7 ต.ค. เวลา 09:31 • หนังสือ
โตเกียว

🎨คัทซึชิคะ โฮะคุไซ : ขอเพียงแค่อีกห้าปี ฉันคงได้เป็นนักวาดภาพที่แท้จริง🏔️

🟡「浮世絵」อุคิโยะเอะ (ukiyo-e) : ให้ความหมายในภาษาไทยประมาณว่า “ภาพแห่งโลกอันล่องลอย” มีจุดเริ่มต้นและรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดในยุคสมัยเอโดะ (Edo period: 1603 -1868) ก่อนจะเสื่อมความนิยมลงตามบริบททางสังคมอันลื่นไหลเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา (ชื่อเรียกภาพวาดและภาพพิมพ์แกะไม้ประเภทหนึ่ง)
แต่เดิม “อุคิโยะ” ในภาษาญี่ปุ่นมีที่มาจากคำศัพท์โบราณทางพุทธศาสนา ซึ่งอ้างอิงจากแนวคิด “ความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต”
🟡浮世 (อุคิโยะ) ยังไปพ้องเสียงกับคำว่า 憂世 (อุคิโยะ) อันมีความหมายถึง “โลกแห่งความเศร้า” เศร้าซึมเมื่อชีวิตพานพบและตระหนักรู้ถึงความไม่จีรัง ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน
🎨ถึงกระนั้นก็ตาม “อุคิโยะเอะ” [浮世絵] ในบริบทของงานศิลปะ มีการตีความหมายของ “อารมณ์ล่องลอย” อันแตกต่างออกไป กระทั่งแสดงออกในเชิงต่อต้านแนวคิดดั้งเดิม “ในเมื่อชีวิตมันไม่มีอะไรแน่นอน ก็คงไม่จำเป็นต้องกังวลสิ่งใด ทำตามใจตัวเองเสีย” ใช้ชีวิตให้สนุกสนาน หรูหราฟุ่มเฟือย ทันสมัย วิถีคนเมือง อยู่กับปัจจุบันขณะ เหล้ายา น้ำชา โลกีย์ โสเภณี หญิงบริการ ละครร้องรำคาบูกิ กระทั่งงานรื่นเริงต่างๆ
🌿“โลกอันล่องลอย” ภาพวาดและภาพพิมพ์ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ในยุคสมัยเอโดะจึงถูกเรียกอย่างเหมารวมว่า “อุคิโยะเอะ”
“อุคิโยะเอะ” มักแสดงภาพแทนชีวิตประจำวันอันสามัญธรรมดา ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทุกๆวันของเมืองหลวงเอโดะอันรุ่งเรือง ผู้คนขวักไขว่ เชื้อเชิญให้ผู้ชมมีความสุขกับเรื่องราวระหว่างทางอยู่เสมอ ถึงแม้ชีวิตจะตกอยู่ภายใต้กรอบทางสังคมบีบรัด และสภาวะเคร่งเครียดจากการโหมงานหนักในยุคสมัยดังกล่าวก็ตาม (เอโดะ ปัจจุบันคือ โตเกียว)
“อุคิโยะเอะ” จากกระบวนการภาพพิมพ์แกะไม้นั้นได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคสมัยนั้น เหตุเพราะราคาถูกกว่าภาพวาดซึ่งผลิตได้เพียงครั้งละ 1 ชิ้น และตัวงานมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากภาพวาด ทั้งความซับซ้อนและความปราณีต “ภาพพิมพ์แกะไม้อุคิโยะเอะ” กลายเป็นตัวแทนแห่งยุคเอโดะ
แม่พิมพ์ไม้ในสมัยนั้นสามารถพิมพ์ผลงานลงกระดาษได้มากกว่า 200 ชิ้น สำหรับการพิมพ์ครั้งแรก ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เช่น ช่างแกะไม้ ช่างพิมพ์ อีกทั้งยังผลักดันให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงความรู้เชิงสุนทรียศาสตร์ และผลักดันให้งานเชิงช่างแขนงอื่นๆจำเป็นตัวปรับตัวให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นอีกด้วย
☑️「錦絵」นิชิคิเอะ (nishiki-e) คือ “กระบวนการของภาพพิมพ์แกะไม้แบบหลากหลายสี” เป็นการพิมพ์แบบสอดสีจำนวนมาก เกิดจากการพัฒนาเทคนิคให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า (ก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นภาพพิมพ์ลายเส้นสีดำเพียงสีเดียวหรือเติมสีอื่นด้วยพู่กันบางส่วน) ซึ่งให้ภาพสำเร็จที่งดงามสมจริงมากยิ่งขึ้น
🟢คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai : 1760-1849) ศิลปินชาวญี่ปุ่นอันโด่งดังไปทั่วโลก ก็คงเป็นอีกคนหนึ่งที่ชีวิตในวัยเด็กได้พยายามทดลองและแสวงหาตัวตน ค้นหาความแตกต่าง ท่ามกลางศิลปินภาพพิมพ์และภาพวาดมากมายในยุคนั้น ผลงานในช่วงต้นของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวของโสเภณี ย่านบันเทิงโลกีย์ ซึ่งศิลปินทั่วไปกระทำกันเป็นปกติ
สำหรับชาวเอโดะแล้วเรื่องราวเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ การที่ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากบริบทแวดล้อม สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ศิลปินเอโดะทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน “ชาวเอโดะ คือคนเมืองทันสมัย โลกที่ล่องลอย ผันแปรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
🔸ประมาณปี ค.ศ.1797 “ภูเขาไฟฟูจิ” เริ่มปรากฏในผลงานของโฮะคุไซ ณ ช่วงนี้ และนี่คือสิ่งที่เขาหมกมุ่นไปตลอดชีวิตการสร้างสรรค์งานศิลปะเลยทีเดียว ด้วยความที่ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเกาะน้อยใหญ่ เรื่องราวของทะเล คลื่น พายุไต้ฝุ่น และชาวประมง จึงกลายเป็นเรื่องที่เหล่าศิลปินให้ความสนใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
🗻“คลื่นใหญ่นอกคะนะงะวะ (The Great Wave off Kanagawa)” และ ⛰️ฟูจิแดง (Fine Wind, Clear Morning) น่าจะเป็นผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ของโฮะคุไซที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุด (น่าจะถูกสร้างสรรค์ในช่วงปี 1830-1832) ภาพพิมพ์นิชิคิเอะชุดภูเขาไฟฟูจิทั้ง 46 ภาพของโฮะคุไซนั้น นักประวัติศาสตร์ยกย่องให้เป็นหนึ่งในผลงานภาพทิวทัศน์ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก (มีการพิมพ์เพิ่มภายหลังอีก 10 ภาพ จริงๆแล้วผลงานชุดนี้มีชื่อว่า “Thirty-six Views of Mount Fuji”)
สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับประเทศญี่ปุ่นนั้นการได้ยลโฉมภูเขาไฟฟูจิแบบเต็มตา ท่ามกลางท้องฟ้าบรรยากาศเปิดโล่งแจ่มใสนับเป็นเรื่องยากเย็น ผลงานชุดดังกล่าวนี้ของโฮะคุไซเป็นมากกว่าการเลียนแบบธรรมชาติ หากแต่เป็นการพินิจพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา แฝงนัยความหมายอย่างลึกซึ้ง
🔥“โฮะคุไซมังงะ” รูปแบบผลงานอีกประเภทหนึ่งของเขาซึ่งเริ่มต้นขึ้นประมาณช่วงปี ค.ศ.1814 ก็ได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมวงกว้างเช่นกัน จุดประสงค์แรกเริ่มในผลงานประเภทนี้ของโฮะคุไซคือการผลิตภาพวาดลายเส้นเพื่อให้ลูกศิษย์และคนทั่วไปได้ซื้อหาไปศึกษาแนวทางการทำงานของเขา มันคือกระบวนการเผยแพร่ความคิดและตัวตนอันมีเอกลักษณ์ซึ่งแตกต่างไปจากศิลปินคนอื่นๆในยุคสมัยเดียวกัน
ตลอดช่วงชีวิตของโฮะคุไซนั้นได้สร้างสรรค์“โฮะคุไซมังงะ” เป็นจำนวน 15 เล่ม 958 หน้า มากถึง 4,000 ภาพเลยทีเดียว แม้จะไม่ตรงกับความหมายในปัจจุบันนัก แต่โฮะคุไซถือเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “มังงะ” ในผลงานวาดเส้นของเขา ซึ่งแปลอย่างตรงตัวอักษรได้ความว่า “ภาพวาดตามใจฉัน หรือภาพวาดนอกลู่นอกทาง”
⛅เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา โฮะคุไซยังคงทำงานศิลปะอย่างหมกมุ่นหลงใหล มีประโยคหนึ่งของเขาที่ผู้คนรุ่นหลังมักหยิบยกมาสนทนากันอยู่บ่อยครั้งเมื่อจำเป็นต้องพูดคุยถึงโฮะคุไซ ประมาณว่า
📌“ฉันชอบวาดภาพจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ฉันเป็นศิลปินและพออายุได้ 50 ปีก็พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ฉันทำมาก่อนอายุ 70 ปีนั้นไม่น่าสนใจเท่าไหร่นัก พออายุได้ 70 ปีก็เริ่มจับโครงสร้างนก สัตว์ป่า แมลง ปลา และการงอกงามของต้นไม้
ฉันคิดว่าถ้าหมกมุ่นทำเช่นนี้ต่อไปจะต้องเข้าใจมันมากขึ้นแน่ แล้วพออายุสัก 90 ปีน่าจะเข้าถึงแก่นธรรมชาติ พออายุได้ 100 ปีคงเข้าใจอย่างถ่องแท้ หากอายุสัก 140 ปีภาพที่ฉันวาดคงมีชีวิต สวรรค์ได้โปรดมอบชีวิตอันยืนยาว เพื่อพิสูจน์ได้ว่านี่ไม่ใช่คำโกหก”📌
🎈เช้ามืดของวันที่ 18 เมษายน ปี 1849 ‘คัทซึชิคะ โฮะคุไซ’ จากไปอย่างสงบด้วยวัย 89 ปี พร้อมกับทิ้งคำพูดประโยคสุดท้ายของชีวิตไว้ว่า “ขอเพียงแค่อีกห้าปี ฉันคงได้เป็นนักวาดภาพที่แท้จริง”
ปัจจุบันสุสานของโฮะคุไซตั้งอยู่ภายในบริเวณ “วัดเซเคียวจิ” กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Seikyo-ji Temple, Taitō-ku, Tokyo) ป้ายแกะสลักหินเหนือร่างของเขาสลักคำว่า “กะเคียว โรจิน มันจิ” หรือ “คนแก่บ้าวาดภาพ” ชื่อที่ตัวเขาใช้เรียกตนเองในช่วงเวลาหนึ่งผ่านผลงานศิลปะเมื่อครั้งยังมีลมหายใจ
📚บางส่วนจากหนังสือ
“คัทซึชิคะ โฮะคุไซ : Katsushika Hokusai”
ผู้เขียน : ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์
สำนักพิมพ์ : สารคดีภาพ, 2009
โฆษณา