งูเขียวปากจิ้งจก กับบรรยากาศฝนตก ที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง

งูเขียวปากจิ้งจก/Oriental whipsnake ชื่อวิทยาศาสตร์ : 𝘼𝙝𝙖𝙚𝙩𝙪𝙡𝙡𝙖 𝙥𝙧𝙖𝙨𝙞𝙣𝙖 วงศ์ : COLUBRIDAE (วงศ์งูพิษเขี้ยวหลัง)
งูเขียวปากจิ้งจก มีขนาดตัวเล็ก หัวยาว ส่วนปลายของหัวเรียวแต่ขอบด้านหน้ามน ตาใหญ่ ลำตัวเรียวและยาว หางเรียวและยาว สีลำตัวมีหลายแบบ แต่ทุกสีมีลวดลายบนลำตัวเหมือนกันคือ ผิวหนังระหว่างแผ่นเกล็ดที่มีสีขาวกับขอบของแผ่นเกล็ด ที่มีสีดำได้เรียงตัวเป็นลวดลายในแนวเฉียงพาดลำตัว
อาศัยอยู่ตามต้นไม้ พบทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ในป่าทุกประเภท
งูเขียวปากจิ้งจก เป็นงูที่มีพิษอ่อนมาก โดยพิษจะสามารถทำอันตรายได้เฉพาะสัตว์เล็กที่เป็นอาหาร เช่น จิ้งจก กิ้งก่า นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก
งูเขียวปากจิ้งจก มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับงูอีก 2 ชนิด ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน คือ งูเขียวปากแหนบและงูเขียวหัวจิ้งจกมลายู ทั้ง 3 ชนิด จะมีความหลากหลายทางสีสันมาก โดยจะมีสีสันแตกต่างหลากหลายออกไป ทั้งสีเขียว สีส้ม สีเหลือง สีน้ำตาล สีเทา สีฟ้า หรือ สีเหล่านี้ผสมกัน โดยงูที่มีโทนสีส้ม จะถูกเรียกว่า "กล่อมนางนอน" ขณะที่งูที่มีโทนสีเทาจะถูกเรียกว่า "ง่วงกลางดง"
ข้อมูล : ศูนย์กิจกรรมเพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ENAC)
📸 : ฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ที่มา : อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)
#งูเขียวปากจิ้งจก #อุทยานแห่งชาติเขาหลวง #นครศรีธรรมราช #กรมอุทยานแห่งชาติ #สัตว์ป่า
โฆษณา