5 ต.ค. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ธ.ก.ส.หนุน “ธนาคารต้นไม้” สู่การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต

ธ.ก.ส. ผลักดันธนาคารต้นไม้ 9 ชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา สู่การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้กว่า 1,500 ล้านบาท หนุนปลูกป่าเพิ่มปีละ 108,000 ต้น
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผลักดัน 9 ชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สู่การ “ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้” ผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit พร้อมขยายผลไปยังธนาคารต้นไม้อีกกว่า 6,800 ชุมชนทั่วประเทศ ตั้งเป้าสร้างคาร์บอนเครดิตสะสม 5.10 แสนตันคาร์บอนภายในปี 2571 สร้างรายได้ให้ชุมชนมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท และยังช่วยให้เกิดการปลูกป่าเพิ่มอีกปีละ 108,000 ต้น ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่ช่วย “ลดโลกร้อน”
เกียรติศักดิ์ พระวร ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.
นายเกียรติศักดิ์ พระวร ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เร่งขับเคลื่อนโครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วม 6,814 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียน 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 120,000 คน มูลค่าต้นไม้ในโครงการกว่า 43,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังส่งเสริมการนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้ที่ดินและนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ทำให้สมาชิกมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท
เพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 ธ.ก.ส. ได้จัดตั้งโครงการ BAAC Carbon Credit ขับเคลื่อนการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้อย่างเป็นทางการในไทย ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย
ซึ่งมีการซื้อ-ขายครั้งแรกไปแล้วที่ชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น 400 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. รับซื้อในราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท.....นายเกียรติศักดิ์ กล่าว
ธนาคารต้นไม้บ้านหลุมมะขาม จ.ฉะเชิงเทรา
นายเกียรติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากช่วงนี้มีมิจฉาชีพที่แอบอ้างขายกิ่งพันธุ์ พร้อมบอกว่าจะรับซื้อคาร์บอนเครดิต หรือนำเข้าร่วมโครงการ BAAC Carbon Credit ขอให้ระมัดระวัง เนื่องจาก ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายขายกิ่งพันธุ์ใด ๆ ทั้งสิน รวมถึงไม่มีนโยบายคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช่จ่ายใด ๆ ในการเข้าร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส.​
ธ.ก.ส.หนุนธนาคารต้นไม้ 9 ชุมชน สู่การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
ล่าสุด ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนธนาคารต้นไม้ 9 ชุมชน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งประสงค์เข้าร่วมโครงการ T-VER ประกอบด้วย
1. ธนาคารต้นไม้ บ้านหลุมมะขาม
2. ธนาคารต้นไม้ บ้านเกาะบรเพชร
3. ธนาคารต้นไม้ บ้านแปลงนกเป้า
4. ธนาคารต้นไม้ บ้านวังเย็น
5. ธนาคารต้นไม้ บ้านหนองไม้แก่น
6. ธนาคารต้นไม้ บ้านวังกะจะ
7. ธนาคารต้นไม้ บ้านห้วยหิน อ.สนามชัยเขต
8. ธนาคารต้นไม้ บ้านวังหิน อ.ท่าตะเกียบ
9. ธนาคารต้นไม้ บ้านอ่างเตย อ.ท่าตะเกียบ
มีสมาชิก 61 คน มีพื้นที่ 81 แปลงรวมพื้นที่ 1,226 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา มีจำนวนต้นไม้ที่เข้าร่วมโครงการ 32,155 ต้น คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต 305.47 ตันคาร์บอนต่อปี
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างยื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียน T-VER กับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก พร้อมขยายผลไปยังชุมชนธนาคารต้นไม้อีกกว่า 6,800 ชุมชนทั่วประเทศ หนุนการปลูกป่าเพิ่มอีกปีละ 108,000 ต้น และวางเป้าหมายสร้างปริมาณการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตอีกกว่า 510,000 ตันคาร์บอนภายในปี 2571​​.....นายเกียรติศักดิ์ กล่าว
วินัย สุวรรณไตร ผู้นำชุมชนไม้มีค่า ธนาคารต้นไม้บ้านหลุมมะขาม จ.ฉะเชิงเทรา
นายวินัย สุวรรณไตร ผู้นำชุมชนไม้มีค่า ธนาคารต้นไม้บ้านหลุมมะขาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายธนาคารต้นไม้จังหวัดฉะเชิงเทราได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. ตลอดมา ตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งธนาคารต้นไม้ การยกระดับธนาคารต้นไม้ไปสู่ชุมชนไม้มีค่า การนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินด้วยการนำไปใช้เป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส รวมถึงการสร้างรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้อย่างต้นยางนา
นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เช่น สบู่ยางนา เซรั่มบำรุงผิวจากยางนา น้ำบำรุงผิวสกัดจากใบยางนา น้ำมันยางนา ตลอดจนนำเครื่องสกัดยางนามาสกัดสารต่าง ๆ จากพืชอื่น ๆ เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สร้างอาชีพและสร้างรายได้ควบคู่กับการขายคาร์บอนเครดิต
การปลูกต้นไม้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซค์ ช่วยลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยังมีหลักประกันจากไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้เป็นทุนสะสมใช้ยามฉุกเฉินหรือเมื่ออายุมากขึ้นอีกด้วย.....นายวินัย กล่าว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/sustainability/233982
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา