Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dogology ฝึกหมาให้แฮปปี้ไปด้วยกัน
•
ติดตาม
4 ต.ค. 2024 เวลา 08:28 • สัตว์เลี้ยง
เคล็ดลับ! ฝึกหมาให้เชื่อฟังแม้ออกนอกบ้าน
ความตื่นตัวของหมาเป็นหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญที่สุดในการจัดการกับพฤติกรรมหมา เพราะเวลาที่หมาที่ตื่นตัวเกินไปคือเวลาที่หมาจะไม่สนใจเจ้าของ และอาจเกิดอันตรายขึ้นได้เวลาที่เราพาออกไปนอกบ้าน หัวใจสำคัญของการเลี้ยงสุนัขที่ดีคือการช่วยให้เขามีระดับไม่ตื่นเต้นจนเกินไปกับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ผมมักจะไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงประเด็นนี้ชัด ๆ เท่าไหร่โดยเฉพาะกับพ่อแม่มือใหม่ วันนี้เลยถือโอกาสเล่าประเด็นนี้ให้ฟังกันครับ
ทำไมระดับการตื่นตัวถึงสำคัญ ?
พ่อแม่หลายคนมักสงสัยว่าทำไมหมาเราเรียบร้อยดีเวลาอยู่บ้าน แต่พอที่ออกจากบ้านอยู่ ๆ ก็ หูดับ ไม่ฟังคำสั่ง กระชากสายจูง เรียกให้กลับมาก็ไม่สนใจ เมินเจ้าของ ซึ่งนี่เป็นอาการของหมาที่ตื่นเต้นเกินไปนี่แหละครับ
ซึ่งนอกบ้านก็แน่นอนว่ามีอันตรายมากกว่าในบ้าน นั่นทำให้การที่หมาไม่สนใจเราเวลาที่ออกจากบ้าน โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉินจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ๆ เช่น เวลาสายจูงหลุดนอกบ้าน หมาที่ระดับอารมณ์กำลังดี เราแค่เรียกให้มาหา หรือบอกให้นั่งรอ ให้เราเดินใส่สายจูงเข้าไปใหม่ได้ง่าย ๆ ในขณะที่หมาที่ตื่นเต้นเกินไปเขาพร้อมจะพุ่งไปทุกทิศทางโดยไม่สนใจเรา ซึ่งอาจจะหาย หรือมีอุบัติเหตุได้
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการจัดการระดับอารมณ์หมาให้ได้ถึงสำคัญมาก ๆ สำหรับการเลี้ยงสุนัขโดยเฉพาะเวลาออกนอกบ้าน
ระดับการตื่นตัวของหมาคืออะไร ?
เวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวหมานั้นหมาจะเกิดการรับรู้ และหมาทุกตัวจะมีขีดจำกัดของการรับรู้อยู่ และถ้ามันเกินขีดจำกัดของเขา หมาจะไปถึงจุดที่เราเรียกว่า Over Threshold หมายถึงว่าหมาตัวเกินไปแล้ว ทำให้เขาจะอยู่ที่สภาวะที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ จะเริ่มหูดับ ไม่ฟังคำสั่ง ร้อง เห่า อาละวาด วิ่งพล่าน และอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หรือถ้าเป็นหมาเด็กเขาอาจจะฉี่ราดได้ด้วย
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับการเลี้ยงสุนัขนะครับ กับมนุษย์เองก็มีอะไรแบบนี้ นึกถึงเวลาที่เราไปตามสถานที่ที่คนพลุกพล่านและมีอะไรเกิดขึ้นเยอะ ๆ เช่นผับ หรือคอนเสิร์ต แสง สี เสียงของสถานที่เหล่านั้นมันกระตุ้นให้เราอยากขยับหรือลุกขึ้นมาเต้นมากกว่าที่จะหลับ สำหรับหมานั้นยิ่งยากกว่ามากเพราะประสาทสัมผัสของเขาส่วนใหญ่ดีกว่าเราเยอะ นั่นทำให้เขารับรู้อะไรมากกว่าที่เรารับรู้ และในขณะเดียวกันความสามารถในการยับยั้งชั่งใจนั้นน้อยกว่าเรา
ระดับความตื่นตัวของหมาอาจเกิดได้จากการกระตุ้นในทุกรูปแบบครับ ทั้งจากความกลัว ความสนใจมาก ๆ กับบางอย่าง หรือแม้แต่ความสนุกที่มากเกินไปก็ทำให้เขาเข้าสู่สภาวะที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ได้ และไม่ว่าเขาจะมาถึงสภาวะนี้ด้วยสาเหตุไหนก็ตาม การถูกกระตุ้นมากเกินไปจะกลายเป็นความเครียดที่ต้องใช้เวลาถึง 3 วันในการเคลียร์ตัวเอง โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วเราอาจจะเห็นหมาเขาซึม ๆ แปลก ๆ ไปได้ถึง 3 วัน ดังนั้นนอกจากความปลอดภัยแล้วเรื่องนี้ก็สำคัญต่อการเลี้ยงสุนัขในด้านสุขภาพด้วย
วิธีการจัดการกับความตื่นตัวของหมา
องค์ประกอบของความตื่นตัวของหมาที่สำคัญต่อการเลี้ยงสุนัขนั้นแบ่งหลัก ๆ ได้ 3 อย่างครับ คือ
1. ขีดจำกัดความตื่นตัวของเขา หมายถึงความสามารถของเขาในการทนต่อการกระตุ้น
2. ระดับการกระตุ้นของสิ่งรอบตัว หมายถึงว่าสิ่งของ หรือเหตุการณ์แต่ละอย่างสามารถกระตุ้นเขาได้แค่ไหน
3. ความสามารถในการจัดการอารมณ์ หมายถึงว่าหมาเราเวลาถูกกระตุ้นสามารถปล่อยผ่านมันได้ดีแค่ไหน
ให้นึกภาพถังหนึ่งใบครับ ความจุของถังใบนี้คือขีดจำกัดของคุณหมาเรา เริ่มจากตอนที่เขานอนนิ่ง ๆ อยู่บ้านถังใบนี้เป็นถังเปล่า ๆ และเวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นถังใบนี้จะถูกเติมตามแต่ระดับการกระตุ้น เช่น ระหว่างที่เขานอนอยู่เขาเห็นกระรอกวิ่งผ่านหน้าต่างทำให้ถังเขาถูกเติมน้ำไป 50% แล้ว หมาที่จัดการอารมณ์ได้ดีและไม่มีอะไรมากระตุ้นเติมจะสามารถ’ระบายน้ำ’ ออกจากถังได้ด้วยตัวเอง ผ่านไป 1 ชั่วโมง ถังน้ำอาจลดลงเหลือ 10%
แต่ถ้าจากกระรอกที่วิ่งผ่านหมายังไม่ทันได้จัดการตัวเอง มีคนมากดกริ่งหน้าบ้านเสียงกริ่งเติมน้ำเพิ่มไปอีก 30% เป็น 80% แล้ว เขาวิ่งออกมาดูเห็นเป็นคนแปลกหน้าเติมน้ำเพิ่มไปอีก 50% เป็น 130% ตอนนี้น้ำในถังล้นแล้วใช่ไหมครับ หมายถึงว่าสิ่งกระตุ้นทั้งหมดรวมกันเกินระดับขีดจำกัดของหมาแล้ว หมาเลยเริ่มเห่า โวยวาย วิ่งไปมารอบบ้าน เรารู้ว่าเป็นไลน์แมนมาส่งข้าวเราเลยพยายามให้หมาหยุดเห่า แต่เขาไม่ฟังอะไรแล้วตอนนี้
นั่นคือตัวอย่างของทั้ง 3 องค์ประกอบเกี่ยวกับการจัดการกับความตื่นตัวในการเลี้ยงสุนัขครับ ดังนั้นหมายถึงว่าถ้าเราจะจัดการกับความตื่นตัวของเขาให้เราสามารถโฟกัสไปที่ 3 ประเด็นที่ว่ามานี้
1. ขีดจำกัดของความตื่นตัว
หมาในแต่ละช่วงอายุจะมีขีดจำกัดแตกต่างกัน โดยสำหรับหมาเด็กนั้นเรียกได้ว่าแทบจะเกินได้ตลอดเวลา และเมื่อเพิ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ เขาจะมีขีดจำกัดที่สูงขึ้น และทนต่อการถูกกระตุ้นได้ง่ายขึ้น ปัจจัยนี้มักอยู่นอกเหนือความควบคุม แต่สิ่งสำคัญต่อการเลี้ยงสุนัขคือเราต้องรู้ว่าเราควรที่จะคาดหวังระดับความอดทนระดับไหนจากหมาของเรา เช่น ถ้าเรามีลูกหมา เราอาจจะยังไม่ควรเล่นกับเขาครั้งละนาน ๆ ไม่งั้นเขาจะเริ่มอาละวาด แต่ให้เล่นเป็นครั้งละสั้น ๆ วันละหลาย ๆ ครั้งแทน
2. ระดับการกระตุ้นของสิ่งรอบตัว
สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้กระตุ้นหมาเราได้เท่ากัน เขาไม่ตื่นตัวกับเจ้าของเท่ากับคนแปลกหน้า ไม่ตื่นเต้นกับอาหารที่กินทุกวันเท่ากับขนม หนึ่งในสิ่งที่ส่งผลที่สุดต่อระดับการกระตุ้นคือความใหม่ของมัน หมามักจะถูกกระตุ้นได้ง่ายกับของใหม่กว่าเสมอ ทั้งในมุมของความน่าสนใจ หรือความกังวลกับสิ่งใหม่
สิ่งที่เราทำได้ง่าย และเป็นประโยชน์ที่สุดคือการลดระดับการกระตุ้นของสิ่งรอบตัว ช่วยให้เขาสนใจอะไรแปลก ๆ น้อยลง วิธีการง่าย ๆ คือการให้ขนมเขาเขาเวลาที่เขาเจออะไรใหม่ ๆ เช่น ให้ขนมเขาเวลาที่เห็นหอยทาก เดินผ่านรถจักรยานก็ให้รางวัล ฟ้าผ่าก็ให้รางวัล ได้ยินเสียงประทัดก็ให้รางวัล
สาเหตุที่วิธีนี้ได้ผลดีเพราะการกินคือสิ่งที่ช่วยลดการตื่นตัวให้หมาได้ดีมาก ๆ และอีกเหตุผลคือถ้าเขาชินกับการได้รางวัลจากเราเวลาที่เจออะไรใหม่ ๆ นั่นหมายถึงว่าเวลามีอะไรเกิดขึ้นเขาจะหันมาหาเราก่อน แทนที่จะโฟกัสกับสิ่งนั้นและถูกกระตุ้นไปเรื่อย ๆ
3. เพิ่มความสามารถในการจัดการอารมณ์
อีกเรื่องที่ฝึกได้ไม่ยากคือการฝึกให้เขาจัดการอารมณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้น ให้เขาผ่อนคลายได้เร็วขึ้นหลังจากที่ตื่นตัว โดยหลักการคือการให้เขาผ่อนคลายสลับกับตื่นตัวบ่อย ๆ โดยกิจกรรมที่เราเล่นกับเขาได้เพื่อฝึกเรื่องนี้มีกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ๆ คือ การฝึกให้เข้ากรง หรือไปที่นอน
เราควรมีมีกรง หรือที่นอนส่วนตัวให้กับเขา โดยให้เขาใช้เป็นพื้นที่สำหรับผ่อนคลาย และเป็นบริเวณสำหรับพัก โดยขั้นตอนฝึกง่าย ๆ คือ
1. ใช้เอาขนมไปจ่อหน้าเขา เพื่อดึงความสนใจโดยอย่าเพิ่งให้เขากิน
2. ขยับขนมและให้เขาตามมา
3. ใช้ขนมดึงดูดเขาไปยังที่ที่เรากำหนด
4. เมื่อเขามาถึงแล้วถึงจะได้รางวัล
5. พาเขาออกจากพื้นที่เพื่อเริ่มต้นใหม่
6. ทำเหมือนเดิมใหม่อีกรอบจนเขาคล่องแล้วหยุดเอาขนมล่อ ให้ใช้มือเปล่าล่อแทน (แต่ยังให้เป็นรางวัลอยู่)
7. ใช้มือเปล่าล่อได้คล่องแล้ว จะเริ่มเพิ่มคำสั่งเสียงตามความถนัด เช่น “เข้าบ้าน” “ไปนอน” “ไปพัก” “ขึ้นเตียง” เป็นต้น
8. ทำใหม่ โดยคราวนี้เพิ่มคำสั่งเสียงก่อนจะล่อเขาไปที่ที่เรากำหนดจนเขาคล่อง
9. เริ่มเขามือออก เหลือแค่คำสั่งเสียงและรางวัล
*ระหว่างขั้นตอนทั้งหมดนี้หมาอาจจะเริ่มเดินเข้าไปเองโดยเราไม่ต้องล่อ หรือออกคำสั่ง ถ้าเขาทำให้เราให้รางวัลเขาเยอะ ๆ เลย เพราะนั่นหมายความว่าเขาเห็นที่นี่เป็นที่ที่เขาชอบแล้ว
ต่อมาเมื่อเขาทำได้แล้ว จะเป็นเรื่องของการใช้งานคำสั่งนี้เพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการอารมณ์ โดยสิ่งที่ทำง่าย ๆ คือ
เริ่มจากการเล่นกับเขาให้สนุกที่สุดที่เราทำได้ เช่น ส่งเสียงโวยวาย กระโดดโลดเต้นไปกับเขา ทำทุกอย่างที่คิดออกเพื่อกระตุ้นเขาให้สุด ๆ
ถ้าคิดว่าสุดแล้วให้ใช้คำสั่งเข้ากรง หรือให้เขาขึ้นเตียง และทำให้เขาเข้าไปให้ได้
เมื่อเขาเข้าไปแล้วอย่าให้เขาออกมาจนกว่าจะสงบ
เมื่อเข้าเริ่มสงบแล้วให้เขาออกมาแล้วกระตุ้นเขาใหม่อีกรอบ ทำซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง
กิจกรรมนี้จะทั้งสนุกเราและหมา เพราะเราและเขาจะได้ขยับตัวเยอะ และปลดปล่อยเต็มอารมณ์กันได้เต็มที่ แต่สิ่งสำคัญที่หมาจะได้คือเขาจะเริ่มจัดการตัวเองได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ เขาจะใช้เวลาน้อยลงในการสงบในแต่ละรอบ จนถ้าทำบ่อย ๆ จะเหมือนกดปุ่มปิดแบบทันทีได้เลย
ทั้งหมดนี้คือหลักการทั้งหมดเกี่ยวกับการจัดการระดับอารมณ์หมา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเลี้ยงสุนัขนะครับ หวังว่าจะช่วยให้แต่ละบ้านเข้าใจคุณหมา และช่วยเขาอาละวาดได้น้อยลง เทคนิคเพิ่มเติมในหัวข้อนี้จะมีตามาเรื่อย ๆ อย่าลืมติดตามกันนะครับที่
www.dogology.org/blog
สัตว์เลี้ยง
สุนัข
ครอบครัว
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย