3 ต.ค. เวลา 07:49 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเพชรเวช

โรคอ้วนกับพุงที่ไม่ได้รับเชิญ

“อ้วน” คำ ๆ เดียวแต่ความหมายกลับบาดลึกลงไปถึงขั้วหัวใจ และเป็นปัญหาที่หลายคนกำลังประสบอยู่ บางคนอาจจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็น "โรคอ้วน" แต่บางคนกลับยังไม่รู้ตัวแถมยังคงทำพฤติกรรมเสี่ยงที่เปรียบเหมือนการนับถอยหลังเวลาชีวิตของตัวเองเพราะโรคนี้สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง วันนี้เราจึงมาพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับโรคนี้ที่แม้คนไม่อ้วนก็เข้าถึงได้กัน
โรคอ้วนคืออะไร ?
แม้จะเคยได้ยินคำว่า “โรคอ้วน” แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักคำนี้ดีจริง ๆ บางคนอาจจะคิดว่าโรคนี้คือโรคของคนที่มีรูปร่างใหญ่ ลงพุง แต่โรคอ้วนเป็นชื่อเรียกสภาวะทางร่างกายที่มีการสะสมไขมันในปริมาณมาก เพราะร่างกายได้รับพลังงานมากกว่าที่ต้องการในแต่ละวันและไม่สามารถเผาผลาญออกไปจนหมดได้จึงมีการสะสมพลังงานส่วนเกินไว้ในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั่นเอง
ภาวะโรคอ้วน
คนที่เป็นโรคนี้สามารถสังเกตตัวเองได้ง่าย ๆ คือ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แขนและขาใหญ่ขึ้น พุงใหญ่ขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีวัดดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งคำนวณได้จากสูตรน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสองของเราเอง ตัวอย่างเช่น
- นายเพชรเวชมีน้ำหนัก 56 กิโลกรัม มีส่วนสูง 165 เซนติเมตร (1.6 เมตร) เมื่อเข้าสูตรน้ำหนัก 56 กิโลกรัมหารด้วยส่วนสูง 1.6 เมตรจะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 20.56
หากมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 แสดงว่ากำลังเป็นโรคลงพุงนี้อยู่
และวิธีสุดท้ายที่จะบอกได้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือไม่ คือการวัดรอบเอว โดยผู้ชายจะต้องมีเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 เซนติเมตร ส่วนผู้หญิงจะต้องมีเส้นรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตร
ผลกระทบจากการเป็นโรคอ้วน
ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหนื่อยหอบ หรือเหงื่อออกได้ง่ายหากทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก และทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้อย่างยากลำบาก เพราะเคลื่อนไหวร่างกายได้ยากกว่าคนปกติ มีอาการนอนกรน และหายใจติดขัดจนอาจจะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ชนิดของโรคอ้วน
- อ้วนลงพุง ผู้ป่วยชนิดนี้จะมีการสะสมไขมันที่บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายในเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งไขมันในบริเวณนี้จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไขมันในเลือดสูง
- อ้วนทั้งตัว ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีไขมันสะสมอยู่ในร่างกายโดยไม่ได้เจาะจงว่าอยู่ในตำแหน่งใด เพราะไขมันกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วน
- พฤติกรรมการกิน รับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลมากจนเกินไป เช่น ขนมหวาน อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม เป็นต้น
- กรรมพันธุ์ หากพ่อและแม่เป็นโรคอ้วน ลูกมีสิทธิ์ที่จะเป็นด้วยมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าพ่อ หรือแม่เป็นโรคอ้วน ลูกมีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคอ้วนด้วย 40 เปอร์เซ็นต์
- ไม่ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายคือการเผาผลาญไขมันออกจากร่างกาย หากเราไม่ออกกำลังกายไขมันส่วนเกินจะไม่ถูกกำจัดออกไป และจะยังคงสะสมอยู่ในร่างกายของเราไม่หายไปไหน
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน เพราะใช้พลังงานน้อยลง
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน
ด้วยความที่โรคนี้ส่งผลต่อภาพรวมของร่างกายอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ได้แก่
- โรคข้อเสื่อม เนื่องจากคนที่เป็นโรคอ้วนมักมีน้ำหนักตัวมากกว่าคนทั่วไป จึงส่งผลโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวแน่นอนว่ารวมถึงข้อเข่าที่ต้องรับน้ำหนักตัวในการเดินแต่ละก้าวด้วย ดังนั้นโรคนี้จึงเป็นเหมือนตัวเร่งความเสี่ยงให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั่นเอง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะแทรกซ้อนนี้เป็นของคู่กันกับโรคอ้วนเลยก็ว่าได้เนื่องจากเมื่อเราอ้วนแน่นอนว่าในเลือดของเราจะมีไขมันและคอเลสเตอรอลมากขึ้น เป็นผลให้เส้นเลือดในร่างกายมีขนาดที่หนาขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจนเกิดการอุดตันในที่สุด และหากปล่อยไว้สามารถส่งผลร้ายแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจตายได้เช่นกัน
- โรคเบาหวาน อย่างที่เราทราบกันดีว่าคนที่เป็นโรคลงพุงแบบนี้จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว เนื่องจากตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้ไม่ดีเหมือนคนทั่วไปจนมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพราะร่างกายต้องใช้อินซูลินเพื่อย่อยน้ำตาลนั่นเอง
- ไขมันพอกตับ เกิดจากการที่ตับมีปริมาณไขมันมากเกินไป เนื่องจากพฤติกรรมการทานอาหารที่มีไขมันนั่นเอง เมื่อตับมีปริมาณไขมันสะสมมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดอาการไขมันพอกตับได้ในที่สุด
- กรดไหลย้อน เกิดจากผลกระทบของโรคอ้วนส่งผลให้ความดันในร่างกายมากขึ้นในบริเวณช่องท้อง รวมไปถึงกระเพาะอาหาร เป็นผลให้อาหารรวมถึงกรดในกระเพาะอาหารถูกดันกลับไปที่หลอดอาหารจนกลายเป็นกรดไหลย้อนในที่สุด
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การเกิดภาวะนี้เกิดจากการที่มีน้ำหนักตัวมากขึ้น เป็นผลให้ลำคอมีไขมันมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
ไม่เพียงแค่เท่านี้การเป็นโรคอ้วนยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ประจำเดือนเกิดความผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น แต่หากน้ำหนักตัวลดลง ปริมาณไขมันในร่างกายจะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ภาวะเหล่านี้บรรเทาลงเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญในการรักษาโรคอ้วน รวมถึงการดูแลพฤติกรรมการทานอาหารของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวนั่นเอง
การรักษาโรคอ้วน
สำหรับการรักษาในเบื้องต้นผู้ป่วยต้องควบคุมอาหารและดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้น้ำหนักลดลงและมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น แต่ในบางกรณีแพทย์อาจให้ทานยาที่มีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่กรณีนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์และต้องทำตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ในบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดก่อนการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป
การป้องกันโรคอ้วน
การป้องกันโรคนี้นั้นทำได้ไม่ยากแต่ต้องพึ่งความตั้งใจและการไม่ปล่อยปละละเลยนั่นคือ เราต้องควบคุมและปรับพฤติกรรมการทานอาหารให้ดีขึ้นพยายามไม่ทานอาหารจำพวกของทอดติดมันมากเกินไป รวมถึงการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง นอกจากนี้ยังควรชั่งน้ำหนักเป็นประจำเพื่อให้รู้แนวทางในการปฏิบัติตนให้มีน้ำหนักตรงตามมาตรฐานต่อไป
โรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจากความอยากทานตามใจปากของเราเสียมากกว่า ดังนั้นหากเราชนะใจตนเองได้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารบวกกับการออกกำลังกายเราจะห่างไกลโรคต่าง ๆ ได้หลายโรครวมถึงโรคอ้วนด้วย
โฆษณา