Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
3 ต.ค. เวลา 04:58 • ความคิดเห็น
ข้อเสนอการแก้ปัญหาน้ำป่าภาคเหนือในระยะยาว
แม้ข่าวน้ำท่วมจะเบาบางลงไป และมีข่าวน่าเศร้าเรื่องรถบัสเข้ามาแทน แต่การตามแก้ปัญหาเรื่องโคลนยังต้องมีต่อไป และเมื่อได้อ่านความเห็นของอธิบดีกรมอุทยานที่ให้ความเห็นไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ไม่กี่วันว่าสาเหตุของปัญหาอยู่ที่การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้คิดถึงบทความที่เขียนไว้เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน สมัยที่ยังเป็นหนุ่มๆ ทำงานลงพื้นที่บ่อย ได้ลงไปทำความเข้าใจปัญหาและเห็นด้วยกับท่านอธิบดีฯ ครับ
จึงขอนำบทความดังกล่าวมาลงไว้อีกครั้งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศครับ
8 สิงหาคม 2015 (พ.ศ. 2558 - วันที่เขียน)
หลายวันก่อนได้นั่งดูการให้สัมภาษณ์ของ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีนโยบายฟื้นผืนป่าของประเทศจำนวนหลายล้านไร่ที่กลายเป็นเขาหัวโล้นซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ทำไร่ข้าวโพดให้กลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม นั่งฟังแล้วก็นึกถึงประสบการณ์ที่ ต.บ่อเหล็กลอง อ.ลอง จ.แพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2553 และที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เมื่อประมาณปี 2554 - 2555 เพราะทั้งสองที่นี้มีตัวอย่างที่ดีของการฟื้นเขาหัวโล้นให้กลับมามีชีวิตได้อย่างอัศจรรย์
เมษายน 2553
บ่อเหล็กลองเป็นตำบลที่อยู่ใกล้เทือกเขาที่กั้นระหว่างแพร่กับลำปาง ในตำบลนี้มีเขาอยู่ลูกหนึ่งที่แยกออกมาจากเทือกเขาหลักและตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดศูนย์กลางของตำบลซึ่งตั้งอยู่บนพื้นราบไม่มากนัก แม้จะเป็นลูกเขาที่ไม่ใหญ่มาก แต่ที่นี่ก็เป็นต้นกำเนิดลำธารที่ไหลลงแม่น้ำยมถึง 4 สาย โดยแยกกันไหลฟากเขาละ 2 สายและสายหนึ่งไหลผ่านกลางตำบลพอดี
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ซึ่งทำหน้าที่ดูแลคณะของเราที่ประกอบด้วยคุณหมอธิติวัฒน์ คุณโอ๋-ฐิติพล และผม เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนลำธารทั้ง 4 สายมีน้ำไหลทั้งปี แต่หลังจากชาวบ้านถางป่ามาทำไร่ข้าวโพดส่งโรงงานเมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา เขาทั้งลูกซึ่งมีพื้นที่รวมกัน 2000 กว่าไร่ได้กลายเป็นเขาหัวโล้นไปทั้งลูกเขา น้ำในลำธารก็มีเฉพาะในหน้าฝน หน้าแล้งลำธารจะแห้งขอดไม่ไหลทั้งปีเหมือนในอดีต ซึ่งช่วงที่พวกเราไปเป็นช่วงสงกรานต์พอดี เราจึงเห็นแต่ลำธารที่ไม่มีน้ำ จะมีก็เฉพาะจุดที่เป็นฝายกักเก็บน้ำที่ อบต. ทำไว้
เขาหัวโล้น บ้านบ่อเหล็กลอง อ.ลอง จ.แพร่ ประมาณปี พ.ศ. 2553
ระหว่างทางเดินไปดูตาน้ำบนเขา
ผู้ใหญ่พาพวกเราขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อดูตาน้ำที่ผุดขึ้นมากลางเขาหัวโล้นเพราะเป็นจุดเดียวบนเขาลูกนั้นที่มีกลุ่มพุ่มไม้อยู่เป็นบริเวณไม่กว้างนัก
ผู้ใหญ่เล่าว่าเมื่อก่อนตอนที่บริเวณนี้โล้นเหมือนบริเวณอื่น น้ำก็ไม่เคยมีออกมาจากตาน้ำอย่างที่เห็นในตอนนี้ แต่พอชาวบ้านเห็นว่าตรงนี้เป็นตาน้ำจึงไม่เข้าไปทำลายและปล่อยให้พุ่มไม้ใหญ่ค่อยๆ ฟื้นสภาพกลับมา ตาน้ำก็กลับมาทำงานตามปกติได้อย่างอัศจรรย์แม้จะเป็นกลางหน้าแล้งในเดือนเมษายนอย่างที่เราไปตอนนั้นก็ตาม ถึงจะมีปริมาณการไหลแค่ขนาดท่อ 1 นิ้ว แต่ก็เป็นการยืนยันกับพวกเราว่า ถ้าต้นไม้กลับมา น้ำก็กลับมา
โอเอซีสกลางทะเลทรายบนภูเขาหัวโล้น และพุ่มไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในตาน้ำ
ตาน้ำที่เมื่อก่อนครั้งที่ยังไม่เป็นเขาหัวโล้น คือตาน้ำที่สำคัญของลำน้ำ
จากนั้นผู้ใหญ่ก็พาเราลงจากยอดเขา ได้ประมาณซักครึ่งทางก็มาถึงสวนยางกลางเขาหัวโล้นของชาวบ้านคนหนึ่ง ความร่มรื่นของสวนยางบนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ กลางเขาหัวโล้น 2000 ไร่ ที่มีแดดแรงกลางเมษายนของปี 2553 คอยเผาเราตลอดเวลาทำให้เรารู้สึกเหมือน รอดตาย เจ้าของสวนบอกว่า เมื่อก่อนที่นี่เป็นไร่ข้าวโพดเหมือนกัน ตอนปลูกข้าวโพด สภาพดินที่นี่แห้งเหมือนกับทราย พูดพลางแกก็ชี้นิ้วไปที่ไร่ข้าวโพดที่อยู่รอบๆ ที่สภาพดินกลายเป็นทรายในขณะที่ที่ดินของแกดูอุดมสมบูรณ์ผิดกันราวฟ้ากับเหวแม้จะอยู่ใกล้กันนิดเดียว
ระหว่างทางเดินไปสวนยางกลางเขา
ริมสวนยางกลางเขา เห็นความแตกต่างระหว่างสวนยางกับไร่ข้าวโพด
สวนยางกลางเขา ปลูกกล้วยและไม้อื่นเสริม เพิ่มความชุ่มชื้น มองออกไปนอกสวนยากเห็นไร่ข้าวโพดของชาวบ้านที่ยังทำไร่ตามปกติ
แกเล่าว่าตอนที่แกตัดสินใจไปรับกล้ายางจากองค์กรสงเคราะห์การทำสวนยางมาปลูกเมื่อช่วงปี 2547 เพื่อนบ้านคนอื่นมองว่าแกบ้า ไม่มีใครเอาด้วย แต่ความที่แกเป็นเหมือนอาสากล้าตาย กรมพัฒนาที่ดินจึงมาช่วยขุดบ่อให้ส่วนหนึ่งและแกขุดเพิ่มเองอีกส่วนหนึ่ง แล้วแกก็ใช้วิธีดักน้ำจากลำธารที่มีมากช่วงหน้าฝนเข้าไปเก็บไว้ในบ่อเพื่อทยอยใช้ทั้งปี
สวนยางกลางเขา เจ้าของสวนทำฝายกักน้ำและดักน้ำเข้าไปเก็บในบ่อ
ในช่วง 3 ปีแรกก่อนที่ต้นยางจะสูงคลุมพื้นพอที่จะให้ความร่มรื่นกับที่ดินทั้งผืน แกก็ปลูกพืชไร่อื่นบ้าง สมุนไพรบ้าง กล้วยบ้าง แซมระหว่างต้นยาง พอให้มีรายได้ต่อเนื่องปะทังไปก่อนในช่วงที่ยังไม่มีรายได้จากยาง และใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับน้ำหมักค่อยๆ ฟื้นดินที่เสื่อมลงจากสารเคมีที่ต้องอัดเข้าไปในช่วงทำไร่ข้าวโพดให้กลับคืนมา พอครบ 3 ปี แกพบว่าไม้หลายอย่างที่ปลูกไม่ได้ในที่คนอื่นสามารถปลูกได้ในที่ของแก สมุนไพรบางอย่างที่หายไปและไม่เคยเห็นมานานกลับมีขึ้นมาเองอย่างน่าประหลาดใจ
สวนยาง 20 ไร่ของแกจึงเริ่มกลายเป็นสวนผสมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นยิ่งกว่าโอเอซีสกลางทะเลทรายในพื้นที่แถวนั้น นี่เป็นตัวอย่างแรกที่ผมประทับใจมากและเชื่ออย่างสนิทใจว่าถ้าทั้ง 2000 ไร่ของลูกเขาลูกนั้นทำอย่างแก ลำธารทั้ง 4 สายจะกลับมามีน้ำไหลอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดปีเหมือนเดิม และปราศจากสารเคมีจากไร่ข้าวโพดอย่างสิ้นเชิง
หมู่บ้านบ่อเหล็กลองยามค่ำเมื่อมองจากที่พักบนเขาของชาวบ้านที่ อบต. มาทำไว้
คณะและพี่ๆ ชาวบ่อเหล็กลองที่พาเราสำรวจ
อีกตัวอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นที่ ตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ประมาณปี 2554 – 2555
9 สิงหาคม 2015 (พ.ศ. 2558 - วันที่เขียน)
ช่วงที่ทำโครงการให้กับสำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. ทาง ดร.ณัฐพล ผอ.ฝ่ายแผน และทีมงาน ได้พาไปรู้จักกับพ่อพัฒน์ ปราชญ์ชาวบ้านอายุประมาณ 60 ปีที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ แม่ทาเป็นตำบลที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาที่เคยเป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ระหว่างรอยต่อ 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
ด้วยความที่เป็นการให้สัมปทานโดยไม่มีการบริหารจัดการ ทำให้ไม่มีการปลูกป่าทดแทนไม้ที่ถูกตัดออกไป ภูเขาแถวนี้จึงกลายเป็นเขาหัวโล้น ชาวบ้านก็จับจองเป็นพื้นที่ทำกินเท่าที่จะทำกันได้ แต่ผลผลิตก็ไม่ดีนักเพราะก็เหมือนกับเขาหัวโล้นทั่วไปคือไม่มีน้ำตอนหน้าแล้ง
โชคดีที่ในที่ดินที่พ่อพัฒน์จับจองไว้มีพุ่มไม้อยู่กลุ่มหนึ่งและในนั้นมีตาน้ำเล็กๆ ที่มีน้ำไหลประมาณเท่ากับท่อพีวีซีเหมือนกับที่บ่อเหล็กลอง พ่อพัฒน์จึงทำถังเก็บน้ำอยู่ในที่ต่ำแล้วต่อท่อพีวีซีเอาน้ำมาเก็บไว้ได้หลายถัง จากนั้นพ่อพัฒน์ก็เริ่มปลูกพืชยืนต้นให้ผลกินได้หลากหลายสายพันธุ์บนที่แห้งเหมือนกับทรายนั้น
ทางเข้าส่วนป่าพ่อพัฒน์
เส้นทางเดินเข้าส่วนป่าพ่อพัฒน์
ไม้ผลที่พ่อพัฒน์ปลูกไว้ บนพื้นที่ที่เคยเป็นเขาหัวโล้น
ส่วนที่ว่างระหว่างพืชพันธุ์ไม้ใหญ่เหล่านั้นพ่อพัฒน์ก็ปลูกพืชล้มลุกและไม้เลื้อยแซมไปทั้งผืนแต่ทุกต้นเก็บใบได้ เก็บผลได้ เก็บดอกได้ ในระหว่างที่ไม้ใหญ่ยังไม่โต พ่อพัฒน์ก็มีรายได้จากพืชล้มลุกนี้ แต่พอไม้ใหญ่โต ผืนดินทั้ง 20 ไร่ของพ่อพัฒน์ที่เคยแห้งเหมือนทรายก็กลายเป็นป่ากินได้ไปทั้งผืน มีผลผลิตสลับกันให้พ่อพัฒน์เก็บไปขายได้ทุกวัน
ข้างล่างพื้นดิน ปลูกคลุมด้วยพืชไม้เลื้อยและไม้ล้มลุก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของดิน
ผมนั่งถามพ่อพัฒน์เพื่อประเมินรายได้ รายจ่าย พอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า พ่อพัฒน์มีรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลของพืชผลและฤดูกาล เทศกาล ของคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่
ตอนที่ผมไปพ่อพัฒน์ขยายกิจการลงมาทำสวนผักปลอดสารที่ตีนเขาและชวนคนรุ่นหนุ่มสาวของหมู่บ้านที่เคยออกไปทำงานที่อื่นให้กลับมาพลิกฟื้นที่แห้งแล้งให้กลายเป็นป่ากินได้ที่อุดมสมบูรณ์หลายแปลงขึ้น คนรุ่นใหม่เหล่านี้เมื่อกลับมาก็มารวมกลุ่มกันและช่วยเสริมเรื่องการตลาด ทำระบบสมาชิกออนไลน์แล้วส่งผัก สมุนไพร เครื่องแกงให้กับสมาชิกตรงถึงบ้านตามที่สั่งทุกวัน
แปลงผักที่ตีนเขา ปากทางเดินขึ้นสวนป่าของพ่อพัฒน์
แปลงผักของพ่อพัฒน์ มองไปด้านหลังเห็นเขาหัวโล้น
แปลงผักของพ่อพัฒน์ เป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จินตนาการว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนคนทำไร่ข้าวโพดหรือพืชไร่เชิงเดี่ยวอื่นจำนวนหลายล้านไร่ในภาคเหนือและอีสานให้หันมาปลูกป่ากินได้เหมือนพ่อพัฒน์แล้วรัฐบาลช่วยส่งเสริมให้มีภาคเอกชนที่มีธรรมมาภิบาลที่ดีเข้ามาทำตลาดร่วมกันกับคนกลุ่มนี้ ชาวไร่ข้าวโพดจำนวนหลายแสนคนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากเดิมราวฟ้ากับดิน เขาหัวโล้นหลายล้านไร่จะกลายเป็นป่ากินได้ที่สร้างรายได้ให้อย่างต่อเนื่องและมากกว่าเดิม
พื้นที่ป่ากินได้ของพ่อพัฒน์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเขาหัวโล้น
สำหรับคนพื้นล่าง เมื่อฝนตกหนัก ป่าพวกนี้ก็จะซับน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงเขื่อนและพื้นล่างเร็วเกินไป เขื่อนก็ไม่ต้องรีบปล่อยน้ำเพราะกลัวเกินขีดจำกัดที่รับได้ พอหน้าแล้ง ป่ากินได้เหล่านี้ก็ค่อยๆ ปล่อยน้ำออกมา เขื่อนก็สามารถรับน้ำไว้เลี้ยงคนพื้นล่างได้ทั้งปี ส่วนในลำน้ำบางสายที่ไม่มีเขื่อนเช่นแม่ยม ก็อาจทำเป็นอ่างพวงคอยดักน้ำไว้เป็นระยะทั้งใหญ่เล็กตามความเหมาะสมของพื้นที่ ชาวสวนทุกสวน นาทุกนา มีน้ำเก็บไว้ใช้ทั้งปี คำว่าน้ำท่วมน้ำแล้งจะหายไปจากประเทศนี้ ถึงมีก็จะน้อยลงมากเว้นแต่ปีที่วิกฤตจริงๆ
มาถึงคำถามสำคัญ แล้วจะเอาเงินจากไหนมาลงทุนเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้กลับเป็นป่า ให้ชาวบ้านมีกินเพียงพอก่อนที่ป่าจะได้ผลผลิต (ถ้าใช้ตัวเลขตามที่เคยสำรวจไว้ก่อนหน้าคืออย่างน้อยประมาณ 50,000 บาทต่อไร่ก่อนที่จะได้ผลผลิต) และเมื่อได้ผลผลิตแล้วเขาจะมีรายได้ไปอย่างต่อเนื่องและไม่น้อยไปกว่าการทำไร่ข้าวโพดหรือพืชไร่อื่นที่เขาทำอยู่ได้อย่างไร (เพราะถ้าน้อยกว่าเขาอาจไม่ร่วมมือ)
จะให้รัฐบาลจ่ายเงินให้โดยใช้เงินงบประมาณประจำปีก็คงต้องรอทำปีละแสนสองแสนไร่เหมือนกับที่ท่าน รมต. ให้สัมภาษณ์ในรายการทีวี ซึ่งคงไม่ค่อยสะกิดเท่าไรเมื่อเทียบกับขนาดของโจทย์ที่มีอยู่หลายล้านไร่ โจทย์หนักครับ งานนี้ต้องสุมหัว แต่ขออย่างเดียว ให้ใช้นักการเงินมาช่วยคิดครับ อย่าใช้ข้าราชการในกระทรวงคิดกันเองเพราะงานนี้ต้องการเงิน มากๆ
แต่ถ้าจะให้ผมคิดเร็วๆ ผมคิดดังนี้ครับ
โดยใช้หลักการผู้ได้ประโยชน์เป็นผู้จ่าย ดังนั้น หากการมีพื้นที่ป่าทำให้คนพื้นล่างได้ประโยชน์ คนพื้นล่าง ซึ่งในที่นี้คือคนที่อาศัยอยู่ในเมืองทุกเมืองที่แม่น้ำไหลผ่าน จะต้องถูกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มเข้าไปในค่าน้ำประปาที่ใช้ ใครใช้มาก เก็บมาก ใช้น้อย เก็บน้อย และถูกแพงตามประเภทของการใช้ เช่น ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนราคาเพิ่มน้อยแต่ถ้าใช้เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมราคาต้องเพิ่มมาก และหากใช้ในกิจกรรมที่มีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องจ่ายสูงที่สุด
จากนั้นให้รัฐบาลนำเงินส่วนเพิ่มที่ได้มารับซื้อพืชผลการเกษตรจากป่ากินได้โดยจูงใจด้วยราคารับซื้อล่วงหน้าที่สูงกว่าราคาพืชไร่ปกติ เพื่อเพิ่มรายได้และจูงใจให้ฟื้นฟูป่า (ซึ่งก็แค่เปลี่ยนจากการจ่ายเงินรับซื้อพืชไร่ทำลายป่าและเงินแก้ปัญหาน้ำแล้งที่จะลดลง มารับซื้อผลผลิตจากป่ากินได้) โดยรัฐบาลอาจกำหนดพื้นที่อนุญาตที่ประเมินแล้วทำให้รายได้ของประชาชนในบริเวณป่าต้นน้ำนี้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการปลูกพืชไร่ที่ทำลายป่า
เมื่อบวกกับการชดเชยเงินที่ลงทุนไปแล้ว กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดหากฝ่าฝืนไปทำเกษตรในพื้นที่ต้องห้าม ก็จะทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำถูกฟื้นคืนมาอย่างรวดเร็ว
ด้วยวิธีนี้รัฐอาจจะไม่ต้องเสียเงินงบประมาณเพิ่มเติมเลย เพราะผลผลิตที่รับซื้อมาก็ขายเป็นรายได้คืนคลัง ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต้นน้ำมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากทั้งผลผลิตที่รัฐรับประกันการรับซื้อ ส่วนประชาชนในเมืองแม้จะเสียค่าน้ำเพิ่มแต่เมื่อกระจายเป็นรายแล้วจะเพิ่มไม่มากและคุ้มค่ากับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ป่าถูกทำลาย และยังทำให้รัฐประหยัดงบประมาณการแก้ไขวิบัติภัยที่เกิดขึ้นทุกปีอีกด้วย
เผลอๆ เงินที่ได้ส่วนเพิ่มนี้ ถ้าคิดให้ดี อาจจะมากพอที่จะจ้างคนไปเฝ้าป่าแทนการไปปลูกพืชไร่ที่ทำลายป่าได้เลย และเชื่อผมเถอะว่า ถ้าให้นักการเงินช่วยคิด เด๋วจะมีลูกเล่นเพิ่มเติมจากที่ผมคิดไว้เบื้องต้นง่ายๆ นี้อีกเยอะ และเผลอๆ อาจทำให้รัฐบาลมีกำไรในขณะที่ได้ป่ากลับมาอีกด้วย
สองรูปสุดท้ายเป็นเขาหัวโล้นที่จังหวัดเลยและจังหวัดน่าน ถ้ามีโอกาสได้นั่งเครื่องบินเล็กไปจังหวัดน่าน พอผ่านเขื่อนสิริกิติ์แล้วมองลงมาข้างล่าง สิ่งที่เห็นคือภาพแบบนี้ครับ ยาวตั้งแต่เขื่อนสิริกิติ์ไปจนถึงตัวจังหวัดน่าน เห็นแล้วจะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเวลาฝนตกน้ำจึงไหลลงเขื่อนเร็ว และเวลาฝนแล้งไม่มีน้ำไหลลงเขื่อน
สิ่งแวดล้อม
การเมือง
บันทึก
3
5
1
3
5
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย