6 ต.ค. เวลา 23:00 • อสังหาริมทรัพย์

คนรุ่นเช่าไม่มีเงินเก็บ ทำให้ต้องชะลอการซื้อหรือเช่าบ้าน และหันมาอาศัยอยู่กับพ่อแม่แทน

ตัวเลือกของคนรุ่นเช่า
หลายคนเลือกเช่าที่อยู่อาศัยแทนการซื้อ เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงิน โดยมากกว่าครึ่ง (56%) ระบุว่าเก็บเงินไม่พอสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่เกือบ 2 ใน 5 (37%) ยังเลือกที่จะออมเงินเพราะราคาบ้านสูงเกินไป
และ 36% มองว่าไม่จำเป็นต้องซื้อที่อยู่อาศัยในตอนนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้เช่าส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับการบริหารการเงินในช่วงเศรษฐกิจไม่แน่นอน และเลือกที่จะเช่าเพื่อลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
มุมมองคนรุ่นใหม่ที่ต่างออกไป
ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่มีมุมมองการเช่าที่อยู่อาศัยที่แตกต่างออกไป เพราะเทรนด์ Generation Rent ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น โดยไม่ต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการซื้อบ้านในระยะยาว อีกทั้งยังง่ายต่อการย้ายที่อยู่ในอนาคต พบว่าผู้เช่าเกือบ 2 ใน 5 (39%) ได้วางแผนที่จะเช่าเป็นเวลา 2 ปีก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้าน
ในขณะที่ 29% ยังคงไม่แน่ใจว่าจะแพ็กกระเป๋าเช่าไปนานแค่ไหน ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ก่อน ขณะที่ 5% ตั้งใจว่าอยากจะเช่าอยู่ตลอดชีวิต
อัตราค่าเช่าที่คนส่วนใหญ่เลือก
อัตราค่าเช่าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่ผู้เช่าคือไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 46% แสดงถึงเทรนด์การมองหาที่อยู่อาศัยให้เช่าที่มีราคาย่อมเยาเพื่อตอบสนองสถานะทางการเงินในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน อัตราค่าเช่าในช่วง 5,001-10,000 บาท/เดือน และ 10,001-15,000 บาท/เดือน มีสัดส่วน 32% และ 9% ตามลำดับ
การวางแผนซื้อบ้านของมิลเลนเนียลและ GenZ
กลุ่มผู้บริโภคมิลเลนเนียล (Millennials) และ Gen Z ซึ่งเป็นคนวัยที่เริ่มสร้างครอบครัวและวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ แต่มีเพียง 37% ที่วางแผนจะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ใน 1 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่มากกว่า 63% ยังไม่ได้มีแผนการย้ายออกในเร็ว ๆ นี้
โดยส่วนใหญ่ระบุเหตุผลว่า ต้องการดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด 43% ตั้งใจจะรับช่วงต่อบ้านของพ่อแม่ 28% และ 27% ระบุว่าไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในขณะนี้ ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงความท้าทายทางการเงินที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้
โฆษณา