่าวนี้ โดยเลือกจากกลุ่มผู้ให้บริการทีวีสาธารณะ ได้แก่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 เอชดี (TV5HD) ไทยพีบีเอส (Thai PBS) กลุ่มผู้ให้บริการทีวีเชิงพาณิชย์ ช่อง 3 เอชดี ช่อง MCOT HD ช่องTNN ช่อง16 ช่อง Nation TV 22 ช่อง Workpoint TV ช่อง 8 ช่อง Mono 29 ช่องไทยรัฐทีวี ช่อง PPTVHD36 ช่อง AMARIN TV HD ช่อง 7HD
● สำนักข่าวออนไลน์ คัดเลือกโดยการสุ่มแบบเจาะจงจากความแตกต่างของลักษณะเนื้อหา กลุ่มเป้าหมาย และจุดยืนการนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างเพื่อวิเคราะห์จุดยืนและการนำเสนอที่เหมือนหรือแตกต่างกันในการนำเสนอข่าว
ได้หน่วยการศึกษารวม 26 สำนักข่าว ได้แก่ ช่อง 5 เอชดี (TV5HD) ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ช่อง 3 HD MCOT HD TNN16 Nation TV 22 Workpoint TV ช่อง 8 Mono 29 ไทยรัฐทีวี PPTVHD36 AMARIN TV HD ช่อง 7HD TODAY ไทยรัฐ ออนไลน์ คมชัดลึก เดลินิวส์ ข่าวสด ฐานเศรษฐกิจ แนวหน้า กรุงเทพธุรกิจ The Standard The reporter สำนักข่าวอิศรา Spring News TopNews
กรอบประเด็นที่ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์
1) ศึกษาการกำหนดวาระข่าวสารและรูปแบบการรายงานข่าว ได้แก่ การกำหนดวาระข่าวสาร และการพัฒนาการรายงานข่าว
2) การวิเคราะห์เพื่อประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการรายงานข่าวการเมือง หลักสำคัญของข่าวการเมือง
3) การวิเคราะห์การให้ประโยชน์กับผู้รับสาร
หัวใจคุณภาพข่าวการเมืองประกอบด้วย
1) ทำให้เข้าใจการเมืองในมิติต่าง ๆ
2) ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองและรัฐบาล
3) สังคมมีส่วนร่วมทางการเมือง
4) กำหนดวาระข่าวสารเปิดประเด็นที่คนควรต้องรู้ และ
5) ประสานสังคมไม่สร้างความขัดแย้ง
ด้วยเหตุผลของการเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองในหลายมิติ และควรเป็นเรื่องของการตรวจสอบและเฝ้าระวังการทำงานเชิงนโยบายของรัฐ การวิเคราะห์ข่าวข้าว 10 ปีจะเป็นต้นแบบในการวิเคราะห์ติดตามผลการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐในกรณีอื่น ๆ ต่อไปได้ด้วย
จากการวิเคราะห์ข่าวข้าว 10 ปี ถอดบทเรียนการทำข่าวการเมืองที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐได้ 2 ลักษณะ ได้แก่
● ลักษณะแรกเป็นการนำเสนอตามที่แหล่งข่าวให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวฝ่ายใดก็ตาม โดยเฉพาะถ้าเป็นเพียงการนำความเห็น ข้อมูลแหล่งข่าวมานำเสนอ โดยไม่ได้มีการอธิบาย เชื่อมโยง ขยายต่อจะทำให้ได้คุณภาพเพียงแค่ด้านการเกาะติดสถานการณ์ แต่ยังไม่ได้ระดับของความเข้าใจ มีเหตุผลและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ในเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นหัวใจหลักของคุณภาพข่าวการเมือง
และข้อความระวังในการนำเสนอลักษณะนี้คือการเลือกชุดข้อมูลและคำพูดของแหล่งข่าว มีความเสี่ยงในการบกพร่องเรื่องความขัดแย้งและการสร้างดราม่าทางการเมืองได้ แนวทางนี้อาจเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นที่หลากหลายได้แสดงออกและร่วมตรวจสอบ แต่ถ้าพัฒนาประเด็นไปตามแค่แหล่งข่าว คนกำหนดวาระข่าวสารจะเป็นแหล่งข่าวในเรื่องนั้น ๆ
● ลักษณะที่ 2 สำนักข่าว “กำหนดวาระข่าวสาร” ซึ่งทำให้สังคมเข้าใจมิติทางการเมืองที่รอบด้านมากขึ้น และยังสามารถทำงานในขั้นตอนการรายงานข่าวที่เน้นความรวดเร็วได้ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล (Inform) ถ้าจะให้ข้อมูลให้มีคุณภาพก็ต้องมีความหลากหลายของประเด็น เพื่อให้คนติดตามได้อย่างรอบด้าน และพัฒนาข่าวประเภทให้บริบท/เชิงลึกประกอบไปด้วย
เพื่อให้ตอบคุณภาพเรื่อง เข้าใจมุมที่แตกต่าง เข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อน มีเหตุผลต่อเหตุการณ์ ตรวจสอบการเมือง จะสามารถสร้างคุณภาพข่าวด้านการเกาะติดสถานการณ์ กำหนดวาระข่าวสารเพื่อความเข้าใจของสังคม ทำให้คนเข้าใจการเมืองอย่างมีเหตุผล และ ประสานสังคมหรือสร้างความขัดแย้ง และยังสามารถสร้างผลกระทบในการนำเสนอข่าวได้
Timeline ของข่าวข้าว 10 ปีที่เป็นหน่วยการศึกษา
การวิเคราะห์การรายงานข่าวการเมือง กรณีศึกษา ข่าวข้าว 10 ปี เก็บหน่วยการศึกษาจำนวน 1576 ชิ้นข่าวจาก 26 สำนักข่าว ด้วยการสืบค้นผ่านออนไลน์ด้วยคำสำคัญข่าว10ปี ดึงข้อมูลจาก 4 แพลตฟอร์มได้แก่ Website, Facebook, Twitter, TikTok โดยเก็บหน่วยการศึกษาวิเคราะห์ระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567 ในช่วงเวลานี้แบ่ง Timeline เหตุการณ์ออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 วันที่ 6-17 พฤษภาคม 2567 เหตุการณ์สำคัญคือการชิมข้าวและวิจารณ์ว่าข้าวกินได้หรือ?
ช่วงที่ 2 วันที่ 18-26 พฤษภาคม 2567 เหตุการณ์สำคัญคือผลตรวจสอบข้าวว่ากินได้
ช่วงที่ 3 วันที่ 27 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567 เหตุการณ์สำคัญคือเปิดประมูลข้าว 10 ปี
จากการวิเคราะห์พบว่า ข่าวข้าว 10 ปี สำนักข่าวกำหนดข่าวสาร “เปิดพื้นที่ความคิดเห็น เพื่อจุดประเด็นตั้งคำถาม พยายามอธิบาย แต่ยังมีสัดส่วนหลักเป็นเพียงการรายงานตามสถานการณ์ที่แหล่งข่าวให้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติม”
ทุกแพลตฟอร์มใช้ แหล่งข่าวที่มาจาก “รัฐบาล” เป็นหลัก แสดงให้เห็นว่า การดำเนินของการนำเสนอข่าวนี้กำหนดโดยแหล่งข่าวจากรัฐ รัฐมีกิจกรรม และการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับข้าว 10 ปีและสื่อนำเสนอการอัพเดทสถานการณ์ตามแหล่งข่าวรัฐเป็นหลัก โดยพบว่า
ในช่วงที่ 1 “ชิมข้าว–วิจารณ์ข้าวกินได้หรือ?” มีการให้พื้นที่กับแหล่งข่าวที่หลากหลายที่สุด เพราะเป็นช่วงของการแสดงความเห็นต่อประเด็น รัฐบาลสัดส่วนสูง ส่วนกลุ่มวิจารณ์นำโดยแหล่งข่าวนักวิชาการ
ช่วงที่ 2 “ผลตรวจยันข้าวกินได้” ใช้แหล่งข่าวจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการ การวิจารณ์ ตั้งข้อสงสัยจากอีกฝ่าย มีสัดส่วนน้อยลง
ช่วงที่ 3 “TOR ข้าวถึงการประมูล” ใช้แหล่งข่าวจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการและแหล่งข้อมูลจากเอกสาร (ตรวจสอบ)
การอ้างอิงแหล่งข่าว
แหล่งข่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรัฐบาล (56%) และหน่วยงานของรัฐ (15.8%) ให้ข้อมูลเชิงบวกต่อนโยบายรัฐ ตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามที่ค้านหรือวิจารณ์แนวทางการทำงานของรัฐ และแสดงความเห็นต่อประเด็นในเชิงบวกต่อรัฐ กลุ่มที่สองคือ นักวิชาการ (14.4%) ฝ่ายค้าน (11.4%) เอกสาร (7.5%) ภาคพลเมือง (6.2%) และภาคธุรกิจ (4.7%) ประเด็นตั้งคำถามตรวจสอบ แสดงความเห็น มีการแสดงอารมณ์และความเห็นเชิงประชดประชันทาทางการเมือง และการตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงการเมืองในอดีต
ข่าวมีลักษณะอัพเดทสถานการณ์/ข้อมูลใช้แหล่งข่าวเดียวเป็นหลัก ข่าวที่ใช้ 2-3 แหล่งข่าวเป็นเนื้อสรุปประเด็น อธิบายที่มาบริบทเรื่องราว ข่าวตอบโต้ความคิดระหว่าง 2 ฝ่าย
มี 3 สำนักข่าวที่มีสัดส่วนของข้อมูลอ้างอิงด้านสนับสนุนเชิงบวก และ วิพากษ์วิจารณ์ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน คือ Nation TV / คมชัดลึก / แนวหน้า ส่วน ThaiPBS มีการกระจายใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวทุกประเภท
กรอบการนำเสนอข่าวข้าว 10 ปี … “เปิดพื้นที่ความเห็นต่างเพื่อตั้งข้อสงสัย” ได้ดี แต่อธิบาย-เจาะลึก-ตรวจสอบยังน้อย
ข่าวข้าว 10 ปีเป็นข่าวการเมืองที่มีมิติ 4 ด้านที่ควรเชื่อมโยงประเด็นการรายงานให้รอบด้าน คือ
● มิติที่ความเชื่อมโยงกับการเมือง ประกอบด้วย กรอบกิจกรรมเกี่ยวกับข้าว10 ปี กรอบอธิบายข้อมูลข้าว10ปี กรอบความเชื่อมั่น (ต่อข้าว10ปี และการจัดการของรัฐ ซึ่งมีทั้งด้านการพยายามสร้างความเชื่อมั่นและด้านของการตั้งข้อสังเกต สงสัย) กรอบข้อเสนอ (เป็นการเสนอแนะต่อการจัดการข้าว10 ปี) กรอบความขัดแย้งเชื่อมการเมือง (ความขัดแย้งทางการเมือง นักการเมืองที่เกี่ยวข้อง) กรอบบริบทการเมือง (ที่มาของข้าว10ปี โครงการรับจำนำข้าว การทำงานของรัฐบาลก่อนหน้า)
● มิติเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวกับการค้า ความเชื่อมั่น ภาพลักษณะของข้าวไทยในตลาด ประกอบด้วย กรอบเศรษฐกิจการค้า กรอบความสัมพันธ์ต่างประเทศ กรอบภาพลักษณ์ข้าวไทย
● มิติสุขภาพ กรอบความปลอดภัยต่อสุขภาพ เป็นการตรวจสอบข้อสงสัยว่าข้าว 10 ปีกินได้หรือไม่ และ ปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่
● มิติที่สังคมสนใจ ประกอบด้วย กรอบการบริโภคข้าว (วิธีการ รูปแบบ การรับประทานข้าว ความเห็นต่อการรับประทานข้าวเก่า) และกรอบการวิจารณ์ แสดงความเห็น (เน้นที่การวิจารณ์และแสดงความเห็นที่เป็นความคิดส่วนบุคคล)
จากการวิเคราะห์การายงานข่าวข้าว 10 ปีพบว่า “มิติที่สังคมสนใจ โดยกรอบการนำเสนอความคิดเห็น” มีสัดส่วนมากที่สุด ข่าวข้าว 10 ปีถูกกำหนดกรอบด้วยการ “นำเสนอตามความเห็น การวิจารณ์ การเปิดประเด็นต่อความไม่น่าเชื่อถือของการจัดการของรัฐบาลต่อข้าว 10 ปี”มิติการเมือง กรอบความเชื่อมั่นต่อข้าว 10 ปี โดยมีทั้งส่วนที่ รัฐพยายามให้ข้อมูลสร้างความเชื่อมั่น และ การตั้งคำถามและความไม่เชื่อมั่นต่อความปลอดภัยและการจัดการของรัฐจากฝ่ายค้าน นักการเมือง นักวิชาการ
มิติสุขภาพ ผลกระทบต่อสุขภาพ คำอธิบายเรื่องสารต่างๆการให้ข้อมูลลักษณะของข้าว การตรวจสอบคุณภาพข้าว
มิติเศรษฐกิจ จะขายข้าวในลักษณะใด ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการจำนำข้าว และความเห็นจากตลาดต่างประเทศ
4 กรอบประเด็นการนำเสนอ
เมื่อจำแนกแต่ละสำนักข่าวพบว่า
เน้นกรอบอธิบายข้อมูลข้าว 10 ปี ประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพของข้าว 10 ปี โกดัง การจัดเก็บ สภาพปัจจุบันของข้าว ประกอบด้วยความเห็นต่อสภาพทางกายภาพนั้น ได้แก่ ไทยรัฐทีวี MCOT HD ไทยพีบีเอส ช่อง 3HD
เน้นกรอบความเชื่อมั่น(ทั้งบวก/ลบ) ได้แก่ AMARIN TV HD ช่อง 7HD คมชัดลึก เดลินิวส์ โดยเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในข้าว 10 ปีจากฝั่งรัฐบาล และประเด็นแย้ง
เน้นกรอบความปลอดภัยต่อสุขภาพ ได้แก่ TNN ช่อง 16 PPTV HD36 กรุงเทพธุรกิจ The Standard The Reporter สำนักข่าวอิศรา Spring News
เน้นกรอบการวิจารณ์ แสดงความเห็น ได้แก่ Nation TV22 Workpoint TV ช่อง 8 Mono 29 TODAY ไทยรัฐ ข่าวสด แนวหน้า Top News
กรอบการนำเสนอตาม Timeline ของเหตุการณ์
ช่วงที่ 1 “ชิมข้าว-วิจารณ์ข้าวกินได้หรือ?” การกำหนดวาระข่าวสารในประเด็นข่าวข้าว 10 ปี สื่อนำเสนอข่าวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกรอบการนำเสนอจะสอดคล้องกับสถานการณ์ การออกมาให้ข้อมูลของแหล่งข่าวแต่ละกลุ่ม รัฐบาลกำหนดวาระสร้างความเชื่อมั่นให้ข้าว สื่อนำเสนอทั้งเกาะติดเหตุการณ์ กรอบความเชื่อมั่น(ทั้งบวก/ลบ) กรอบสุขภาพ และ “เปิดประเด็นเพื่อตรวจสอบ ตั้งคำถาม”
ช่วงที่ 2 “ผลตรวจยันข้าวกินได้” กรอบความเห็นที่ผูกกับกรอบความเชื่อมั่นการเปิดพื้นที่แสดงความเห็นยังมี แต่แหล่งข่าวกลุ่มนี้ออกมาแสงดวามเห็นลดลง สื่อไม่ได้อธิบาย ขยายความประเด็นในมิติอื่นต่อ
ช่วงที่ 3 “TOR ข้าวถึงการประมูล” กรอบของเศรษฐกิจตามมาเมื่อมีการประกาศ TOR ซึ่งก็ยังควบคู่กับความเห็นในการวิจารณ์ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของข้าว พบข่าวที่ให้ข้อมูล อธิบาย และ มีการตรวจสอบเอกสาร TOR เดือนมิถุนายน กรอบเศรษฐกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับข้าว 10 ปี ความเห็น และกรอบความเชื่อมั่นต่อข่าวและการทำงานของรัฐ (โดยรัฐพยายามสร้างความเชื่อมั่น แต่ก็ยังมีข่าวที่ให้ข้อมูลอีกด้านด้วย)
แนวทางการนำเสนอข่าว
แนวทางการนำเสนอข่าว เป็นรูปแบบของการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เกิดผลใน 4 ลักษณะคือ การบอกให้รู้เกี่ยวกับประเด็นและเหตุการณ์ (Inform) การสร้างความเข้าใจในบริบทต่าง ๆ ที่มีความลึกรอบด้านด้วยการอธิบาย (Explain) การรวบรวมทางออก วิธีการแก้ปัญหาเพื่อสะท้อนให้กับสังคม (Solution) และ การตรวจสอบ ตั้งข้อสงสัย สืบสวน เจาะลึกหาข้อเท็จจริง (Investigative)
สัดส่วนของแนวทางการนำเสนอแต่ละสำนักข่าวก็มีสัดส่วนของการให้ข้อมูล (Inform) มากที่สุด เป็นการให้ข้อมูลอัพเดทสถานการณ์ตามเหตุการณ์ที่พัฒนาต่อเนื่องกัน และนำเสนอข่าวตามประเด็นที่มีการแสดงความเห็นหรือให้ข้อมูลของแหล่งข่าวในแต่ละช่วงเป็นหลัก
ช่วงที่ 1 “ชิมข้าว–วิจารณ์ข้าวกินได้หรือ?” การอธิบายมากกว่าช่วงอื่น ๆ เพราะเป็นการอธิบายเรื่องของข้าว ลักษณะของข้าว เหตุการณ์ ผลกระทบ
ช่วงที่ 2 “ผลตรวจยันข้าวกินได้” มีอธิบายบริบทบ้างแต่ลดน้อยลงกว่าช่วงแรก
ช่วงที่ 3 “TOR ข้าวถึงการประมูล” ตรวจสอบและตั้งข้อสงสัย โดยตรวจสอบเอกสาร TOR และ รายละเอียดของบรืษัท แต่ไม่ได้ขยายผล หรือ มีประเด็นต่อเนื่อง
PPTV HD36 มีจำนวนชิ้นข่าวที่นำเสนอแบบอธิบายมากที่สุด (25 ชิ้น) รองลงมาคือฐานเศรษฐกิจ (23 ชิ้น) แนวหน้า (20 ชิ้น) ไทยพีบีเอส (20 ชิ้น) และข่าวสด (17 ชิ้น) ส่วนแนวทางตรวจสอบ โดดเด่นคือ ฐานเศรษฐกิจ และ ไทยพีบีเอส
แนวทางการนำเสนอข่าวให้ทางออก โดยภาพรวมมีน้อยด้วยเพราะลักษณะของข่าวยังไม่ได้มีปัญหาและการแก้ปัญหาที่เป็นกรณีศึกษาได้ชัดเจน ข่าวที่พบเป็นลักษณะของข้อเสนอแนะในการจัดการกับข้าวหรือแก้ปัญหาข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือต่อข้าว 10 ปี พบที่ไทยพีบีเอสมากที่สุด (4 ชิ้น) รองลงมาคือไทยรัฐ (3 ชิ้น) และ PPTV HD36 (2 ชิ้น)
แนวทางการนำเสนอข่าวแบบสืบสวน ตรวจสอบ เป็นการตั้งข้อสงสัย ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบตั้งข้อสงสัยเรื่องข้าว 10 ปี การเก็บรักษา และสารพิษที่อาจมีอันตรายต่อร่างกาย และการตรวจสอบเอกสาร TOR และรายละเอียดบริษัทที่ประมูลข้าว สำนักข่าวที่มีการใช้แนวทางการสืบสวน ตรวจสอบมากที่สุดคือ ฐานเศรษฐกิจ (13 ชิ้น) และ ThaiPBS (10 ชิ้น)
การประเมินคุณภาพข่าวการเมือง
ใช้กรอบตัวชี้วัดประเมินลักษณะของข่าวการเมืองที่มีคุณภาพ เกณฑ์ในการประเมิน โดยตัวชี้วัดมีกลุ่มที่เป็นบทบาทอันพึงประสงค์หากปรากฏในข่าวจะได้ 1 คะแนน กลุ่มที่เป็นบทบาทอันไม่พึงประสงค์ซึ่งมีผลต่อคุณภาพข่าวการเมือง จะได้ -1 คะแนน คะแนนของแต่ละด้าน มีสัดส่วนของคะแนนที่ได้คุณภาพพึงประสงค์เท่าไร และ มีส่วนที่เป็นข้อบกพร่องต่อคุณภาพที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขเท่าไร เพื่อสะท้อนคุณภาพของการรายงานข่าวข้าว 10 ปี และ ข้อบกพร่องที่ควรพัฒนาปรับปรุง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในลิงค์ช่วงท้าย)
5 มาตรฐานคุณภาพที่สื่อทำได้ดี
● ข่าวเน้นนำเสนอข้อมูลและเหตุผล สำนักข่าวที่โดดเด่น ฐานเศรษฐกิจ, TNN (84%) ข่าวสด (72%) The Reporter, Amarin TV (67%), ไทยพีบีเอส, ช่อง 3 (66%)
● ข่าวเปิดประเด็นเรื่องนโยบาย การทำงานของรัฐ สำนักข่าวที่โดดเด่น TNN (89%) ฐานเศรษฐกิจ (80%) สำนักข่าวอิศรา (76%) ไทยรัฐทีวี (75%) ข่าวสด (71%)
● ข่าวเชื่อมโยงมุมมอง ประเด็นที่หลากหลาย ไทยรัฐทีวี (39%) ไทยพีบีเอส, ช่อง 5 (33%) MoNoNews (25%) กรุงเทพธุรกิจ (24%)
● ข่าวเปิดประเด็น ตั้งคำถาม ให้เหตุผล ไทยพีบีเอส (30%) ช่อง 5, คมชัดลึก (29%)
● ข่าวอธิบายที่มาของเหตุการณ์ สำนักข่าวอิศรา พบทุกข่าว (100%) เดลินิวส์ (86%) ฐานเศรษฐกิจ, TNN (84%) ข่าวสด (79%) ช่อง 7 (78%)
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการนำเสนอที่ลดคุณภาพข่าว คือ ข่าวมีโทนทำให้เกิดความขัดแย้ง ผ่านการดึงประเด็นความขัดแย้งที่เป็น “ความรุู้สึก” ใช้อารมณ์กับเหตุการณ์ ข่าวการเมืองสร้างดราม่าเร้าอารมณ์ ผ่านการใช้คำโปรย headline เร้าอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ เสียดสี ข่าวตามกระแส หยิบออนไลน์มานำเสนอ หยิบแต่โพสต์ของบุคคลมานำเสนอ ไม่ต่อยอด ๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
– ข่าวมีโทนของการนำเสนอที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง พบใน แนวหน้า (60%) ช่อง 8 (58%) Amarin TV (55%) ไทยรัฐ (54%) Nation TV (51%)
– ข่าวชูประเด็นความขัดแย้งระหว่างฝ่าย พบมากใน แนวหน้า (52%) The Standard (48%) สำนักข่าวอิศรา (47%) กรุงเทพธุรกิจ (46%) ไทยรัฐ (45%)
ส่วนข้อบกพร่องด้านอื่น ๆ ก็พบเพียงประปรายในแต่ละสำนักข่าวซึ่งมาจากการเลือกแหล่งข่าว นำเสนอข้อมูลคำพูด การใช้คำในการนำเสนอข่าว
คุณภาพด้านประโยชน์ที่ผู้รับสารได้รับ (News Impact)
การวัดคุณภาพข่าวการเมืองในมิติของประโยชน์ที่ผู้รับสารได้รับ โดยมีประโยชน์ด้านต่าง ๆ ดังนี้
● ข่าวทำให้ได้ตรวจสอบการทำงานการเมือง มีประโยชน์ต่อการตรวจสอบการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ พิจารณาจากข้อมูลที่ข่าวนำเสนอมีกาตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐ นักการเมือง การตรวจสอบ และให้ข้อมูลที่อธิบายให้ผู้รับสารได้เข้าใจการทำงาน บทบาทต่าง ๆ ของรัฐบาล และนักการเมือง และผลกระทบที่มีต่อประชาชน
● ข่าวทำให้ผู้รับสารรับข้อมูลอย่างมีเหตุผลและเข้าใจเหตุการณ์ได้ พิจารณาจากการให้ข้อมูลในข่าวทำให้เข้าใจสถานการณ์ เหตุการณ์ ประเด็นข่าวการเมืองโดยการมีข้อมูลอ้างอิงอย่างมีเหตุผล มีข้อมูลประกอบ สามารถคิด เข้าใจ อธิบายเหตุการณ์นั้นได้อย่างเข้าใจ
● ข่าวทำให้เข้าใจที่มาของเรื่องราว เห็นความซับซ้อน และมีสติรับข้อมูลหลายด้าน พิจารณาจากความหลากหลายของประเด็น แหล่งข่าว ที่ให้มุมมองที่อธิบายที่มาของเรื่องราว เชื่อมโยงประเด็นในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของบุคคลและประเด็นการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ไม่หลงกลกับรูปแบบของการกำหนดวาระของนักการเมือง หรือการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง
● ข่าวทำให้เข้าใจมุมมองที่แตกต่างจากความคิดของตัวเอง พิจารณาจากการนำเสนอข้อมูลที่มากกว่าด้านเดียว ไม่ทำให้ผู้รับสารตัดสินต่อประเด็นทางการเมืองด้วยอารมณ์ ความรู้สึก เพียงข้อมูลด้านเดียว ลดอคติ เห็นมุมมองที่แตกต่างและยอมรับในการเข้าใจข้อมูลที่ต่างจากความเชื่อ/จุดยืนทางการเมืองของตัวเอง
● ข่าวมีมุมมองความคิดเห็นและเสียงของประชาชน หรือให้ข้อมูล รูปแบบ การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มีเหตุผล พิจารณาจากข่าวมีข้อมูลที่ให้พื้นที่การแสดงความเห็น หรือมุมมองที่เกี่ยวข้องกับประชาชน หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อประเด็นการเมือง
● ข่าวช่วยเกาะติดสถานการณ์ พิจารณาจากการให้ข้อมูลการพัฒนาของเหตุการณ์ อัพเดทสถานการณ์ ทันต่อเหตุการณ์
ผลจากการวิเคราะห์ข่าวที่เป็นหน่วยการศึกษาพบว่า ในภาพรวมข่าวที่นำเสนอมีคุณภาพในมิติการช่วยเกาะติดสถานการณ์มากที่สุด (68.1%) รองลงมา คือ ได้ตรวจสอบการทำงานการเมือง (56.8%) ตามมาด้วยข่าวทำให้ผู้รับสารรับข้อมูลอย่างมีเหตุผลและเข้าใจเหตุการณ์ได้ (32.1%)
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าสำนักข่าวเน้นการนำเสนอข่าวเพื่อการให้ข้อมูล หรือรายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์เป็นสำคัญเพื่อให้ผู้รับสารได้ข้อมูลที่รวดเร็วซึ่งเป็นการให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ การที่สำนักข่าวได้ตรวจสอบการทำงานการเมืองของทั้งฝั่งรัฐบาลที่บริหารประเทศ และให้พื้นที่ฝ่ายการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ได้มีพื้นที่ในการให้ข้อมูล หรือ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ด้วย
เมื่อจำแนกสัดส่วนตามสำนักข่าวพบว่า
– ข่าวช่วยเกาะติดสถานการณ์ เป็นประโยชน์ที่คนประเมินให้คะแนนกับชิ้นข่าวข้าว 10 ปีที่ทำการศึกษามากที่สุด โดยสำนักข่าวที่โดดเด่นในสัดส่วนของชิ้นข่าวที่ได้คะแนนด้านนี้คือ ข่าวสด (92%) AMARIN TV (86%) ไทยรัฐ (84%) คมชัดลึก, ข่าวสด (83%)
– สำนักข่าวที่มีสัดส่วนข่าวที่ให้ประโยชน์ในการทำให้ผู้อ่าน/ผู้ชมได้ตรวจสอบการทำงานการเมือง คือฐานเศรษฐกิจ (80%) เดลินิวส์ (85%) คมชัดลึก (80%) ช่อง 7HD (81%) AMARIN TV (78%)
– ข่าวทำให้ผู้รับสารรับข้อมูลอย่างมีเหตุผลและเข้าใจเหตุการณ์ได้ สำนักข่าวที่มีสัดส่วนข่าวที่ให้ประโยชน์เรื่องนี้คือ สำนักข่าวอิศรา (76%) กรุงเทพธุรกิจ (70%) Workpoint News (69%) Spring News (64%) The Reporter (54%)
– ข่าวทำให้เข้าใจที่มาของเรื่องราว เห็นความซับซ้อน และมีสติรับข้อมูลหลายด้าน มีสำนักข่าวอิศราที่แม้จะทำข่าวจำนวนไม่มากแต่สัดส่วนของข่าวที่ให้ประโยชน์ด้านนี้มีสูงที่สุด
– ข่าวทำให้เข้าใจมุมมองที่แตกต่างจากความคิดของตัวเอง ได้แก่ The Standard, The Reporter (38%) ช่อง 8 (35%) ไทยพีบีเอส (32%)
– ข่าวมีมุมมองความคิดเห็นและเสียงของประชาชน พบสัดส่วนที่มากในข่าวของ ไทยรัฐทีวี (54%) และ สำนักข่าวอิศรา (41%)
เมื่อเปรียบเทียบข่าวของสำนักข่าวออนไลน์และทีวีดิจิทัล พบว่าสำนักข่าวออนไลน์ แสดงถึงความสามารถในการให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้รับสารในด้านการตรวจสอบการทำงานการเมืองและการให้ข้อมูลที่มีเหตุผลมากกว่า ทีวีดิจิทัล อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับสารที่ต้องการข้อมูลที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ
ทีวีดิจิทัล ยังคงมีความสำคัญในด้านการให้ข้อมูลที่หลากหลายมุมมองและการทำให้ผู้รับสารเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ดี ทั้งนี้ การพัฒนาการรายงานข่าวในด้านการตรวจสอบการทำงานการเมืองและการให้ข้อมูลที่มีเหตุผลจะช่วยเพิ่มคุณภาพของการรายงานข่าวการเมืองได้มากขึ้น
สรุปภาพรวมการศึกษาข่าวข้าว 10 ปี
การศึกษาวิเคราะห์ข่าวข้าว 10 ปีในบริบทของข่าวที่มีการเปิดประเด็นโดยรัฐที่ตามมาด้วยข้อถกเถียง ข้อสงสัยจากสังคมและฝ่ายต่าง ๆ สิ่งที่พบในการรายงานข่าวข้าว 10 ปี
คือ มีสื่อบางส่วนพยายามทำงานเชิงคุณภาพ แม้ว่าต้องแข่งกันที่ความเร็วซึ่งทำให้ลักษณะการรายงานข่าวส่วนมากเป็นการให้ข้อมูล (Inform) โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวมานำเสนอเพื่ออัพเดทสถานการณ์ แต่สำนักข่าวมีการทำข่าวอธิบาย (Explain) คู่ขนานไปด้วยในแต่ละช่วง ในลักษณะของการสรุปประเด็นและอธิบายบริบทที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คนเข้าใจประเด็นที่นำเสนอ หรือข้อถกเถียงที่มีอยู่ได้มากขึ้น
เมื่อประเมินคุณภาพจากการวิเคราะห์เนื้อหา พบว่า มีข่าวที่อัพเดทความเห็นจากแหล่งข่าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนในมิติของประโยชน์ต่อผู้รับสาร ในภาพรวม การรายงานข่าวให้ประโยชน์ในการช่วยเกาะติดสถานการณ์ ประโยชน์ในการได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและนักการเมือง การตั้งคำถาม เปิดประเด็น และให้พื้นที่ความคิดต่าง การวิจารณ์การทำงานของรัฐ ช่วยเปิดประเด็นการตรวจสอบ มีการเปิดพื้นที่แต่ยังมีสัดส่วนไม่มากซึ่งเป็นจุดที่สำนักข่าวสามารถพัฒนาต่อยอดเชิงคุณภาพได้
กล่าวโดยสรุป การรายงานข่าวที่เกี่ยวกับนโยบายและการตรวจสอบนโยบาย/การทำงานของรัฐ หากใช้โมเดลของการให้สัดส่วนที่สำนักข่าวกำหนดวาระข่าวสาร สู่ความรอบด้านและการอธิบาย จะมีโอกาสยกระดับคุณภาพของข่าวการเมืองได้มากยิ่งขึ้น
โฆษณา