3 ต.ค. 2024 เวลา 01:33 • อาหาร

รู้หรือไม่? หอยนางรมเป็น “อาหารเจ”

เหตุผลเพราะอะไร?
#กินเจ #เทศกาลกินเจ
จากหนังสือ“เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และประเพณีจีน ได้กล่าวถึงข้อถกเถียงว่า อาหารชนิดใดเป็น “เจ” หรือไม่ เอาไว้ว่า
1
“…ในการกินเจมักถือเคร่งครัดกันเรื่องอาหาร จนบางทีมีปัญหาถกเถียงกันว่าอาหารใดเป็นเจหรือไม่เจ เช่น ผักฉุน 5 อย่าง ที่ห้ามกินมีอะไรบ้าง หอยนางรมกินได้หรือไม่ เรื่องผักฉุน 5 อย่าง เมื่อศึกษาที่มาแล้วจะเห็นว่าโบราณไม่กินเพราะกลิ่นแรงทำให้มึนงง มีผลต่อความสงบของจิตใจ เดิมถือต่างกันไป
ต่อมาในเมืองไทยถือตามแบบพุทธศาสนาและปรับให้สอดคล้องกับผักในเมืองไทย คือ หอม กระเทียม กุยช่าย หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) และผักชี มหาหิงคุ์คนไทยไม่ใช้เป็นอาหารอยู่แล้ว การงดเว้นผัก 5 อย่าง จึงเป็นการถือตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันมา”
บางคนอาจรู้แล้ว หรือ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “หอยนางรม” สามารถทานได้ ไม่ผิดกฎของเทศกาลกินเจ แน่นอนว่าคงมีคำถามเกิดขึ้นในหัวของเรา (รวมถึงผมในตอนแรกที่รู้) หอยนางรมเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ทำไมถึงถูกยกเว้นและจัดเป็นอาหารเจได้ มาร่วมหาคำตอบกันครับ
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เกิดจากตำนานหรือเรื่องเล่าขาน ที่มีความสอดคล้องและใกล้เคียงกัน อยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ
  • ตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน
เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน หรือต่อมาเป็น เจ้าแม่กวนอิม
“เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” หรือต่อมากลายเป็น “เจ้าแม่กวนอิม” ที่เราทุกคนรู้จักกันดีและหลายคนนับถืออีกด้วย เป็นธิดาองค์สุดท้องของเมี่ยวจวงฮ่องเต้ ฮ่องเต้ผู้นี้เป็นผู้นำที่นิสัยไม่ดีเท่าไรนัก ค่อนข้างโหดร้าย หวงอำนาจ อยากมีลูกชายมาก แต่ปรากฏว่ามีแต่พระธิดาหมดทั้ง 3 พระองค์
1
เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน แตกต่างจากพระบิดาสิ้นเชิง ทรงเสวยอาหารเจแบบตลอดชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (พระมารดาตอนตั้งครรภ์กินเนื้อไม่ได้เลย) พอโตขึ้นมาก็เป็นผู้ที่มีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก และมีจิตใจดี เมตตาแก่ทุกคน แม้เชลยศึกที่ถูกขังทรมาน เจ้าหญิงก็แอบไปช่วยเหลือ
เจ้าหญิงได้พาประชาชนหนีจากการเข่นฆ่าของเมี่ยวจวงฮ่องเต้พระบิดา แล้วลงเรือออกทะเลทั้งหมดใช้ชีวิตอยู่บนเรือเป็นเวลานานจนเสบียงเริ่มหมด ทำให้เกิดความหิวโหยด้วยความที่เจ้าหญิงกินแต่อาหารเจ เลยไม่สามารถจับสัตว์ทะเลกินได้
เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านจึงอธิษฐานว่า “ถ้าจุ่มไม้เท้าลงไปในทะเล สัตว์ใดถึงฆาตก็ขอให้ติดไม้เท้าขึ้นมาให้กินด้วยเถิด” หลังจากจุ่มไม้ลงไปก็มีหอยนางรมติดขึ้นมา เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านจึงกิน “หอยนางรม” เพื่อประทังชีวิตรอดมาได้ ต่อมาหลายปีเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านบำเพ็ญธรรมจนสำเร็จพระโพธิสัตว์ เป็น "เจ้าแม่กวนอิม"
1
ต้องบอกก่อนนะครับ ว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่องเล่าขานบอกต่อกันมารุ่นสู่รุ่นเกิดเป็นตำนาน
  • ตำนานพระถังซัมจั๋ง
ภาพพระถังซัมจั๋ง กับ ซุนหงอคง โดย Tsukioka Yoshitoshi ศิลปินชาวญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19 ที่มาภาพ: ศิลปวัฒนธรรม silpa-mag.com
เรื่องหอยนางรมเป็นอาหารเจหรือไม่นั้น ธนัสถ์ สุวัฒนมหาตม์ เขียนไว้ชัดเจนแล้วใน “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” ดังนี้
“สิ่งที่น่าแปลกกว่านั้นคือ อาหารบางชนิดแม้จะเป็นเนื้อสัตว์แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปกลับถือว่าเป็นของเจนั้นคือ หอยนางรม ชาวบ้านทั่วไปมีความเชื่อว่าการกินหอยนางรมไม่เป็นการละเมิดข้อห้ามเรื่องกินเจ
ทั้งนี้สืบเนื่องจากตำนานที่เล่ากันเรื่อยมาว่า เมื่อครั้งพระถังซำจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังชมพูทวีป (ประเทศอินเดียในปัจจุบัน) ระหว่างทางไม่สามารถหาสิ่งใดฉันได้เลย จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าหากมีสิ่งใดที่อาตมาฉันได้โดยไม่ผิดบาป ขอจงปรากฏขึ้นมาเป็นภักษาหารด้วยเถิด ปรากฏว่าหอยนางรมผุดขึ้นมาจากดินเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าหอยนางรมเป็นของเจ ผู้ที่กินเจจึงสามารถรับประทานหอยนางรมได้
แต่เนื่องจากตำนานดังกล่าวเป็นเพียงวัตถุนิทานที่เล่าสืบต่อกันมาในหมู่ชาวบ้าน ไม่มีหลักฐานอ้างอิง การรับประทานหอยนางรมจึงอนุโลมใช้กับผู้กินเจเป็นกิจวัตร (กินตลอดชีพ) ที่ไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายานเท่านั้น โดยถือเป็นข้อผ่อนผันให้รับประทานได้บ้างตามโอกาส
แต่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายานและผู้ที่กินเจในช่วงเทศกาลกินเจยังคงถือเคร่งครัดที่จะไม่รับประทานหอยนางรมอย่างเด็ดขาด”
  • บทสรุป:
ตำนานทั้ง 2 เรื่อง ทั้ง "ตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน" และ "ตำนานพระถังซัมจั๋ง" มีความคล้ายคลึงกันมาก คือข้อยกเว้นจากภาวะคับขัน เมื่อความหิวโหยอดอยากเกิดขึ้น จึงมีการตั้งจิตอธิษฐานขอให้มีของกินเกิดขึ้นมา นั่นคือ “หอยนางรม”
ผมมองว่ามันเหมือนเป็นปริศนาธรรมบางอย่างบอกให้รู้ว่า ชีวิตนั้นสำคัญ ถ้าต้องมีการยกเว้นบางเรื่องเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อ และสร้างคุณประโยชน์ต่อไปแก่ส่วนรวม ก็ควรให้ยกเว้นประมาณนั้น
พระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายานในช่วงเทศกาลกินเจ ยังคงถือเคร่งครัดที่จะไม่รับประทานหอยนางรมอย่างเด็ดขาด รวมถึงคนทั่วไปที่กินเจในช่วงเทศกาลก็ควรงดเว้นไม่กินหอยนางรม เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงของการถือศีลกินเจ คือ การงดเว้นไม่เบียดเบียนสัตว์ทุกกรณี และตั้งจิตใจให้บริสุทธิ์
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
ศิลปวัฒนธรรม - https://www.silpa-mag.com/culture/article_2959
โฆษณา