สิงหาคม 2567 แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี ติดอันดับ 4 ของความสนใจในโลกออนไลน์

น้ำท่วมภาคเหนือ มาอันดับ 8 ขณะที่โอลิมปิก 2024 ครองอันดับ 1และ TikTok เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมต่อเนื่อง
การสำรวจประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์ 5 แพลตฟอร์ม ในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 ด้วยสัดส่วน Engagement มากถึง 36.26% ตามด้วยเทศกาลวันแม่ เป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน Engagement ที่ 12.78% ละครพรชีวัน ติดอันดับ 3 ด้วยสัดส่วน 7.47% ขณะที่แพทองธาร ชินวัตรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอันดับ 4 ด้วยสัดส่วน Engagement ที่ 7.39% ด้านน้องหมีเนย หล่นจากแชมป์อันดับ 1 ถึง 2 สมัย ลงมาเป็นอันดับที่ 5 ด้วยสัดส่วน 6.99%
เป็นที่น่าสนใจว่าเดือนสิงหาคมมีประเด็นทางการเมืองติดใน 10 อันดับ ถึง 2 ประเด็น คือ แพทองธาร ชินวัตรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ในอันดับที่ 4 และการก่อตั้งพรรคประชาชน ในอันดับที่ 6
ทั้งนี้ จากความพลิกผันของสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคม อีกทั้งในสัปดาห์ถัดมามีคำวินิจฉัยให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้กลุ่มเนื้อหาการเมืองถูกกล่าวถึงเพิ่มมากขึ้นจน เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 8 เดือน ที่ประเด็นการเมืองติด 10 อันดับความสนใจ นับจากกรณีพิธากลับเข้าสภา ติดอันดับ 4 ในเดือนมกราคม และการผ่านร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมฯ ติดอันดับ 9 ในเดือนมิถุนายน
สาเหตุที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 เป็นประเด็นที่คนในสังคมออนไลน์ให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 ในเดือนสิงหาคม 67 อาจเพราะสร้าง Engagement สูงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จากพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา ด้วยการใช้สถานที่จริงในกรุงปารีส นำเสนอพิธีการสำคัญ เช่น การเชิญธง การจุดคบเพลิง ผ่านการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมทั้ง ศิลปะ วัฒนธรรม และการแสดงที่หลากหลาย
แต่ประเด็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ในเดือนสิงหาคม ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงการแข่งขันของนักกีฬาทีมชาติไทย การกล่าวชื่นชมนักกีฬาไทยที่ได้เหรียญในการแข่งขัน เช่น เทนนิส พาณิภัค,วิว กุลวุฒิ, วีรพล วิชุมา, จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง เป็นต้น จากนั้นความสนใจก็ลดลงหลังจากพิธีปิดในวันที่ 11 สิงหาคม 2567
ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีและการยุบพรรคก้าวไกล การตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ เช่น การลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลผ่านแอปทางรัฐ อุบัติเหตุเครื่องบินตกที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับความสนใจสูงจากโลกออนไลน์เช่นกัน แต่กลับไม่ติด 10 อันดับแรกของความสนใจในการสื่อทางทางออนไลน์เดือนสิงหาคม 67
10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนสิงหาคม 2567
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok
โดยเริ่มจากการค้นหาเทรนด์ หรือกระแสสังคมที่เป็นที่พูดถึง เช่น Wisesight Trend และเทรนด์ของแพลตฟอร์มทั้ง 5 แพลตฟอร์ม หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่พบจากการสำรวจในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น โอลิมปิก วันแม่ พรชีวัน เป็นต้น
จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาคัดกรองและจัดหมวดหมู่ประเด็น ประเภทแพลตฟอร์ม กลุ่มผู้สื่อสาร กลุ่มเนื้อหา ตามเกณฑ์ที่ได้จัดทำขึ้น แล้วอธิบายสรุปข้อมูลสำคัญที่ค้นพบใน 10 อันดับ Engagement ของเดือนที่ทำการสำรวจ โดยอ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Data) ได้แก่ ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ วันที่และเวลา จำนวนค่าปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรง และลดอคติของนักวิเคราะห์ข้อมูล โดยประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 มีดังนี้
อันดับที่ 1 การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 (139,153,467 Engagement)
โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม 2567 ซึ่งในเดือนสิงหาคม การสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยเป็นการกล่าวถึงนักกีฬาชาวไทยที่เข้าแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เช่น มวยสากล แบดมินตัน เทควันโด และยกน้ำหนัก เป็นต้น
รวมถึงนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัล เช่น เทนนิส พานิภัค ที่ได้เหรียญทองเป็นสมัยที่ 2 พร้อมประกาศเลิกเป็นนักกีฬาทีมชาติ และเปิดตัวแฟนหนุ่ม การได้เหรียญเงินแรกในประวัติศาสตร์แบดมินตันไทยของวิว กุลวุฒิ การให้กำลังใจจันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง นักกีฬามวยสากลหญิงที่ได้เหรียญทองแดงหลังแพ้ อิมาน เคลิฟ นักมวยชาวแอลจีเรียที่มีโครโมโซม XY
รวมถึงท่ายิงปืน ที่เป็นเอกลักษณ์ของ คิมเยจี นักกีฬายิงปืนชาวเกาหลีใต้ และของ ยูซุฟ ดิเคช นักกีฬายิงปืนชาวตุรกี โดยเฉพาะยูซุฟที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับท่ายิงปืนของ เท่ง เถิดเทิง ในรายการชิงร้อยชิงล้านและถูกส่งต่อจนเป็นไวรัลระดับโลก โดยผู้ใช้งานที่สร้าง Engagement มากที่สุด ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น บัญชี panipak2540 ของเทนนิส พานิภัค, วาทะลูกหนัง -Football Quotes- โดยมีแพลตฟอร์ม TikTok สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 40.26%
อันดับที่ 2 เทศกาลวันแม่ (49,044,641 Engagement)
วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นวันที่ชาวไทยได้แสดงความรักและความกตัญญูต่อแม่ โดยในสื่อสังคมออนไลน์มีการกล่าวถึงเทศกาลวันแม่เป็นอันดับที่ 2 จากการโพสต์อวยพรวันแม่จากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่สร้าง Engagement มากที่สุด เช่น หมอโบว์ หมอรักษาช้าง โพสต์เกี่ยวกับการดูแลแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์พร้อมกับต้องทำงานไปด้วย เป็นต้น โดยมีแพลตฟอร์ม TikTok สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 51.62%
อันดับที่ 3 ละครพรชีวัน (28,664,783 Engagement)
พรชีวัน เป็นหนึ่งในละครชุดจากดวงใจเทวพรหม ซึ่งออกอากาศทางช่อง 3 เป็นเรื่องสุดท้ายของชุดละครนี้ นำแสดงโดย เก้า นพเก้า และ พีพี ปุญญ์ปรีดี เนื้อเรื่องเล่าถึงความรักของสรุจ และชีวัน ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลจุฑาเทพ และเทวพรหม ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของผู้คนรอบข้าง ความรักของทั้งคู่จึงมีอุปสรรคมากมาย
โดยละครเริ่มออกอากาศตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม และเสนอตอนจบช่วงปลายเดือนสิงหาคม ทำให้คำสนทนาส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงเนื้อหาของละคร และการตัดฉาก Highlight ในละครมาโพสต์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ TikTok ของผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้ได้รับ Engagement จำนวนมาก ที่ 55.71%
อันดับที่ 4 แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี (28,369,606 Engagement)
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงในการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกหกเดือนฐานละเมิดอำนาจศาล ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
โดยมีแคนดิเดต 2 คน ได้แก่ ชัยเกษม นิติศิริ และ แพทองธาร ชินวัตร ที่สุดพรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย
โดยในสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอข่าวการได้เป็นนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร การวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี โดย สื่อ สำนักข่าวสร้าง Engagement ได้มากที่สุด เช่น บัญชี amarintvhd ของช่องอมรินทร์ทีวี, บัญชี thairath_news ของช่องไทยรัฐทีวี เป็นต้น มีแพลตฟอร์ม TikTok สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 39.30%
อันดับที่ 5 น้องหมีเนย มาสคอตร้าน Butterbear (26,841,751 Engagement)
น้องหมีเนย มาสคอตจากร้าน Butterbear ที่ได้รับความนิยมในอันดับที่ 1 ต่อเนื่อง 2 เดือน คือเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม แต่ในเดือนสิงหาคมนี้ ความนิยมตกลงมาเป็นอันดับที่ 5 โดยโพสต์ที่ได้รับ Engagement สูง ยังคงเป็นคลิปน้องหมีเนย การเข้าร่วมกิจกรรมหรือการเต้นร่วมกับศิลปินอื่น ๆ เช่น แจ็คสัน หวัง, เจฟ ซาเตอร์, พีพี กฤษฏ์, บิวกิ้น พุฒิพงศ์
นอกจากนี้ยังมีการแชร์ภาพและวิดีโอที่แสดงความน่ารักของน้องหมีเนยขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ จากช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการของร้าน Butterbear โดยกลุ่ม มัมหมี หรือแฟนคลับ นอกจากนี้ยังพบประเด็นดราม่า บิวกิ้น พุฒิพงศ์ ออกมาขอโทษหมีเนยและแฟนคลับจากกรณีจับพุงหมีเนย และ เจมิไนท์ นรวิชญ์ ออกมาขอโทษที่พูดถึงหมีเนยด้วยถ้อยคำรุนแรง ผู้ใช้งานที่สร้าง Engagement มากที่สุด ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป โดยมีแพลตฟอร์ม TikTok สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 53.15%
อันดับที่ 6 การก่อตั้งพรรคประชาชน (24,787,182 Engagement)
7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ทั้งสั่งเพิกถอนสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคในการสมัครรับเลือกตั้ง การจดทะเบียนหรือการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ การเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม อดีต สส.พรรคก้าวไกล 143 คน ได้จัดประชุมและแถลงข่าวการจัดตั้งพรรคพรรคประชาชน ซึ่งเปลี่ยนชื่อเดิมของพรรคที่อดีต สส.พรรคก้าวไกลเข้ามาสังกัด โดยมี ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค ในเหตุการณ์นี้ สื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการแถลงจุดยืนของพรรคประชาชน ที่จะไม่ล้มล้างสถาบัน และจะไม่ลงมติให้แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือภายในระยะเวลาเพียง 9 ชั่วโมงหลังแถลงข่าวเปิดตัวพรรค มีผู้สมัครสมาชิกพรรคจำนวนถึง 20,000 คน และได้รับเงินบริจาครวม 10,000,000 บาท ผู้ใช้งานที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุด ได้แก่ สื่อ สำนักข่าว เช่น สรยุทธ สุทัศนจินดา กรรรมกรข่าว, The Reporters เป็นต้น โดยพบว่าแพลตฟอร์ม Facebook มีอัตราการสร้าง Engagement สูงสุดถึง 34.88%
อันดับที่ 7 ละครทองประกายแสด (23,737,128 Engagement)
นวนิยายทองประกายแสด มีการสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 2 ครั้ง สร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งนี้จึงเป็นละครโทรทัศน์ครั้งที่ 6 ที่ผลิตโดยบริษัท CHANGE2561 เผยแพร่ทางช่อง ONE31
โดยผู้รับบท ทองดี ตัวเอกของเรื่องคือใบเฟิร์น พิมพ์ชนก แก่นหลักของเรื่อง คือ ความทะเยอทะยาน และมุ่งมั่นใฝ่หาชื่อเสียง เงินทอง และเกียรติยศของทองดี เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการใช้ความสวย และเสน่ห์ ทำให้ผู้ชายเข้ามาติดพันหลายคน และเธอใช้ผู้ชายเหล่านั้นเป็นบันไดแห่งชีวิตสู่การเป็นคุณทองประกายที่เลิศหรูและร่ำรวย
โดยส่วนใหญ่ของการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการแชร์ Highlight จากละคร ผู้ใช้งานที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงที่สุด ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก, บริษัท CHANGE2561 และช่อง ONE31 ซึ่งแพลตฟอร์ม Facebook มีอัตราการสร้าง Engagement สูงสุดถึง 61.94%)
อันดับที่ 8 อุทกภัยภาคเหนือ (21,454,213 Engagement)
ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2567 เกิดเหตุอุทกภัยใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ และสุโขทัย สาเหตุจากร่องมรสุมที่พาดผ่านพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง
ในสื่อสังคมออนไลน์มีการติดตามสถานการณ์ของอุทกภัย และภาวะน้ำไหลบ่าสู่จังหวัดในภาคเหนือ การให้กำลังใจผู้ประสบภัย การรับบริจาคสิ่งของและเงินเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การใช้โดรนเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยกลางน้ำป่า การรายงานความสูญเสียจากอุทกภัยของสื่อ สำนักข่าว เป็นต้น
1
โดยผู้ที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุด ได้แก่ สื่อ สำนักข่าว เช่น บัญชี amarintvhd ของช่องอมรินทร์ทีวี, รายการโหนกระแส เป็นต้น และแพลตฟอร์ม Facebook มีอัตราการสร้าง Engagement สูงสุดถึง 42.47%)
อันดับที่ 9 ซีรีส์ใจซ่อนรัก (21,045,173 Engagement)
ใจซ่อนรัก (The Secret Of Us) เป็นซีรีส์แนวแซฟฟิค (Sapphic) หรือ หญิงรักหญิง นำแสดงโดยหลิงหลิง ศิริลักษณ์ และ ออม กรณ์นภัส ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มออกอากาศทางช่อง 3 ในเดือนกรกฎาคม และในเดือนสิงหาคมได้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายและตอนจบของละคร
เนื้อหาที่ได้รับความสนใจในช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นการแบ่งปัน Highlight ของละคร รวมถึงคลิปเบื้องหลังต่าง ๆ การขอบคุณผู้ชมจากดารานักแสดง การตัด Highlight ของละครจากช่องทางอย่างเป็นทางการของช่อง 3 โดยผู้ใช้งานทั่วไปเป็นผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement มากที่สุด ซึ่งแพลตฟอร์ม X สร้าง Engagement สูงสุดที่ 55.96%
อันดับที่ 10 ภาพยนตร์วิมานหนาม (20,658,720 Engagement)
วิมานหนาม (The Paradise of Thorns) ภาพยนตร์จากค่าย GDH กำกับการแสดงโดย นฤเบศ กูโน เป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึง เสกและทองคำ คู่รักหนุ่มชาวสวนที่ช่วยกันปลูกบ้าน และทำสวนทุเรียน
ทองคำใช้เงินก้อนใหญ่ทั้งหมดในชีวิตไถ่ถอนที่ดินให้เสก จนได้โฉนดที่ดิน แต่แล้วเสกเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต ทรัพย์สินทั้งหมดที่ร่วมสร้างกันมา ต้องตกไปเป็นของแม่เสก ผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมาย แม่แสงได้พา โหม๋ ลูกสาวที่เก็บมาเลี้ยง รวมทั้ง จิ่งนะ น้องชายของโหม๋ เข้ามาอยู่ในบ้านของเสกด้วย ทำให้ทองคำต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ความเป็นเจ้าของทรัพย์สินกลับคืนมา
โดยในสื่อสังคมออนไลน์ได้แสดงความชื่นชมต่อเนื้อหาของภาพยนตร์ และนักแสดง เช่น เจฟ ซาเตอร์ และอิงฟ้า วราหะ รวมถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ร้องโดยเจฟ ซาเตอร์ โดยผู้ใช้งานทั่วไปมีบทบาทสำคัญในการสร้าง Engagement สูงสุด แพลตฟอร์ม TikTok มีอัตราการสร้าง Engagement สูงสุดถึง 47.81%
ผลการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ในเดือนสิงหาคม 2567 ในด้านกลุ่มเนื้อหา ผู้สื่อสาร แพลตฟอร์ม
กลุ่มเนื้อหา
จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม ตามจำนวน Engagement ดังนี้
กลุ่มเนื้อหากีฬา ได้รับความสนใจรวม 139,153,467 Engagement คิดเป็น 36.26% ของทั้งหมด โดยมีประเด็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 เพียงประเด็นเดียว ซึ่งแม้กระแสจะเริ่มลดลงตั้งแต่พิธีปิดวันที่ 11 สิงหาคม 2567 แต่ในภาพรวมตลอดทั้งเดือน พบว่า มี Engagement สูงสุด
กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 120,947,555 Engagement คิดเป็น 31.52% จาก 5 ประเด็น คือ ละครพรชีวัน (28,664,783 Engagement), น้องหมีเนยมาสคอตร้าน Butterbear (26,841,751 Engagement), ละครทองประกายแสด (23,737,128 Engagement), ซีรีส์ใจซ่อนรัก (21,045,173 Engagement), ภาพยนตร์วิมานหนาม (20,658,720 Engagement)
กลุ่มเนื้อหาการเมือง 2 ประเด็น จำนวน 53,156,788 Engagement คิดเป็น 13.85% คือ แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี (28,369,606 Engagement), การก่อตั้งพรรคประชาชน (24,787,182 Engagement)
กลุ่มเนื้อหาเทศกาล 1 ประเด็น จำนวน 49,044,641 Engagement คิดเป็น 12.78% คือ เทศกาลวันแม่
กลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ 1 ประเด็น จำนวน 21,454,213 Engagement คิดเป็น 5.59% คือ อุทกภัยภาคเหนือ
จะเห็นว่า แม้กลุ่มเนื้อหากีฬา จะได้รับ Engagement มากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2567 แต่กลุ่มเนื้อหาสื่อ และสิ่งบันเทิง ยังคงเป็นกลุ่มเนื้อหาหลักที่ได้รับ Engagement สูงติด 10 อันดับแรก ในทุก ๆ เดือนที่มีการเก็บข้อมูล ในขณะที่กลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ พบว่ามักได้รับความสนใจและสื่อสารในโลกออนไลน์ ตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม
กลุ่มเนื้อหากีฬา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (41.86%) รองลงมา ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (41.04%), สื่อ สำนักข่าว (15.62%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ (1.44%) พรรคการเมือง (0.03%) และ ภาครัฐ 0.01% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 40.26% รองลงมาได้แก่ Facebook (35.59%), X (11.60%), Instagram (10.00%), YouTube (2.55%)
กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (63.97%) รองลงมา ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (21.69%), สื่อ สำนักข่าว (13.93%) และ แบรนด์ (0.41%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 39.03% รองลงมาได้แก่ X (26.41%), Facebook (16.30%), Instagram (15.80%), YouTube (2.46%)
กลุ่มเนื้อหาการเมือง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือสื่อ สำนักข่าว (47.71%) รองลงมา ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (30.00%), ผู้ใช้งานทั่วไป (16.95%) และ อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง (3.77%) นักการเมือง (1.27%) แบรนด์ (0.30%) โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 35.10% รองลงมาได้แก่ TikTok (34.78%), YouTube (10.98%), Instagram (10.00%), X (9.14%)
กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (49.85%) รองลงมา ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป (41.06%), สื่อ สำนักข่าว (7.01%) และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ (2.03%) ภาครัฐ (0.05%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 51.62% รองลงมาได้แก่ Facebook (25.20%), Instagram (18.78%), X (3.48%), YouTube (0.92%)
กลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (39.91%) รองลงมา ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (32.95%), ผู้ใช้งานทั่วไป (25.34%) และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ (1.24%) พรรคการเมือง (0.52%) ภาครัฐ (0.04%) โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 42.47% รองลงมาได้แก่ TikTok (39.03%), Instagram (7.51%), X (6.67%), YouTube (4.32%)
กลุ่มผู้สื่อสาร
ในภาพรวม ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 พบว่ากลุ่มผู้สื่อสารที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ในสื่อออนไลน์ สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 44.06% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (34.38%), สื่อ สำนักข่าว (19.79%), แบรนด์ (1.02%) พรรคการเมือง (0.74%) และ ภาครัฐ (0.01%)
ผู้ใช้งานทั่วไป สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหาสื่อสิ่งบันเทิง โดยส่วนใหญ่เกิดจากการแชร์ภาพน้องหมีเนย, Highlight ละครพรชีวัน, Highlight ซีรีส์ใจซ่อนรัก, และ เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์วิมานหนาม
ในขณะที่กลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ ผู้ใช้งานทั่วไปมักเป็นรองผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สำหรับกลุ่มเนื้อหากีฬาพบว่าผู้ใช้งานทั่วไปมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์เพียงเล็กน้อยที่ 0.82% โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการชื่นชมนักกีฬาจากประเทศไทยเช่น เทนนิส พานิภัค, โค้ชเช ชัชชัย, วิว กุลวุฒิ, ฟ่าง ธีรพงศ์ เป็นต้น รวมไปถึงการร่วมชื่นชมนักกีฬาต่างชาติ เช่น ฉวนหงฉาน นักกีฬากระโดดน้ำชาวจีนที่สร้างสถิติได้คะแนนเต็ม เป็นต้น
กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดในกลุ่มเนื้อหากีฬา โดยการโพสต์ของนักกีฬา เช่น เทนนิส พานิภัค ซึ่งได้ขอบคุณชาวไทยที่ให้กำลังใจจนสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกสมัยที่ 2 พร้อมทั้งโชว์เข็มที่ระลึกที่แลกได้จากนักกีฬาประเทศต่าง ๆ รวมถึงการโพสต์ของผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สายกีฬา เช่น วาทะ ลูกหนัง –Football Quotes-, วิเคราะห์บอลจริงจัง เป็นต้น ที่ได้แสดงความยินดีกับนักกีฬาที่ได้รับเหรียญในโอลิมปิก
นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ยังมีบทบาทในการสร้าง Engagement สูงในกลุ่มเนื้อหาเทศกาลวันแม่ ส่วนใหญ่มาจากการโพสต์คอนเทนต์เกี่ยวกับแม่ เช่น พาแม่เที่ยวเนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ, การระลึกถึงพระคุณของแม่ เป็นต้น จาก อาลี่ก๋งง, หมอโบ หมอรักษาช้าง, เก๋ วรรณ์ฐกานต์ เป็นต้น
สื่อ สำนักข่าว สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาการเมือง จากการรายงานสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ตัวอย่างข่าวที่ได้รับ Engagement สูง เช่น สำนักข่าวไทยรัฐจากข่าวทักษิณ ชินวัตร สวมกอด แพทองธาร ชินวัตร ก่อนรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี, อมรินทร์ทีวีลงข่าว จตุพร พรหมพันธุ์ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลัง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เช่น
นอกจากนี้ สื่อ สำนักข่าวยัง ยังมีบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุดในกลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ คืออุทกภัยในภาคเหนือ เช่น การแจ้งเตือนอุทกภัย การรายงานสถานการณ์อุทกภัยภาคเหนือ เช่น เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานข่าวนักเรียนหนีน้ำท่วมขึ้นบนอาคารเรียน, การรายงานข่าวการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยของผู้มีชื่อเสียง เช่น ไทยรัฐรายงานข่าว ก้อง ห้วยไร่ ลุยน้ำท่วมให้กำลังใจพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น
ส่วนกลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์, พรรคการเมือง และ ภาครัฐ พบว่า ในภาพรวมสร้าง Engagement ได้น้อยกว่า 3 กลุ่มแรก แต่ก็มีส่วนในการสร้างการมีส่วนร่วม ในกลุ่มเนื้อหาการเมือง และภัยพิบัติ แม้จะไม่ได้เป็นผู้สื่อสารหลัก
ยกตัวอย่างเช่น ในประเด็นอุทกภัยในภาคเหนือ พบว่า แม้ภาครัฐ สื่อสารสร้าง Engagement ได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ 2 หน่วยงานในกลุ่มภาครัฐที่มีบทบาทในการสื่อสารช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เตือนให้ระวังมิจฉาชีพซึ่งมาในรูปแบบการรับบริจาค, ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ในกองทัพบก โพสต์ภาพการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น
แพลตฟอร์มการสื่อสาร
จากการสำรวจ 10 อันดับประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดในโลกออนไลน์ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ในภาพรวมพบว่าแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุดเรียงตามลำดับคือ TikTok ซึ่งมีสัดส่วน 40.50% ตามด้วย Facebook 28.50%, X 14.61%, Instagram 12.81% และ YouTube 3.58%
เมื่อพิจารณารายแพลตฟอร์ม พบว่า
TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงที่สุดอย่างต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม ในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง สาเหตุมาจากความนิยมในเนื้อหาวิดีโอที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชื่นชอบในเดือนนี้ เช่น การเปิดประวัตินักกีฬาโอลิมปิก การรีวิวเข็มที่ระลึกที่นักกีฬาไทยแลกกับนักกีฬาประเทศต่าง ๆ และคลิปน้องหมีเนยเต้น ซึ่ง TikTok สามารถตอบโจทย์การสื่อสาร และสร้าง Engagement จากคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่น
ขณะที่แพลตฟอร์ม X พบว่า เด่นในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง สามารถสร้าง Engagement ได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของซีรีส์ใจซ่อนรัก ซึ่งมีการสร้าง Engagement บนแพลตฟอร์ม X สูงถึง 55.96% ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการสื่อสารหรือแสดงความสนใจในเรื่องเฉพาะเจาะจง เช่น ดารา นักแสดงวัยรุ่น คอนเสิร์ต หรือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ หรือเนื้อหาที่ต้องการความสดใหม่และการสื่อสารแบบเรียลไทม์ จากกลุ่มแฟนคลับละคร หรือแฟนคลับนักแสดงที่ชื่นชอบละครแนวแซฟฟิค หรือ หญิงรักหญิง
Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อมักใช้ในการรายงานข่าวในกลุ่มเนื้อหาการเมือง และ ภัยพิบัติ เนื่องจากทั้งสองประเด็นจำเป็นต้องมีสื่อหรือนักข่าวที่ลงพื้นที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารเพื่อรายงาน รวมถึงการวิเคราะห์ที่ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์เพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ และ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่มีรูปแบบ การนำเสนอที่หลากหลาย ทั้งภาพ วิดีโอ ตัวอักษร วิดีโอสั้น เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ใช้งานสังคมออนไลน์มักเลือกติดตามสถานการณ์ผ่านสื่อ และ สำนักข่าวมากกว่าการสร้างคอนเทนต์ด้วยตนเอง
Instagram สร้าง Engagement ได้สูง ในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง และ กีฬา เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถแบ่งปันภาพถ่ายได้ดีที่สุด ทำให้ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกใช้มากที่สุดในทุกกลุ่มเนื้อหา เช่น การแชร์ภาพเบื้องหลังละครของกลุ่มนักแสดง หรือการแบ่งปันภาพกิจกรรมของนักกีฬาที่เข้าแข่งขันโอลิมปิก เป็นต้น
YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงจากกลุ่มเนื้อหา การเมือง โดยเฉพาะจากสื่อ สำนักข่าว สาเหตุมาจากความน่าเชื่อถือของข่าว และความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของสำนักข่าวที่ทำได้ดีกว่ากลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ อีกทั้งการสร้างวิดีโอในช่องทาง YouTube จำเป็นต้องมีทักษะและเงินทุนมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ส่งผลให้สื่อ สำนักข่าว ที่มีต้นทุนมากกว่าผู้สื่อสารอื่นสามารถสร้าง Engagement ได้เป็นสูง
กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนสิงหาคม 2567 ในภาพรวม 10 อันดับแรก พบว่า กลุ่มเนื้อหา กีฬา ได้ความสนใจสูงที่สุดคิดเป็นสัดส่วนที่ 36.26% จากประเด็น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 (อันดับ 1) ตามด้วย กลุ่มเนื้อหา สื่อสิ่งบันเทิง คิดเป็นสัดส่วนที่ 31.52% จาก 5 ประเด็น ได้แก่ ละครพรชีวัน (อันดับ 3) น้องหมีเนยมาสคอตร้าน Butterbear (อันดับ 5) ละครทองประกายแสด (อันดับ 7) ซีรีส์ใจซ่อนรัก (อันดับ 9) และภาพยนตร์วิมานหนาม (อันดับ 10)
นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มเนื้อหาเทศกาล คิดเป็นสัดส่วนที่ 12.78% จากประเด็นเทศกาลวันแม่ (อันดับ 2) กลุ่มเนื้อหาการเมือง คิดเป็นสัดส่วนที่ 13.85% จาก 2 ประเด็นคือ แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี (อันดับ 4) การก่อตั้งพรรคประชาชน (อันดับ 6) ขณะที่กลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ คิดเป็นสัดส่วนที่ 5.59% จาก 1 ประเด็น คือ อุทกภัยภาคเหนือ (อันดับ 8)
“น้องหมีเนย” เริ่มแผ่ว แต่กระแส “ละคร” “คู่จิ้น” ยังมาแรง
แม้น้องหมีเนยมาสคอตร้าน Butterbear ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่ากระแสเริ่มลดลง จากที่เคยติดอันดับ 1 ต่อเนื่องในสองเดือนก่อนหน้า ตกมาอยู่ในอันดับ 5 ในเดือนสิงหาคมนี้ โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากโพสต์ของกลุ่มแฟนคลับดาราที่ร่วมงานกับน้องหมีเนย ส่วนในแง่ลักษณะการสื่อสาร พบว่า ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการแบ่งปันภาพและวิดีโอของน้องหมีเนยจากกลุ่ม “มัมหมี” รวมถึงการร่วมเต้นหรือร่วมกิจกรรมกับศิลปินอื่น ๆ
ความนิยมในซีรีส์ใจซ่อนรัก ซึ่งเป็นคอนเทนต์แนวหญิงรักหญิง ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ใน 10 อันดับความสนใจตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงเทรนด์ความนิยมและแนวโน้มความสนใจ การสื่อสาร และการสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มแฟนละคร ภาพยนตร์ และซีรีส์แนวหญิงรักหญิงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม รวมถึงละครเรื่องพรชีวัน และทองประกายแสด ที่ติด 10 อันดับแรกในเดือนนี้เช่นกัน โดยในภาพรวมจะเห็นว่า ในกลุ่มเนื้อหาบันเทิง ผู้ใช้งานทั่วไปคือกลุ่มผู้ที่มีบทบาทสร้าง Engagement สูงสุด โดยเฉพาะจากกลุ่มแฟนคลับหรือติดตามละคร ดารา และนักแสดง โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารที่สำคัญ
ไทยได้นายกฯ ใหม่ สู่การสื่อสารและความสนใจเรื่องการเมืองที่เพิ่มขึ้น
จากการสำรวจยังพบว่า ประเด็นเรื่องการเมืองกลับมาติด 1 ใน 10 อันดับความสนใจอีกครั้งในเดือนสิงหาคม (นับจากกรณีพิธากลับเข้าสภา ที่ติดอันดับ 4 ในเดือนมกราคม และประเด็นการผ่านร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมฯ ที่ติดอันดับ 9 ในเดือนมิถุนายน)
โดยมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย 2 เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน ได้แก่ การที่แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และการก่อตั้งพรรคประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ปลดเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งหมด ส่งผลให้สังคมออนไลน์กลับมาสนใจในประเด็นทางการเมืองอีกครั้ง
โดยพบว่า สื่อสำนักข่าวเป็นผู้สร้าง Engagement ในกลุ่มเนื้อหาเรื่องการเมืองมากที่สุด รองมาเป็น ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และประชาชนทั่วไป โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดผ่านกลุ่มสื่อ สำนักข่าว รองลงมาได้แก่ TikTok ที่มีสัดส่วนที่ห่างกันเพียงเล็กน้อย
วันแม่ 67 ติด 10 อันดับแรกอีกครั้ง
ประเด็นวันแม่มีความน่าสนใจที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูง จากการแบ่งปันเนื้อหาที่เกี่ยวกับแม่ทั้งจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์และผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้ได้รับความสนใจจากสังคมออนไลน์ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2565 แต่ในปี 2566 ประเทศไทยมีการตื่นตัวในประเด็นทางการเมืองอย่างมาก
แม้ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม แต่กว่าจะได้นายกรัฐมนตรีก็ล่วงเลยถึงเดือนสิงหาคม ส่งผลให้วันแม่ไม่ติด 10 อันดับในเดือนสิงหาคม 2566 สำหรับเดือนสิงหาคม 67 กลุ่มเนื้อหาเทศกาล หรือประเด็นวันแม่ มีผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement สูงสุด ซึ่งต่างจากอันดับที่ 2 ผู้ใช้งานทั่วไปไม่มาก โดยเนื้อหาจะเป็นการโพสต์แสดงความกตัญญูต่อแม่ เช่น การดูแลแม่ การพาแม่เที่ยว เป็นต้น โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มสื่อสารหลัก
โอลิมปิก 2024 ครองความสนใจในอันดับ 1
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ลักษณะของโพสต์ในเดือนสิงหาคมนี้เน้นไปที่การสรุปประวัติของนักกีฬาเหรียญทอง การให้กำลังใจนักกีฬา การแลกเข็มที่ระลึกระหว่างนักกีฬาต่างชาติ เช่น เทนนิส พาณิภัคแลกเข็มที่ระลึกกับนักกีฬาชาวสเปน, เทนนิส พาณิภัคประกาศเลิกเล่นทีมชาติและขอบคุณชาวไทยที่ส่งกำลังใจ เป็นต้น
ทั้งนี้ จะเห็นว่า กลุ่มเนื้อหากีฬา หรือประเด็นเรื่องโอลิมปิก 2024 ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สร้าง Engagement สูงสุด เช่น นักกีฬา และ เพจที่เกี่ยวข้องกับกีฬา รวมถึงผู้มีอิทธิพลที่โพสต์แสดงความยินดีกับนักกีฬาโอลิมปิก ตามด้วยผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งมีสัดส่วนห่างกันเพียงเล็กน้อย โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ที่สำคัญ
สื่อฯ สร้าง Engagement ในประเด็นน้ำท่วมภาคเหนือ ได้มากกว่าภาครัฐ
ส่วนประเด็นอุทกภัยภาคเหนือ ได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องการความร่วมมือ และแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาจากหลายฝ่ายอย่างเร่งด่วน สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือจึงได้รับความสนใจจากสังคมและมีการรายงานจากสื่อ สำนักข่าว อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการติดตามสถานการณ์อุทกภัย การแจ้งเตือนพื้นที่น้ำท่วมจากทางภาครัฐ และการเปิดพื้นที่รับบริจาคสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัยจากองค์กรต่าง ๆ
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าในประเด็นอุทกภัยทางภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 มีสื่อสำนักข่าวเป็นผู้สร้าง Engagement มากที่สุด รองมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ และประชาชนทั่วไป ในขณะที่ภาครัฐสามารถสร้าง Engagement ได้น้อยที่สุด
ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึง ข้อจำกัดบางอย่างในการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้ภาษาและวิธีการสื่อสารที่เป็นทางการจนเกินไป เป็นต้น หรืออาจเป็นไปได้เช่นกันที่โลกออนไลน์มักเลือกรับสาร หรือมีส่วนร่วมกับข้อมูลเรื่องน้ำท่วมจากสื่อ สำนักข่าว ซึ่งอาจมีรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย หรือด้วยการนำเสนอที่เร้าอารมณ์และสร้างความสนใจได้มากกว่าการนำเสนอโดยผู้สื่อสารภาครัฐ
สำหรับแพลตฟอร์มการสื่อสาร พบว่า ประเด็นเรื่องน้ำท่วม มี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement สูงสุด รองลงมาได้แก่ TikTok ตามด้วย Instagram ซึ่งมีสัดส่วน Engagement ที่น้อยกว่าค่อนข้างมาก
ประเด็นที่ไม่ติด 10 อันดับแรก และแนวโน้มความสนใจในช่วงปลายปี
นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ยังพบว่ามีประเด็นเชิงสังคมและข่าวใหญ่อื่น ๆ ที่แม้จะไม่ติด 10 อันดับแรก แต่อยู่ในช่วงชั้นความสนใจในอันดับที่ 11-20
ตัวอย่างเช่น การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งปลดนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมในการแต่งตั้งรัฐมนตรี (อันดับที่ 12), การยุบพรรคก้าวไกล (อันดับที่ 13), การตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ (อันดับที่16), การลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลผ่านแอปทางรัฐ (อันดับที่ 18) และกรณีเครื่องบินตกที่ฉะเชิงเทรา (อันดับที่ 20) เป็นต้น
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าความสนใจในโลกออนไลน์ที่ติด 10 อันดับแรก มักเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสื่อ สิ่งบันเทิง กีฬา เทศกาล หรืออื่น ๆ ที่ไม่ซับซ้อน ขณะที่ประเด็นเชิงสาธารณะ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือข่าวใหญ่ที่มีลักษณะซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อสังคม มักได้รับ Engagement น้อยกว่า ซึ่งเป็นลักษณะเทรนด์ที่สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567
ซึ่งมีความแตกต่างจากปี 2566 ที่กลุ่มเนื้อหาทางการเมืองมีสัดส่วน Engagement มากกว่ากลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ แต่ก็เริ่มมองเห็นเค้าลางความสนใจสื่อสารเรื่องการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความพลิกผันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2567 ที่อาจส่งผลให้ประเด็นทางการเมืองกลับมาติดอันดับมากขึ้นในช่วงปลายปี ควบคู่กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งเริ่มจากเหตุการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือของประเทศไทย ในขณะที่กลุ่มผู้สื่อสารที่สำคัญในโลกออนไลน์ ยังคงเป็น 3 กลุ่มแรก ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงสื่อ สำนักข่าว โดยมีแพลตฟอร์ม TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่โดดเด่นในการสร้างการมีส่วนร่วมได้ดี ในเกือบทุกกลุ่มเนื้อหา
โฆษณา