6 ต.ค. 2024 เวลา 10:59 • การเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างอดีตเลขานาโต “เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” กับ “เคจีบีสายลับโซเวียต”

และความพยายามลาก “ยูเครนเข้านาโต” อย่างทุ่มสุดตัวของเขา
“เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” ก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการนาโตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 หลังจากดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ปี 2014 โดยได้มีการส่งไม้ต่อให้กับ “มาร์ก รุตเต้” อดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์เข้ามาแทนที่ตำแหน่งของเขา โดยสโตลเทนเบิร์กก็เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ที่อายุน้อยที่สุดของประเทศ (ตอนอายุ 41 ปี)
มาร์ก รุตเต้ (ซ้าย) เลขาธิการนาโตคนปัจจุบันซึ่งรับไม้ต่อจาก เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เมื่อ 1 ตุลาคม 2024 เครดิตภาพ: JOHN THYS / AFP via Getty Images
“เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” อดีตเลขาธิการนาโตหลังลงจากตำแหน่งได้ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times (FT) เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า “เมื่อครั้งยังหนุ่ม เขามักพบปะกับเจ้าหน้าที่เคจีบีที่เคยทำงานในนอร์เวย์เป็นประจำ” - อ้างอิง: [1]
สโตลเทนเบิร์กเคยติดต่อกับเคจีบีในกรุงออสโลในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อเขาเป็นหัวหน้ากลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นองค์กรเยาวชนของพรรคแรงงานนอร์เวย์ คำให้สัมภาษณ์ของเขา “มันแปลกมาก พ่อของผมบอกว่าคนที่คุณควรพูดคุยด้วยในสถานทูตรัสเซียมีแต่เจ้าหน้าที่เคจีบีเท่านั้น เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มเดียวที่มีอิทธิพล” สโตลเทนเบิร์กกล่าว
ผมไม่เคยทำอะไรที่น่าละอายเลย แต่ความคิดทั้งหมดก็คือพวกเขาเชิญผมไปทานมื้อเย็น และผมก็ได้กินแซนวิชกุ้งตัวเบิ้มที่โต๊ะเดียวกับพวกเขาในร้านอาหารเดียวกันในออสโล ประมาณเดือนละครั้ง กับผู้ชายคนหนึ่งชื่อคิริลอฟ และเขาคือเคจีบี ไม่ต้องสงสัยเลย - เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก
1
เครดิตภาพ: Private collection / AFP
อดีตเลขาธิการนาโตกล่าวว่า พ่อของเขาซึ่งรู้จักกับ “วิกเตอร์ กรุชโก” ซึ่งเป็นสายลับเคจีบีที่แอบอ้างตัวเป็นนักการทูตในนอร์เวย์ ได้แนะนำให้ลูกชาย (ตัวสโตลเทนเบิร์ก) อนุมัติให้มีการประชุมดังกล่าวกับหน่วยข่าวกรองของนอร์เวย์ทุกครั้ง
ในปี 1991 หน่วยข่าวกรองของนอร์เวย์ได้ติดต่อมาหาผมและพูดว่า “คุณช่วยเราโน้มน้าวให้คิริลอฟแปรพักตร์ได้ไหม” ผมรู้จักชายคนนี้มา 10 ปีแล้ว ในมื้อค่ำมื้อสุดท้าย ผมพูดว่า “ผมรู้จักคุณ คุณรู้จักผม ถ้าคุณต้องการออกไป (หนีจากรัสเซีย) มาหาผม นอร์เวย์เป็นประเทศที่ยอดเยี่ยม พวกเขาจะดูแลคุณเอง” สโตลเทนเบิร์กกล่าว
แต่คิริลอฟไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ ต่อมาสโตลเทนเบิร์กได้ทราบจากเอกสารลับของเคจีบีว่าหน่วยข่าวกรองของโซเวียตได้ตั้งชื่อรหัสสายลับให้กับตัวเขาว่า “สเตคลอฟ”
ในทางตรงข้ามสื่อ NRK ของนอร์เวย์รายงานในปี 2000 ว่า “บอริส คิริลอฟ” เจ้าหน้าที่เคจีบีซึ่งทำงานในนอร์เวย์ภายใต้การปกปิดเป็นเจ้าหน้าที่การทูต พยายามจ้าง “เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” ในปี 1991
2
ตามรายงานของสื่อนอร์เวย์สโตลเทนเบิร์กได้รับความสนใจจากเคจีบีในปี 1989 และถูกตั้งรหัสให้ว่า “สเตคลอฟ” แฟ้มประวัติส่วนตัวของสโตลเทนเบิร์กในเคจีบีมีหัวข้อว่า DOR (แฟ้มพัฒนาปฏิบัติการ) “แฟ้มดังกล่าวโดยปกติมีไว้สำหรับบุคคลที่อยู่ใน 'ความเป็นไปได้ระดับสูง' หรือถือเป็น ‘ผู้ติดต่อลับของเคจีบี' อยู่แล้ว” NRK รายงาน - อ้างอิง: [2]
3
สื่อรัสเซีย Kommersant รายงานว่า คิริลอฟพยายามจ้างสโตลเทนเบิร์กให้ร่วมทำงานด้วย แต่เขาไม่ยอมแปรพักตร์ โดย “มิคาอิล บูทคอฟ” เจ้าหน้าที่เคจีบีซึ่งได้แปรพักตร์ไปอยู่ทางตะวันตกและเปิดโปงเครือข่ายสายลับโซเวียตในนอร์เวย์ หลังจากเขาได้เปิดโปง นักการทูตโซเวียตหลายคน รวมทั้งคิริลอฟถูกขับออกจากนอร์เวย์เนื่องจาก “การปฏิบัติงานที่ไม่สอดคล้องกับสถานะทางการทูต” - อ้างอิง: [3]
เมื่อตุลาคม 2000 “ทัตยานา ซาโมลิส” โฆษกหน่วยข่าวกรองต่างประเทศของรัสเซียปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานที่ว่าเคจีบีพยายามจ้างสโตลเทนเบิร์ก (ในขณะนั้นเขาเป็นนายกนอร์เวย์แล้ว) “ตามธรรมเนียมของหน่วยข่าวกรองในทุกประเทศ เราจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนร่วมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในหน่วยงานของเรา” ซาโมลิสกล่าว
2
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก ขณะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์เป็นสมัยแรกเมื่อปี 2000 โดยมีอายุ 41 ปี ขณะอายุน้อยสี่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เครดิตภาพ: Cornelius Poppe / AFP
นอกเหนือจากคำให้สัมภาษณ์ของสโตลเทนเบิร์กเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสายลับสมัยโซเวียตเคจีบีแล้ว เขายังได้ให้ความเห็นโดยส่วนหนึ่งเน้นไปที่ “ความเป็นไปได้ที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต” โดยกล่าวว่ามีหลายวิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ โดยเขายกตัวอย่างทางประวัติศาสตร์หลายประการที่สามารถทำตามได้ดังนี้
  • ฟินแลนด์ทำสงครามอย่างกล้าหาญกับสหภาพโซเวียตในปี 1939 สงครามสิ้นสุดลงด้วยการเสียดินแดนไป 10% แต่ฟินแลนด์กลับได้รับพรมแดนที่ปลอดภัยมั่นคงแลกเปลี่ยน แต่ FT ชี้แจงว่าเป็นเพราะฟินแลนด์เป็นกลางจนกระทั่งเข้าร่วมนาโตเมื่อปีที่แล้ว
1
  • เยอรมนีตะวันตกมองว่าเยอรมนีตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาจึงไม่มีสถานทูตในเบอร์ลินตะวันออก แต่แน่นอนว่านาโตปกป้องเฉพาะเยอรมนีตะวันตกเท่านั้น
  • สหรัฐฯ รับรองความมั่นคงปลอดภัยให้กับญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ขยายรวมไปถึงหมู่เกาะคูริล (ข้อพิพาทกับรัสเซีย) ซึ่งญี่ปุ่นถือว่าเป็นดินแดนของญี่ปุ่นที่รัสเซียควบคุมไว้อยู่
ตามที่สโตลเทนเบิร์กกล่าวไว้ “เมื่อมีความตั้งใจก็จะมีหนทางที่จะหาทางออกได้ แต่คุณต้องมีแนวทางชัดเจนที่กำหนดว่ามาตรา 5 [ของนาโต] มีผลบังคับใช้ครอบคลุมที่ใดบ้าง และดังนั้นแล้วยูเครนต้องควบคุมตรึงกำลังในดินแดนทั้งหมดจนถึงชายแดนนั้น”
2
เครดิตภาพ: FT
ฝ่ายตะวันตกกำลังพยายามปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับความเป็นจริงในสนามรบโดยมีฉากหลังเป็นความสำเร็จทางยุทธวิธีของกองทัพรัสเซียในดอนบาส (ยึดเมืองหลักได้เพิ่ม) สิ่งที่สโตลเทนเบิร์กได้อธิบายบ่งชี้ว่าการแช่แข็งความขัดแย้งในยูเครนตามแนวหน้าที่ฝ่ายตะวันตกต้องการ ถ้าเข้าเงื่อนไขในสถานการณ์เช่นนี้ยูเครนจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในนาโตทันทีใช่หรือไม่
“ความพยายามที่จะดึงยูเครนเข้าร่วมนาโต” เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักในการเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารในยูเครนของปูติน ดังนั้นรัสเซียจะไม่มีวันยอมให้ยูเครนเข้าร่วมนาโตได้เป็นแน่แท้ และเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2024 ปูตินก็ได้แสดงจุดยืนและย้ำชัดเจนในข้อเสนอของเขาเกี่ยวกับการยุติความขัดแย้งในยูเครนระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้นำกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย เป็นที่ชัดเจนว่ารัสเซียไม่จำเป็นต้องหยุดความขัดแย้งเพื่อเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการยอมรับยูเครนเข้าร่วมนาโต
เครดิตภาพ: Vincenzo Circosta/Anadolu/Getty Images
เรียบเรียงโดย Right Style
6th Oct 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<ภาพปก: ปี 2010 รัสเซียและนอร์เวย์ได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตพรมแดนทางทะเลในทะเลแบเรนตส์ ซึ่งมีการเจรจากันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เครดิตภาพ: Kommersant / Dmitry Azarov>
2
โฆษณา