ช่วงนี้แหล่ะครับ ที่หนังขยับไปข้างหน้าแบบช้าๆ แต่มีสีสันนะ สีสันที่มาพร้อมกับ Lee Quinzel ที่ร้องและเต้นเพื่อบอกเล่าความรู้สึกและเรื่องราว ในขณะที่ Arthur เองก็ตอบสนองด้วยการร้องรำทำเพลงเช่นกัน ด้วยความไพเราะของเพลง ก็เลยสามารถผ่านความ slow burn ไปได้อย่างเพลิดเพลิน
ในแง่มุมทางจิตวิทยา เรารับรู้และเข้าใจอยู่แล้วว่า Arthur Fleck โดนอะไรมาในวัยเด็กที่ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่มีปัญหาทางจิต หนังภาคแรกทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีอยู่แล้วครับ พอมาถึงภาคต่อ หนังตั้งใจที่จะตีแผ่และขยี้ประเด็นนี้ต่อ ด้วยการนำตัวละครนี้มาขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิด แต่ในขณะเดียวกันหนังก็โฟกัสไปที่ความเป็น multiple personalities ที่อยู่ในจิตใจของ Arthur ซึ่งก็ทำให้เราเข้าใจตัวละครนี้มากขึ้น
ส่วนสิ่งที่เรียกกันว่า Folieà Deux มันคืออาการความบ้าคลั่งร่วมกันของคนมากกว่า 2 คนขึ้นไป มันคืออาการป่วยทางจิตที่ถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่คนใกล้ชิด ซึ่งก็มักจะไม่พ้นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท ญาติพี่น้อง ในหนังก็คือ Arthur Fleck และ Lee Quinzel นั่นเองครับ แต่ถ้ามองให้ดี สาธารณะชนที่ยกย่องและเชิดชู The Joker มาตั้งแต่กลางเรื่องของภาคแรกไปจนถึงตอนจบของภาคแรก แล้วก็ต่อเนื่องมาถึงทั้งหมดของภาค 2 ความบ้าคลั่งที่ว่านี้ก็ไม่ได้ขาดช่วงลงเลย แถมยังทวีความรุนแรงมากขึ้นในภาคต่อด้วยซ้ำไป
เอาจริงแอบคิดนะว่าถ้าหนังมันไม่ได้มาในทิศทางของ courtroom drama แต่เลือกที่จะไปในแนวทางของความเป็น road movie ที่ให้ตัวละครที่เป็นอาชญากรออกเดินทางโดยมีเจ้าหน้าที่ไล่ล่า รสชาติของหนังเรื่องนี้มันจะออกมาประมาณ Bonnie and Clyde หรือเปล่านะ ที่แอบคิดนี่เพราะว่ามันจะมีช่วงหนึ่งครับที่เหมือนหนังทำราวกับว่าจะให้ Arthur และ Lee หนีออกจากเรือนจำ
production ดีงาม cinematography ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำงานสอดประสานกันจนทำให้เกิดโลกที่น่าเชื่อถือที่ทำให้เราในฐานะคนดูรู้สึกอินและจมดิ่งลงไปในโลกที่หนังสร้างขึ้น ด้วยความรู้ความเข้าใจจากหนังภาคแรก ด้วยเส้นเรื่องที่ลากต่อมาในภาคนี้ ด้วยความไพเราะของบทเพลง ด้วยความอยากรู้อยากเห็นในชะตากรรมของตัวละคร สิ่งเหล่านี้แหละครับที่มันผสมผสานกันให้เกิดความรู้สึกและเกิดอารมณ์ร่วมไปกับหนัง