3 ต.ค. เวลา 04:01 • ท่องเที่ยว

จากไร่ฝิ่น...สู่ถิ่นกาแฟออร์แกนิก บ้านห้วยส้มป่อย

ชาวบ้านที่นี่เป็นปกาเกอะญอ ชาวปกาเกอะญอสมัยก่อนจะปลูกฝิ่น เพื่อทำให้ฝิ่นหายไปหน่วยงานต่าง ๆ จึงเข้ามา และหาอาชีพอื่นมาแทนการปลูกฝิ่นให้ชาวบ้าน
ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาอันอุดมสมบูรณ์ ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,200 เมตร ของตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านห้วยส้มป่อยถือเป็นอัญมณีซ่อนเร้น ที่คอกาแฟผู้แสวงหารสชาติและการเดินทางที่แปลกใหม่จะต้องมาเยือนให้ได้สักครั้ง
แต่กว่าจะมาเป็นสถานที่ผลิตกาแฟออร์แกนิกคุณภาพสูงจนเป็นที่รู้จัก หมู่บ้านแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านปากของลุงเนตร (เนตร ไพรคีรีพฤกษา) ที่ให้เกียรติมานำทางพร้อมบอกเล่าเส้นทางกาแฟของหมู่บ้านห้วยส้มป่อยให้เราฟัง
ชาวบ้านที่นี่เป็นปกาเกอะญอ ชาวปกาเกอะญอสมัยก่อนจะปลูกฝิ่น เพื่อทำให้ฝิ่นหายไป หน่วยงานต่าง ๆ จึงเข้ามา และหาอาชีพอื่นมาแทนการปลูกฝิ่นให้ชาวบ้าน หน่วยงานแรกเลยที่เข้ามาคือ UNFDAC เขาเข้ามาส่งเสริมเรื่องการปลูกกาแฟ แล้วตั้งสำนักงานอยู่ที่บ้านห้วยส้มป่อยนี้
ในอดีตหมู่บ้านห้วยส้มป่อยเป็นสถานที่ที่มีการปลูกฝิ่นค่อนข้างเยอะอีกแห่งหนึ่งโดยเฉพาะในบริเวณทิศใต้ของหมู่บ้าน ที่มีไร่ฝิ่นอยู่มากที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2497 – 2520 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวหลังจากปลูกฝิ่นมา 4-5 ปี ก็จะถูกทิ้งเอาไว้เพื่อเป็นพื้นที่พักฟื้นหรือไร่เหล่า ซึ่งการฟื้นตัวของไร่เหล่าให้กลับมาเป็นป่าไม้อีกครั้ง อาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพราะการปลูกฝิ่น จำเป็นต้องตัดไม้ยืนต้นทั้งหมด เพื่อให้ฝิ่นสามารถรับแสงอาทิตย์ได้อย่างเต็มที่
แต่เนื่องจากในช่วงแรกยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงาน การบุกรุกที่ดินในเขตป่าไม้จึงยังคงดำเนินต่อไป ผลกระทบต่อมาคือปัญหาการลดลงของทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย หน่วยงานภาครัฐและนานาชาติที่เริ่มวิตกกังวลกับปัญหาเหล่านี้ จึงเริ่มเข้ามา และดำเนินการเพื่อลดพื้นที่ปลูกฝิ่นลง
โดยมีเป้าหมายคือ หยุดยั้งการปลูกฝิ่น พร้อมส่งสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง โดยหน่วยงานแรกที่เข้ามาในพื้นที่นี้คือ UNFDAC หรือกองทุนเพื่อควบคุมการใช้ยาเสพติดที่ผิดแห่งสหประชาชาตินั้นเอง
“เขาเข้ามาส่งเสริมทั้งความรู้ ปุ๋ย ยา ต้นกล้ากาแฟ และรับซื้อด้วย เรียกว่าส่งเสริมทุกอย่าง ถามว่าได้ผลไหม คำตอบคือ ได้ ถึงในช่วงปีแรกจะยังมีการปลูกฝิ่นอยู่แต่พอเข้าปีที่ 2 มันก็เริ่มลดน้อยลง จนกระทั่งเข้าปีที่ 3 ฝิ่นก็หายไปเลย”
หลังจากที่ UNFDAC เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟ และพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น รวมถึงไร่ฝิ่นเก่าที่กลายเป็นไร่เหล่า ก็เริ่มฟื้นตัวจนกลับมาเป็นป่าไม้อีกครั้ง ต่อมาในปี 2529 โครงการพัฒนาที่สูง THAI-NORWAY ก็ได้เข้ามารับช่วงต่อโครงการของ UNFDAC โดยทำงานร่วมกับกรมประชาสงเคราะห์ และโครงการหลวงเพื่อส่งเสริมการทำการเกษตรให้แก่ชุมชน
โดยมีการจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาขึ้นในหมู่บ้าน THAI - NORWAY ทำงานอย่างหนักเพื่อสนับสนุนทั้งในด้านความรู้ และอื่น ๆ จนในที่สุด กาแฟก็กลายเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านห้วยส้มป่อยได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งลุงเนตรก็เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่มีรายได้จากการปลูกกาแฟ จนสามารถพลิกชีวิตขึ้นมาได้
ในที่สุด กาแฟก็กลายเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านห้วยส้มป่อยได้อย่างสมบูรณ์
“ผมปลูกกาแฟอยู่ 4 ไร่ กาแฟของผมจะส่งให้มูลนิธิชาวเขาแบบผสมผสานเขาเข้ามาเมื่อ 18 ปีก่อน และยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน คือผมจะเป็นคนรับซื้อผลผลิตของชาวบ้าน แล้วเอาไปส่งโกดังในแม่โจ้ ส่งให้อาจารย์ไมล์ ที่เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิ ก่อนจะนำส่งเราก็จะมีการทำกะลาก่อน ขั้นตอนคือ หลังจากได้เชอร์รีมาแล้ว เราก็จะนำไปแช่น้ำ 1 คืน จากนั้นก็จะนำไปกะเทาะเปลือก แล้วนำไปแช่อีก 1 คืนเพื่อล้างเมือกออก แล้วนำไปตาก ผมจะทำถึงขั้นตอนนี้ จากนั้นก็จะนำกาแฟกะลาที่ได้ไปส่งให้มูลนิธิ”
ลุงเนตรคือตัวหลักในการรับซื้อเชอร์รีจากชาวบ้านเพื่อนำไปส่งให้มูลนิธิชาวเขาแบบผสมผสาน โดยใน 1 ปี ลุงเนตรจะอยู่บนดอยประมาณ 4 เดือน คือเดือน พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ เพื่อรับซื้อผลเชอร์รีจากชาวบ้านจากนั้นอีก 8 เดือนก็จะลงไปอยู่ในตัวเมืองเพื่อทำงานในส่วนอื่น ๆ เช่น ทำกาแฟสารคั่วกาแฟ เป็นต้น
“มีหน่วยงานสนับสนุนเยอะเลย อย่างที่มารับซื้อ นอกจากมูลนิธิแล้ว ก็มีโครงการหลวงด้วย แล้วก็มีหน่วยงานเอกชน คือหน่วยงานเอกชนเนี่ย เขาจะรับซื้อกาแฟของเราผ่านมูลนิธิ แล้วก็กลับมาสนับสนุนด้านอุปโภคบริโภคให้กับชาวบ้านเช่น น้ำประปา แล้วก็มีสร้างสถานีอนามัย
คือสถานีอนามัยเนี่ยไม่ได้มีแค่บ้านห้วยส้มป่อยนะที่ได้ประโยชน์ แต่หมู่บ้านที่อยู่ในระแวงนี้ได้กันหมด ส่วนในเรื่ององค์ความรู้ อย่างวิธีการปลูก การบำรุงดิน ก็มีคนผลัดกันขึ้นมาให้ความรู้กับชาวบ้านเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์บ้าง นักวิชาการจาก ม.ช. บ้าง เกษตรอำเภอบ้างคือมีคนขึ้นมาตลอด”
ปัจจุบันลุงเนตรได้ต่อยอดกาแฟของตัวเอง ให้กลายเป็นคาเฟ่ลับกลางดอย ที่แค่เอ่ยชื่อ คอกาแฟสายท่องเที่ยวจะต้องรู้จักอย่างร้าน “คุณพ่อ Coffee&house” สถานที่จำหน่ายกาแฟออร์แกนิกจากร่มเงาไม้ใหญ่ ไร้สารเคมี ที่มาพร้อมกับวิวดี ๆ กลางหุบเขา ที่รายล้อมไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ
โดยมีลูกสาวของลุงเนตรเป็นผู้ดูแล และบาริสต้าประจำร้าน ส่วนในเรื่องรสชาตินั้น ไม่จำเป็นต้องอธิบายมากมายเพราะที่นี่คือแหล่งปลูกกาแฟออร์แกนิกคุณภาพ การันตีด้วยรางวัลผู้ผลิตกาแฟดีเด่นใน The 5 “Thailand Asian Coffee & Tea 2008” จึงรับประกันได้ว่า กาแฟทุกแก้วที่ขายในร้านนี้ รสชาติดีไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน
จากเงามืดของไร่ฝิ่น สู่แสงสว่างที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมหวานของกาแฟ เรื่องราวของหมู่บ้านห้วยส้มป่อย ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นภาพตัวอย่างของการยอมรับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน ปัจจุบันชาวบ้านต่างรู้สึกภูมิใจกับการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้น พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่ากาแฟออร์แกนิกของพวกเขา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความพยายามร่วมกันนี้ ก็ทําให้โครงสร้างทางสังคมของหมู่บ้านห้วยส้มป่อยแข็งแกร่งขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป
จากเงามืดของไร่ฝิ่น สู่แสงสว่างที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมหวานของกาแฟ เรื่องราวของหมู่บ้านห้วยส้มป่อย ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นภาพตัวอย่างของการยอมรับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน
Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน
ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
.
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ :
IN BOX Facebook : Coffee Traveler
.
ช่องทางการติดตามอื่น ๆ
Youtube : Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Tiktok : coffee traveler mag
โฆษณา