4 ต.ค. เวลา 10:27 • ความคิดเห็น

มาทำ information diet กัน

ทำไมโลกที่ใครๆเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้แค่ปลายนิ้ว อยากรู้อะไรก็รู้ได้ในพริบตา กลับไม่นำไปสู่โลกที่ดีขึ้น?
โปรเฟสเซอร์ ยูวาล ฮารารี่ ผู้เขียน Sapiens ตอบคำถามสุดยอดนักสัมภาษณ์อย่าง Steve Bartlett (ทั้งคู่จะมางาน Dragonfly 2024 ที่เมืองไทยกลางตุลาคมนี้) ถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ก็เพราะข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ที่เข้าถีงได้ง่ายในตอนนี้เป็นขยะซะเยอะ
โปรเฟสเซอร์ยูวาลเทียบกับเรื่องอาหารที่เมื่อไม่มีร้อยปีก่อนอาหารหาได้ไม่ง่าย ในสมัยนั้นทุกคนคิดว่าถ้ามีอาหารล้นเหลือ อยากกินอะไรก็ได้กินก็น่าจะดี แต่พอถึงยุคนี้ที่อาหารมีง่ายหาง่าย แบบสะดวกสบายก็มาในรูปแบบอาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ด กลับนำมาซี่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆมากขึ้น
แต่ก่อนข้อมูลข่าวสารนั้นจำกัดมาก เราจะเข้าถึงได้ก็ต้องค้นหาและตั้งใจอ่านจากหนังสืออย่างช้าๆ แต่เดี๋ยวนี้ข้อมูลข่าวสารล้นเกินในทุกช่องทาง แต่ข้อมูลเหล่านั้นมีแต่สารปนเปื้อน มีเรื่องกระตุ้นให้อยากได้ใคร่มี กระตุ้นให้โกรธ กระตุ้นให้กลัว เพราะเป็นโมเดลทางธุรกิจของยักษ์ใหญ่ด้านนี้ที่ต้องการได้ attention จากผู้เสพ
โปรเฟสเซอร์ ยูวาล บอกว่าปัญหาของโลกที่ดูจะสับสนวุ่นวาย เกลียดชังกันมากขึ้นนั้นอยู่ที่อัลกอริทึ่ม (algorythm) ของเทคแพลตฟอร์มทั้งหลาย เพราะเทค
แพลตฟอร์มต้องการความสนใจและการใช้เวลากับแพลตฟอร์ม (engage) ให้นานที่สุด เพราะยิ่งคนใช้คนดูมาก ก็ยิ่งทำเงินมากเท่านั้น และสิ่งที่ทำให้คนสนใจมากที่สุดตามที่อัลกอริทึ่มได้ลองและคำนวณมาว่าคอนเท้นท์อะไรที่คนจะดูเยอะ แชร์เยอะ ก็คือ การกดปุ่มความกลัว (fear) ความเกลียดชัง (hate) และความโลภ (greed) ในใจคน…
พอรู้ถึงปุ่มที่จะกระตุ้นมนุษย์ให้ยิ่งดู ยิ่งแชร์ ยิ่งกดไลค์ ทั้งสามปุ่มนี้ อัลกอริทึ่มก็จะยิ่งส่งคอนเท้นท์ที่กระตุ้นความกลัว ความเกลียด และความโลภ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นคอนเท้นท์หลักที่ผู้คนเสพ จึงเป็นที่มาของข่าวลวง ข่าวปลอม ต่างๆท่วมจอ และยิ่งแพลตฟอร์มโตจากผู้ใช้ทำคอนเท้นท์เอง ( user generated content) แพลตฟอร์มก็มีหน้าที่แค่แนะนำหรือโชว์ให้เราดูต่อๆกันแบบอัตโนมัติเพื่อให้เราดูต่อเนื่อง
ซึ่งคอนเท้นท์ที่เกี่ยวกับความกลัว ความเกลียดชังและความโลภนั้นเป็นคอนเท้นท์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
และยิ่งเวลาผ่านไป สมองกับใจเราก็จะถูกใส่อาหารขยะแบบนี้เข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดก็จะกระทบกับสุขภาพจิตเหมือนกับอาหารขยะที่มาพร้อมกับความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ เช่นกัน .. โปรเฟสเซอร์ยูวาลจึงชวนให้เราต้องมีการทำ Information diet กันบ้างเหมือนกับการควบคุมอาหารหรือ fasting กันเป็นระยะด้วยเช่นกัน
ถ้าพอเข้าใจสิ่งที่โปรเฟสเซอร์อธิบายและรู้เท่าทันอัลกอริทึ่ม เราควรจะค่อยๆย่อย ข้อมูลข่าวสาร เลือกเสพข้อมูล ไม่ต้องตามไปรู้ ไปอ่าน ไปฟังทุกเรื่องก็ได้ เพราะเรื่องที่ฮิตๆ คนเข้าไปดูเยอะๆที่เราคิดว่าจะพลาดนั้น ตอนนี้ก็เริ่มมีบอทมาปั่นเพิ่มเข้าไปอีก
ทางหนึ่งที่อาจจะย้อนทางกลับไปในยุคสมัยที่ข้อมูลยังไม่ล้นเกิน การค่อยๆย่อย ค่อยๆละเลียดข้อมูล มีเวลาคิด พินิจพิเคราะห์ก็คือการวางมือถือแล้วหาหนังสือสักเล่มมาค่อยๆ อ่าน หนีจากโลกแห่งอัลกอริทึ่มอย่างน้อยซักช่วงเวลาหนึ่ง ก็น่าจะเป็นการทำ information diet ที่ไม่เลวนักในยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารล้นเกินแบบนี้..
งานสัปดาห์หนังสือกำลังใกล้เข้ามา มีหนังสือดีๆที่น่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการทำ information diet ได้ไม่ยาก และไหนๆแล้วก็ถือโอกาสโฆษณาหนังสือเล่มใหม่ของผมแบบไทอินเนียนๆกับบทความไปพร้อมกันนะครับ
“JOMO (Joy of Missing Out) ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องได้ทุกอย่างเพื่อมีความสุข”
พรีออเดอร์ได้ตามลิ้งค์นี้เลยครับ
โฆษณา