5 ต.ค. เวลา 05:18 • สุขภาพ
เชียงราย

รพ.แม่ลาวขยายออกหน่วยทำ "ขาเทียม" 2 อำเภอเชียงรายปีงบ 68

มูลนิธิขาเทียมฯ รพ.แม่ลาว จ.เชียงราย ให้บริการใส่ขาเทียมเฉลี่ยปีละ 100 ขา ช่วยคนพิการใช้ชีวิตปกติ เผยปีงบ 68 เตรียมขยายนอกพื้นที่ 2 อำเภอ "เวียงป่าเป้า-พญาเม็งราย" ชี้สาเหตุหลักพิการเกิดจากอุบัติเหตุ ตามด้วยเบาหวาน มะเร็ง และแผลติดเชื้อ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โรงพยาบาลแม่ลาว ที่ให้บริการขาเทียมแก่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.แม่ลาว และพื้นที่ใกล้เคียงใน จ.เชียงราย ว่า
บริการขาเทียมเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์กายอุปกรณ์ ภายใต้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคนพิการ เพราะทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ แต่การดูแลให้คนพิการได้เข้าถึงกายอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ซึ่งรวมถึงขาเทียมจำเป็นต้องมีหน่วยงานหลังร่วมดำเนินการ
อย่างที่มูลนิธิขาเทียมฯ โรงพยาบาลแม่ลาวนี้ ที่ได้ให้บริการขาเทียมกับคนพิการในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการผลิตขาเทียม 4 แบบ ที่เหมาะสมกับลักษณะของขาคนพิการ และช่วยในการดำเนินชีวิตมากที่สุด
วันนี้นอกจากได้มาเยี่ยมชมการให้บริการขาเทียมของมูลนิธิฯ แล้ว ยังได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน ว่ายังมีอะไรที่ต้องปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม รวมถึงในส่วนของการเบิกจ่ายค่าบริการต่างๆ ในระบบ
จากการรับฟังความคิดเห็นพบว่า ผู้ป่วยหลายคนมาจากต่างอำเภอ ต้องเสียค่ารถเวลามารับบริการ ดังนั้นหากขยายศูนย์จัดทำขาเทียมให้มากขึ้น ก็จะทำให้ผู้พิการเข้าถึงขาเทียมได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าอุปกรณ์บางรายการยังไม่มีในชุดสิทธิประโยชน์ ทาง สปสช. ก็จะรับไปดูว่าจะดำเนินการอย่างไรได้อีก ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในการดูแลคนพิการให้ได้มากที่สุด
นพ.คงศักดิ์ ชัยชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ลาว กล่าวว่า โรงพยาบาลแม่ลาวมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางการเคลื่อนไหวด้วยการให้บริการด้านการทำขาเทียมที่มีคุณภาพสูง โดยทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และช่างผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตขาเทียมเฉพาะบุคคล ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสร้างขาเทียม ทั้งการวัดขนาด การผลิต และการปรับแต่งเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างมันใจและสะดวกสบาย
ตั้งแต่เปิดให้บริการเป็นต้นมาสามารถจัดทำขาเทียมแล้วมากกว่า 1,000 ขา เฉลี่ยปีละเกือบ 100 ขา โดยใช้เวลาทำชาเทียมใต้เข่าแค่ 1 วัน และเหนือเข่า 2 วัน ผู้ป่วยก็สามารถเดินได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ
นอกจากการโรงพยาบาลยังให้บริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น ให้คำปรึกษา และติดตามผลหลังจากผู้ป่วยได้รับขาเทียม ด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมผู้เชี่ยวชาญ
นายนพณัช บุญสุข นักกายภาพบำบัด กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลแม่ลาว กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความพิการจนต้องใส่ขาเทียมคือ อุบัติเหตุทางจราจร รองลงมาคือป่วยด้วยโรคเบาหวาน มะเร็งที่ขา และแผลติดเชื้อ ส่วนมากจะต้องการใส่ขาเทียมใต้เข่าเป็นหลักและต้องทำการเปลี่ยนขาเทียมใหม่ทุก 2 ปี โดยคนพิการที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เวลาเดินทางมากจะต้องจ้างเหมารถในราคาประมาณ 2,000 บาทต่อครั้ง ทำให้เป็นอุปสรรคการเข้าถึงบริการของคนพิการที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
ดังนั้นในปีงบประมาณ 2568 โรงพยาบาลแม่ลาวจึงมีแผนออกไปให้บริการทำขาเทียมนอกพื้นที่ เบื้องต้นตั้งเป้าที่ อ.เวียงป่าเป้า และ อ.พญาเม็งราย มีกลุ่มเป้าหมายคือคนพิการที่อยู่ห่างไกลหรือเดินทางมาโรงพยาบาลลำบาก คาดว่าจะให้บริการได้อำเภอละประมาณ 20 คน
นายสุชาติ โตน้อย อายุ 58 ปี ชาว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หนึ่งในผู้พิการที่มารับบริการจัดทำและปรับแต่งขาเทียมที่โรงพยาบาลแม่ลาว กล่าวว่า ตนประสบอุบัติเหตุถูกรถไฟทับขา ทำให้ขาขาด ต้องใส่ขาเทียมมานานกว่า 10 ปีแล้ว ปกติจะต้องเปลี่ยนขาเทียมทุกๆ 2 ปี โดยมาทำขาเทียมที่โรงพยาบาลแม่ลาว
การได้รับขาเทียมทำให้สามรรถเดินทางไปไหนมาไหนได้ สามารถทำงานหาเงินได้บ้าง มีกำลังใจสู้ชีวิต ต้องขอขอบคุณมูลนิธิขาเทียมและ สปสช. อย่างมาก ถ้าไม่มีขาเทียมการใช้ชีวิตก็คงลำบากกว่านี้
#ขาเทียม #เชียงราย #แม่ลาว #สปสช
โฆษณา