Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
LALANA MONDTREE
•
ติดตาม
4 ต.ค. 2024 เวลา 04:30 • ไลฟ์สไตล์
COMMON SENSE is not all that common! สำนึกที่ไม่สามัญ
บางครั้ง เคยสงสัยหรือหงุดหงิดกับบางการกระทำของคนใกล้ตัว ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาเลือกตัดสินใจทำในสิ่งนั้นๆ ทั้งที่เรามองว่าเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่าเข้าทางเอาเสียเลย (doesn’t make sense) และคาดการณ์แล้วว่าผลที่ออกมาจะไม่ดีแน่นอน
สามัญสำนึกแสดงถึงความสัมพันธ์การรับรู้ทางสังคม(และโลก) ที่มักถูกมองว่าเป็นชุดความรู้หรือความเชื่อที่ทุกคนมี แต่ไม่ได้ชี้ชัดบงการว่าความเชื่อใดที่ถือว่าเป็น "สามัญสำนึก" หรือมีใครบ้างที่มีความรู้หรือความเชื่อแบบเดียวกับเรา
โดยธรรมชาติ เราเริ่มเรียนรู้การเชื่อมโยงชีวิตระหว่างตัวเรากับโลกรอบตัวด้วยการลองผิดลองถูกผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า (5 senses) คือ ตาดู หูฟัง จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส ผิวกายรับสัมผัส ข้อมูลต่างๆที่เก็บรวบรวมจากประสาทสัมผัสจะถูกตีความในสมอง แล้วก่อเป็นความรู้สึกนึกคิดที่เก็บเป็นข้อมูลสะสม กลายเป็นความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโลกรอบตัว
ซึ่งมี"ครอบครัว"เป็นส่วนสำคัญของหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมที่เป็นต้นทางวัฒนธรรมแห่งความรู้สึกนึกคิด ที่ให้"ชุดค่านิยมของความเข้าใจหรือความเชื่อหนึ่ง" ให้เรารู้จักแยกแยะความเลว-ความดี หรือ ความผิด-ความถูก ที่เรียกเป็น"สามัญสำนึก"ที่เราคุ้นเคย ที่จะคอยชี้นำการตัดสินใจ
เมื่อเราออกไปสู่สังคมใหม่ เราได้สัมผัสกับวัฒนธรรมหรือแนวความคิดที่เราไม่คุ้นชินที่อาจจะขัดแย้งระหว่างเราและสังคมใหม่ อาจมีบางอย่างไม่เข้าท่าเข้าทางสอดคล้องตามความรู้ความคิดหรือความเชื่อที่มีอยู่เดิม รวมถึงความสามารถในการใช้เหตุผลของเราก็อาจดูแปลกแตกต่างจากคนอื่น
สามัญสำนึกจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างส่วนตัว เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้น สำนึกจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามัญ
แม้ว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าจะทำให้เรารับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกรอบตัว แต่ก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักเกณฑ์ที่เชื่อถือได้ในทุกสถานการณ์ เพราะการรับรู้ประสาทสัมผัสของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป
แต่“เหตุผล” ซึ่งเป็นศักยภาพทางการคิดในการเข้าใจถึงความเชื่อมโยงที่จำเป็นของข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากประสาทสัมผัสบวกรวมกับ"ประสบการณ์ในชีวิต" (ไม่ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ หรือการศึกษา) คือ "ตัวนำความรู้"ให้กับเรา
เหตุผลจึงมีความสำคัญมากกว่า เพราะประสาทสัมผัสให้ได้เพียงแค่ข้อมูล แต่เหตุผลคือ ตัวตัดสิน ดังนั้น คนที่มีข้อมูลหรือความรู้มากกว่าย่อมมีความสามารถในการใช้เหตุผลได้ดีกว่า
สามัญสำนึกไม่ได้ข้องเกี่ยวกับระดับความฉลาด แต่คือการเข้าใจโลกรอบตัว จากการสังเกต การเรียนรู้และการสะสมจากประสบการณ์ ช่วยให้เรามีความสามารถในการแก้ปัญหาในทางที่ทำได้จริง โดยอาศัยความเข้าใจประกอบการเลือกตัดสินใจจากข้อมูลและทางเลือกมีอยู่อย่างจำกัดให้เหมาะสมที่สุดในแต่ละสถานการณ์อย่างมีเหตุมีผล
ดังนั้น การยึดมั่นตามระบบตามบางความคิดหรือความรู้เดิม ๆ ที่นำไปเป็นเครื่องชี้นำในการใช้ชีวิตแบบไม่ต้องใช้ความคิด ไม่จำเป็นต้องคิด อาจทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ แถมยังเป็นเพียงผลร้ายที่ทำให้ชีวิตไม่เกิดการพัฒนาและย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่สิ่งรอบตัวก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลง
ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ต่างมีเหตุที่ให้ผล ต่างมีที่มาและที่ไป เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคยและคุ้นชิน เราอาจไม่เข้าใจ อาจรู้สึกสับสน ประหลาดใจ หงุดหงิดหรือไม่พอใจได้ จนทำให้เราต้องค้นหาคำตอบเพื่อเชื่อมโยงทุกอย่างที่เข้าท่าเข้าทางกับเรา(make sense) ให้เป็นไปตามที่ “เคยรับรู้หรือความเข้าใจที่มีอยู่เดิม”
สามัญสำนึกจึงเป็นหัวใจของการเอาตัวรอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะคอยเป็นเครื่องเตือนจำถึงความสำคัญของการใช้เหตุผล ให้เราปรับความคิดหรือประยุกต์ความรู้มากกว่าการยึดถือบางความคิดเดิม ๆที่ล้าสมัย ที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัว เพราะสามัญสำนึกมีนัยสำคัญต่อการอยู่รอด ด้วยสองหลักสำคัญ คือ
1) ช่วยให้มองเห็นวิธีการแก้ปัญหา
การมีความคิดริเริ่มและรู้จักวิธีการแก้ไขปัญหาต่อความขัดแย้งกับสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างมีเหตุผล ด้วยการใช้ความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น จะปลดปล่อยเราจากความทุกข์ให้เราได้เป็นอิสระ การเติบโตภายใต้เงื่อนไขที่ยากลำบากเป็นทักษะหนึ่งของการอยู่รอด ที่จะยังเตือนย้ำว่าเรายังไหวและรู้สึกถึงความเติมเต็มได้ในเวลาเดียวกัน
2) ช่วยให้รู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับโลกรอบตัว
การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมถือเป็นสามัญสำนึกหนึ่งของการเป็นมนุษย์ที่จะช่วยตอกย้ำถึงความมีตัวตนของเรา จากการเปิดรับความเชื่อมโยงด้วยการเคารพสิทธิของตัวเองและคนอื่น รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม เช่น เมาไม่ขับ เพื่อประกันความปลอดภัยของคนในสังคมจากการถูกละเมิด เพราะสามัญสำนึกย่อมยึดโยงอยู่กับความมีเหตุผลต่อทุกการตัดสินใจ
เราต่างมีความเข้าใจโลกผ่านประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้า
- มองว่าการรับรู้ความจริงของเราเป็นความเข้าใจเดียวในแง่มุมหนึ่ง ที่เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของภาพรวม
- มีมุมที่มองตัวเองว่า"เราเป็นคนไม่รู้" คือแรงผลักดันสำคัญให้เรามีความสามารถในการเรียนรู้ (ability to learn) โดยไม่ถูกจำกัดด้วยการยึดโยงความรู้ ความคิดเดิม ๆบางอย่าง หรือบางความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ เพียงเพราะเป็นสิ่งที่ยึดถือมานานที่อาจบิดเบี้ยวจนขัดแย้งในบางสถานการณ์ หรือบดบังโอกาสที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจ จนกระทบกับความเป็นอยู่ของเรา และ
- เตือนย้ำตัวเองอยู่เสมอ ถึงอิสรภาพที่เรามีมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ทันต่อโลกรอบตัว
เราก็จะเปิดพื้นที่แห่งความสงสัยเพื่อให้ตัวเองเติบโตได้มากยิ่งขี้น
ระลึกเสมอว่า ชีวิตของเราจะเวียนวนอยู่กับการเลือกตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยที่ไม่สำคัญ เราจึงต้องมีความรู้ที่จะเป็นเข็มทิศชี้นำในการเลือกตัดสินใจอย่างมีเหตุผลเพื่อความเป็นอยู่โดยรวมซึ่งจะเชื่อมโยงถึงการอยู่รอดของเรา
แม้ว่าบางแนวคิดหรือบางความเชื่อจะเข้าท่าสำหรับเรา แต่อาจไม่เข้าทางสำหรับคนอื่น
แต่"ทุกความรู้ใหม่"จะทำให้เราเติบโต - ไม่ว่าจะเล็กน้อยสักเพียงใด จะคอยเป็นตัวประสานเชื่อมโยงสรรพสิ่งในชีวิตเข้าหากัน จะช่วยเติมเต็มบางความรู้สึกทำให้เราเข้าใจตัวเองและรู้สึกถึงความหมายของชีวิตมากขึ้น
ที่สำคัญจะช่วยให้เรารู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะช่วยตอกย้ำถึงความมีตัวตนของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างในชีวิตมีเหตุผลมากขึ้น
ไลฟ์สไตล์
พัฒนาตัวเอง
ปรัชญา
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ห้อง'เรียน'
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย